ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
สิ้นชาติสูญเอกราช “พม่าเสียเมือง” เมื่อทูตพม่าปรับทุกข์กับทูตไทย ณ ปารีส
“พม่าเสียเมือง” เป็นประโยคที่มักนำมาใช้เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์พม่าช่วงสุดท้าย กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่ง ไกรฤกษ์ นานา ได้กล่าวถึงประเด็น “พม่าเสียเมือง” ไว้ในบทความ “สิ้นชาติสูญเอกราช ‘พม่าเสียเมือง’ เมื่อทูตพม่าปรับทุกข์กับทูตไทย ณ ปารีส” ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ไว้ดังนี้
พม่ากับไทยมีความบาดหมางกินใจกันมาช้านานนับเป็นร้อย ๆ ปี แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อมหันตภัยที่ใหญ่ยิ่งกว่าของจักรวรรดินิยมตะวันตกเดินทางมาถึง ความระหองระแหงแบบเพื่อนบ้านทะเลาะกันก็พลันยุติลง พม่ากับไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทหันมาซบไหล่กันเพื่อเตือนภัยครั้งใหม่ที่กำลังมาเยือน บทเรียนกรณีพม่าเสียเมืองแก่อังกฤษ เป็นอุทาหรณ์สำหรับแนวทางการดำรงอยู่ของสยามประเทศ เป็นต้นเหตุของการต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่คิดต่อต้านการคุกคามของชาวตะวันตก ที่ต่อมากลายเป็นคำกราบบังคับทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 เรื่องราวต่อไปนี้เป็นฉากหนึ่งเบื้องหลังแรงบันดาลใจคราวนั้น
กลางปี พ.ศ. 2551 ศาสตราจารย์สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กรุณาส่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2427 (สถาบันพระปกเกล้า, 2550) มาให้อ่าน ผู้เขียนดีใจมาก รู้สึกสนใจเป็นพิเศษกับข้อความที่ปรากฏใน น. 79 ที่กล่าวว่า
“ความสำคัญของข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2427 นั้นมีหลายส่วนที่มีผลเป็นรูปธรรมในเวลาต่อมา แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นก็คือประเด็นสุดท้าย ที่ได้จากการศึกษาวิจัยกรณีคำกราบบังคมทูลฯ ร.ศ. 103 จากปัญหาเรื่องพม่า ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงแสดงพระดำริได้เต็มพระสติปัญญา แต่ประเด็นนี้ยังคงค้างคาในพระทัยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อยู่มิวาย” [4]
ปัญหาเรื่องพม่า เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก เป็นสิ่งดลใจให้ผู้เขียนเริ่มค้นคว้าหาที่มาของปัญหานี้ เพื่อทำความเข้าใจกับเหตุผลอันแท้จริงที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้วพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ต่อคำกราบบังคมทูลดังกล่าว ด้วยเหตุผลพื้น ๆ ที่เมืองสยามยังไม่พร้อมที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่เพราะสาเหตุหนึ่ง (ปัญหาเรื่องพม่า) ทำให้เกิดอีกสาเหตุหนึ่ง (คำกราบบังคมทูลความเห็น) ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ จากการค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่า ปัญหาเรื่องพม่า มีผลกระทบทางจิตใจต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อยู่ไม่น้อย เรื่องนี้นี่เองที่เป็นมูลเหตุและปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้มีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กราบทูลแนวทางแก้ปัญหาการคุกคามจากชาติมหาอำนาจ เอกสาร 2-3 ฉบับเพิ่มเติมที่ผู้เขียนพบใหม่ในปารีสชี้เบาะแสของปัญหาเรื่องพม่าให้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้น เมื่อรู้แล้วก็ใคร่จะได้ถ่ายทอดสิ่งที่ค้นพบมาเผยแพร่ต่อไป
นอกเหนือไปกว่านี้ ผู้อ่านจะได้พบความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับทูตพม่าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ต้องโคจรมาพบกันโดยบังเอิญ ทำให้ความลับของประเทศหนึ่งถูกเปิดเผยขึ้น เป็นกรณีศึกษาการที่พม่าและสยามจำต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีจักรวรรดินิยมเป็นตัวแปร ส่งผลกระทบต่อความล่มสลายของชาติหนึ่ง และความอยู่รอดของอีกชาติหนึ่ง ที่มีพัฒนาการทางการเมืองแบบเดียวกันเป็นเดิมพัน

ปัญหาของพม่า
ประวัติศาสตร์พม่าก่อนที่จะถูกอังกฤษยึดครองใน ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) เป็นประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ภายในอาณาจักรเดียวกัน ได้แก่ กลุ่มชนชาติพม่าบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดี กลุ่มชนชาติมอญที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ กลุ่มชาวไทยใหญ่หรือฉานทางภาคเหนือและตะวันออก กลุ่มชาวอาระกันหรือยะไข่ทางภาคตะวันตก ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนเหล่านี้ดำรงอยู่และเป็นปัญหาของพม่ามาจนทุกวันนี้ แต่รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง กลับเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ผสมกับการแก่งแย่งชิงดีของชนชั้นปกครองภายในราชวงศ์เดียวกันซึ่งหาข้อยุติไม่ได้
ความขัดแย้งทั้งปวงถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้น เมื่อพม่าเกิดปะทะกับอังกฤษในอินเดีย กลายเป็นสงคราม 2 ปีที่ต้องเผชิญหน้ากับประเทศมหาอำนาจที่เหนือกว่าทั้งแสนยานุภาพและเทคโนโลยี สงครามครั้งแรกกับอังกฤษ สิ้นสุดลงโดยสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. 1824 (พ.ศ. 2367) แต่แล้วอังกฤษก็หาข้ออ้างในการครอบครองดินแดนเพิ่มในสงครามครั้งที่ 2 ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) ครั้งนี้พม่าตอนล่างทั้งหมดถูกผนวกเข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษรอจังหวะเพื่อให้เกิดสงครามครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) พม่าก็เสียเมือง และถูกผนวกเข้าไปเป็นแคว้นขนาดใหญ่ของการปกครองของอังกฤษในอินเดีย
ภายในราชสำนัก พม่าก็ดูโชคร้ายในแง่ของผู้นำประเทศ แม้ว่ากษัตริย์ราชวงศ์คองบองหลายองค์จะมีความสามารถในการปกครอง จนสามารถรวมพม่าเป็นเอกภาพ การพิชิตอาณาจักรข้างเคียง เช่น อยุธยาและล้านช้าง ทำให้พม่าเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในหมู่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอำนาจทางทหารเหนือยักษ์น้อยแห่งเอเชียคือสยามและเวียดนาม แต่ในระยะที่พม่าเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมอังกฤษนั้น พม่าโชคไม่ดีที่กษัตริย์องค์หนึ่งมีความคิดสั้น กษัตริย์ 2 องค์เสียพระสติ และกษัตริย์อีกหลายองค์ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง [3]
ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดาร พม่า–สยาม
ภายหลังสงครามครั้งที่ 2 และก่อนสงครามครั้งที่ 3 นั้น พม่ามีกษัตริย์ 2 พระองค์ปกครองประเทศ ทรงพระนามว่าพระเจ้ามินดุงและพระเจ้าสีป่อ (บางทีก็เรียกพระเจ้าธีบอ–ผู้เขียน) ทั้ง 2 รัชกาลนี้มีความคล้ายคลึงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสยาม ทั้งรูปแบบการปกครอง นโยบายต่างประเทศ และต่างก็ถูกรุกรานโดยมหาอำนาจตะวันตกแบบเดียวกัน
เรายังทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินพม่าและไทย ล้วนมีแนวความคิด ทัศนคติ และพระราชนิยมที่คล้ายกันมาก ทำให้เหตุการณ์ในระยะนี้สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันตอนจบก็คือ ปฏิกิริยาที่ทั้ง 2 ประเทศได้รับจากมหาอำนาจตะวันตก กลับมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงดังจะได้กล่าวต่อไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ให้เข้ามาตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอในสมัยนั้น จนทุกพระองค์ทรงรู้และตรัสเป็นภาษาอังกฤษ ตลอดจนทรงพระอักษรในภาษานั้นได้แตกฉาน รวมถึงเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ด้วย ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์นั้น พระเจ้ามินดุงก็ทรงว่าจ้างมิชชันนารีชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ หมอมาร์ค ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในวัง จนพระโอรสธิดาทุกพระองค์ตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว รวมถึงเจ้าฟ้าชายสีป่อซึ่งจะได้เถลิงราชสมบัติต่อจากพระเจ้ามินดุงด้วย [2]
ในระหว่างที่ทรงครองราชย์อยู่นั้น พระเจ้ามินดุงทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการเปิดประเทศ และการเจริญสัมพันธไมตรีกับทางยุโรป จึงทรงจัดส่งคณะราชทูตออกไปฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี ถึง 2 คณะ ใน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) และ ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415)
ทางเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดส่งคณะราชทูตไปอังกฤษ ใน ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) และฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) ถึงกระนั้นทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็ยังดำเนินนโยบายคุกคามทั้งพม่าและไทยไปพร้อม ๆ กัน กล่าวคือทางด้านอินโดจีน ฝรั่งเศสยึดเวียดนามได้ทั้งหมดแล้ว ก็เริ่มขยับขยายเข้ามาทางลาวล้านช้าง ดังนั้นดินแดนในเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสก็ประชิดกับเขตแดนพม่าตอนบน (สามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน–ผู้เขียน)
การแผ่อำนาจของฝรั่งเศส ทำให้อังกฤษวิตกกังวลว่าฝรั่งเศสจะก้าวก่ายเข้ามาในเขตอิทธิพลของอังกฤษ ประกอบกับพม่าในสมัยพระเจ้ามินดุงและสีป่อเองก็พยายามผูกมิตรกับฝรั่งเศส และพยายามตกลงทางการค้ากัน พม่าหวังอยู่เสมอว่าจะได้ฝรั่งเศสมาถ่วงดุลอังกฤษและจะได้ขอซื้ออาวุธจากฝรั่งเศสอีกด้วย ส่วนทางเมืองไทยนั้นเมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามแล้วก็หันมาสนใจเขมรและลาว ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน ไทยจึงหันไปหาอังกฤษและมั่นใจอยู่เสมอว่าอังกฤษจะไม่ทอดทิ้งไทยหากฝรั่งเศสหักหาญน้ำใจไทย
ทั้งพม่าและไทยต่างก็ดำเนินนโยบายตอบโต้อังกฤษและฝรั่งเศสในรูปแบบเดียวกัน โดยใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง เพื่อยับยั้งอิทธิพลของจักรวรรดินิยม พระมหากษัตริย์ทั้งพม่าและไทยต่างก็ทรงใช้วิถีทางการเมืองทุกรูปแบบในการต่อรอง จนเกิดแนวนโยบายที่สอดคล้องใกล้เคียงกันในช่วงนี้ รวมถึงนโยบายถ่วงดุลอำนาจ นโยบายลู่ตามลม และนโยบายพันธมิตรซ้อนพันธมิตร โดยอาศัยการทูตนำการเมืองเป็นแนวทางปฏิบัติ
สำหรับเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายที่ละมุนละม่อมกว่าทางพม่า ทรงลดพระองค์ลงมาเป็นผู้น้อย ไม่ทะนงตัวสูงทัดเทียมพระเจ้ากรุงอังกฤษ–ฝรั่งเศส ทรงคิดวิธีผ่อนหนักผ่อนเบา ถึงขนาดที่ทรงทดลองทำในสิ่งที่พระมหากษัตริย์ก่อนหน้าพระองค์ไม่เคยทรงกระทำมาก่อน เช่น จำลองพระมหาพิชัยมงกุฎ และเครื่องราชูปโภคส่งไปพระราชทานพระเจ้ากรุงอังกฤษ–ฝรั่งเศส อันเป็นกุศโลบายเหมือนการยอมตนเข้าสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้พระบารมีกษัตริย์ยุโรป ก่อนที่อังกฤษ–ฝรั่งเศส จะดำเนินมาตรการรุนแรงหรือแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับไทย
การเปิดฉากเดินเกมการเมืองแบบอ่านใจออกของฝ่ายไทยดูจะได้ผลดีกว่าทางพม่า เห็นได้จากการที่รัฐบาลอังกฤษ–ฝรั่งเศส หันมาปรองดองกัน โดยตั้งให้สยามเป็นดินแดนกันกระทบ (Buffer State) ในปี ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2439) ผลตอบแทนลักษณะนี้เป็นสิ่งที่พม่าไม่เคยได้รับ [1]
สถานการณ์ภายใน–นอกประเทศ สมัยพระเจ้ามินดุง
พระเจ้ามินดุงเสด็จขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยการทำรัฐประหารในราชสำนัก โดยล้มพระเจ้าพุกามแมงกษัตริย์องค์ก่อน ทรงมีนโยบายในการปกครองแบบสันติวิธี และคัดค้านนโยบายเก่าของพระเจ้าพุกามแมงในการทำสงครามครั้งที่ 2 กับอังกฤษ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าทางรอดของพม่าอยู่ที่การเป็นมิตรกับอังกฤษ และโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของมหาอำนาจยุโรป ทรงเป็นกษัตริย์ที่สามารถที่สุดพระองค์หนึ่งที่พม่าเคยมีมา มีพระอัจฉริยภาพพิเศษเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสามารถนำทัศนคติสมัยใหม่จากตะวันตกมาปฏิบัติใช้ได้จริง
ทรงมีความคิดและวิสัยทัศน์ก้าวหน้ากว่าคนยุคเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ทรงเปิดการค้าเสรีภายในราชอาณาจักร ทรงนำระบบเงินตราเข้ามาทดแทนระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทั้งยังโปรดให้ตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นผลิตเหรียญใช้เป็นครั้งแรกในประเทศด้วย ทรงตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรม จึงทรงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปให้มาสำรวจและปรับปรุงวิธีการทำเหมืองแร่และป่าไม้ ทรงว่าจ้างชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์และทรงเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
พระเจ้ามินดุงทรงปรารถนาให้มีผู้แทนรัฐบาลอังกฤษมาอยู่ที่เมืองหลวงนานมาแล้ว แต่ก็ยังคงผิดหวัง เพราะอังกฤษยังไม่ยอมให้พระองค์ส่งผู้แทนพม่าไปประจำที่ลอนดอน อังกฤษหาได้ยอมรับว่าพระเจ้ามินดุงมีฐานะและตำแหน่งเทียบเท่ากับพระนางเจ้าวิกตอเรีย ทั้งบางส่วนของพม่าก็เป็นเขตแดนที่ขึ้นกับอังกฤษ ในระยะนั้นอังกฤษมีการติดต่อโดยตรงจากลอนดอนกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทย จึงเท่ากับอังกฤษตั้งใจเหยียดหยามพระเจ้ามินดุงอยู่มาก
ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้รับการตอบรับไมตรีจิตจากพระนางเจ้าวิกตอเรียผ่านข้าหลวงใหญ่ ทำให้ทรงรู้สึกกล้าขึ้น และใน ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) พระองค์ได้ทรงส่งคณะทูตชุดที่ 2 โดยการนำของเสนาบดีผู้เฒ่า คือ ท่านกินหวุ่นมินจี ผู้เป็นพระสหายใกล้ชิดให้เป็นผู้แทนพระองค์ไปอังกฤษ บนเส้นทางไปอังกฤษ คณะทูตผ่านทางอิตาลีและฝรั่งเศส และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศในฐานะที่พม่าเป็นราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครอง

แต่พอมาถึงพระราชวังวินด์เซอร์ในอังกฤษ กลับไม่มีเสนาบดีฝ่ายต่างประเทศอยู่ในพิธีเข้าเฝ้า มีแต่เพียงขุนนางฝ่ายกิจการอินเดียเป็นผู้นำเข้าเฝ้าแทน แสดงว่าราชสำนักเซ็นต์เจมส์จัดฐานะของพม่าไว้ต่ำกว่าสยาม ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงท่าทีของอังกฤษที่มีต่อพม่า คือ ยังคิดว่ามิใช่ราชอาณาจักรที่เป็นเอกราช แต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษมาแต่เดิมเท่านั้น
นอกจากนั้น สิ่งที่บั่นบอนพระราชหฤทัยของพระเจ้ามินดุงเรื่อยมา คือ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ อังกฤษก็ยังไม่แสดงความมั่นใจในราชสำนักพม่า และยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ในแคว้นกะเหรี่ยงเป็นพัก ๆ การแทรกแซงกิจการภายในของพม่าทั้งด้านการทหารและพลเรือน มีผลทำให้หัวหน้าพวกกะเหรี่ยงบางกลุ่มได้ใจ จึงตั้งตัวเป็นกบฏต่อต้านรัฐบาลกลางของพม่า และทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับราชสำนักด้วยการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าของพวกอังกฤษ
ความมัวหมองจากกิจการภายนอกและความระส่ำระสายของกิจการภายใน ทำให้ทรงท้อแท้พระทัยและสิ้นหวัง ตลอดรัชสมัยพระเจ้ามินดุงทรงรีรอที่จะแต่งตั้งพระราชโอรสองค์หนึ่งองค์ใดเป็นรัชทายาท เพราะทรงเกรงว่าจะเป็นอันตราย เนื่องจากภายในราชสำนักยังขาดความสามัคคี และไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พอถึง ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) ขณะที่พระเจ้ามินดุงใกล้สวรรคต พระมเหสีกับเสนาบดีคนโปรด คือ เตียงดามินจี และ กินหวุ่นมินจี ร่วมกันวางแผนยึดอำนาจด้วยการยกเจ้าชายสีป่อ ผู้ไม่มีชื่อเสียงขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ แล้วให้อภิเษกสมรสกับพระธิดา 2 องค์ของพระมเหสีองค์นั้น คือ เจ้าหญิงศุภยลัต และเจ้าหญิงศุภยจี ผู้ทรงเป็นพระขนิษฐาร่วมพระราชบิดา คณะผู้วางแผนเชื่อมั่นว่า เจ้าชายสีป่อจะต้องอยู่ในอำนาจตนเพราะทรงมีอุปนิสัยอ่อนแอ ทั้งขาดอิทธิพลและการสนับสนุนจากฝ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น [5] และ [6]
สถานการณ์ภายใน–นอกประเทศ สมัยพระเจ้าสีป่อ
รัชกาลใหม่ในพม่าเริ่มต้นอย่างไม่ราบรื่นนัก เมื่อเริ่มขึ้นรัชกาลก็เกิดข่าวลือทั่วไปในพม่าตอนล่าง ว่ากษัตริย์องค์ใหม่กำลังวางแผนบุกดินแดนอังกฤษ พ่อค้าอังกฤษในพม่าพากันยื่นคำร้องเพื่อขอกำลังคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษ สงครามอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 3 ดูไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ในสถานการณ์เช่นนี้ และอังกฤษเองก็มีแผนการที่จะสนับสนุนเจ้าชายนยองยาน ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าสีป่อ และผนวกพม่าตอนบนเป็นดินแดนในอารักขา
แต่สงครามก็ยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. อังกฤษกำลังวุ่นวายอยู่กับการปราบกบฏในอัฟกานิสถาน และ 2. ชนเผ่าซูลูในแอฟริกาก็กำลังกำเริบเสิบสาน วิกฤติการณ์ในพม่าช่วง ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) จึงผ่านพ้นไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ภายในราชสำนัก แผนการของกินหวุ่นมินจีที่จะทำให้พระเจ้าสีป่อเป็นหุ่นเชิดดูไร้ผล เพราะพระราชินีศุภยลัตคุมอำนาจทั้งหมดอยู่เหนือกษัตริย์ผู้อ่อนแอ พระนางทรงมีความทะเยอทะยาน มุทะลุ และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อิทธิพลของพระนางมีส่วนสำคัญต่อการสั่งปลดเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ตามใจชอบ รวมทั้งสั่งระงับแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญที่เสนาบดีเหล่านั้นได้เตรียมการไว้ สถานการณ์เลวลงอีกใน ค.ศ. 1883 ในปีเดียวกันพระเจ้าสีป่อทรงจัดให้คณะทูตชุดหนึ่งเดินทางไปฝรั่งเศส

ฝ่ายอังกฤษสงสัยในจุดมุ่งหมายของพม่าแล้วแต่เริ่มแรก อังกฤษหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าฝรั่งเศสต้องการดินแดนบางส่วนของพม่าเช่นกัน เพราะฝรั่งเศสเสียดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลกให้อังกฤษมามากแล้ว จึงหันมาตั้งนโยบายรุกรานแบบรวบรัดในเอเชียบ้าง อังกฤษพยายามกีดกันมิให้ทูตพม่าไปฝรั่งเศส ส่วนราชสำนักก็พยายามทุกวิถีทางให้คณะทูตออกเดินทางให้ได้ จุดประสงค์ก็เพื่อเจรจาทำสนธิสัญญาทางการค้าและมิตรภาพกับทางยุโรป แต่จุดหมายอันซ่อนเร้นก็เพื่อเจรจาให้รัฐบาลฝรั่งเศสแทรกแซงกิจการภายในของพม่า
คณะทูตพำนักอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายเดือน ตลอดเวลานั้นทูตอังกฤษประจำกรุงปารีสก็จับตาดูความเคลื่อนไหวของคณะทูตพม่าอย่างไม่พอใจ และรีบบอกเสนาบดีต่างประเทศของฝรั่งเศสอย่างไม่เกรงใจว่ารัฐบาลอังกฤษจะประท้วงหากข้อระบุในสัญญากับพม่าจะมีข้อแม้อื่น ๆ นอกเหนือไปจากการค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว ในที่สุดสนธิสัญญาก็ตกลงลงนามกันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428)
ในระหว่างนี้สถานการณ์ในพม่าเลวร้ายลงอีก วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) อังกฤษก็เคลื่อนทัพประชิดชายแดนพม่า กองทัพอันทรงอานุภาพของอังกฤษเดินทัพถึงกรุงอังวะโดยปราศจากการต่อต้าน อังกฤษได้ชัยชนะที่ไม่น่าภูมิใจนักและสงครามก็กินเวลาเพียง 11 วัน
วันที่ 29 พฤศจิกายน พระเจ้าสีป่อและพระราชินีเสด็จออกท้องพระโรงเป็นครั้งสุดท้าย รอการเข้าเฝ้าของแม่ทัพอังกฤษ คือ นายพลเอกเปรนเดอกาสท์ ท่านแม่ทัพแสดงคารวะแต่เข้มงวด และได้ถวายเวลาให้กษัตริย์และพระราชินี 45 นาที เพื่อเตรียมการเสด็จ โดยจะถูกเนรเทศไปยังฝั่งตะวันตกของอินเดีย ขณะที่คุณพนักงานกำลังรีบเก็บฉลองพระองค์และเพชรพลอยอันมีค่า พระเจ้าสีป่อได้ทรงขอที่จะออกจากวังด้วยการทรงช้างหรือขึ้นวอตามพระเกียรติยศ แต่แม่ทัพอังกฤษซึ่งต้องการหยามหน้ากษัตริย์พม่า ได้จัดรถกูบ (คล้ายเกวียน) เทียมวัว 2 ตัว มาให้กษัตริย์และพระราชินีทรงออกจากวัง
ตามรายทางที่ขบวนเสด็จผ่านไปมีราษฎรมายืนเรียงรายเต็มไปทุกถนน ราษฎรเริ่มตระหนักว่าตนกำลังสูญเสียเอกราชของชาติและพม่าจะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินอีกต่อไป ภาพที่เห็นเป็นภาพของชายร่างเล็ก ท่าทางสง่าแต่สิ้นหวัง พระพักตร์ซีดขาว ประทับอยู่บนเกวียนแบบชาวบ้าน แวดล้อมด้วยทหารอินเดียโพกผ้าจำนวนหลายร้อยคน เป็นภาพครั้งสุดท้ายที่จับใจราษฎรเป็นอย่างยิ่ง หญิงชราจำนวนมากต่างทุ่มตัวลงคร่ำครวญร่ำไห้กับพื้นดิน [5] และ [8]

ทูตพม่าถอดใจกับทูตไทย เรื่อง “พม่าเสียเมือง”
บางทีเหตุร้าวฉานที่เกิดขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษในปี พ.ศ. 2428 อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะกรุงรัตนะบุระอังวะที่ไม่มีประเทศมหาอำนาจใดเป็นมิตรนั้น อังกฤษถือว่าไม่เป็นภัยต่ออังกฤษ แต่กรุงอังวะที่มีฝรั่งเศสอันเป็นคู่แข่งกับอังกฤษเป็นมิตรนั้น อังกฤษเห็นว่าเป็นภัยใหญ่หลวงต่อระบบการหาเมืองขึ้น และการปกครองเมืองขึ้นของอังกฤษทีเดียว
แต่เหตุที่พระเจ้าสีป่อทรงกระตือรือร้นที่จะคบกับฝรั่งเศส ก็เพราะทรงทราบว่าฝรั่งเศสเป็นคู่แข่งกับอังกฤษนั่นเอง จึงทรงคิดไปว่ากรุงอังวะที่มีฝรั่งเศสหนุนหลังอยู่นั้น คงจะเป็นที่เกรงขามแก่อังกฤษต่อไป สิ่งที่ไม่ทรงทราบก็คือกรุงลอนดอนในเวลานั้นมีอิทธิพลทางการทูตอยู่เหนือกรุงปารีสมากอยู่ อาจบังคับปารีสให้ทำอะไรตามใจลอนดอนได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นทางปารีสก็รู้อยู่แก่ใจว่า พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่สมัยพระเจ้ามินดุงแล้ว [2]

ขณะที่พำนักอยู่ในปารีส คณะทูตพม่าโดยการนำของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2 คน คือ ธันเจะต์หวุ่นดอก (Thangyet Wundauk) ราชทูตเป็นหัวหน้าคณะ และ จอกมยองอัตวินหวุ่น (Kyaukmyaung Atwinwun) อุปทูตพม่า ก็ประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนสัตยาบันของสัญญาการค้าและมิตรภาพ ฉบับวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1885 กับรัฐบาลฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ราชทูตพม่าก็มายืนอยู่หน้าสถานทูตสยาม เลขที่ 13 (ถนน) Rue De Siam กลางกรุงปารีส เพื่อขอพบราชทูตสยามอย่างไม่เป็นทางการ

การมาเยือนเป็นส่วนตัวครั้งนี้เป็นภารกิจที่ค่อนข้างลึกลับพอดู เพื่อปรับทุกข์เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ การพบปะกันครั้งนี้ได้รับการตีแผ่อยู่ในหนังสือที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษชื่อ Prince Prisdang Files on His Diplomatic Activities in Europe, 1880-1886 หรือภารกิจด้านการทูตในทวีปยุโรปจากแฟ้มของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ระหว่าง ค.ศ. 1880-1886 เรียบเรียงโดย ม.ล. มานิจ ชุมสาย ณ อยุธยา ภายใต้หัวข้อว่า
“เรื่อง พม่าเสียเมือง ให้อังกฤษ”
มีเหตุการณ์แปลก ๆ เกิดขึ้นที่กรุงปารีส เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงดำรงตำแหน่งราชทูตอยู่ ณ เมืองนั้น คณะทูตชุดหนึ่งจากรัฐบาลพม่าถูกส่งมายังปารีส เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ในการต่อต้านอังกฤษซึ่งพยายามยึดครองพม่าอยู่ในเวลานั้น ขณะที่คณะทูตพำนักอยู่ที่ปารีส ประเทศพม่าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ พระเจ้าสีป่อทรงถูกจับกุมและรอการเนรเทศออกนอกประเทศ รัฐบาลโดยชอบธรรมจึงหมดอำนาจลง ทำให้คณะทูตตกค้างอยู่ในปารีส โดยปราศจากทุนรอนเป็นค่าใช้จ่ายกลับบ้าน เมื่อแพแตกและขาดที่พึ่งอย่างกะทันหัน ทูตพม่าได้เดินทางมาขอพบพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เพื่อขอความช่วยเหลือ ในช่วงเวลาอันคับขัน
ผลสะท้อนจากเหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนจิตใจของราชทูตไทยอย่างใหญ่หลวง และจะเป็นผลกระทบไปยังชาวพม่าที่อาศัยอยู่นอกประเทศอีกด้วย บทเรียนในพม่าสร้างความกดดันแก่ประเทศต่าง ๆ ที่มีสถานะเดียวกันแม้แต่ประเทศสยามเอง ทำให้เกิดความเห็นแตกต่างทางความคิดของชนชั้นปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างกว้างขวาง
ในเวลานี้ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการรวบรัดให้สัตยาบันสนธิสัญญาที่รอการพิจารณาอยู่ และจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงของรัฐบาลฝรั่งเศสเอง สิ่งที่ต้องตัดสินใจคือฝรั่งเศสจะได้อะไรจากการที่พม่าหมดอิสรภาพลง ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องอะไรต่อไปได้ อังกฤษก็คงจะยกเลิกสิทธิประโยชน์ทั้งหมดภายในพม่าโดยปริยาย
ที่สถานทูตสยาม ชาวพม่าได้รับการต้อนรับฉันมิตรประเทศ ความรู้สึกเกลียดชังจากสงครามในอดีตระหว่างเราหยุดลงชั่วขณะ สำหรับชาวพม่า สยามก็คือเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เปรียบได้กับญาติสนิทที่มีหัวอกเดียวกันในยามนี้ ความรู้สึกของท่านทูตพรั่งพรูออกมาดังนี้
1. ทูตพม่าสิ้นหวังที่จะช่วยรักษาอิสรภาพของชาติไว้ได้ มันสายเกินไปที่จะหาทางมาแก้ไขสถานการณ์ได้ พวกเขาไม่ได้รับข่าวคราวจากบ้านอีกเลย และเงินทองก็หมดลงอย่างรวดเร็ว คณะทูตถูกลอยแพอยู่ในฝรั่งเศส และต้องขออนุญาตรัฐบาลอังกฤษเพื่อเดินทางกลับ แม้จะเป็นการกลับบ้านเกิดของตนเองก็ตาม
2. การที่พ่อค้าอังกฤษพากันส่งเสริมรัฐบาลของตนในวิกฤติการณ์นี้ ทูตพม่าได้ขอความเห็นใจไปยังรัฐบาลทั้งในอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส ให้รู้ว่ารัฐบาลต่าง ๆ ก็จะพลอยเสียผลประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน แต่ก็แทบจะไม่มีเสียงตอบในเวลานี้ คณะทูตอ้อนวอนรัฐบาลอังกฤษให้ยับยั้งชั่งใจที่จะทำสงครามกับชาวพม่า และขอเป็นคนกลางในการเจรจากับรัฐบาลของตนเอง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างใด คณะทูตรู้สึกเศร้าสลดที่ถูกทอดทิ้ง
3. ก่อนการเดินทางมายุโรป ทูตพม่าเต็มไปด้วยความมั่นใจในการหาข้อตกลงกับรัฐบาลอังกฤษ แต่ข่าวที่ได้รับก็คือรัฐบาลพม่าใช้ความกดดันให้พระเจ้าแผ่นดินตอบโต้อังกฤษ พระเจ้าแผ่นดินทรงขาดการติดต่อกับประชาชนมานาน และทรงถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
4. ทูตพม่าให้การว่า เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระบรมวงศานุวงศ์จากรัชกาลที่ผ่านมาก็ถูกจับกุมเป็นเชลย และหมดอิสรภาพ เปรียบได้กับการกบฏภายในราชสำนักที่พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้เห็นด้วย พระองค์ทรงหวาดระแวงการปฏิวัติของพระเชษฐาองค์โต เมื่อไม่สำเร็จก็เสด็จหนีออกนอกประเทศไป พระราชโอรสจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนอีกประมาณ 30 พระองค์ ถูกประหารชีวิตจนหมดเมื่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชสมบัติ

5. ทูตพม่ากล่าวอย่างขมขื่นว่า ไม่มีชาติใด ๆ เห็นใจพม่าในยามนี้ และพากันตำหนิรัฐบาลพม่าที่ยกเลิกสนธิสัญญากับต่างประเทศ ก่อนหน้านี้พม่าได้ตระเตรียมการบางอย่าง เช่น สั่งซื้ออาวุธจากต่างประเทศเพื่อต่อสู้กับอังกฤษ แต่ก็ถูกบอยคอตจากคู่ค้าซึ่งก็ถูกกดดันโดยอังกฤษอีกต่อหนึ่ง
6. พม่าต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของอังกฤษอย่างง่ายดาย หลังจากนี้คงต้องทนทุกข์ทรมานภายใต้การกดขี่ข่มเหงของคนอังกฤษ ชาวพม่าหวังจะได้รับความพึ่งพาจากมหาอำนาจชาติอื่น แต่ก็ต้องหมดหวัง
7. คณะทูตแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียเอกราชและอธิปไตย แต่ก็ยังหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากรัฐบาลอังกฤษ
8. ต้นเหตุของวิกฤติการณ์ในชาติ เกิดจากการที่ผู้นำประเทศขาดวุฒิภาวะในการบริหารราชการแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงรายล้อมอยู่ด้วยผู้ไม่หวังดีและพวกประจบสอพลอ
ทูตพม่ากล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้อาจเกิดขึ้นกับประเทศใดก็ได้ แม้กระทั่งประเทศสยาม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตอบโต้ว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มองเหตุการณ์ไปไกลกว่าพม่ามากนัก พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ ทรงมีความคิดก้าวหน้ากว่าชาวเอเชียทั่วไป และไม่ทรงนิ่งนอนใจที่จะพัฒนาประเทศตลอดมา
ทูตพม่าขอความคิดเห็นจากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่าอังกฤษจะยอมให้พม่ามีพระเจ้าแผ่นดินต่อไปหรือไม่? ทูตไทยลงความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลอนุรักษนิยมมีอำนาจในอังกฤษแล้ว ก็คงเป็นไปได้ยาก พม่าก็จะกลายเป็นอาณานิคมในเครือจักรภพเช่นเดียวกับอินเดีย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตั้งคำถามว่าชาวพม่าจะคัดเลือกกษัตริย์ของตนเองอย่างไรในเมื่อราชวงศ์ถูกประหารไปจนหมด ทูตพม่าตอบว่าที่เหลืออยู่มีแต่พระเชษฐาของพระเจ้าสีป่อที่ขณะนี้ทรงลี้ภัยการเมืองอยู่ ณ เมืองปองดิเชอร์รี่ (Pondicherry) ซึ่งเป็นอาณานิคมเก่าแก่ของฝรั่งเศสในอินเดีย
คำให้การทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงในสาส์นของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ส่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบคำชี้แจงอื่น ๆ [7]
(หมายเหตุ : ถอดความเป็นภาษาไทย จากต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ)

กษัตริย์องค์สุดท้าย เสียอิสรภาพ เมื่อ “พม่าเสียเมือง”
นิตยสารต่างประเทศอีกฉบับหนึ่ง บรรยายเหตุการณ์ตอน “พม่าเสียเมือง” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชะตากรรมในช่วงบั้นปลายของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยลัต ผู้เขียนเห็นว่ามีสาระดีจึงนำมาถ่ายทอดไว้เป็นบทสรุปของประวัติศาสตร์หน้านี้เพื่อมิให้สูญหายไป
“หลังจากที่อังกฤษได้กุมพระองค์พระเจ้าสีป่อ และพระนางศุภยลัตพระมเหสีส่งออกจากพม่าไปยังอินเดียแล้ว พระเจ้าสีป่อและพระมเหสี ตลอดจนข้าราชบริพารจำนวนมากก็ได้ไปพำนักอยู่ที่เมืองมัทราฐเป็นเวลาสองสามเดือน แล้วอังกฤษจึงส่งเสด็จต่อไปยังเมืองรัตนคิรี
เมื่อเสียเมืองแก่อังกฤษนั้น พระเจ้าสีป่อได้ตรัสว่าก่อนเสด็จออกจากเมืองได้ทรงมอบเครื่องเพชรทองอันเป็นเครื่องต้นราชูปโภคไว้แก่ผู้บัญชาการอังกฤษเพื่อความปลอดภัย แต่แล้วก็มิได้คืนเลย เครื่องราชูปโภคและเครื่องต้นเหล่านั้นมีค่านับเป็นล้าน ๆ รูปี ในบัญชีนั้นปรากฏว่ามีสร้อยพระศอเพชร 20 ชุด พระสังวาลเพชร 10 องค์ และทับทิมเม็ดใหญ่อันหาค่ามิได้ ชื่อ ‘งาหมอก’
ทรัพย์สินเหล่านี้ปรากฏภายหลังว่าทหารอังกฤษที่เข้ายึดเมืองได้นั้นหยิบฉวยเอาไปเป็นส่วนตัวเสียมาก ที่เหลือก็ส่งต่อไปยังคณะกรรมการรางวัล (Prize Comittee) ของกองทัพบกอังกฤษ กรมเครื่องต้นแห่งประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในอังกฤษ
แต่ถึงอย่างนั้นพระเจ้าสีป่อและพระมเหสีก็ยังได้ทรงนำทรัพย์สมบัติอันมีค่าติดพระองค์ออกมาได้เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่ามีราคาถึงเจ็ดแสนรูปี
เมื่อเสด็จออกจากพม่านั้นพระนางศุภยลัตทรงพระครรภ์แก่ และได้ประสูติพระราชธิดาที่เมืองมัทราฐ เมื่อประสูติแล้วก็มีการสมโภชขึ้นพระอู่ตามพระราชประเพณี ในการนั้นพระเจ้าสีป่อได้โปรดให้สร้างถาดทองคำขึ้นสรงพระราชธิดา ถาดนั้นวัดได้สามฟุตโดยรอบและฝังทับทิมล้วน
พระเจ้าสีป่อพร้อมด้วยพระมเหสีและพระราชธิดาและข้าราชบริพารเสด็จถึงเมืองรัตนคิรีเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2429) ทางราชการอังกฤษได้จัดบ้านหลังใหญ่สองหลังให้เป็นที่ประทับ ต่อมาเห็นว่าบ้านนั้นไม่สมพระราชอิสริยยศ จึงได้สร้างพระที่นั่งขึ้นถวายเมื่อ พ.ศ. 2453 เป็นตึกสองชั้น มีห้องที่ประทับและห้องอื่น ๆ 15 ห้อง มีท้องพระโรงและมีเรือนข้าราชบริพารอยู่ได้ 60 คน สิ้นเงินไปแสนสองหมื่นห้าพันรูปี
ขณะนั้นปรากฏว่าคนในขบวนของพระเจ้าสีป่อทั้งสิ้นมีถึง 161 คน ต่างก็อยู่ในเมืองรัตนคิรีนั้น และพระเจ้าสีป่อก็ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องจ่ายพระราชทรัพย์เลี้ยงดูคนเหล่านี้ตลอดไป นับว่าเป็นภาระที่หนัก และสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มาก
ความเป็นอยู่ในราชสำนักนั้นก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปกว่าเมื่อครั้งยังอยู่ในพม่า ยังคงหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่เช่นเดิม เมื่อมีท้องพระโรงก็เสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้า คนในราชสำนักก็ยังหมอบคลานเฝ้าแหนเหมือนแต่ก่อน พระนางศุภยลัต ทรงรักษาประเพณีเดิมโดยเคร่งครัด เวลาพระเจ้าสีป่อตื่นพระบรรทมในตอนเช้าทุกวัน พระนางศุภยลัตก็ทรงคลานเข้าไปเฝ้าหมอบกราบถวายบังคมแล้วตั้งพานเครื่องพระสุคนธ์
ความเป็นอยู่อย่างเดิมนั้นหมดเปลืองมาก เป็นเหตุให้พระเจ้าสีป่อต้องทรงจำนำพระราชทรัพย์ของมีค่าต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาจ่าย ภายในระยะสิ้นปีแรกที่ประทับอยู่ที่เมืองรัตนคิรีนั้นต้องทรงตกเป็นเหยื่อของพวกรับจำนำของหาดอกเบี้ย และพระราชทรัพย์ที่จำนำนั้นหลุดไปเป็นของคนพวกนี้อยู่มาก และอย่างเสียเปรียบ เพชรเม็ดใหญ่เม็ดหนึ่งมีค่าสองแสนรูปีต้องหลุดจำนำตกไปเป็นของเจ้าหนี้ด้วยเงินเพียงสี่หมื่นรูปีเท่านั้น
รัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้ถวายเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายปีละ 46,794 รูปี แต่ก็ปรากฏว่าไม่พอ พระเจ้าสีป่อต้องทรงจำนำพระราชทรัพย์และกู้เงินมาใช้จ่ายอยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดรัฐบาลอังกฤษในอินเดียต้องออกกฎหมายบังคับมิให้พระเจ้าสีป่อทรงกระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สัญญาเงินกู้และสัญญาจำนำมีผลผูกมัดถึงพระองค์ และมิให้พวกเจ้าหนี้เอารัดเอาเปรียบขูดรีดพระองค์ได้
อังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดการทรัพย์สินของพระเจ้าสีป่อ และเมื่อพระเจ้าสีป่อสวรรคตใน พ.ศ. 2459 กรรมการคณะนี้มีพระราชทรัพย์เหลืออยู่ เพื่อมอบให้แก่ทายาทได้เป็นจำนวนสามหมื่นเก้าพันรูปี
พระเจ้าสีป่อประทับอยู่ที่เมืองรัตนคิรีถึงสามสิบปี มิได้ทรงทำอะไรเป็นแก่นสาร ปฏิบัติพระองค์ตามราชประเพณีที่ไร้ความหมายเสียแล้ว ที่เห็นเป็นบาปกรรมที่สุดก็คือที่เมืองรัตนคิรีไม่มีพระพุทธศาสนา แม้จะบำเพ็ญพระราชกุศลทรงธรรมก็ไม่มีทางจะทำได้
วันหนึ่ง ๆ ก็ได้แต่ทรงเขียนพระราชสาสน์ถึงรัฐบาลอังกฤษ ขอร้องให้ช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ เมื่อครั้งพระเจ้ายอร์ชที่ 5 แห่งอังกฤษเสด็จเยือนอินเดียใน พ.ศ. 2458 พระเจ้าสีป่อก็ทรงพยายามไปเฝ้าให้ถึงพระองค์ แต่ทางราชการอังกฤษไม่อนุญาต
พระเจ้าสีป่อมีพระราชธิดาสี่พระองค์ ไม่มีพระราชโอรส พระราชธิดาองค์ใหญ่ตกเป็นภรรยาลับ ๆ ของชาวอินเดียคนหนึ่ง และพระราชธิดาองค์เล็กหนีตามมหาดเล็กซึ่งเป็นชาวพม่าไป
พระเจ้าสีป่อสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2459 สามสิบปีหลังจากที่ได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองรัตนคิรี พระประยูรญาติแสดงความจำนงจะเชิญพระบรมศพกลับไปยังพม่า แต่รัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาต สวรรคตแล้วถึงสามปี คือใน พ.ศ. 2463 จึงได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมศพไว้ที่เมืองรัตนคิรี เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ณ ที่นั้น” [2]
การล่มสลายของราชอาณาจักรพม่า ถูกตีแผ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ ทั่วโลกเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตัดเก็บบทความจากที่ต่าง ๆ ทรงแปล แล้วทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับรายงานการเข้าพบของทูตพม่าที่ปารีส พระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องนี้อย่างมาก แล้วจึงมีพระบรมราชโองการให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์กราบบังคมทูลความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เข้ามา [7]

ในตอนแรกพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กราบบังคมทูลว่า ท่านมิใช่คนที่เหมาะสม จึงมิอาจเอื้อมถวายความเห็นในกรณีดังกล่าวได้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงยืนยันให้ท่านลองถวายความเห็นดูว่าถ้าเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับสยามบ้าง เราควรจะป้องกันอย่างไร? หลังจากนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงรับเอาพระราชกระแสมาทรงปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธออีก 3 พระองค์ ที่ทรงพำนักอยู่ในยุโรป
ขณะนั้นมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเรศร์วรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่ในสถานทูตทั้งที่ลอนดอนและปารีส โดยมีจุดประสงค์ที่จะกราบบังคมทูลความเห็นร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน อันเป็นที่มาของการเสนอให้สยามมีรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 [4]
ในภายหลัง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตระหนักว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาหารือมาเป็นการส่วนพระองค์ ทำให้ไม่สมควรที่จะเปิดเผยแก่ผู้อื่นได้รับรู้ด้วย และให้เก็บเป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ จึงทรงรู้ตัวว่าได้คิดและทำผิดพลาดไป มารู้สึกตัวว่าเป็นโทษทัณฑ์ก็ต่อเมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข้ามาแล้ว [4]
อ่านเพิ่มเติม :
- ผลพวงออก “ลอตเตอรี่” สมัยพระเจ้าสีป่อ จนศีลธรรมสังคมพม่าเสื่อมโทรมรุนแรง
- “หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี”!!!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เอกสารประกอบการค้นคว้า :
[1] ไกรฤกษ์ นานา. กุศโลบายของรัชกาลที่ 4 จากเอกสารต่างประเทศฉบับใหม่, ใน ศิลปวัฒนธรรม (ธันวาคม 2551), น. 108-121.
[2] คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. พม่าเสียเมือง. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2000.
[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่า : อดีตและปัจจุบัน. เชียงใหม่ : โครงการตำรามหาวิทยาลัย สำหรับหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2526.
[4] สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และคณะ. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2427. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2550.
[5] หม่องทินอ่อง. A HISTORY OF BURMA. (ฉบับแปลโดย เพ็ชรี สุมิตร). จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2548.
[6] Bruce, George. The Burma Wars (1824-1886). London : Hart-Davis & Macgibbon, 1973.
[7] Manich Jumsai, M.L. Prince Prisdangs Files On His Diplomatic Activities In Europe, 1880-1886. Bangkok : Chalermnit, 1977.
[8] L’UNIVERS ILLUSTRE, Paris, ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 1884.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2562