ข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปแผ่นดิน” จาก “นักปฏิรูป” ยุคแรกของสยามสมัยใหม่เมื่อ ร.ศ. 103

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หนึ่งใน คณะเจ้านาย ข้าราชการ คณะปฏิรูป ร.ศ. 103 ทำหนังสือ กราบบังคลทูล รัชกาลที่ 5 ปรับปรุงการปกครอง
ภาพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นาย เดอ เลสเซป เพื่อเป็นการขอบคุณ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2559)

ข้อเสนอเพื่อ “ปฏิรูปแผ่นดิน” จาก “นักปฏิรูป” ยุคแรกของสยามสมัยใหม่เมื่อ “ร.ศ. 103” โดย คณะนักปฏิรูป ร.ศ. 103

การปฏิรูปประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งนั้นก็คือต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ไปสู่สภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุเพราะการเล็งเห็นว่าสภาพบ้านเมืองในปัจจุบันนั้นมีปัญหาบางประการที่ขัดขวางไม่ให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอื่นๆ นั่นเอง

Advertisement

ในอดีต ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่บ้านเมืองยังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีกลุ่มคณะเจ้านายและข้าราชการทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ 5 ขอให้ปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวนั้นนับเป็นสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยเพราะเป็นก้าวแรกที่มีความพยายามปรับปรุงประเทศให้มีความเป็นสมัยใหม่

หนังสือกราบบังคมทูลดังกล่าวลงวันที่ 9 มกราคม 2428 ตรงกับ ร.ศ. 103 ในตอนต้นของหนังสือได้เริ่มกล่าวถึงความรักชาติบ้านเมืองและอิทธิพลของตะวันตกที่กำลังขยายอำนาจมายังประเทศไทยในขณะนั้น และหากสยามไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองก็อาจเป็นโอกาสให้กับต่างชาติเข้ามารุกรานและยึดครองประเทศในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นข้อด้อยของการปกครองของสยามในขณะนั้นไว้อย่างชัดเจน และยังได้เรียกร้อง “คอนสติติวชั่น” หรือรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศอีกด้วย

รายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คณะนักปฏิรูป ร.ศ. 103 ได้เสนอให้มีการดำเนินแก้ไขปรับปรุงใน 7 ประการ คือ

  1. ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวินิจฉัยราชการแผ่นดินไปทุกเรื่อง เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ แต่มิต้องทรงงานราชการด้วยพระองค์เอง
  2. ให้มีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำหน้าที่การบริหารประเทศโดยพระบรมราชานุมัติ, อีกทั้งมีกฎหมายการสืบราชสมบัติที่ชัดเจน
  3. ขจัดการติดสินบนข้าราชการ โดยให้เงินเดือนแก่ข้าราชการตามตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
  4. ให้มีระบบกฎหมายที่ให้ความเสมอภาคและความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวล
  5. ปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบรรดากฎหมายและขนบธรรมเนียมที่เป็นข้อกีดขวางการพัฒนาประเทศ หรือที่ไม่เป็นประโยชน์โดยแท้ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมมาแต่โบราณกาลก็ตาม
  6. ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะสำหรับราษฎรทั้งปวง
  7. ให้มีระบบการแต่งตั้งข้าราชการให้ได้บุคคลที่เหมาะสม อีกทั้งการลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด

ผลของข้อเสนอดังกล่าวแม้จะไม่ได้รับการตอบสนองโดยทันทีแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นการเลิกทาส มีการพัฒนากำลังคนด้วยการจัดการศึกษาทั่วประเทศ ส่งนักเรียนออกไปเรียนต่างประเทศ การว่าจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการในหน้าที่ต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอย่างใหม่อีกด้วย

คณะบุคคลที่ร่วมกันทำหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มเจ้านายชั้นสูงและข้าราชการรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและทำงานอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตก ทำให้มีโอกาสได้เห็นความเจริญของบ้านเมืองและเล็งเห็นว่าสยามควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในขณะนั้น

เจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏพระนามในหนังสือกราบบังคมทูลก็คือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสยามประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ และอัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน ถัดลงไปคือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ตำแหน่งที่ปรึกษาสถานทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนและกรุงวอชิงตัน พระเจ้าน้องยาเธออีกพระองค์หนึ่งคือ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาวิชากฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เจ้านายพระองค์สุดท้ายซึ่งทรงเป็นผู้เรียบเรียงก่อนที่จะให้เจ้านายอีก 3 พระองค์ทรงตรวจแก้ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสและราชสำนักอื่นๆ ในทวีปยุโรป

หนังสือกราบบังคมทูลของ “นักปฏิรูป ร.ศ. 103” ลงพระนามเจ้านาย 4 พระองค์ และนามข้าราชการสถานทูตสยามกรุงลอนดอน 7 คน ที่เข้าชื่อถวายหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5

ส่วนข้าราชการสถานทูตที่ร่วมลงชื่อในหนังสือกราบบังคมทูลนั้น ประกอบด้วย พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี) อุปทูตสถานอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย) ผู้ช่วยสถานทูตอยู่ที่สถานอัครราชทูต ณ กรุงปารีสในขณะนั้น นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) เลขานุการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตพิเศษและได้รับมอบหมายภารกิจหลายด้าน ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น) ซึ่งเดินทางมากรุงลอนดอนในช่วงปี พ.ศ. 2425 พร้อมกับหลวงเดชนายเวร และนายร้อยเอกเปลี่ยน หัสดิเสวี ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนซึ่งก็ร่วมลงชื่อในหนังสือกราบบังคมทูลนี้เช่นกันสำหรับ หลวงวิเศษสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร) ตามเสด็จกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เมื่อครั้งเสด็จมารับตำแหน่งอัครราชทูตที่ลอนดอนในปี พ.ศ. 2426

และข้าราชการคนสุดท้ายคือ สับเลฟ ติแนนต์ สอาด สิงหเสนี ผู้เดินทางมาอังกฤษพร้อมกับกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ในปี2426 ผู้รับราชการอยู่ในประเทศอังกฤษมาตลอด จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสยามประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ระหว่างปี พ.ศ. 2442-45 ในบรรดาศักดิ์ พระยาประสิทธิศัลยการ

คณะบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นคณะบุคคลกลุ่มแรกที่มีแนวคิดก้าวหน้าในสมัยนั้นและมีความต้องการที่จะเห็นสยามประเทศมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ มองเห็นข้อบกพร่องในประเทศและพยายามเสนอแนวทางแก้ไข จนกระทั่งนำมาสู่การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2560