ความคับแค้นพระทัยของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทูตที่ร.5 ห้ามเหยียบแผ่นดิน

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

ความคับแค้นพระทัยของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทูตที่ รัชกาลที่ 5 ห้ามเหยียบแผ่นดินไทยอีก

“—เกิดชาติใดฉันใดให้ได้เป็นข้าเจ้ากัน ขออย่าให้มีศัตรูมาเกียดกันระหว่างกลางเช่นชาตินี้เลย—”

เป็นข้อความที่ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ทรงเขียนลงในกระดาษสำหรับพันธูปเทียนอันเป็นเครื่องสักการะหน้าพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ่งบอกถึงความเจ็บช้ำน้ำพระทัยอันน่าจะเกิดจากความเข้าพระทัยผิดระหว่างพระองค์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ทรงกริ้ว และถูกซ้ำเติมจากคนรอบข้างโดยไม่ทรงมีโอกาสที่จะกราบทูลให้ทรงเข้าพระราชหฤทัย ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่มีศัตรูมาเกียดกัน จนตลอดพระชนมชีพของพระองค์

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นพระโอรสของกรมขุนราชสีหวิกรม (พระองค์เจ้าชุมสาย) เมื่อแรกประสูติมีพระอิสริยศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า พระบิดานำพระองค์เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่โปรดปรานในความเฉลียวฉลาด ความสามารถ และความสนพระทัยในการศึกษา จึงโปรดสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า และโปรดตั้งพระนามเรียกล้อๆ ว่ากระดูกสันหลังตามความหมายของพระนามปฤษฎางค์

ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับการศึกษาสูงสุด เริ่มจากโปรดส่งไปศึกษาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ และศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน แผนกวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ ที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่าวิชาช่างกล

สถาบันนี้เองที่เจ้าชายหนุ่มพระองค์นี้ ทำให้พระเจ้าแผ่นดินสยามภาคภูมิพระราชหฤทัยในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ กับคำกล่าวของ นายวิลเลียม แกลดสตัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษขณะนั้นที่ว่า

มิสเตอร์ ปฤษฎางค์ ชุมสาย เป็นผู้ที่มาจากประเทศไกลยิ่ง มีนิสัยน่ากลัวอย่างยิ่ง ในการรับเหมาเอารางวัลเสียแต่ผู้เดียวสิ้น—”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระราชหฤทัยถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประกอบกับการที่เจ้านายพระองค์นี้ประทับอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน จึงทรงหวังในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าชายหนุ่มจะทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระด้านการต่างประเทศซึ่งกำลังอยู่ในภาวะคับขัน ต้องการผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ตลอดจนมีความใกล้ชิดกับชาวยุโรปจนสามารถที่จะรู้และเข้าใจนิสัยใจคอ แนวคิดและแนวปฏิบัติของชาวยุโรปได้

คุณสมบัติดังกล่าวมีอยู่อย่างพร้อมมูลในพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นทูตไทยประจำสำนักเซนต์เจมส์แห่งกรุงอังกฤษ ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวม 12 ประเทศ และเมื่อครั้งอังกฤษเข้ายึดได้พม่านั้นเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่น เพราะพม่าอยู่ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับสยาม อันอาจเป็นอันตรายเลยมาถึงแผ่นดินสยามด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์สอบถามความเป็นไปของเหตุการณ์ และโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงแสดงความเห็นต่อปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับที่จะทรงพระราชวินิจฉัยเพื่อจะได้ทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายให้ถูกต้องและรัดกุมต่อไป

แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะทูลกลับมาว่าตนเองอ่อนความรู้ทางการเมืองและนโยบายของประเทศตะวันตก ก็พระราชทานตอบออกมาว่า “—อย่าให้กลัวเกรงที่จะพูดจาแสดงความคิดความเห็นได้ ให้กราบบังคมทูลได้ทุกอย่างให้เต็มปัญญาความคิด—” น่าจะเป็นด้วยเหตุที่ทรงคิดว่าตนเองอ่อนความรู้ แต่มีพระประสงค์จะทูลตอบให้เต็มปัญญาความคิด

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงนำพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ดังกล่าวไปทูลถามความคิดเห็นของพระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ คือ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร) กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) ที่ปรึกษาประจำสถานทูตในประเทศอังกฤษและอเมริกา และพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

เจ้านายทั้ง 3 พระองค์ทรงเห็นพ้องกันว่า น่าจะถือเป็นโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง ซึ่งทุกพระองค์มีความเห็นตรงกันว่าระบอบการปกครองของสยามนั้นล้าสมัย อันจะนำไปสู่อันตรายกับเอกราชของชาติต่อไป จึงสมควรที่จะกราบบังคมทูลให้เปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นไปตามแบบอารยประเทศ

ซึ่งเรื่องเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบแล้วเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมิอาจทรงเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้อย่างทันทีทันใด ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“—พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเล็งเห็นการณ์ภายหน้าอย่างชัดเจนและทรงทราบการที่ล่วงไปแล้วเป็นอย่างดี ได้ทรงพระราชดำริตริตรองโดยรอบคอบได้ทรงเลือกประเพณีการปกครองทั้งของไทยเราและของต่างประเทศประกอบกัน ด้วยพระปรีชาญาณอันยอดยิ่งได้ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองเป็นลำดับมา ล้วนเหมาะกับเหตุการณ์และเหมาะกับเวลาไม่ช้าเกินไปไม่เร็วเกินไป—”

เป็นคำวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิด จึงทรงล่วงรู้ถึงพระบรมราโชบายดังกล่าวเป็นอย่างดี หลักฐานที่ยืนยันถึงพระราชดำริตริตรองโดยรอบคอบก็คือพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัตินับแต่เมื่อทรงมีสิทธิอำนาจบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง ก็ทรงดำเนินการแก้ไขการบริหารงานบ้านเมืองตลอดมา

ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส เลิกขนบประเพณีที่ล้าสมัยซึ่งแสดงถึงความไม่เสมอภาค เช่น เลิกประเพณีการหมอบคลานขณะเข้าเฝ้า แก้ไขรูปแบบการปกครองให้ทันสมัย โดยเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ แบ่งการบริหารงานเป็น 12 กระทรวง พัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆ ตลอดจนปรับปรุงงานด้านการศาลและด้านกฎหมาย

เพราะฉะนั้นการถามความเห็นเป็นการส่วนพระองค์จากพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จึงเป็นเพียงมุ่งหวังที่จะทรงได้ข้อเท็จจริงในเหตุการณ์จากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและมีสติปัญญาสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นในเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อจะได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบในพระบรมราโชบายและพระราชวิเทโศบายให้ถูกต้องและรอบคอบ

แม้ภายหลังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะทรงรู้สึกว่า ทรงคิดและทำผิดพลาด แต่ก็สายเกินไป “—จึงรู้สึกว่าได้คิดผิดไป เพราะเปนเรื่องที่ทางหาฤๅข้าพเจ้าแต่เฉพาะผู้เดียว แลหาใช่การเปิดเผยเปนกิจการอันผู้อื่นจะควรเกี่ยวข้องด้วยไม่ แต่มารู้สึกโทษต่อเมื่อพ้นเวลาที่จะยั้งตัวได้เสียแล้ว—” เพราะนอกจากจะมิใช่ความเห็นส่วนพระองค์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์แล้ว ยังมิใช่คำตอบที่มีพระราชประสงค์ ที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่ทรงทราบอยู่แล้ว และกำลังทรงดำเนินการเพื่อให้ได้รับผลสำเร็จที่สมบูรณ์และงดงาม

แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะทรงรู้ว่าพระองค์ทรงทำผิดพลาดไปแล้ว แต่ก็ยังคงทรงเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์พระทัย และยังทรงเชื่อมั่นในพระบรมราชานุญาตที่ว่าอย่าให้เกรงกลัวที่จะพูดจา แสดงความคิดเห็นได้—”

พระชินวรวงศ์ หรือพระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ประทับนั่งตรงกลาง) ขณะเสด็จไปจาริกแสวงบุญที่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ. 2442

ดังนั้น เมื่อมีพระบรมราชโองการให้เสด็จกลับสยาม ก็ยังมิได้เสด็จกลับทันที เพราะยังทรงปฏิบัติงานที่คั่งค้างอยู่ น่าจะทำให้เกิดความเข้าพระราชหฤทัยผิด และเพิ่มความกริ้วโกรธ ครั้นเมื่อเสด็จกลับมาถึงสยามก็มิได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้า และมิได้ทรงมอบหมายงานใดให้รับผิดชอบ คงต้องทรงทำหน้าที่เบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น เป็นผู้ช่วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ช่วยสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลข ฯลฯ น่าจะทำให้ทรงคับแค้นและน้อยพระทัย

จนถึงขั้นตัดสินพระทัยกราบบังคมทูลลาด้วยหนังสือที่มีข้อความแสดงความคับแค้นและถ้อยคำที่รุนแรง เช่น “—ชาติหน้าจะขอไม่เกิดร่วมวงศ์ตระกูลอีก—” ซึ่งน่าจะเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ทรงกริ้วเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ถึงกับมีรับสั่งว่า “—ตราบใดที่แผ่นดินนี้เป็นของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ให้พระองค์ปฤษฎางค์เข้ามาเหยียบอีก—”

ระหว่างที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ประทับจำพรรษาอยู่ที่ลังกาอย่างสงบนั้น ทรงได้ไตร่ตรองและทบทวนถึงความผิดพลาดของพระองค์อีกครั้ง ทรงพยายามที่จะขอเข้าเฝ้าระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 .. 2450 แต่ก็มิได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้า จนเสด็จสวรรคต .. 2453 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้เสด็จกลับสยามอีกครั้ง แต่ก็มิได้รับการต้อนรับอย่างดีเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่มีพระอารมณ์ที่ฉุนเฉียวดุร้าย จนไม่มีผู้ใดที่กล้าจะเข้าใกล้ชิด

ซึ่งยิ่งเป็นการทวีความคับแค้นพระทัย จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ว่า “—เกิดชาติใดฉันใดให้ได้เป็นข้าเจ้ากัน ขออย่าให้มีศัตรูมาเกียดกันระหว่างกลางเช่นชาตินี้เลย—”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2562