“หัวหิน” เมื่อชนชั้นสูงฮิต ทำไม ร. 6 ทรงไม่เสด็จฯ ทรงพอพระราชหฤทัย “หาดเจ้าสำราญ”

หัวหิน พระตำหนัก ที่ ชายทะเล หาดเจ้าสำราญ
พระตำหนักที่ชายทะเลหาดเจ้าสำราญเป็นเรือนไม้ยางหลังคามุงจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างเป็นพระตำหนักพอเป็นที่ประทับสบายๆ เท่าที่จำเป็น ไม่หรูหรา

“หัวหิน” เมื่อชนชั้นสูงฮิต ทำไม รัชกาลที่ 6 ทรงไม่เสด็จฯ แต่กลับทรงพอพระราชหฤทัย “หาดเจ้าสำราญ”

“…ที่นั้นกำลังเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา…”

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตอบผู้ที่ทูลแนะนำให้เสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์ด้วยพระโรครูมาติซั่ม ที่เมืองชายทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลที่มีชื่อเสียงว่าสวยงาม ผู้คนนิยมไปพักผ่อนมากที่สุดในเวลานั้น

โดยเฉพาะผู้คนในวงสังคมชั้นสูง นับแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนพ่อค้าคหบดี ต่างพากันไปจับจองซื้อหาที่ดินติดชายทะเล เพื่อก่อสร้างตำหนักเรือนและบ้านเป็นจำนวนมาก ทุกฤดูร้อนจึงมีผู้คนจากกรุงเทพฯ หลั่งไหลไปพักผ่อนตากอากาศที่ชายทะเลหัวหินกันคับคั่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเหตุการณ์นี้เป็นอย่างดี ดังนี้เมื่อมีผู้ถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ ณ ที่นั้น จึงทรงรู้สึกถึงความยุ่งยากลำบากใจและไม่สะดวกสบายของผู้คนเหล่านั้นจะต้องประสบ หากพระองค์เสด็จฯ ไปประทับหรือโปรดให้สร้างวังที่ประทับ อันจะทำให้เกิดเขตพระราชฐาน ซึ่งจะถูกกำหนดให้เป็นเขตหวงห้าม

แม้จะมิได้มีพระราชประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น แต่ตามพระราชประเพณีจำเป็นที่จะต้องมีการพิทักษ์รักษาให้พระองค์ประทับอยู่ในที่ปลอดภัยและสมพระเกียรติยศ ทรงตระหนักพระทัยถึงความยุ่งยากทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี มีพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระอัธยาศัยที่ละเอียดอ่อนเห็นอกเห็นใจผู้คนที่ต่ำกว่า เข้าพระทัยถึงความรู้สึกของสามัญชนเป็นอย่างดีจึง “…ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา…”

แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องเสด็จฯ ไปประทับรักษาพระองค์ ณ สถานที่ที่มีภูมิอากาศเช่นนั้น จึงโปรดให้กระทรวงทหารเรือสำรวจหาที่ชายทะเลด้านตะวันตกที่มีหาดทรายยาวขาวและน้ำทะเลใสสะอาดพอที่จะเสด็จลงสรงได้ กระทรวงทหารเรือได้พบชายหาดลักษณะดังกล่าวที่ตำบลบางทะลุ

ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร ทรงพอพระราชหฤทัยสถานที่ดังกล่าว จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักพอเป็นที่ประทับสบายๆ เท่าที่จำเป็น ไม่หรูหรา เพราะมีพระราชประสงค์จะทรงประหยัดพระราชทรัพย์ ตัวพระตำหนักและเรือนบริวารในครั้งนั้น จึงเป็นเพียงเรือนไม้ยางหลังคามุงจาก

ในส่วนความสะดวกอื่นๆ เช่น ถนนซึ่งโปรดให้สร้างตั้งแต่ตัวเมืองเพชรบุรี ถึงพระตำหนักระยะทาง 15 กิโลเมตร ก็โปรดให้เพียงขุดตอปรับหน้าดินให้เรียบและแน่น จะถมดินก็เฉพาะตอนที่เป็นลุ่มน้ำ สำหรับเป็นเส้นทางรถพระที่นั่ง และโปรดให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (เย็น อิศรเสนา) เป็นแม่กองจัดการวางรางรถไฟเล็กเพื่อใช้ขนส่งอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตและเสบียงอาหาร ตลอดจนอำนวนความสะดวกแก่บรรดาข้าราชการที่ตามเสด็จ งานก่อสร้างทั้งสิ้นสำเร็จลงเมื่อปี พ.ศ. 2461

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับแรมครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การเสด็จประพาสครั้งนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับพระราชทานนามสถานที่นั้นใหม่ว่า “หาดเจ้าสำราญ” และเสด็จฯ อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2464 ครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้าย เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ทรงประจักษ์ถึงความยากลำบากของข้าราชบริพารในการตามเสด็จ

ความยากลำบากครั้งนั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการ นับแต่เรื่องน้ำจืดซึ่งหายาก แม้จะได้มีการขุดบ่อน้ำจืดไว้ทางทิศใต้ของพระตำหนัก แต่บางทีเมื่อฝนตกน้อยบ่อน้ำก็แห้ง เช่นปีที่เสด็จฯ ทำให้มีน้ำจืดไม่เพียงพอแก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ จึงต้องลำเลียงน้ำจืดมาจากเพชรบุรี ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะรถไฟเล็กที่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์สร้างขึ้นนั้น นอกจากจะมีขนาดเล็กบรรทุกของได้ไม่มากนัก ยังเป็นของเก่านำมาปรับปรุงใหม่ จึงมีกำลังลากจูงน้อย เสียบ่อย แม้จะมีระยะทางเพียง 15 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง

เล่ากันว่าผู้โดยสารบางคนสามารถเดินขนาบติดไปกับรถก็ทันกัน หรือลงไปทำธุระบางอย่างและวิ่งตามมาขึ้นรถก็ยังทัน ถ้าหากนั่งในรถตลอดเวลาก็จะรู้สึกเมื่อยขบปวดหลังไหล่เพราะรถส่ายสะบัดไปมา บางครั้งเมื่อรถเสียกลางทางผู้โดยสารก็ต้องนั่งรอกลางแดดรอการแก้ไข

ความลำบากสุดยอดอีกประการหนึ่งคือ การที่ต้องต่อสู้กับแมลงวันหัวเขียวซึ่งมีมากมายเหลือคณานับ อันเกิดจากการที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านชาวประมงนัก มหาดเล็กต้องคอยปัดแมลงวันไม่ให้รบกวนพระเจ้าอยู่หัวทุกเวลา

โดยเฉพาะเวลาเสวยต้องคอยปัดแมลงวันทั้งที่ตอมอาหารและตอมพระเจ้าอยู่หัว บางครั้งบางคนใช้ไม้ตบแมลงวันจนไส้ไหลออกมาเลอะเทอะบนผ้าปูโต๊ะเสวยที่มีสีขาวสะอาด ก่อให้เกิดความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน บางคราวเมื่อใช้แส้ปัดแมลงวันปลายแส้ตวัดลงไปในอาหารกระเซ็นถูกพระองค์ก็เคยมี ล้วนเป็นความยากลำบากของข้าราชบริพารทั้งสิ้น

ความยากลำบากนานาประการนี้เองที่มีมหาดเล็กปากไม่อยู่สุข แอบกระซิบกระซาบนินทาต่อสร้อยนามสถานที่ว่า “หาดเจ้าสำราญ แต่ข้าราชบริพารเบื่อ” ซึ่งเป็นความจริงที่ตรงกับจิตใจของข้าราชบริพารส่วนมาก เสียงกระซิบกระซาบจึงดังขึ้น

ถึงแม้จะเป็นเพียงเสียงกระซิบกระซาบ แต่ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงเห็นใจความยากลำบากของเหล่าข้าราชบริพาร ครั้งนั้นจึงโปรดเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ เร็วกว่ากำหนด และมิได้เสด็จประทับ ณ หาดเจ้าสำราญอีกเลย

ปัจจุบันบริเวณหาดเจ้าสำราญไม่ปรากฏร่องรอยของอดีตที่เคยเป็นสถานที่ประทับทรงพระสำราญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยของถนนสำหรับรถยนต์พระที่นั่ง ร่องรอยเส้นทางรถไฟ หรือแม้แต่ร่องรอยของพระตำหนักก็ไม่เหลือให้เห็น คงเหลือเพียงชื่อสถานที่ที่โปรดพระราชทานนามว่า “หาดเจ้าสำราญ” เป็นพยานว่า ณ ที่นี้เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งเท่านั้น

แต่ที่สำคัญ สถานที่นี้ยังคงเป็นพยานยืนยันถึงน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ที่ทรงมีต่อประชาชนของพระองค์ในการที่ไม่โปรดให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบล หัวหิน อันเป็นสถานที่เจริญเหมาะสมแก่การสร้างพระตำหนักสำหรับพักรักษาพระโรครูมาติซั่ม เพียงเพราะ “ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2562