พลิกปูมชนวนวิบากครั้งแรกของ “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” ก่อนร.5ทรงห้ามเหยียบแผ่นดิน

ภาพวาด พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5
ภาพวาดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎไทยให้แก่ นาย เดอ เลสเซป เพื่อเป็นการขอบคุณ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2559)

ราชทูตสยามที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในประวัติศาสตร์มีมากมายหลายท่าน แต่คงจะหาเจ้านายที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดในราชการแล้วดิ่งลงสู่จุดตกต่ำเท่ากับ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ยากยิ่ง

ช่วงเวลาหนึ่งท่านเคยเป็นราชทูตสยามคนแรกประจำอังกฤษ และอีกหลายประเทศ แต่เมื่อร่วมกราบบังคมทูลถวายความเห็นว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือกันว่าเป็นการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรกก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นพระชะตาชีวิตดิ่งสู่ความยากไร้

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประสูติเป็นหม่อมเจ้าในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 3 กรมขุนราชสีหวิกรม (ต้นราชสกุลชุมสาย) เมื่อ พ.ศ. 2394 อันเป็นช่วงรัชสมัยต้นรัชกาลที่ 4 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นนักเรียนไทยกลุ่มแรกซึ่งเดินทางไปศึกษาที่อังกฤษ ใน พ.ศ. 2414 ช่วงเวลานั้นทรงมีพระชนมายุ 20 ปี และได้อภิเษกสมรสแล้วในปีเดียวกันนั้นเอง

หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ (ฐานันดรศักดิ์ในช่วงนั้น) ศึกษาอยู่ที่อังกฤษนานกว่า 5 ปี เมื่อเดินทางกลับถึงไทยก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 พร้อมเงินรางวัล 10 ชั่ง (ประมาณ 800 บาท) และยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มปีละ 1 ชั่ง และเข้ามารับราชการเป็นข้าหลวงตรวจการทำบ่อทองที่กบินทร์บุรี ออกตรวจพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นล่ามและมัคคุเทศก์ประจำเจ้ายุโรป 2 พระองค์ที่เสด็จมาเยือนกรุงเทพฯ เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้น พระชะตากำลังรุ่งโรจน์ อีกทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม จุดผกผันในพระชะตาเริ่มขึ้นเมื่อช่วงหลังเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2420 ทรงฝึกงานกับบริษัทด้านวิศวกรรมโยธาของอังกฤษนานหลายปี กระทั่งใน พ.ศ. 2422 เส้นทางที่จะไปสู่การรับใช้ประเทศในด้านวิศวกรรมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้รับบทบาทเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และรัฐบาลสยามประจำราชสำนักต่างๆ ในยุโรป ช่วงเวลานี้ทรงเป็นราชทูตประจำประเทศต่างๆ นานประมาณ 7-8 ปี ระหว่างนั้น ทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูต และได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า พำนักที่ปารีส

บรรยากาศการเมืองสากลโลกในช่วง พ.ศ. 2426 บทบาทของฝรั่งเศสในเอเชียเริ่มแปรสภาพและเป็นช่วงเวลาที่สร้างปัญหาสำหรับไทย การปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่รับผิดชอบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปารีส ย่อมแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทรงไว้วางพระราชหฤทัยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อย่างยิ่ง

เมื่อมาถึง พ.ศ. 2428 เป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศเริ่มเห็นถึงภัยจากการขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมที่กำลังแผ่ขยายมาถึงสยาม ปีนั้นเป็นช่วงที่พระเจ้าลูกยาเธอ 4 พระองค์เสด็จออกศึกษาวิชาในยุโป โดยเสด็จผ่านฝรั่งเศสมาประทับที่สถานอัครราชทูตไทยกรุงปารีส พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงถวายการต้อนรับด้วย

แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง เป็นช่วงหัวโค้งสำคัญสำหรับพระชะตาของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อพระองค์ทรงร่วมกับเจ้านาย 3 พระองค์ และข้าราชการกลุ่มหนึ่งทั้งจากสถานทูตกรุงลอนดอนและกรุงปารีสอีก 7 นาย ร่วมกันลงชื่อในหนังสือถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดินต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เนื้อหาในหนังสือกราบบังคมทูลบ่งชี้ความเชื่อว่า สาเหตุของภัยที่อาจก่ออันตรายต่อประเทศอาจมาจากปัจจัยเรื่องการปกครองในประเทศไม่เหมาะแก่กาลสมัยด้วย สืบเนื่องจากชาติมหาอำนาจที่เจริญแล้วมักใช้เหตุผลเรื่องการจัดการบ้านเมืองประเทศด้อยความเจริญ โดยอ้างว่าถือว่าเป็นหน้าที่อันจะทำให้เกิดความสุขความเจริญต่อมนุษย์ ระบอบการปกครองที่เก่าล้าสมัยกีดขวางความเจริญของประเทศนั้นเองไม่พอ ยังกีดขวางความเจริญของประเทศมหาอำนาจเองด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน พม่าเพิ่งถูกอังกฤษบุกยึดครองกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ไทยเป็นกังวลอย่างมาก

บันทึก “เอกสารทางการเมือง การปกครองไทย” ที่เรียบเรียงโดยชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต บรรยายข้อมูลเสริมโดยอ้างอิงเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง “จมื่นไวยวรนารถ ทูลเกล้าฯถวายความเห็นเรื่องจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน” ว่า

ครั้งนั้น เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) ได้รับจดหมายของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์พร้อมสำเนาหนังสือถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการด้วย อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ได้ร่วมลงชื่อ แต่มีหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นในเรื่องนี้เป็นพิเศษต่อรัชกาลที่ 5

เนื้อหาในหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดินนี้ ช่วงหนึ่งเอ่ยถึงคำว่า “คอนสติติวชั่น” หรือรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอในตอนนี้บรรยายว่า การปกครองบ้านเมืองที่อาศัยตัวบุคคลเพียงคนเดียวหรือสองคนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ข้อความในหนังสือกราบบังคลทูลลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2428 ตอนหนึ่งมีใจความว่า

“…จำเป็นต้องจัดการบำรุงบ้านเมือง ตามเช่นที่เขาเชื่อเขาถือทั่วกัน ว่าการบำรุงรักษาโดยทางที่จะให้ได้ยุติธรรม จะมีได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง ผู้ที่เป็นเสนาบดีก็เป็นผู้แทนของราษฎรซึ่งเลือกมาต่อๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ ทั้งต้องรับผิดชอบทั่วกัน เหมือนอาศัยปัญญาแลความคิดความยุติธรรมของคนมากด้วยกัน การจึ่งจะเป็นที่เชื่อถือว่าเป็นยุติธรรมแน่แท้ แลเจริญรุ่งเรืองได้ เหตุฉะนี้จึ่งจะต้องจัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณี ฤาคอนสติติวชั่นใหม่ตามทางชาวยุโรป ฤาให้ใกล้ทางยุโรปที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…”

ผู้กราบบังคมทูลยอมรับว่า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของประชาชน ยังไม่เหมาะที่จะรับระบบใหม่นี้ไว้อย่างครบถ้วนตามหลักการปกครองอย่างยุโรป จึงกราบบังคมทูลเพิ่มว่า “ทางที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาว่าเป็นคอนสติติวชั่นยุโรปนั้น หาได้ประสงค์ที่จะให้มีปาลิเมนต์ ในเวลานี้ไม่”

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร แสดงความคิดเห็นในหนังสือ “ราชทูตแห่งกรุงสยาม” ว่า “การกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่มีการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างยุโรป”

อย่างไรก็ตาม การกราบบังคมทูลนี้เอง เป็นโค้งสำคัญที่ทำให้ชีวิตอันรุ่งโรจน์แต่เดิมทีของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้นเริ่มหักเห โดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็แสดงความเห็นว่าการทำเป็นหนังสือที่มีร่วมลงนามถวายความเห็นร่วมกันนั้นเป็นความคิดที่ผิดไป

เบื้องหลังการถวายความเห็นครั้งนั้น มีบันทึกในหนังสือ “ประวัติย่อ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” ว่าภายหลังจากที่อังกฤษเข้ายึดมัณฑะเลย์ ยึดอาณาจักรพม่าไว้แล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทำรายงานถวายราชเลขานุการที่ปรึกษาการต่างประเทศ แปลหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงข่าวของพม่าให้ทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงมีพระราชดำริต่อสถานการณ์ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงน่าหวาดหวั่น จากนั้นรัชกาลที่ 5 พระราชทานลายพระหัตถเลขาส่งตรงมาโดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้แสดงความเห็น ซึ่งแม้ว่าจะกราบทูลเรื่องความรู้ที่จำกัดในแง่ราชการสากลและการเมือง แต่พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานตอบกลับว่า อย่าได้เกรงในการแสดงความเห็น และให้กราบบังคมทูลได้ทุกอย่าง

บันทึกในหนังสือ “ประวัติย่อฯ” ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นผู้นิพนธ์ประวัติตัวเองเล่าเหตุการณ์ต่อมาว่า

“ข้าพเจ้าได้นำพระราชหัตถเลขาและคำกราบบังคมทูลไปประชุมพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์ (ที่กรุงลอนดอน) แลข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูต ทั้งที่ประจำสถานทูตกรุงลอนดอนแลปารีส (รวมทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ผู้เป็นที่ปรึกษาราชการสถานทูตลอนดอน แลพระองค์เจ้าสวัสดิ์ฯ ด้วย) เพราะพระองค์ท่านเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ทั้งนั้นย่อมรอบรู้กิจราชการบ้านเมืองสูงกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

ก็ได้ตกลงกันเป็นอันจะทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นรวมกัน รับผิดชอบด้วยกัน ซึ่งเป็นความเห็นของพระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณโดยมากข้อ (คือหมายความว่าเป็นส่วน ใหญ่ของสาระสําคัญที่กราบบังคมทูล) ข้าพเจ้าเป็นผู้รวมเรียบเรียง กรมหมื่นนเรศร์, พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตฯ พระองค์เจ้าสวัสดิ์ฯ เป็นผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เสร็จแล้วก็พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์พื้นตะไบ 4 ฉบับ สําหรับส่งเข้าไปให้สมาชิกสโมสรหลวง สุดแต่จะมีผู้ใดเต็มใจลงนามร่วมเห็นพ้องด้วย ทูลเกล้าถวาย 1 ฉบับ, สําหรับพวกราชทูตลงนามทูลเกล้าฯ ถวาย 1 สำหรับสำนักทูตทั้ง 2 เมือง สำนักละ 1 ฉบับ ให้นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) นำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายแลชักชวนผู้อื่นให้ลงนามด้วย

เรื่องนี้เมื่อได้ดำริถึงเหตุผลที่ได้เปนไปเนื่องจากเรื่องถวายความเห็นร่วมกันเป็นทางเปิดเผยแล้ว ภายหลังจึงได้คิดรู้สึกว่าได้คิดผิดไป เพราะเปนเรื่องที่ทรงหาฤาข้าพเจ้าแต่เฉพาะเพียงผู้เดียว แลหาใช้การเปิดเผยเปนกิจการอันผู้อื่นจะควรเกี่ยวข้องด้วยไม่ แต่มารู้สึกโทษต่อเมื่อพ้นเวลาที่ยั้งตัวได้เสียแล้ว”

ภายหลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้าราชการที่สถานทูตลอนดอนและปารีสบางนายเดินทางกลับ

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร แสดงความคิดเห็นว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นการ “ลงโทษ” ในความผิดใด รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงความรักชาติบ้านเมืองและความจงรักภักดีของผู้ร่วมลงความเห็น แต่แค่ความเห็นเป็นการแสดงออกโดยที่ยังขาดความเข้าใจความรู้จริงเกี่ยวกับปัญหาแวดล้อมในเวลานั้น ประกอบกับลักษณะวิธีการกราบทูลด้วย ซึ่งเมื่อดูจากข้อความในหนังสือ “ประวัติย่อฯ” ที่เขียนโดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เอง น่าจะทำให้เห็นว่า สมควรที่จะถวายความเห็นเป็นการเฉพาะตัว แต่กลับทำการเป็นสาธารณะขัดกับธรรมเนียมและมารยาท

เหตุการณ์นี้เป็นชนวนประการแรกที่เกิดขึ้น ภายหลังยังมีกรณีอื่นที่เป็นผลให้พระชะตาพระองค์เจ้าปฤษฎางค์พลิกผัน เมื่อมีผู้กล่าวร้ายทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเคืองพระราชหฤทัย ท้ายที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธมาก ถึงกับรับสั่งว่า “ตราบใดที่แผ่นดินนี้เป็นของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ให้พระองค์ปฤษฎางค์เข้ามาเหยียบอีก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, ดร. “ทำไมร.5 ทรงห้าม ‘พระองค์เจ้าปฤษฎางค์’ เหยียบแผ่นดินรัชกาลพระองค์จนชีวิตยากไร้”. ใน ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2549

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ดร. ราชทูตแห่งกรุงสยาม ประสบการณ์ของอดีตนักการทูตไทยในยุคบุกเบิก พ.ศ. 2427-2429. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2547

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์. ประวัติย่อ นายพันเอกพิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์. ฉบับพิมพ์ใหม่ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงเอนกนัยวาที (ม.ร.ว.นารถ ชุมสาย), 2513

ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต. เอกสารทางการเมือง การปกครองไทย. โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562