เผยแพร่ |
---|
ปลายปี พ.ศ. 2453 ประเทศไทยมีกำหนดต้อนรับ “รัชทายาทเยอรมัน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกเกี่ยวกับการจัดเตรียมรับแขกเมืองไว้ แต่เมื่อได้รับแจ้งว่างดการมาเยือนนั้น ทำให้พระองค์มีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “รู้สึกไม่พอใจมากอยู่”
ก่อนรัชกาลที่ 6 สวรรคราว 2 ปี พระองค์พระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” โดยใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ เนื้อหาส่วนหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์ถึงเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมืองตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงเนื้อหา “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” อีกทั้งยังแทรกเกร็ดข้อมูลเบื้องลึกอีกหลายเหตุการณ์
เมื่อถึง พ.ศ. 2453 พระราชนิพนธ์ที่ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พระองค์ทรงเล่าไว้ว่า เสด็จฯ ไปที่วังสราญรมย์เพื่อจัดเตรียมรับรัชทายาทเยอรมัน ตามกำหนดเสด็จฯ เยี่ยมกรุงสยามปลายพ.ศ. 2453 ใจความตอนหนึ่งมีว่า
“วังนี้ได้เปนที่อยู่ประจำของฉันในปลายรัชกาลที่ 5, และพอทราบว่าทูลกระหม่อมต้องพระราชประสงค์ใช้เปนที่รับแขกเมือง ฉันก็ได้จัดการแก้ไขและซ่อมแซมขึ้นเปนหลายแห่ง, ฉนั้นจึ่งดูสอาดสอ้านเรียบร้อยดี เมื่อไปดูวังนี้ทำให้รู้สึกออกจะใจหายอยู่บ้าง คือข้อ 1 นึกเสียดายว่าเสียงแรงได้จัดการแก้ไขซ่อมแซมแล้วก็เลยไม่ได้ใช้ และอีกข้อ 1 รู้สึกว่าที่นั้นเปนบ้านเก่าของตน, ที่ได้เคยอยู่เปนสุขแล้วเปนหลายปี, มีเยื่อใยติดพันอยู่ยังไม่หาย”
แต่เมื่อมาถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)
“…ฉันได้รับข่าวจากกระทรวงต่างประเทศ ว่าราชทายาทเป็นอันงดการมาเมืองเรา พระยาศรีธรรมสาสน (ทองดี สุวรรณสิริ), อัครราชทูตของเราที่กรุงเบอร์ลินในเวลานั้น (ภายหลังเป็นพระยาบําเรอภักดิ์, แล้วเป็นพระยาสุวรรณสิริ), ได้โทรเลขบอกมาว่า มีข้าราชการผู้ใหญ่แห่งกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันผู้ 1 ไปบอกว่า, โดยเหตุที่เกิดมีกาฬโรคที่เมืองจีน, การที่รัชทายาทจะเข้ามาเมืองเราต้องงด, และว่าการไปเมืองจีนและ เมืองญี่ปุ่นก็งดด้วย และว่าจะกลับจากอินเดียทีเดียว
เมื่อฉันได้รับข่าวนั้น ฉันรู้สึกไม่พอใจมากอยู่, เพราะประการ 1 บอกเลิกเอาจวนๆ เวลาที่กําหนดไว้ว่าจะเข้ามา, ฉนั้นการตระเตรียมต่างๆ ก็เป็นอันต้อง – เปลืองเปล่าหมด, เพราะสั่งงดไม่ทัน, อีกประการ 1 ไหนๆ จะบอกเลิกทั้งทีแล้ว ตัวรัชทายาทเองจะบอกตรงมายังเราสักคําสองคําก็ไม่ได้, ใช้แต่ให้เจ้าพนักงานบอกทางทูตเท่านั้น ดูไม่มีกิริยาอัชฌาศัยเสียเลย
ต่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ฉันจึงได้รับโทรเลขจากไกเส้อร์มีมาว่า, โดยเหตที่มีโรคภัยไข้เจ็บชุกชุมอยู่ในประเทศจีน, เป็นการจําเป็นที่จะต้องงดการที่รัชทายาทมาทางบุรพเทศอีก จึงจําเป็นต้องของดการที่จะมากรุงสยาม, และขอบใจฉันและรัฐบาลที่ได้ตระเตรียมการรับรองไว้ เรื่องงดการรัชทายาทเยอรมันเดินทางต่อมาจากอินเดียครั้งนั้น ออกจะเป็นการลึกลับอยู่หน่อย, และได้มีข้อความโจทย์กันต่างๆ นานา, บ้างก็ ว่าเป็นเหตุเพราะรัชทายาทได้ไปกระทําเหตุฉาวขึ้นในอินเดีย เนื่องด้วยเรื่องผู้หญิง, บ้างก็ว่าสาเหตุมีเนื่องด้วยการเมือง, แต่ความจริงจะเป็นอย่างไรก็เลยไม่ได้ความชัด”
สำหรับจักรพรรดิเยอรมันในเวลานั้นคือ จักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี หรือที่เรียกว่า “ไคเซอร์” เป็นจักรพรรดิเยอรมันพระองค์สุดท้าย ก่อนหน้าเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พระองค์สละราชสมบัติ เมื่อ ค.ศ. 1918 จากนั้นก็เสด็จลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์ ยุคสมัยของพระองค์มีมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและปรัสเซียคือ มกุฎราชกุมารวิลเฮล์ม
พระราชวังสราญรมย์ แม้ไม่ได้ใช้งานในการเยือนของรัชทายาทเยอรมันในปีนั้น แต่ไม่นานจากนั้น เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน (H.R.H. Prince William of Sweden) เป็นพระราชอาคันตุกะที่เข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นครั้งที่ 2 จัดระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 พระองค์ประทับที่พระราชวังสราญรมย์ที่ทางราชการจัดถวาย
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ด้านมืด” กรุงเทพฯ จากบันทึกของเจ้าชายสวีเดน
ไกรฤกษ์ นานา อธิบายความเป็นมาของพระราชวังสราญรมย์ ไว้ว่า เป็นผลงานของนายคาร์ดู (Stefano Cardu) นายช่างชาวอิตาเลียนในยุคบุกเบิก เดินทางเข้ามายังเมืองบางกอกเป็นคนที่ 3 ต่อจากนายคลูนิสและนายแกรซี เมื่อ พ.ศ. 2420
ส่วนเหตุกาฬโรคระบาดที่จีน เมื่อ พ.ศ. 2453 หรือราว ค.ศ. 1910-1911 สืบค้นโรคระบาดในช่วงเวลานั้นพบว่า ไล่เลี่ยกับช่วงเกิด “โรคระบาดแมนจูเรีย” (Manchurian Plague) การระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 1910 ในเมืองหลายแห่งที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นจากเมืองแมนโจวลี (Manzhouli) (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมองโกเลีย) แล้วก็ลามไปยังเมืองฮาร์บิน (Harbin) (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน) และระบาดไปยังเมืองอื่น ๆ ที่ทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้ (South Manchurian Railway) ตัดผ่าน อ่านเรื่องโรคระบาดแมนจูเรีย ที่เป็นกำเนิด “หน้ากากป้องกันโรคระบาด” (สมัยใหม่) ใช้ในวงกว้างจากบทความด้านล่าง
คลิกอ่านเพิ่มเติม : บทบาท Wu Lien-teh และกำเนิด หน้ากากป้องกันโรคระบาด ยุคจีนเผชิญโรคระบาดแมนจูเรีย
อ้างอิง
ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2559.
สิทธิโชค ชาวไร่เงิน. “กำเนิด “หน้ากากป้องกันโรคระบาด” ใช้ในวงกว้าง ยุคราชสำนักจีนรับมือโรคระบาดแมนจูเรีย”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 4 มีนาคม 2563. เข้าถึงเมื่อ 21 เมษายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_46363>
https://en.wikipedia.org/wiki/Wilhelm_II,_German_Emperor#Wilhelm_in_control
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 เมษายน พ.ศ.2563