ทำไมร.5 ทรงห้าม “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” เหยียบแผ่นดินรัชกาลพระองค์จนชีวิตยากไร้

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หนึ่งใน คณะเจ้านาย ข้าราชการ คณะปฏิรูป ร.ศ. 103 ทำหนังสือ กราบบังคลทูล รัชกาลที่ 5 ปรับปรุงการปกครอง
ภาพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นาย เดอ เลสเซป เพื่อเป็นการขอบคุณ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2559)

เรื่อง “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” นี้ เป็นตอนหนึ่งจากงานเขียนเรื่อง “วังท่าพระ กรมช่างสิปป์หมู่ และเรื่องพิศดารอื่นๆ” ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ หม่อมราชวงศ์หญิง ทวีลาภา ปูรณะสุคนธ (ชุมสาย) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2528

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมขอขอบพระคุณอาจารย์สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้เขียนไว้ ณ ที่นี้ ที่ให้ความกรุณาแก่นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเสมอมา

เนื้อความต่อจากนี้ จัดหน้า เว้นวรรค และเน้นตัวหนาโดย กอง บก. ออนไลน์


 

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ประสูติ พ.ศ. 2394 สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2478 ที่ 6 ในกรมขุนราชสีห์ฯ ภายหลังทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า และมีราชทินนามล้อว่า “กระดูกสันหลัง” ของพระปิยมหาราช

ท่านมีพระประวัติที่พิสดารยิ่ง เริ่มด้วยเป็นนักเรียนรุ่นแรกที่ไปประเทศอังกฤษกับนายโต บุนนาค (เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์) และก็เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้ามหาวิทยาลัยอังกฤษ (คิงส์คอลเลจ ลอนดอน) ตลอดจนเป็นสมาชิกสถาบันวิศวกรรมและอื่นๆ ในประเทศนั้นๆ กระทั่งในที่สุดได้เป็นราชทูตสยามคนแรกประจำอังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งหมด 12 ประเทศ

เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับแรก

เมื่อครั้งออกไปเป็นทูตนั้น ได้มีพระราชดำรัสไว้ต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่าอยู่ใกล้ชิดกับฝรั่งมานาน จะต้องรู้นิสัยใจคอและรู้ว่าเขาคิดร้ายดีต่อสยามประเทศอย่างไร เพราะฉะนั้นให้ถวายข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงบ้านเมืองเข้ามาเป็นการส่วนพระองค์

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงถือโอกาสคิดร่างรัฐธรรมนูญถวาย โดยมอบให้พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ค้นคว้าร่างเอกสารขึ้นมา แล้วชักชวนให้เจ้านายและข้าราชการสถานทูตในอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมกันลงพระนามลงชื่อเป็นหางว่าว กราบบังคมทูลถวายเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2428

การครั้งนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทำพลาด เพราะตามพระราชประสงค์เดิมนั้น ให้เป็นการถวายข้อคิดเห็นในส่วนพระองค์ ดังนั้นจึงปรากฏว่าไม่พอพระราชหฤทัย และที่ถูกเรียกกลับกรุงเทพฯ ก็คงมีสาเหตุประการนี้ด้วย

งานช่าง

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ประทับอยู่ต่างประเทศทั้งหมด 38 ปี แต่ในระยะเวลาอันสั้นที่ได้อยู่ในสยามก็ยังได้อุทิศเวลาให้แก่กิจการหลายอย่างเช่น ช่วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งโรงพยาบาลศิริราช ช่วยกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลข ทำการสำรวจแม่น้ำต่างๆ และอ่าวไทย และร่างหลักการเพื่อจัดตั้งกรมโยธา เป็นต้น

ในด้านงานช่างและงานสถาปัตยกรรม ท่านก็ได้สร้างประตูยอดบริเวณพระที่นั่งทรงพระผนวช ณ พระพุทธนิเวสน์ ซ่อมวัดหนัง และวัดราชโอรสต่อจากพระประพันธ์วงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ ออกแบบสร้างโรงช่างแสง รับผิดชอบในการแต่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และจัดเตรียมการสมโภชพระนครครบร้อยปี มีทำตราจักรีบรมราชวงศ์ แบบเสื้อ หมวกยศ และเหรียญต่างๆ และในที่สุดได้สร้างเจดีย์ใหญ่ที่ลังกา ชื่อรัตนเจติย ระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ ณ ประเทศนั้น

เรื่องพระธาตุ

ที่ได้เสด็จไปลังกาอย่างกะทันหัน เหตุเนื่องมาจากมีผู้กล่าวร้ายทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคืองพระราชหฤทัยในบางเรื่อง และก่อนเสด็จได้ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างรุนแรง โดยฝากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์ฯ เข้าไป ในหนังสือนั้น กล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่ามิได้ทรงรักษาสัญญาที่ได้พระราชทานไว้ ฯลฯ และลงท้ายว่าชาติหน้าจะขอไม่มาเกิดร่วมวงศ์ตระกูลอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธมาก ถึงกับรับสั่งว่า

“ตราบใดที่แผ่นดินนี้เป็นของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ให้พระองค์ปฤษฎางค์เข้ามาเหยียบอีก”

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ได้เสียพระทัยมากและได้ขอพระราชทานเข้าเฝ้าเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองโดยเสด็จผ่านมายังลังกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงยอมให้เข้าเฝ้า เป็นอันว่าหมดโอกาสจนสิ้นรัชกาล

อนึ่ง เรื่องที่สำคัญที่สุดในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ที่ลังกา ก็คือ ได้เสด็จตระเวนอินเดีย และได้พบฝรั่งขุดเจอพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกบิลพัสดุ จึงได้จัดแจงให้รัฐบาลอังกฤษถวายมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในที่สุดได้ประดิษฐานไว้บนพระบรมบรรพต อันที่จริงในเรื่องนี้นั้น พระเจ้าอยู่หัวกำลังจะทรงคืนดีและพระราชทานอภัยโทษให้อยู่แล้ว แต่ก็มิไยมีผู้ใส่ร้ายหาว่ายักยอกพระบรมสารีริกธาตุไว้เองก่อนอังกฤษถวายมายังกรุงสยาม ต้องทรงตกระกำลำบากจนสิ้นพระชนม์

หมายเหตุ : คำบรรยายภาพประกอบเป็นพระอักษรที่ทรงไว้เป็นภาษาอังกฤษ แปลดังนี้

“มอบให้ลูกศิษย์ พระชินะนันท์ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 [ลงพระนาม] วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1920 พระชนม์ 70 พรรษา ฉายเมื่อครั้งต้องสูญเสียพระสหายที่แท้ และพระบิดาองค์ที่ 2 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นผู้ยืนเคียงข้างมนุษย์และผู้ทรงรักสยามชาติอย่างแท้ จากอดีต พ.จ.ชินวรวงศ์ [พระองค์เจ้าปฤษฎางค์] นายกเถระแห่งนครโคลัมโบ ผนวช ค.ศ. 1876 ณ ลังกา ถูกสมเด็จพระสังฆราช [สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส] บีบบังคับให้สึกวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1911 และห้ามมิให้บรรพชาอีก ตลอดจนถูกพระรามาธิบดี พระเจ้ากรุงสยาม (ร.6) ห้ามมิให้กลับไปลังกาเพื่อบรรพชา” (คำบรรยายภาพโดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา) ”

เรื่องเครายาว

ในปี 2453 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้เสด็จกลับสู่สยามเพื่อถวายพระเพลิง แต่ถูกกีดกันมิให้ถวายบังคมต่อหน้าพระบรมศพ และถูกบังคับให้สึก เมื่อเสด็จงานพระบรมศพแล้วจะกราบบังคมทูลลากลับลังกาก็ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต แต่นั้นมาจึงไว้เครายาวจนเกิดคำศัพท์ “ไว้เครา” ในหมู่เจ้านาย ซึ่งมีความหมายว่าไว้ทุกข์ เรื่องพิสดารของท่านยังมีต่อไปอีก เพราะปรากฏว่าพระรูปทรงเครายาวนี้ติดอยู่ที่โฮเต็ลฟูจิย่า ณ เมืองฮาโกเนะ ในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในการประกวดเครายาวซึ่งงามที่สุดในโลก ท่านได้รับรางวัลที่ 1

ครั้งหลังสุดเมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยนั้น ได้ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอ แต่อยู่ได้เพียงไม่นานก็โจมตีการใช้เงินฟุ่มเฟือยของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้มีพระบรมราชโองการสั่งปิดโรงพิมพ์ในข้อหาตำหนิและค้านนโยบายรัฐบาลในพระองค์ ในการนี้ได้ให้ตำรวจเอาโซ่ไปล่ามแท่นพิมพ์ไว้ด้วย

ในที่สุด เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์หมดหนทางก็เข้าไปของานทำที่กระทรวงการต่างประเทศ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ทรงสงสารจึงหางานให้ทำ มีเงินเดือนพอเลี้ยงชีพไปได้วันๆ งานของอดีตราชทูตประจำ 12 ประเทศในตะวันตก คือ เป็นเสมียนแปลภาษาอังกฤษในกระทรวง

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าทำงานได้เพียงปีเศษก็โปรดให้คัดออกด้วยเหตุที่ราชการไม่มีงบประมาณ ในระยะนั้น กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงพระเมตตาหาบ้านให้อาศัยที่ตรอกกัปตันบุช ณ ที่นั้น ทรงรับจ้างสอนภาษาอังกฤษไปวันๆ แต่มิวายจะมีพระนิสัยดุคล้ายพระบิดา หน้าบ้านมีป้ายติดไว้ว่า “ไม่ว่าหมาหรือคน ห้ามเข้า” อนึ่งบ้านนี้ อยู่ใกล้โรงเรียนสตรี มีเด็กมาวิ่งเล่นทำเสียงรบกวนอยู่หน้าบ้านเสมอ จึงทรงเหลาไม้เป็นรูปเพศชายแขวนไว้ที่ประตูหน้าบ้าน แต่นั้นมาเด็กผู้หญิงรีบเดินผ่านไม่กล้ามารังควานอีก

พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างยากไร้ในปี พ.ศ. 2478 สองปีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 50 ปีหลังจากได้กราบบังคมทูลถวายร่างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2561