ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พลิกปูมข้อขัดแย้ง (?) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กับปัญญาการกู้เงินจาก กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 3 ล้านบาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ก็ได้ถวายเงินปีเพิ่มเติมเรื่อยมาจาก 6 ล้านบาท เป็นปีละ 7, 8 และ 9 ล้านบาทเป็นที่สุด ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสิริราชสมบัติ รัฐบาลคงจัดเงินปีถวายในพระอิสริยยศสมเด็จพระยุพราชเป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาทมาจนสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีปฏิทินในยุคนั้น
ครั้นถึง พ.ศ. 2454 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดเงินถวายในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์จำนวน 6 ล้านบาท
ซึ่งเหตุผลในเรื่องนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า “คลังก็ตัดเงินเสีย 3 ล้าน คงจ่ายให้ฉันเพียง 6 ล้าน, โดยอ้างว่าฉันเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ ควรเริ่มรับเพียง 6 ล้านก่อน แล้วจะขึ้นให้ปีละ 5 แสน จนถึง 9 ล้านเป็นที่สุด ตามความจริงก็หาได้ขึ้นให้ฉันอย่างที่รับไว้นั้นไม่ คงจ่ายให้เพียงปีละ 6 ล้านถึง 6 หรือ 7 ปี แล้วจึงได้ยอมเริ่มขึ้นให้” [ประวัติต้นรัชกาลที่ 6]
ขณะที่เงินปีที่รัฐบาลจัดถวายในแต่ละปีลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักกลับทวีขึ้นจากที่เคยเบิกจ่ายในรัชกาลก่อน ซ้ำร้ายใน พ.ศ. 2456 เกิดวิกฤติการณ์ในแบงก์สยามกัมมาจล จน “เซชวน จวนล้ม ฉัน [รัชกาลที่ 6] ต้องเอาเงินพระคลังข้างที่เข้าไปสนับสนุนจึงพอประทังไว้ได้” [ประวัติต้นรัชกาลที่ 6]
พระคลังข้างที่ต้องสูญเงินไปกับแบงก์สยามกัมมาจลถึง 1,634,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 “เกิดสงครามโลก ซึ่งทำให้ของทุกอย่างขึ้นราคาอย่างมหาโหด และหนี้สินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามก็ต้องทำการชดใช้ในอัตราสงคราม นอกจากนั้นในระหว่างสงครามฉัน [รัชกาลที่ 6] ยังต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวบางประการ ซึ่งฉันไม่สามารถหวังอะไรตอบแทนได้ นอกจากคำขอบคุณอย่างเป็นทางการ” [พระราชากับคหบดีแห่งชนบท]
ยิ่งทำให้พระคลังข้างที่ประสบภาวะคับขัน “มีหนี้สินทวีมากขึ้น ฉัน [รัชกาลที่ 6] ขอให้แบงก์สยามกัมมาจลช่วยโดยให้กู้เงินบ้างก็ไม่ยอมให้กู้ ฉันจะขอถอนเงินของฉันที่ฝากไว้ในแบงก์นั้นก็ไม่ให้ถอน, ฉันจะขายหุ้นส่วนของฉันบ้างก็ไม่ให้ขาย” [พระราชากับคหบดีแห่งชนบท]
เพราะเมื่อ “กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอำนวยการแบงก์สยามกัมมาจล, ว่าจะคิดจัดดำเนิรการตั้งรูปขึ้นให้เป็นธนาคารของชาติ (National Bank) เอาเงินแผ่นดินเข้าหุ้นไว้พอให้มีสิทธิเปนผู้ถือหุ้น, แล้วก็รวบเอาอำนาจไว้ในมือทั้งสิ้น, ส่วนกรรมการผู้แทนพระคลังข้างที่กลายเปนงงเข้าไปนั่งทำตาปริบๆ อยู่ในที่ประชุมสภากรรมการเท่านั้น” [ประวัติต้นรัชกาลที่ 6]
ฉะนั้น เมื่อหนี้สินของพระคลังข้างที่ทวีจำนวนมากขึ้น ทั้งมีเจ้าหนี้มากราย ใน พ.ศ 2464 จึงมีพระราชดำริที่จะขอกู้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจำนวน 3 ล้านบาท
“เพื่อเอาไปผ่อนใช้หนี้รายที่เร่งร้อนตามส่วนที่ควรใช้ไปคราวหนึ่งก่อน… เพราะเห็นว่า มีเจ้าหนี้รายใหญ่เสียรายเดียวดีกว่ามีรายย่อยหลายๆ ราย, ซึ่งเปนการรุงรัง” [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.6 ค.4/12 เรื่องพระคลังข้างที่กู้เงินกระทรวงพระคลัง. (26 ธันวาคม-12 มกราคม 2464)]
แต่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
“การที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติรองไปในการผ่อนใช้หนี้พระคลังข้างที่นั้น เกรงด้วยเกล้าฯ ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ปฏิบัติราชการไปให้เปนประโยชน์ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้ไม่ตลอด
เพราะว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่เลงเห็นอุบายที่จะป้องกันอันตรายในภายน่า หฤา วิถีทางที่จะรักษาราชการมิให้ทรุดโทรมไปได้เลย เปนอันจนด้วยเกล้าฯ ดังนี้ จึ่งนับว่าข้าพระพุทธเจ้าสิ้นความสามารถในราชการแล้ว” [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.6 ค.4/12 เรื่องพระคลังข้างที่กู้เงินกระทรวงพระคลัง. (26 ธันวาคม-12 มกราคม 2464)]
เมื่อทรงนำความในลายพระหัตถ์ของเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัตินั้นไปทรงปรึกษาด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล เจ้าพระยาอภัยราชามหายติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ่ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง และเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กแล้ว ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงตอบคำกราบบังคม ทูลนั้นว่า
“ในเรื่องนี้ถ้าท่านไม่มีเหตุผลอย่างอื่นนอกจากไม่ไว้พระทัยในความสามารถของหม่อมฉันที่จะจัดการใช้จ่ายในครอบครัวของหม่อมฉันให้เปนที่เรียบร้อยได้ฉนั้นไซร้ ต้องถือว่าท่านไม่มีสิทธิอันใดเลยที่จะวินิจฉัย…ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันจะใช้เงินในทางที่ผิดหรือชอบนั้นหาได้อยู่ในความรับผิดชอบของท่านไม่
เพราะฉะนั้นถ้าท่านขัดข้องแต่เพียงข้อนี้ข้อเดียวแล้วหม่อมฉันต้องสั่งให้ท่านรองจ่ายเงิน สามล้าน (3,000,000) บาทให้แก่กรมพระคลังข้างที่เพื่อผ่อนใช้หนี้ไปในบัดนี้
ส่วนที่ท่านขอลาออกนั้น หม่อมฉันไม่เห็นมีเหตุผลพอเพียง ถ้าอนุญาตให้ท่านลาออกเห็นว่าความครหาจะตกอยู่แก่หม่อมฉันว่าทำการปราศจากสติสัมปชัญญะ เพราะฉนั้นจะอนุญาตให้ท่านลาออกไม่ได้” [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.6 ค.4/12 เรื่องพระคลังข้างที่กู้เงินกระทรวงพระคลัง. (26 ธันวาคม-12 มกราคม 2464)]
ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ่ายเงินกู้ยืมจำนวน 3 ล้านบาทให้แก่กรมพระคลังข้างที่แล้วไม่นาน นายเอลคอน เจมส์ (Eldon R. James) ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำความกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2465
“ทูตวิลันดาบอกแก่เขาว่ามีคำคนกล่าวว่าทรงเอาเงินพระคลังสำหรับแผ่นดินไปใช้เป็นส่วนพระคลังข้างที่สามล้านบาทแล้วไม่พอยังเอาเงินรายที่กู้ใหม่นี้ไปใช้อีก” [“พระราชหัตถเลขา พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระยาบุรีนวราษฐ์จัดการกู้เงินต่างประเทศ,” ในราชกิจจานุเบกษา 38 (25 ธันวาคม 2464), น.507-508]
ทั้งที่เงินที่โปรดเกล้าฯ ให้กู้ยืมมาจากตลาดเงินกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2464 จำนวน 2 ล้านปอนด์ และอีก 3 ล้านปอนด์ใน พ.ศ. 2466 ก็เพื่อ “มาใช้รายจ่ายจากเงินคง พระคลังฯ ในการสร้างทางรถไฟ การทดน้ำ และการสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ในพระราชอาณาจักร” [พระราชากับคหบดีแห่งชนบท]
อนึ่ง แม้ว่าจะทรงจัดให้มีกรรมการองคมนตรีตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนักลง จนมีการยุบเลิกส่วนราชการในพระราชสำนักไปหลายหน่วยในตอนปลายรัชสมัยแล้ว แต่เมื่อใน Report of The Financial Adviser on the Budget for year B.E. 2469 เซอร์เอดวาร์ด คุก ที่ปรึกษาการคลังได้จัดทำขึ้นในในช่วงปลายรัชกาล กลับมีความตอนหนึ่งว่า…
พระคลังข้างที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน (Gloss Liabilities) ราว 5-6 ล้านบาท กับมียอดหนี้เงินเบิกล่วงหน้าจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีก 4,600,000 บาท รวมเป็หนี้ราว 10 ล้านบาทเศษ
รายงานฉบับนี้จึงยิ่งทําให้ผู้ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงพลอยเชื่อในคำครหา ที่ว่า
“ฉัน [รัชกาลที่ 6] หมดทางที่จะหาเงินใช้หนี้ เสนาบดีคลังก็ตั้งท่าจะลากเอาพระคลังข้างที่และการเงินทั้งปวงเข้าไปรวมไว้ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ รวมความก็เป็นอันว่า เสนาบดีคลัง (พระองค์ก่อน) ดูตั้งพระทัยดำเนิรอุบายต่อฉันแบบเดียวกับที่เยอรมันได้คิดจะดำเนิรกับสยามทั่วไปนั้นเอง.
ฉนั้นเป็นอันว่าเท่ากับฉันต้องรับโทษเพราะฉันไม่ยอมให้เสือ (เยอรมัน) กินชาติไทย, ฉันจึงถูกจระเข้ (กระทรวงพระคลัง) คาบไว้ และพยายามจะกิน” [ประวัติต้นรัชกาลที่6]
อ่านเพิ่มเติม :
- วิกฤต “ข้าวแพง” สมัย ร.6 รัฐบาลแก้ปัญหาข้าราชการฝรั่งขอขึ้นเงินเดือนอย่างไร?
- รัชกาลที่ 6 ไม่พอพระทัย รัชทายาทเยอรมันงดเยือนไทยกะทันหัน อ้างเหตุโรคระบาดที่จีน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เบื้องลึก เบื้องหลัง ในพระราชบันทึกเรื่อง ‘ประวัติต้นรัชกาลที่6’ ” เขียนโดย วรชาติ มีชูบท, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2565