พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ “ตกอับ” สมัย ร.5 เพราะเคยเรียกร้องประชาธิปไตย หรือด้วยเหตุอื่น?

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หนึ่งใน คณะเจ้านาย ข้าราชการ คณะปฏิรูป ร.ศ. 103 ทำหนังสือ กราบบังคลทูล รัชกาลที่ 5 ปรับปรุงการปกครอง
ภาพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นาย เดอ เลสเซป เพื่อเป็นการขอบคุณ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2559)

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีชะตาชีวิตผกผันมากที่สุดพระองค์หนึ่ง เคยมีเหตุถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า “ตราบใดที่แผ่นดินนี้เป็นของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ให้พระองค์ปฤษฎางค์เข้ามาเหยียบอีก”

พระประวัติ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก่อนอุบัติเหตุ

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม และหม่อมน้อย ธิดาพระยาราชมนตรี (ภู่ ต้นสกุล ภมรมนตรี) เมื่อแรกประสูติใน พ.ศ. 2394 มีพระนามหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ทรงเรียนรู้วิชาช่างจากพระบิดา ทั้งยังได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ อีกด้วย

ต่อมาในช่วงต้นแห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ทรงมีโอกาสเดินทางไปทรงศึกษาวิชาที่เมืองสิงคโปร์ และประเทศอังกฤษ ตามลำดับ และทรงเดินทางกลับสยามใน พ.ศ. 2418 ทรงเริ่มรับราชการเมื่อชันษาได้ 24 ปี ได้ทรงทำงานร่วมกับพระบรมวงศ์ชั้นสูง ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็น “กำลัง” ให้รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินการปฏิรูปราชอาณาจักรสยามให้ทันสมัยโดยลำดับ อาทิ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ เป็นต้น

ต่อมาใน พ.ศ. 2420 หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาต่อที่ประเทศอังกฤษ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการเป็นล่ามในคณะราชทูตสยาม เช่น คณะของพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และคณะของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) พ.ศ. 2422 เป็นอาทิ

ต่อมา ใน พ.ศ. 2425 รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าปฤษฎางค์เป็นราชทูตพิเศษไปเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ พร้อมนำเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ไปทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษอีกด้วย

ภายในปีเดียวกันนั้นเอง รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าปฤษฎางค์เป็นอัครราชทูตสยามพระองค์แรก ประจำประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาที่มีสัญญาทางพระราชไมตรีกับราชอาณาจักรสยาม ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ จนโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ขึ้นเป็น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ขณะนั้นพระชันษา 32 ปี

ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ว่า

“ได้ปฏิบัติราชการนั้นๆ ให้เป็นไปได้โดยสดวก โดยสติปัญญาว่องไวแลสามารถอาจหาญ จนภายหลังได้ปฤกษาทำการหนังสือสัญญาเรื่องสุรา ซึ่งเป็นของชั่วร้ายจะให้กรุงสยามยับเยินไปด้วยความเมาแห่งราษฎร ด้วยประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศศ โปรตุคอล ให้สำเรจไปได้ แลยังทำกับประเทศอื่นอีกสืบไป ได้รับราชการรักษาทางพระราชไมตรี ในระหว่างประเทศทั้งปวง ให้เจริญขึ้นแลยั่งยืนอยู่มิให้มีเหตุการมัวหมอง แลมีความซื่อตรงจงรักษภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลรักใคร่บ้านเมืองของตน ต้องทนความลำบากจากถิ่นถาน แลตริตรองราชการอันหนัก โดยความเพียรความอุสาหอันแรงกล้า ประกอบไปด้วยไวยวุฒิปรีชา รอบรู้ในราชกิจน้อยใหญ่ในนอก สมควรที่จะได้รับอิศริยยศถานันดรศักดิ์ เป็นพระวงษเธอพระองค์เจ้าองค์หนึ่งได้” [5]

พ.ศ. 2424 จึงนับได้ว่าเป็นจุดสูงสุดในชีวิตราชการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ดังที่ได้ทรงบันทึกไว้ในประวัติย่อ ว่า

“หม่อมเจ้าปฤษฎางค์จึงได้เปลี่ยนฐานะลอยขึ้นเกือบถึงสุดยอด ที่สถิติกำเนิดอาจส่งได้ เท่ากับได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้าฯ ให้เกิดใหม่เป็นอีกคนหนึ่งครั้งที่ 2 พ้นจากฐานะแห่งหม่อมเจ้าธรรมดา พระราชทานโอกาศให้ อาจพยายามรับราชการให้ได้รับบำเหน็จความชอบถึงปานนี้ พระเดชพระคุณย่อมพ้นที่จะพรรณนาให้เห็นน้ำใจได้”

คำกราบบังคมทูลและผลกระทบในภายหลัง

ในช่วงนั้น สถานการณ์ของราชอาณาจักรสยามเริ่มถูกคุกคามมากขึ้นโดยการล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอย่างสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2428 ในราวปลาย พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์มาพระราชทานพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งราชทูตอยู่ ณ กรุงปารีส โปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถวายความเห็น และแนวทางในการแก้ไขปัญหา

ฝ่ายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ก็ทรงนำความในพระราชปุจฉาไปหารือกับพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ร่วมกันทรงร่างเอกสารเรียกว่า คำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2427

โดยมีเนื้อหาพิสดารแบ่งออกได้หลายส่วน ทั้งบทวิเคราะห์ภยันตรายของราชอาณาจักรสยาม แนวทางในการแก้ไขและป้องกันทั้งหลาย ตลอดจนอุปสรรคที่ขัดขวางแนวทางในการแก้ไขและป้องกันภยันตรายเหล่านั้น มีเนื้อหาที่อาจมองได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลและระบอบการบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นอย่างรุนแรง ถึงขั้นกราบบังคมทูลเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดินให้ทันสมัยกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับปฏิกิริยาที่ทางราชสำนักมีต่อคำกราบบังคมทูลในชั้นต้นนั้น ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุรายวันที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ทรงบันทึกไว้ว่า ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2427 หลังจากเสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้ว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เฝ้าเป็นการเฉพาะ

“รับสั่งด้วยเรื่องคอนสติตูชั่นการปกครองบ้านเมืองในเมืองไทยด้วยราชทูตทั้งสองแลผู้ที่ออกไปไปอยู่ด้วยในลอนดอน ปารีส ทำหนังสือลงชื่อพร้อมกัน เปนความเหนว่าด้วยอันตรายจะมีมาแก่กรุงสยามด้วยอังกฤษฝรั่งเศสเบียดเบียนต่างๆ ควรจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองรักษาบ้านเมืองให้เปนการเจริญขึ้น คือจัดให้คล้ายอย่างฝรั่งเข้า ทรงปฤกษากรมหมื่นเทวะวงษในการที่จะจัดเรื่องนี้ แลความเหนนี้เขาตีพิมพ์แจกเจ้านายข้าราชการบางคน เราก็ได้ฉบับหนึ่ง กล่าวความพิศดารมากๆ” [7]

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงได้รับคำกราบบังคมทูลแล้ว ราว 4 เดือนต่อมา คือในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2428 ได้มีพระราชกระแสตอบ แสดงพระราชมติต่อข้อเสนอของคณะบุคคลดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ว่าทรงเห็นชอบด้วยในหลักการและเจตจำนง แต่ทรงเห็นว่าข้อเสนอบางประการยังไม่สมควรแก่กาลที่จะนำมาปฏิบัติ บางอย่างก็เคยมีการทดลองทำมาแล้ว แต่ไม่ประสบผล โดยมีพระบรมราชาธิบายจากประสบการณ์การปกครองแผ่นดินของพระองค์ว่า สยามมีข้อจำกัดและโอกาสอย่างไร

หลังจากนั้นไม่นาน รัชกาลที่ 5 ก็โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์ และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เดินทางกลับมาสู่สยาม อันเป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์ในสมัยหลังมักอธิบายว่า คำกราบบังคมทูลเป็นมูลเหตุให้รัชกาลที่ 5 ไม่พอพระราชหฤทัยในกลุ่มเจ้านายที่ร่วมกันร่างเอกสารดังกล่าว และเป็นเหตุให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เดินทางกลับมาสู่สยามภายในปีเดียวกันนั้นเอง [9]

อย่างไรก็ดี หากจะพิจารณาจากข้อมูลร่วมสมัย ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า การที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายทั้ง 4 พระองค์เดินทางกลับมาสู่สยามใน พ.ศ. 2429 นั้น มิได้เป็นการ “ลงโทษ” แต่อย่างใด

ดังปรากฏว่าได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายทุกพระองค์ดำรงตำแหน่งอันสำคัญในระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ทรงปฏิรูปขึ้นตามข้อเสนอแนะบางประการในคำกราบบังคมทูลนั้นเอง เช่น โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ดำรงตำแหน่ง กอมมิตติ กรมพระนครบาล มีอำนาจเต็มอย่างเสนาบดี

เมื่อทรงสถาปนากอมมิตตินั้นขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2429 [10] ส่วนพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ก็โปรดให้ดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายอังกฤษในออฟฟิศหลวง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นเวลาราว 2 ปี จากนั้นจึงทรงไปราชการ ณ เมืองเชียงใหม่ จัดการป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองล้านนา “ซึ่งนับว่าเป็นราชการอันสำคัญกวดขัน” [11]

ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 เมื่อพระชันษา 36 ปี หลังจากที่ทรงดำรงตำแหน่งราชทูตอยู่ราว 5 ปี และได้ทรงศึกษาวิชาอยู่ทั้งที่สิงคโปร์และอังกฤษเป็นเวลาเกือบ 10 ปีก่อนหน้านั้น [12]

รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมกับคุณวุฒิ โดยในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2430 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งไดเรกเตอ เยเนราล (Director-General เทียบเท่าตำแหน่งจางวาง) กรมไปรสนีย์แลโทรเลข [13] และปีเดียวกันนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นปรีวิเคาน์ซิลเลออีกด้วย [14]

พระมหากรุณาธิคุณที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในช่วงนี้อีกส่วนหนึ่งคือ ได้มีพระราชดำริจะพระราชทานตึกภูมนิเทศทหารหน้าที่ท่าพระ ให้เป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปแล้วต้องไปทรงอาศัยแพอยู่ที่หน้าบ้านพระยาราชมนตรี ใกล้วังท่าพระ [15] ดังปรากฏความในพระราชหัตถเลขาทรงสั่งราชการความว่า

“ด้วยที่ตึกภูมนิเทศทหารน่า ซึ่งแต่ก่อนให้ทำขึ้นให้นายเล็กศรีสรรักษ์อยู่นั้น บัดนี้นายเล็กก็เปนโทษไม่ได้รับราชการแล้ว ที่นั้นการก็ค้างนิ่งอยู่ มีแต่ชุดโซมไป เห็นว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ยกย่องขึ้นให้เปนพระองค์เจ้า แต่ยังไม่มีที่อยู่ให้สมควนแก่เกียรติยศ บัดนี้จะมอบที่ตึกนั้นให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่การยังค้างอยู่บ้างเล็กน้อย ให้หลวงนายสิทธิ์ว่ากล่าวกับผู้รับเหมาทำการแต่เดิม ให้ทำการซึ่งค้างอยู่นั้นให้แล้วเสร็จตามสัญญาเดิม แล้วให้มอบที่ตึกนั้นให้แก่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เถิด” [16]

“อุบัติเหตุ” พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ : ความเจ้าปาน

หลังจาก พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เพิ่งทรงรับพระมหากรุณาธิคุณต่างๆ ไปได้ไม่ถึง 2 เดือนดี ในช่วงต้น พ.ศ. 2430 นั้นเอง ก็เกิด “อุบัติเหตุ” ขึ้นครั้งใหญ่ในพระชนมชีพ ดังที่ทรงบันทึกไว้ในประวัติย่อว่า

“เวลานั้นข้าพเจ้ามีความโทมนัสเสียใจเท่ากับคนที่ตายลาจากโลกราชการเสียแล้ว จึงได้ซื้อปืนโกลาภรรยา และฝากศพแก่ปลัดกรมแสง (ในเสด็จบิดา ผู้เป็นพระญาติที่ไว้วางใจในความสัตย์ซื่อ) ภรรยากลับเอาความไปทูลพี่ผู้หญิงๆ มาร้องไห้อ้อนวอนขอให้เลิกคิดตัดอายุสม์ ซึ่งเป็นการผิดธรรมเสีย คิดการไม่สำเร็จเงียบได้ จึงได้เอาปืนทิ้งน้ำเสีย” [17]

ในพระนิพนธ์ประวัติย่อ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มิได้ทรงระบุไว้ชัดว่า “อุบัติเหตุ” ในครั้งนั้นคือเหตุใด เพียงแต่ทรงระบุว่าทรง “ได้รับผลร้ายแรง จนถึงถูกสาบประนามอย่างร้ายแรง” และ “ถึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบ้านที่พระราชทานคืน” [18]

อย่างไรก็ดี มีหลักฐานเอกสารร่วมสมัย คือพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 มีเนื้อหาทรงตำหนิพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อย่างรุนแรง และน่าจะอธิบาย “อุบัติเหตุ” ครั้งสำคัญนั้นได้ มีเนื้อหาดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท
วันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีกุนนพศก ศักราช 1249

ถึง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ด้วยเธอจดหมายขอเงินเดือน ซึ่งได้มาแต่เดิมเดือนละ 2 ชั่ง ที่เจ้าพนักงานจะงดเสียนั้นได้ทราบแล้ว

ซึ่งเธอว่าเงินรายนี้ ฉันได้ให้เปนทาน เพื่อจะให้เป็นคำยกยองแลให้สงสารนั้น ฉันไม่ได้ตั้งใจจะให้เปนทานเช่นที่ว่านั้นเลย ได้ให้เพราะมีความรักแลสงสารว่าได้คุ้นเคย เล่นมาด้วยกันแต่ก่อนอย่างหนึ่ง เพราะหมายว่าจะได้ใช้การงานอย่างหนึ่งเท่านั้น ก็เปนความจริงอยู่ว่า เงินรายนี้ ถ้าฉันคิดจะให้เธอต่อไปอีกก็ให้ได้ แต่บัดนี้ไม่คิดว่าจะให้ เพราะเหตุการที่มี ซึ่งจะว่าต่อไปข้างล่างนี้

ฉันเห็นว่าเปนการจำเปนที่ฉันจะต้องพูดเสียให้ปรากฏชัด เพราะฉันเคยถูกท่านพวกที่มีสติปัญญาเปนมนุษยแท้มิใช่วัว ได้ดูถูกฉันมามากนักแล้ว

คือ เรื่องเจ้าปาน [19] ที่ทำการในปัปลิกเวิก [20] นั้น ความจริงตามที่ได้มาฉเพาะหน้าฉันทั้งสิ้น แลความคิดฉันประการใดนั้น เปนดังนี้

เดิมเจ้าสายบอกว่า เจ้าปานว่า เธอชอบว่า “จะไปอยู่เปล่าๆ ทำไม มาทำการด้วยกันเถิด แต่ครั้นจะกราบทูลเองก็เกรงพระองค์สวัสดิโสภณจะเปนเกินท่านไป ให้รับสั่งออกมาแต่ข้างในเถิด” ดังนี้

ฉันเข้าใจเอาเองว่า การที่เธอชวนเจ้าปานนี้ เห็นจะจริง เพราะตัวเจ้าปานก็เปนคนทำการงานได้อยู่บ้าง แลเธอจะมีความปราถนาอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเอาดีต่อเจ้าสาย เพราะจำนำของไม่ได้เอาของไว้ ให้เงินไปแล้วไม่คิดเอาดอกเบี้ย จะสงเคราห์เจ้าปานแทนดอกเบี้ยด้วย แต่เพราะเธอเคยเห็นตัวอย่างที่กรมหลวงเอาเจ้าเพิ่ม [21] ไปใช้

สวัสดิโสภณ เคยติเตียนว่าทำความผิดหัวเสียต่างๆ ถ้าเธอจะพูดเองก็จะเปนคนเสียคนไปอีกคนหนึ่ง จึ่งให้คำสั่งไปเสียแต่ข้างใน เธอจะได้พูดได้ว่า ไม่อยากคบค้า แต่เปนการจำเปน เพราะขัดรับสั่งไม่ได้ เพราะฉันเข้าใจว่าการที่เธอเอาเงินไปนี้ เธอได้ปิดไม่ให้ใครรู้ ความคิดอันนี้ใช่จะคิดเห็นภายหลัง ได้คิดเห็นแต่แรก แลได้พูดดังนี้แล้ว จึงได้จดหมายถึงเธอ ความแจ้งอยู่ในหนังสือ ฉบับที่ 16/49 ป,ฎ,2 นั้นแล้ว

การที่รู้แล้วว่า เธอทำอุบายดังนี้แล้ว ยังจดหมายไปนั้น เพราะคิดเห็นว่า ถ้าจะไม่สั่งไป เธอจะเห็นว่าฉันกลัว ความติเตียนของคนที่ถือประมัถมหายุติธรรม (ซึ่งฉันเห็นว่า เปนการเหลือเกินจนกลายเป็นอวดดีไป) จนไม่อาจสั่งได้อย่างหนึ่ง กับคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าบางทีเจ้าปานจะได้ทำการมีผลประโยชน์แลเปนคุณแก่ราชการ จะมาฃาดไปเพราะฉันไม่สั่ง ก็ดูเปนที่น่าสงสารแลเสียการ เปนไม่ได้ทำการเพราะค่าที่เปนพี่น้องกับเมียฉัน ฉันจึงได้พูดไปยืดยาวตามความในหนังสือฉบับนั้น

แต่เจ้าปานไม่ได้บอกว่าจะทำการอะไร ถามก็ไม่ได้ความ แลไม่ได้สั่งให้ไปสอบถามอีก เข้าใจว่าเธอทำการอยู่แต่โทรเลข แลไปรสนีย์ จึงเดาไปว่าจะเปนโทรเลขฤาไปรสนีย์อะไรโดยไม่ได้ระวังจะให้เปนการแม่นยำ เพราะยังไม่ได้รู้ได้เห็นในเรื่องความคิดปับลิกเวิกนั้นเลย

ครั้นเมื่อได้รับหนังสือตอบ เธอรับตามคำที่เจ้าปานอ้างว่าเคยเป็นคนชอบพอกัน แต่ที่ชวนนั้นชวนจะให้ทำการในปับลิกเวิก มิใช่ในการโทรเลขแลไปรสนีย์ ฉันจึงทราบว่า ได้คิดการปับลิกเวิก แต่ยังเข้าใจว่า ยังไม่ได้สั่งเข้ามา จึงได้ตอบชี้แจงไปว่า การที่ว่า เจ้าปานว่า เธอชวนให้ทำการในโทรเลขแลไปรสนีย์นั้น ฉันเดาเอาเอง ความแจ้งอยู่ในหนังสือฉบับที่ 123-49 ป,ฎ, 3 นั้นแล้ว

ครั้นวันนี้ ฉันได้พบกับสวัสดิโสภณ จึ่งทราบว่าความคิดเรื่องปัปลิกเวิกนั้น ได้สั่งให้โสภณ [22]แต่ก่อนงานเมรุ [23] แต่โสณจะส่งมาแล้วฤายัง ฉันยังไม่ทราบจนเดี๋ยวนี้ เพราะหนังสือมาสุมกันอยู่มาก ยังไม่ได้ค้น เธอจะคิดเห็นว่า “การที่ความคิดนี้มาลอบหายไป เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่เปนเปอซอนแนล [24] ของฉัน เธอจึงต้องคิดมาชวนเจ้าปาน ที่เปนพี่น้องของเมียฉัน ทำการเป็นสินบนฉัน เห็นเปนประโยชน์จะได้กับตัว จึ่งได้ตกลง” นั้น ความคิดอันนี้ ถึงว่า เปนการเดา ก็เปนที่น่าจะเห็นสมตามความคิดที่คนบางคนได้คิดเห็นว่า ใจฉันเปนเช่นนี้ ซึ่งฉันขอปฏิเสธ แลอ้างพยาน ในการทั้งปวงเปนอันมากที่ได้ทำมาแล้ว ถ้าผู้ที่มีปัญญา ใจเปนกลางๆ พิจารณา คงจะเห็นได้ว่าความจริงเปนอย่างไร เพราะฉนั้นฉันถือว่า ความคิดอันนี้ เปนความคิดหมิ่นประมาทฉันแท้ แต่ยังเปนการที่คิดเดาอยู่บ้าง

ยังมีการที่ปรากฏชัดคือ หนังสือที่เธอมีไปถึงสวัสดิโสภณ ภายหลังหนังสือที่มีไปมากับฉัน เธอได้พูดตรงกันข้ามกับหนังสือที่มีถึงฉันว่า เธอได้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าปานมามาก ความปรากฏในหนังสือเธอ ลงวันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 [25] นั้นแล้ว

ส่วนหนังสือที่มีไปถึงสวัสดิโสภณ เธอว่า เธอไม่ได้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าปานเลย เจ้าปานไปหาเธอ ขอทำการในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ เธออ้างหนังสือฉันเปนพยาน เธอไม่เห็นว่า เจ้าปานจะทำอะไรในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ได้ เธอจึ่งตอบฉันมาตามจริงว่า เธอเห็นทำการอะไรในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ไม่ได้ แต่เธอสงสัยว่าฉันแต่งให้เจ้าปานไปหา เธอจึ่งได้ยอมรับจะให้ทำการในปัปลิกเวิก

ความที่เธอพูดในหนังสือฉบับหนึ่งว่า ชอบกับเจ้าปาน ฉบับหนึ่งว่า ไม่เคยชอบกันนี้ คงจะเปนคำเท็จข้างหนึ่ง แต่จะเท็จข้างไหนไม่ทราบ ถ้าเท็จข้างหนังสือถึงฉันแล้ว ก็เปนบาปมากขึ้น เพราะโทษโกหกพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่ในกฎหมายอีกโสตหนึ่ง

ส่วนที่ว่า เจ้าปานไปขอทำการในโทรเลขแลไปรสนีย์ อ้างเอาหนังสือฉันเปนพยานนั้น ฉันขอรับว่าเป็นคำฉันพูดเองแท้ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะพูดให้เปนคำมั่นคงว่า กรมใดด้วย ซึ่งจะเอาไปเป็นพยานในการที่ให้เจ้าปานไปพูดนั้นไม่ได้ แต่เจ้าปานจะไปพูดเช่นนั้นฤาไม่ ฉันไม่เถียงแทน

ในข้อท้ายที่เธอสงสัยว่า ฉันแต่งให้เจ้าปานไปนั้น การที่ฉันจะต้องทำเช่นนั้น เป็นการเลวทรามน่าอายยิ่งนัก ถ้าฉันจะสงเคราห์เจ้าปานแล้ว พระบิดาเธอกับพระบิดาเจ้าปานวาศนาผิดกันอย่างไรนักหนา เพียงแต่กรมขุนกับกรมหมื่น มารดาเธอเป็นราชนิกุล [26] ของเจ้าปานไม่ได้เปน [27] แต่มันก็หม่อมชั้นเดียวกัน จะตั้งให้เปนพระองค์เจ้าเหมือนตัวเธอ ฤาจะให้เงินเดือนเดือนละ 2 ชั่งเช่นเธอจะไม่ได้ทีเดียวฤา

คนที่บ้าๆ ฟุ้ง หัวเราะ ฉันไม่กลัวนักดอก คำที่พูดนี้ เปนพยานให้เห็นว่า เธอมีความคิดเห็นอยู่เสมอว่า ฉันเปนคนชั่วช้าทุกประการดังนี้

เพราะฉนั้น การที่ฉันจะยอมให้เงินเดือนเก่า ซึ่งฉันให้ด้วยความรักความคุ้นเคยกันนั้นอย่างไรได้ ด้วยเห็นกัน ไม่เป็นผู้เปนคนอย่างนี้ จะรักอะไรกันลงคอ ส่วนราชการที่ฉันอ้างว่า หมายจะได้ใช้อีกอย่างหนึ่งนั้น บัดนี้เธอก็ได้รับการในตำแหน่ง ได้ถึงปีละ 50 ชั่ง ก็เป็นสิ้นเฃตรกันแล้ว ยังอยู่แต่จะให้เพราะรักกัน เมื่อความรักกันมีไม่ได้แล้ว ฉันก็ไม่ให้ ได้สั่งให้คลังงดเสียแล้ว

(พระบรมนามาภิธัย) สยามมินทร์ [28]

ตามความในพระราชหัตถเลขาองค์นี้ รัชกาลที่ 5 ทรงสรุปว่าเนื่องเพราะพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเป็นหนี้ พระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย [29] พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จึงทรงพยายามสร้าง “บุญคุณ” ตอบแทน ในการดำเนินกลอุบายต่างๆ เพื่อให้หม่อมเจ้าปาน ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี พระเชษฐาของพระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ได้เข้ารับราชการในกรมโยธาธิการเป็นการ “สงเคราะห์เจ้าปานแทนดอกเบี้ย”

ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าประกอบด้วยทั้งความไม่ซื่อตรงในทางราชการ และการมองพระองค์ในแง่ร้าย ดังที่ทรงสรุปไว้ว่า “เธอมีความคิดเห็นอยู่เสมอว่า ฉันเปนคนชั่วช้าทุกประการดังนี้”

อุบายประการสำคัญ คือการที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทูลพระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ให้ทรงนำความกราบบังคมทูลเสนอให้รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าปาน เข้ารับราชการ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อผลักความรับผิดชอบให้พ้นไปจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เอง หากหม่อมเจ้าปานไม่สามารถทำราชการได้ และเพื่อปกปิดความสัมพันธ์เชิงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ระหว่างพระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย กับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มิให้เป็นที่ทราบกันในราชสำนัก

ความผิดของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในครั้งนั้น มิใช่ความผิดใหญ่โตในทางราชการ หากเป็นความผิดอย่างฉกรรจ์ในทางส่วนพระองค์ ด้วยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงสิ้นความเมตตาและไว้วางพระราชหฤทัยในพระองค์ ผู้ซึ่ง “ได้คุ้นเคยเล่นมาด้วยกันแต่ก่อน” และ “หมายว่าจะได้ใช้การงาน”

ดังที่ได้มีพระราชหัตถเลขา ทรงอธิบายมูลเหตุทั้งปวงให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้าพระทัย ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 ดังที่ได้ทรงชี้แจงว่าทำไมจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเงินเดือนละ 2 ชั่งเสีย เพราะเป็นเงินเดือนที่พระราชทานให้ในทางส่วนพระองค์ โดยที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังคงรับราชการในตำแหน่งไดเรกเตอเยเนราล กรมไปรสนีย์แลโทรเลข ได้รับเงินประจำตำแหน่งปีละ 50 ชั่งอยู่ต่อไป

ผลสืบเนื่องจาก “ความเจ้าปาน”

ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานไปยังกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ โปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชทานตึกภูมนิเทศทหารหน้าที่ท่าพระให้เป็นที่อยู่ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสีย ด้วยทรงเห็นว่าไม่เป็นการสมควรอีกต่อไป [30]

นับว่าเป็นการ “ลงพระราชอาญา” พระองค์เจ้าปฤษฎางค์อย่างเป็นทางการในวาระสุดท้าย อย่างไรก็ดี ผลสืบเนื่องอันสำคัญจาก “ความเจ้าปาน” คือการที่พระองค์ทรง “หมดที่ยืน” ในราชสำนัก แม้จะทรงดำรงตำแหน่งในราชการได้ต่อมา ทว่าก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกต่อไป อันนับได้ว่าเป็นการลงพระราชอาญาทางสังคมขั้นสูงสุด

ดังปรากฏหลักฐานว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้นก็ได้พยายามขอพระราชทานอภัยโทษด้วยวิธีต่างๆ จนสุดความสามารถ โดยในปีเดียวกันนั้น เมื่อพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จางวางมหาดเล็กและผู้บังคับการกรมทหารหน้า ผู้เป็นมิตรสนิทของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อยู่ในขณะนั้น ได้รับพระบรมราชโองการให้นำทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีการเกี่ยวพันกับฝรั่งเศสอยู่

พระยาสุรศักดิ์มนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จักได้แสดงทั้งความสามารถและความจงรักภักดีให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์ ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2430 หรือประมาณ 3 เดือนหลังจากเกิด “ความเจ้าปาน” ขึ้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เป็นลายพระหัตถ์มีความยาวถึง 36 หน้า มีใจความว่าตนได้ตระหนักดีถึงความผิดที่ได้กระทำลงไป

“เวลานี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ผิดอันใดกับคนที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าไม่ได้แสดงตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ทรงเหนความบริสุตในครั้งนี้แล้ว ถึงจะมีชีวิตรอยู่ฤาไม่มีนั้น หาผิดอันใดกันไม่

ถ้าแลจะกราบบังคมทูลถวายปติญานให้เปนที่ไว้วางพระราชหฤไทย์ ภอได้รับราชการตามพระราชประสงค์ เพียงชั้นนั้น ก็คงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ แต่ราชการครั้งนี้ เปนการซึ่งข้าพระพุทธเจ้าต้องถือว่าข้าพระพุทธเจ้าจะไปตายมากกว่าที่จะได้กลับ ถ้าได้ฉลองพระเดชพระคุณตลอดรอตชีวิตรมาได้แล้ว ก็เปนบุนของข้าพระพุทธเจ้า เสมอได้เกิดใหม่

ถ้าแลไปไม่ได้กลับมาหาโอกาษรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ก็จะไม่มีช่องโอกาษที่จะได้แสดงตัวข้าพระพุทธเจ้าให้บริสุตต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าคงต้องมีชื่ออันเสียติดแผ่นดินอยู่ชั่วกาลนาน…แลในความเหนชั้นที่สุดของข้าพระพุทธเจ้านั้น ข้าพระพุทธเจ้ามาตรองเหนด้วยเกล้าฯ ว่า เวลานี้ ข้าพระพุทธเจ้าต้องรับพระราชอาญาประนามเปนชั้นที่สุด ไม่มีสิ่งซึ่งชั่วอันใดจะเปรียบได้ ด้วยเสมอไม่มีตัว ฤากลายเปนผู้อื่นเปนคนละคน เพราะความดีอันใดไม่มีแล้ว

ถึงมาทว่าข้อความที่จะกราบบังคมทูลชี้แจ้งนั้น จะทำให้เปนที่ขุ่นเคืองต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เพราะผลกรรมของข้าพระพุทธเจ้ายังไม่สิ้นสุต จึงให้เหนผิดเป็นชอบไปก็ดี ก็คงอยู่ในเสมอตัว ที่จะชั่วยิ่งขึ้นไปกว่าที่ได้ทรงพระราชดำริห์เหน ความชั่วของข้าพระพุทธเจ้า ว่ามีแล้วมาแล้วนั้นไม่ได้ จะลงพระราชอาญาข้าพระพุทธเจ้าด้วยพระราชอาญาอย่างใด ก็ไม่ยิ่งกว่าที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชอาญาอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเปนการ ‘รูอิน’ จนตลอดชีวิตรของข้าพระพุทธเจ้าแล้ว” [31]

แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานว่ารัชกาลที่ 5 จะมีพระราชกระแสตอบหนังสือกราบบังคมทูลของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฉบับนี้หรือไม่อย่างไร พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็มิได้ทรงมีโอกาสร่วมไปราชการทัพกับพระยาสุรศักดิ์มนตรีตามที่ทรงปรารถนา คงดำรงตำแหน่งไดเรกเตอเยเนราล กรมไปรสนีย์แลโทรเลขสืบมา

สรุปแล้ว “อุบัติเหตุ” ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์คือ เรื่อง “ความเจ้าปาน” ซึ่งเกิดขึ้นในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2430 หรือราว 3 ปีหลังจากการถวายคำกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2427

จึงเห็นได้ชัดว่า “อุบัติเหตุ” ในครั้งนั้น เกิดจากพฤติกรรมในพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เองมากกว่าแนวพระดำริในทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด นับเป็นเรื่องส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มิใช่เป็นความผิดในทางราชการ

อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดในครั้งนั้นยังคงส่งผลสะเทือนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลลาออกจากราชการโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาตในราวปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2433

อันมีผลสืบเนื่องให้พระองค์ต้องประทับอยู่นอกราชอาณาจักรสยามอยู่ต่อมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี จนสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้วจึงทรงมีโอกาสเสด็จกลับคืนสู่สยาม ดำรงพระชนมชีพอยู่ต่อมาด้วยความยากลำบากนานัปการ จวบจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2477 เมื่อพระชันษา 83 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประวัติย่อ นาย พันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. (พระนคร : ม.ป.พ., 2472).

[2] บุญพิสิฐ ศรีหงส์, “สัมพันธภาพระหว่างพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จากหลักฐานชั้นต้นสู่คำถามต่อนักวิชาการและนักเขียนประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์, ใน รัฐศาสตร์สาร. 32 : 3 (กันยายน-ธันวาคม 2554), น. 1-81.

[3] “David K. Wyatt. “Two Views of Siam on the Eve of the Chakri Reformation [book review],” in Journal of Southeast Asian Studies. 22: 1, March 1991, pp. 232-233.

[4] บุญพิสิฐ ศรีหงส์ “สัมพันธภาพระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จากหลักฐานชั้นต้น สู่คำถามต่อนักวิชาการและนักเขียนประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์,” น. 5.

[5] สำนักหอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 มัดที่ 262 เล่มที่ 9 ประกาศสถาปนาหม่อมเจ้าปฤษฎางค์เป็นพระวงศ์เธอพระองค์เจ้า จ.ศ. 1248.

[6] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์. ประวัติย่อ นายพันนเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472 น. 58.

[7] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, จดหมายเหตุรายวัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์ วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2427.

[8] ดูรายละเอียดใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช. แผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย : คำกราบบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ. 103. (พระนคร : โรงพิมพ์ อักษรสัมพันธ์, 2513.

[9] ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์โดยมากมักอ้างความในพระนิพนธ์ ประวัติย่อ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติพ.ศ. 2392 ถึง 2472 ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2472 หรือ 45 ปี หลังจากการถวายคำกราบบังคมทูล พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ โดยทรงเขียนให้ตีความได้ว่าการโปรดเกล้าฯ ให้กลับจากราชการในทวีปยุโรปนั้นเป็นการลงโทษสถานหนึ่ง “ภายหลังจึงได้รู้สึกว่าคิดผิดไป เพราะเป็นเรื่องที่ทรงหาฤาข้าพเจ้าแต่เฉพาะผู้เดียว แลหาใช่การเปิดเผยเป็นกิจการอันผู้อื่นจะควรเกี่ยวข้องด้วยไม่ แต่มารู้สึกโทษต่อเมื่อพ้นเวลาที่จะตั้งตัวไว้ได้เสียแล้ว” พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประวัติย่อ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. น. 60.

[10] “ประกาศเปลี่ยนอธิบดีกรมพระนครบาล,” ราชกิจจานุเบกษา 3/218.

[11] เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472), น. 226.

[12] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประวัติย่อ นาย พันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. น. 64.

[13] ราชกิจจานุเบกษา 4/29.

[14] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, จดหมายเหตุ พระราชกิจรายวัน ภาคที่ 23 (พระนคร : อักษรเจริญทัศน์, 2508).

[15] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประวัติย่อ นาย พันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472 น. 64. ตึกภูมนิเทศทหารหน้านี้ต่อมารื้อลง ปัจจุบัน (2557-กองบรรณาธิการ) เป็นพื้นที่หลังอาคารพาณิชย์ ในความดูแลของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ท่าพระ ใกล้พระบรมมหาราชวัง ระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ และแม่น้ำเจ้าพระยา

[16] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ค.4.1ค/13 ขอพระราชทานที่ตึกภูมนิเทศเป็นโรงหมอนอก.

[17] พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์, ประวัติย่อ นาย พันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แต่ประสูติ พ.ศ. 2392 ถึง 2472. น. 65.

[18] เรื่องเดียวกัน.

[19] หม่อมเจ้าปานเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2399 ทรงรับราชการเป็นช่างเขียนอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สืบมาจนประชวร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2433 ชันษา 34 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงพระศพ หีบทองทึบเป็นเกียรติยศ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดสระเกศ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2434 อีกด้วย ดู “ข่าวตาย,” ราชกิจจานุเบกษา 7/5 และดู “ข่าวพระราชทานเพลิง,” ราชกิจจานุเบกษา 7/262-263.

[20] Public Works กรมโยธาธิการ

[21] หม่อมเจ้าเพิ่ม พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2402 ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ รุ่นเดียวกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ แล้วทรงรับราชการในกรมไปรษณีย์ กรมราชเลขาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ ตามลำดับ ถึงชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2478 ชันษา 77 ปี ดู “ประวัติ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์” ใน หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์, โคลง ฉันท์ กาพย์ ร่าย. (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2478), น.ช.

[22] พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ทรงดูแลราชการในกรมโยธาธิการอยู่ในขณะนั้น

[23] อาจหมายถึงงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ณ ท้องสนามหลวง ระหว่าง วันที่ 22-30 เมษายน พ.ศ. 2430

[24] Personal ส่วนพระองค์

[25] ตรงกับวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2430

[26] หมายถึงหม่อมน้อย ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ราชนิกุลชั้น 3

[27] หม่อมเจ้าเพิ่ม ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมสาด เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2402 สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478

[28] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ค.4.1ค/13 ขอพระราชทานที่ตึกภูมนิเทศเป็นโรงหมอนอก.

[29] หม่อมเจ้าสาย ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2406 ทรงรับราชการเป็นพระภรรยาเจ้ามาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2425 ดังปรากฏว่าพระราชโอรสองค์แรกที่ประสูติแต่พระองค์ คือพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ายุคลฑิฆัมพร ประสูติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2425 ต่อมาใน พ.ศ. 2431 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

[30] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 ค.4.1ค/13 ขอ พระราชทานที่ตึกภูมนิเทศเป็นโรงหมอนอก.

[31] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 บ.3/3 เรื่อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กราบทูลชี้แจงเหตุการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในส่วนพระองค์.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘อุบัติเหตุ’ ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” เขียนโดย ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2565