ความรุ่งเรืองสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก สวนทางกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของช่างฝรั่งผู้สร้าง

ความอลังการของสถาปัตยกรรมตะวันตกในบางกอกจากสมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนห้วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองและมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง และวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ดึงดูดสถาปนิกมือหนึ่งจากยุโรปที่ตามเข้ามาแสวงหาชื่อเสียงและลาภยศให้ตนเอง แต่เบื้องหลังความสำเร็จกลับบดบังความผิดหวัง ความขมขื่น และความล้มละลายของฝรั่งผู้สร้าง อะไรคือสาเหตุของความล้มเหลวเบื้องหลังผลงานอันโดดเด่นที่พวกเขาทิ้งไว้ข้างหลัง?

การเปิดประเทศของสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่  5 ด้วยการรับเอาอารยธรรมตะวันตกเป็นแม่แบบใบการพัฒนา ทำให้เกิดการส่งเสริมศิลปะรูปแบบใหม่ทั้งการนำเข้าศิลปินสาขาต่างๆ ตลอดจนผลงานศิลปะจากยุโรปโดยตรง ทั้งจากความพยายามดัดแปลงประยุกต์ศิลปะยุโรปให้เข้ากับเอกลักษณ์ศิลปะแบบไทย

ศิลปะฝรั่งได้กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสร้างชาติให้ทันสมัยและมีเสถียรภาพจากการสบประมาทของนักล่าเมืองขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหมายรวมไปถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้รัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ไปในตัว [5]

การปรากฏตัวของสถาปนิกฝรั่งและรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ถึงแม้จะมิใช่รูปแบบต้นฉบับแท้จริง แต่ก็เพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นภาพพจน์ใหม่ของตะวันตก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญแบบสากล จนคำว่า ความศิวิไลซ์ แบบฝรั่ง เริ่มมีอิทธิพลต่อแนวคิดทางสังคมในสยามโดยเฉพาะต่อราชสำนักไทยเป็นต้นมา [2]

ความงดงามของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคนั้นช่วยทำให้เมืองบางกอกดูเจริญหูเจริญตายิ่งขึ้น แต่ได้กลายเป็นการแข่งขันทางอ้อมกับบรรดาเมืองขึ้นของยุโรปในสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นกัลกัตตา ย่างกุ้ง ปัตตาเวีย หรือสิงคโปร์ ที่ถูกสร้างโดยตรงจากฝีมือเจ้าอาณานิคม ทว่า บางกอกซึ่งไม่เคยถูกปกครองโดยชาวยุโรปกลับสามารถแข่งขันอย่างเต็มปากกับเมืองขึ้นของฝรั่งในเอเชียได้อย่างน่าอัศจรรย์

และแม้นว่าร่องรอยแห่งอารยธรรมตะวันตกอันอลังการจะเป็นภาพลักษณ์หนึ่งในบางกอก แต่ฝรั่งเจ้าของความคิดผู้สร้างฉากเมืองฝรั่งให้บางกอกในยุคแรกเริ่มกลับเป็นตัวละครนิรนามที่สาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ไทย อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พวกเขาต้องอันตรธานหายไปจากบางกอกก่อนเวลาอันควร?

(ภาพประกอบเนื้อหา) สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ได้แต่งทูตมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อ พ.ศ. 2406 และได้ทูลเกล้าถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยอง ดอนเนอร์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2410 เพื่อทรงรับราชทูตฝรั่งเศสอีกคณะหนึ่ง จึงทรงสายสะพายเลยอง ดอนเนอร์พร้อมดารา เพื่อเป็นเกียรติยศแด่ชาวฝรั่งเศส (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเหตุการณ์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์)

ยุคเริ่มต้นการสร้างสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก

ก่อนหน้าที่จะมีการจัดระเบียบหน่วยงานราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ในประเทศสยามราชสำนักมีหน่วยงานช่างหน่วยหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มของช่างฝีมือโดยอาชีพถูกจัดรวมกันเข้าเป็นกรมหนึ่ง และดำเนินมาเช่นนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอธิบายคำว่า ช่างสิบหมู่ ว่าคงมิได้มีความหมายอย่างตายตัวว่ามีเพียงสิบหมู่เท่านั้น เพียงแต่ในระยะแรกที่ก่อตั้งขึ้นอาจจัดไว้เพียงสิบหมู่จึงเรียกกันติดปากลงมาว่าช่างสิบหมู่

ต่อมาภายหลังจึงเกิดความจำเป็นต้องแตกแขนงกลุ่มงานฝีมือออกไปอีกตามแต่ทางราชสำนักจะเรียกไปใช้ นับได้ถึง 29 งานช่างดังต่อไปนี้คือ ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะไทย ช่างสนะจีน ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างมุก ช่างปากไม้ ช่างเรือ ช่างทำรุ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างปูน ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง [13]

ช่างฝีมือเหล่านี้ถูกคัดเลือกไปทำงานขึ้นกับราชสำนักตามแต่จะมีใบบอกลงมา โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้มีอธิบดีบัญชาการช่างสิบหมู่สังกัดขึ้นอยู่กับกรมวัง

กรมช่างสิบหมู่มีหน้าที่สร้างวัดวาอาราม พระราชฐานและพระราชมณเฑียรต่างๆ แต่ในอดีตยังเน้นไปที่สถาปัตยกรรมทรงไทยเป็นพื้น ไม่มีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สถาปัตยกรรมในเมืองบางกอกเริ่มจะได้รับอิทธิพลของตะวันตกแทรกซึมเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง (ครองราชย์ .. 2394)

โดยในระยะแรกของความเปลี่ยนแปลงนี้มีเจ้านายคนไทยเป็นผู้กำกับดูแลการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกด้วยพระองค์เอง ท่านผู้มีพระนามว่า  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม

กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ เมื่อ .. 2359 ในรัชกาลที่ 3 ทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชุมสาย

กรมขุนราชสีหวิกรม ทรงเป็นต้นราชสกุลชุมสาย ทรงมีบทบาทในด้านการช่างและทรงกำกับดูแลกรมช่างศิลาและกรมช่างสิบหมู่ในรัชกาลที่ 4 พระโอรสในราชสกุลนี้ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางด้านช่างในราชสำนักสืบต่อจากพระบิดา เช่น หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ทรงเป็นสถาปนิกและนายช่างผู้ออกแบบคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย [9] 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องติดต่อและมีความสัมพันธ์กับชาติทางตะวันตก ทั้งในด้านการค้าขาย การเมือง และการรับวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้ต่างชาติเชื่อถือว่าสยามประเทศได้พัฒนาแล้วไปสู่ความเป็นอารยะ และมีความคิดก้าวหน้ามิใช่ชาติล้าหลังด้อยพัฒนา เพื่อเอาตัวรอดจากการที่ฝรั่งใช้เป็นข้ออ้างในการล่าอาณานิคม [4]

และด้วยสาเหตุแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นชาติที่พัฒนาแล้วนี่เอง ทำให้เมืองบางกอกอันเป็นราชธานีของสยามประเทศจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการรับอารยธรรมจากตะวันตกในรูปแบบศิลปวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เป็นแบบยุโรปก็คืบคลานเข้ามาให้เห็นอย่างรวดเร็วในเขตพระราชฐาน แม้แต่ในห้องพระบรรทม ในพิพิธภัณฑ์ หรือการอบรมสั่งสอนแบบฝรั่งแก่ชาวราชสำนักโดยครูแหม่ม [2] 

สิ่งก่อสร้างในพระบรมราชวังสมัยรัชกาลที่ 4 เช่น การสร้างหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นภาพลักษณ์ใหม่แบบตะวันตกที่ถูกรังสรรค์ขึ้นให้โดดเด่นและแตกต่างจากที่ในรั้วในวังเคยมี เป็นข้อสังเกตและได้รับคำเยินยอจากราชทูตยุโรปที่ถูกเชิญให้เข้าไปเยือนภายในอยู่เนืองๆ [3] 

โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกรมขุนราชสีหวิกรมทรงรับราชการอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของการรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าสู่สยามประเทศในหลายๆ ด้าน ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ด้านงานช่างของหลวงซึ่งนายช่างย่อมต้องปฏิบัติงานถวายให้ได้ต้องตามพระราชประสงค์ ดังปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้กำกับดูแลการก่อสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญทั้งพระราชฐานที่ประทับบางแห่งในพระบรมมหาราชวังและพระราชนิเวศน์ในต่างจังหวัด รวมทั้งพระอารามสำคัญอีกหลายแห่ง

ผลงานของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม จึงควรค่าแก่การศึกษาทั้งในส่วนของงานช่างที่ยังคงรูปแบบศิลปะอย่างไทยประเพณีเพื่อให้สมพระเกียรติแห่งองค์พระมหากษัตริย์ และยังมีส่วนที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง รวมทั้งพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารรูปแบบตะวันตก ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ที่มีความเชี่ยวชาญในเชิงช่างอย่างไทย และขณะเดียวกันย่อมต้องทรงรอบรู้วิชาช่างสมัยใหม่ในขณะนั้นควบคู่ไปด้วย [9]

ในสยามการยอมรับนวัตกรรมทันสมัยนั้นไม่สู้มีปัญหานัก คนไทยมักจะตื่นตัวและหลงใหลต่อความแปลกใหม่ทั้งสิ่งของและเทคโนโลยีด้วยความตื่นตาตื่นใจกับของแปลกใหม่ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินและเพราะต้องการแสดงว่าเป็นผู้มีรสนิยมดี [11]

แม้นว่าในรัชกาลที่ 4 จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าช่างไทยเรียนรู้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกจากที่ใด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านตัวอย่างที่เคยเห็นจากภาพถ่ายหรือคำบอกเล่าเช่นเดียวกับงานช่างจิตรกรรมตะวันตกที่ปรากฏในรัชกาลนี้ รวมทั้งน่าจะมีการเรียนรู้จากสถาปัตยกรรมตะวันตกในประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์และปัตตาเวีย จากการที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางผู้ใหญ่ไปดูงานการปกครองประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อนำแบบอย่างมาสร้างตึกแถวตามแนวถนนบำรุงเมืองและเฟื่องนคร

โดยนายช่างคนสำคัญที่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้เขียนแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารหลายแห่งแบบตะวันตกตั้งแต่ต้นรัชกาลคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้ศึกษาความรู้ทางวิชาการช่างอย่างตะวันตกจากนายช่างสถาปนิกฝรั่งที่เข้ามาก่อสร้างอาคารตามแบบอย่างวัฒนธรรมของตนในประเทศไทยขณะนั้น และคงได้ศึกษาด้วยตนเองจากภาพที่ปรากฏในหนังสือตำราของชาวตะวันตกด้วย [9]

หลักฐานภาพถ่ายและภาพแกะลายเส้นจากสมัยรัชกาลที่ 4 หลายรูปทำให้เชื่อได้ว่านายช่างพระองค์นี้ทรงพระปรีชาเป็นอย่างยิ่งและสามารถถวายงานได้ตามพระราชประสงค์ ไม่จะเป็นสถาปัตยกรรมไทยหรือตะวันตก เพื่อสนองพระราชดำริและเป็นการปรับโฉมหน้าของสถาปัตยกรรมไทยให้ก้าวทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนั้น ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญแห่งรัชสมัยที่นายช่างไทยสามารถสร้างสรรค์งานศิลปกรรมแบบตะวันตกได้  โดยในขณะนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานการว่าจ้างนายช่างชาวตะวันตกเข้ามาปฏิบัติงานในราชสำนัก ก่อนที่ในรัชกาลที่ 5 มีการว่าจ้างชาวต่างชาติให้มาเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ

กลุ่มของพระราชมณเฑียรแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 แสดงถึงแนวคิดและทัศนคติแบบตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ อาคารที่จำลองสถาปัตยกรรมยุโรปชุดแรกของกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์

ภาพภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นหมู่ของพระราชมณเฑียรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับและเพื่อแสดงถึงพระเกียรติยศแห่งพระองค์ในภายหน้า ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นแม่กอง พระยาเพชรพิไชยและพระยาสามภพพ่ายเป็นนายงาน เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นแม่กองแทน

ในส่วนการก่อสร้างเป็นผลงานของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นและเป็นเจ้ากรมช่างสิบหมู่ เริ่มสร้างเมื่อ .. 2394-2400 รวมเวลาการก่อสร้าง 5 ปีจึงแล้วเสร็จ

พระอภิเนาว์นิเวศน์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารกลุ่ม 11 หลัง ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค (Classicism) ประกอบด้วยพระที่นั่ง 8 องค์ และหอต่างๆ 3 หอ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่เป็นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่มีส่วนตกแต่งบางประการเป็นแบบไทยและจีน

หมู่พระที่นั่งประกอบด้วย พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นประธานของหมู่พระที่นั่ง พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยภาส พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร หอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาศ พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ และพระที่นั่งภูวดลทัศไนย การวางแผนผังมีลักษณะใกล้เคียงกับแผนผังของหมู่พระมหามณเฑียรที่เรียงลำดับท้องพระโรง ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และของฝ่ายในไปตามลำดับ [9] 

ทว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปโครงสร้างของกลุ่มอาคารในพระอภิเนาว์นิเวศน์ที่เป็นลูกครึ่งไทยฝรั่งก็เริ่มทรุดโทรมลงจนยากจะซ่อมแซมใหม่ได้

เกิดความจำเป็นเมื่อขึ้นรัชกาลใหม่ที่จะต้องใช้สิ่งก่อสร้างที่มั่นคงถาวรแบบก่ออิฐถือปูนตามมาตรฐานตะวันตกขนานแท้ เมื่อนั้นสถาปนิกฝรั่งจึงถูกว่าจ้างเข้ามากำกับก่อสร้างเองเพื่อให้ได้รูปแบบและดุลยภาพแบบตะวันตกที่มีมาตรฐานสากลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

บรรยากาศการจัดเลี้ยงโต๊ะในแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระบรมมหาราชวัง (ภาพจากของเพื่อนให้ โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ที่ระลึกแห่งวโรกาสครบรอบ ๑๑ๆ ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย พ.ศ. ๒๕๕๐)

ความเฟื่องฟูของสถาปัตยกรรมยุโรป สมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ดี แม้ความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดตะวันตกจะเริ่มต้นขึ้นแล้วในรัชกาลที่ 4 แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการทดลองหรือโครงการนำร่องที่ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก 

แต่ก็มีผลให้กฎเกณฑ์และความเชื่อดั้งเดิมในสังคมแบบจารีตมีการคลี่คลายลง เปิดโอกาสให้ผู้นำสยามหัวก้าวหน้าตื่นตัวและขวนขวายที่จะรับสิ่งใหม่โดยไม่ยึดติดถือมั่นอยู่แต่ในกรอบเช่นเคย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นี้นับว่าเป็นการปฏิวัติความรู้สึกนึกคิดของสังคมอย่างจริงจังทั้งระบบ โดยมีราชสำนักเป็นตัวอย่างให้ชนทุกชั้นเดินตาม [11] 

รสนิยมของชาวราชสำนักที่หันไปนิยมชมชอบเทคโนโลยีและการมองโลกแบบตะวันตกจากความหวั่นวิตกภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจ ส่งผลให้ชนชั้นผู้นำในสยามในระยะนั้นช่วยกันผลักดันสังคมให้หันเหไปตามกระแสและมาตรฐานเดียวกันกับที่ชาติมหาอำนาจเป็นอยู่และต้องการให้โลกเปลี่ยนตามอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างภาพลักษณ์ในสังคมชาวสยามให้ทัดเทียมหรือใกล้เคียงกับชาติตะวันตกมากที่สุดภายใต้อุดมคติของความเจริญแบบมีวัฒนธรรม

ความเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลของความเจริญแบบมีวัฒนธรรมได้แทรกซึมเข้าไปในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ส่งผลต่อทัศนคติและความนึกคิดที่จะยกระดับต่อภาพพจน์ของเมืองเก่าที่สัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นเวียง วัง ร้านรวง ตึกแถว สวนสาธารณะ จัตุรัส (ในสมัยก่อนเรียกสี่กั๊กผู้เขียน) และอนุสาวรีย์

การสร้างตึกรามด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อแบบจารีตที่มีต่อการสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยโบราณ เช่น ภายหลังการสร้างตำหนักใหญ่ของวังบูรพาภิรมย์ ซึ่งเป็นตึกหลังแรกที่ทำที่จอดรถข้างใต้มุข และสร้างบันไดขึ้นตึกไว้ด้านในอาคาร ทำให้ความเชื่อที่ต้องสร้างบันไดภายนอกอาคาร และความรังเกียจการใช้พื้นที่ใต้ถุนเรือนว่าขาดสง่าราศีถูกมองใหม่ว่าเป็นธรรมเนียมสากลอันภูมิฐาน [6] 

สถาปัตยกรรมยุโรปที่นำเข้าด้วยความเลื่อมใสคือตึกแบบฝรั่งตามตำรับรูปแบบคลาสสิค (Classicism) ของพระราชวังสราญรมย์ ของอาคารกระทรวงกลาโหม และของกระทรวงการต่างประเทศ ที่สร้างขึ้นในสไตล์นีโอปัลลาเดียน (Neo-Palladian)

ตำรับคลาสสิคเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 เป็นพิเศษ ยังมีให้พบในทรงของพระที่นั่งบรมพิมานและพระที่นั่งอนันตสมาคมที่สร้างในสไตล์นีโอเรอเนสซองส์ (Neo-Renaissance) และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรูปแบบวิกตอเรียนเรอเนสซองส์ (Victorian-Renaissance)

พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (หรือพระที่นั่งบรมพิมาน) ที่รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำรัสให้จัดเป็นที่ประทับเสวยต้น (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตำรับรูปแบบโรแมนติค (Romanticism) มีอาทิพระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งวิมานเมฆ และพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ ล้วนมีลักษณะของนีโอโกธิค (Neo-Gothic)

ตามตำรับแบบแผนเยอรมันบาโร้ค (German Baroque) ได้แก่ วังบางขุนพรหม และในแบบแผนจุงเก็นสติล (Jugendstil) สามารถเห็นได้ที่วังวรดิศ และที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น(6)

รัชกาลที่ 5 ผู้มีความคิดก้าวหน้าเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้ชำนาญการจากภายนอกประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นครูบาอาจารย์เข้ามาสอนเจ้านายในวิทยาการสมัยใหม่ รวมไปถึงว่าจ้างนายช่างฝรั่งผู้มีความรู้และทักษะการก่อสร้าง เข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าบ้านเมือง ให้มีกลิ่นอายของสากลเพิ่มมากขึ้นกว่าในรัชกาลก่อนๆ

ความเฟื่องฟูของสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอกเดินหน้าอย่างมั่นคงเพราะมีพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนจนเป็นที่กล่าวขวัญทั่วเอเชีย

เมืองบางกอกได้ดึงดูดช่างฝรั่งมากฝีมือจากยุโรปให้เข้ามาแสวงหาลาภยศและชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืน สิ่งก่อสร้างแนวใหม่ที่เป็นแบบฝรั่งผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในรัชกาลที่ 5 ตามกระแสและรสนิยมใหม่ของชาวราชสำนักในสมัยนั้นบ [11]

พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต ระหว่างการก่อสร้าง (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นายช่างฝรั่งจำนวนมากจากอังกฤษ อิตาลี และเยอรมนี พลิกโฉมหน้าบางกอกเสียใหม่ให้เป็นเมืองลูกครึ่งตามสมัยนิยมและกระแสตะวันตกที่กำลังเบ่งบานในอาณานิคมต่างๆ ของฝรั่งในทวีปเอเชีย วังต้องยิ่งใหญ่แบบอังกฤษ สวนต้องรื่นรมย์อย่างฝรั่งเศส ป้อมปราการก็ต้องแข็งแกร่งดุจโรมัน

แต่เบื้องหลังความอลังการชวนพิศวงนั้นกลับซ่อนความผิดหวังของช่างฝรั่งผู้บุกเบิกเอาไว้อย่างเงียบๆ เมื่ออุดมการณ์และการลงทุนเติบโตเร็วเกินกว่าจะควบคุมได้

การปฏิรูปหน่วยงานราชการครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 .. 2431 เปรียบเหมือนดาบสองคมที่อำนาจรัฐเข้ามาจัดระเบียบระบบราชการที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้สังคมรัดกุมขึ้นก็จริง แต่กลับมีผลต่อต้านความก้าวหน้าของนายช่างฝรั่งให้เดินช้าลงอย่างช่วยไม่ได้ [6]

ชีวิตเหมือนฝันก่อนยุคจัดระเบียบ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์ระหว่าง .. 2411-53) ถือเป็นยุคทองของการสร้างและการบูรณาการสถาปัตยกรรมตะวันตกขั้นสูงสุดในสมัยรัตนโกสินทร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสวยราชย์ .. 2411 ตามด้วยการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกในรัชกาลนี้ คือเสด็จฯ ไปสิงคโปร์และปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ใน .. 2413 ต่อด้วยการเสด็จฯ ไปอินเดีย ใน .. 2414 เปิดโอกาสให้ได้ทอดพระเนตรและเรียนรู้ความงดงามของสถาปัตยกรรมยุโรปด้วยพระองค์เอง ตลอดจนได้พบปะและทรงพระราชปฏิสันถารกับสถาปนิกและข้าหลวงอังกฤษผู้เกี่ยวข้องกับสถาปนิกฝรั่งโดยตรง

ล้วนเป็นช่องทางให้นายช่างฝรั่งมากหน้าหลายตาในต่างประเทศได้รับการทาบทามและติดต่อให้เข้ามาทำธุรกิจในสยามประเทศหลังจากนั้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่การเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรก .. 2413 ถึงยุคแห่งการจัดระเบียบงานโยธาครั้งแรก .. 2431 กินเวลาประมาณ 18 ปี เป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานสถาปัตยกรรมยุโรปในรูปลักษณ์ต้นแบบ  โดยช่างฝรั่งอย่างจริงจังในสไตล์ดั้งเดิมตามวิสัยทัศน์ของช่างฝรั่งอย่างอิสระและตามอัชฌาสัยของนายช่างโดยปราศจากการแทรกแซงของผู้ว่าจ้างโดยตรง

นายช่างฝรั่ง 3 ท่านในยุคบุกเบิกนี้นามว่า คลูนิส แกรซี และคาร์ดู เป็นตัวละครเอกผู้มีชีวิตอย่างโลดโผนและโดดเด่นเบื้องหลังความอลังการของสถาปัตยกรรมฝรั่งสมัยแรกในบางกอก มีหลักฐานปรากฏอยู่จนบัดนี้ [8]

1. นายจอห์น คลูนิส (John Clunis) ชาวอังกฤษ เป็นช่างหลวงชาวตะวันตกคนแรกของรัฐบาลสยาม มีบทบาทมากในการแปลงสถาปัตยกรรมไทยให้เป็นฝรั่งและเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอันเป็นอาคารฝรั่งที่สำคัญที่สุดในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 [10] 

นายคลูนิสได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองครั้งแรกจากการเดินทางเข้ามายังสิงคโปร์อันเป็นเมืองขึ้นเก่าของอังกฤษ และได้สร้างตึกจวนผู้สำเร็จราชการอังกฤษ หรือ Government House ขึ้นที่นั่น ใน .. 2412

จวนผู้สำเร็จราชการอังกฤษแห่งนี้ถูกใช้เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสสิงคโปร์ครั้งแรก .. 2414 เป็นเวลาถึง 1 สัปดาห์ ทำให้ทรงประทับใจในฝีมือของนายคลูนิสอย่างมาก

ต่อมาอีก 2 ปี นายคลูนิสก็ได้ถูกว่าจ้างในฐานะอากีเต็กหลวงให้เข้ามารับราชการกับรัฐบาลสยามตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลที่จะเร่งสร้างความเจริญแบบตะวันตกในเมืองบางกอก โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารทรงฝรั่งในพระบรมมหาราชวังซึ่งแต่ก่อนแต่ไรมาอยู่ในความรับผิดชอบของ 3 กรม คือ กรมล้อมพระราชวัง กรมช่างทหารใน และกรมช่างสิบหมู่ ซึ่งแต่ละกรมเคยใช้แต่สถาปนิกและวิศวกรคนไทยถ่ายทอดองค์ความรู้กันเองในระบบเครือญาติ [10] 

ข่าวเกี่ยวกับนโยบายสร้างบางกอกให้เป็นเมืองฝรั่งกลายเป็นกระแสใหม่ที่ส่งผลต่อความคิดของสื่อต่างประเทศ บางกอกในสมัยนั้นพากันกระจายข่าวในลักษณะกดดันทางอ้อมให้สังคมยอมรับและสนับสนุนนโยบายของราชสำนักโดยปริยาย(12)

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

หนังสือพิมพ์ THE SIAM REPOSITORY ของหมอสมิธ (Samuel J. Smith) ฉบับ .. 1871 (.. 2414) เมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ 5 เขียนไว้ว่า

ชาวต่างประเทศที่เข้ามายังบางกอกก่อนหน้านี้ต้องพบกับความลำบากและขัดนัยน์ตาอยู่เสมอเมื่อต้องการไปติดต่อกับหน่วยงานราชการของสยาม เพราะธรรมเนียมของที่นี่ก็คือเจ้ากระทรวงมิได้มีออฟฟิศทำงานเป็นกิจจะลักษณะ แต่จัดการกันเองตามอัธยาศัยที่บ้านพักของพวกท่าน ทำเนียบลำลองเช่นนี้สร้างความขลุกขลักบางทีก็ดูรกรุงรังไม่มีระเบียบเอาเลย เป็นที่สบประมาทต่อชาวต่างชาติ

แต่ปัญหาเหล่านี้กำลังจะหมดไปในไม่ช้าหลังจากในหลวงท่านมีพระราชปรารภที่จะสร้างภาพลักษณ์แบบสากลให้ดูภูมิฐานขึ้น ในการนี้นายช่างฝรั่งกำลังถูกจ้างเข้ามาก่อสร้างสถานที่ราชการและตึกรามสมัยใหม่ รวมทั้งที่พำนักของเจ้านายด้วยศิลปะแบบตะวันตกที่แพร่หลายกันมากขึ้นในทวีปนี้ เราเห็นว่าอาคารที่จำเป็นกว่าเพื่อนน่าจะเป็นที่ว่าการต่างประเทศและศาลาว่าการกลาโหม[12]

นายคลูนิสได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างพระราชวังแห่งใหม่และพระตำหนักอันโออ่าให้ใช้การได้สำหรับสยามยุคใหม่ที่ต้องใช้อวดโฉมและยอมรับได้ในสายตาผู้นำต่างชาติที่จะถูกเชื้อเชิญเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ต้องสมพระเกียรติและเป็นที่ประทับถาวรพรั่งพร้อมด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกและเฟอร์นิเจอร์แบบตะวันตกดังที่เจ้านายฝรั่งชั้นสูงในต่างประเทศนิยมกันอยู่

ศูนย์กลางของพระที่นั่งแห่งใหม่ก็คือพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอันตระการตา

เท่านั้นยังไม่พอ เขาได้ออกแบบและก่อสร้างหมู่พระที่นั่งอย่างตะวันตกอีกหลายองค์ให้เข้ากัน และเพียงพอสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดิน อันได้แก่ พระที่นั่งอมรพิมานมณี พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย และพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร(10)

(หมายเหตุ : หลังคาของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น ขั้นแรกนายคลูนิสตั้งใจให้เป็นโดม แต่ถูกคัดค้านโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ว่าจะทำให้เสียเกียรติภูมิความเป็นไทย จึงถูกแก้ไขให้สร้างเป็นหลังคายอดแหลมแบบปราสาทไทยโดยพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล))(10)

2. นายช่างฝรั่งผู้โดดเด่นคนต่อมาคือ นายโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi) สัญชาติอิตาเลียนออสเตรีย ผู้เข้ามาแสวงโชคเป็นช่างอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ในจีน

ต่อมาใน .. 2413 ท่ามกลางเสียงเล่าลือถึงความต้องการช่างฝรั่งในสยาม ผลักดันให้เขาเดินทางเข้ามาเผชิญโชคทันทีและกลายเป็นช่างฝรั่งผู้สร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งจากงานรับเหมาจิปาถะของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เจ้านายไทยที่ประกวดประขันกันสร้างวังที่พำนักแบบฝรั่ง [8] 

นายแกรซีเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของงานสถาปนิกและวิศวกรรมที่งดงามและหรูหราฟุ่มเฟือยทั้งในหมู่เจ้านายไทยและในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกันที่เริ่มหันมาสร้างตึกราม โบสถ์ และโรงเรียน เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในบรรยากาศแบบยุโรปต้นตำรับของวิชาการสมัยใหม่ ถึงขึ้นที่เขาตั้งบริษัทเอกชนต่างด้าวขึ้นเพื่อรับงานรับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะในนามของ Grassi Brothers and Co. ในบางกอก เมื่อ .. 2418 [10]

ผลงานชิ้นโบว์แดงของนายแกรซีได้แก่ อาคารประเภทวัง เริ่มต้นด้วยพระราชวังฤดูร้อนของรัชกาลที่ 5 คือ พระราชวังบางปะอินและวัดนิเวศธรรมประวัติ (วัดไทยแต่รูปทรงฝรั่ง) จากนั้นชื่อเสียงของเขาก็ดังกระฉ่อนไปในหมู่เจ้านายองค์อื่นๆ ทำให้เขาได้ก่อสร้างวังบูรพาภิรมย์ วังพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ วังสะพานถ่าน วังพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ วังท่าพระ วังกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร และวังใหม่ที่ปทุมวัน (วังวินด์เซอร์)

วังบูรพาภิรมย์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ความใกล้ชิดของนายแกรซีกับสมเด็จพระอนุชาหลายพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ส่งเสริมให้เขารับงานก่อสร้างสถานที่ราชการที่บรรดาสมเด็จพระอนุชารับผิดชอบอยู่มากมาย มีอาทิ ศาลสถิตยุติธรรม โรงทหารหน้า (หรือกระทรวงกลาโหมในปัจจุบันผู้เขียน) โรงทหารม้า ศุลกสถาน โรงพยาบาลศิริราช คุกมหันตโทษ และป้อมพระจุลจอมเกล้า

นายแกรซีกว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อเขามีอิสระที่จะรับเหมางานก่อสร้างโครงการของเอกชนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวยุโรปหรือศาสนสถานทางคริสต์ศาสนาที่เขาเคร่งครัดอยู่ เช่น สร้างโบสถ์วัดนักบุญยอแซฟที่อยุธยา หอระฆังวัดคอนเซ็ปชัญ และตึกเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก [10] 

ตึกเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ (สร้างขึ้นระหว่าง .. 2430-33) สร้างด้วยสไตล์นีโอคลาสสิค จากการว่าจ้างของบาทหลวงกอลมเบต์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ด้วยงบประมาณ 50,000 บาท แม้นว่าจะไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือราชการโดยตรง แต่ก็เกี่ยวข้องทางอ้อมกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งสยามต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในระยะนั้น

เหตุผลนี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงแสดงน้ำพระทัยบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินขวัญถุง 25 ชั่ง เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างตึกเก่า ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์ตึกเก่าแห่งนี้ด้วย [1] 

แต่ผลงานชิ้นเอกของนายแกรซีซึ่งกลายเป็นหน้าตาและสัญลักษณ์ของความมั่นคงของสยามประเทศคือโรงทหารหน้า หรือกระทรวงกลาโหม ที่นับได้ว่าเป็นตึกฝรั่งที่แสดงแสนยานุภาพและความแข็งแกร่งของกองทัพแห่งแรกในเอเชียที่ทุกวันนี้ก็ยังดูไม่เสื่อมคลาย

กระทรวงกลาโหม

3. นายคาร์ดู (Stefano Cardu) เป็นนายช่างชาวอิตาเลียนในยุคบุกเบิก เดินทางเข้ามายังเมืองบางกอกเป็นคนที่ 3 ต่อจากนายคลูนิสและนายแกรซี เมื่อ .. 2420

งานของช่างฝรั่งในช่วง .. 2414-20 นับว่าติดลมบนและเป็นที่ยอมรับของชาวราชสำนักอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง  การเข้ามาของนายคาร์ดูทำให้เขาเติบโตในไม่ช้าจากงานที่เพิ่มขึ้น และช่างฝรั่งสองคนแรกแทบจะจัดการไม่ไหว ไม่ก็ดูแลได้ไม่ทั่วถึง ดังจะเห็นได้ว่านายคาร์ดูสามารถตั้งตัวเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตนอย่างรวดเร็วใน .. 2422 ภายใต้ชื่อว่า S. Cardu & Co.

ผลงานเด่นๆ ของนายคาร์ดูยังเป็นการออกแบบและก่อสร้างสถานที่ราชการที่เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดไปทั่วกรุงเทพฯ ตามกระแสความนิยมอาคารแบบฝรั่งที่ยังฮิตไปทั่วเมือง รวมทั้งวังของเจ้านายที่นอกจากเจ้านายจะว่าจ้างช่างฝรั่งโดยตรงแล้ว ในหลวงยังพระราชทานเป็นของขวัญส่วนพระองค์ให้พระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ด้วย ทำให้มีงานไม่ขาดมือสำหรับนายช่างใหม่ที่ต่อแถวเข้ามาเรื่อยๆ [8] 

นายคาร์ดูรับผิดชอบในการก่อสร้างพระตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร (ในพระบรมมหาราชวัง) และตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (ที่พระราชวังเดิม) อาคารไปรสนียาคาร พระราชวังสราญรมย์ โครงการศาลสถิตยุติธรรม อาคารโรงเรียนทหารสราญรมย์ และตึกแถวที่หน้าวัดราชบูรณะ

และในระยะนี้นี่เองที่ช่างฝรั่งทั้งสามรับงานกันแบบหัวบันไดไม่แห้ง ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่าการเปิดซองประมูลขึ้นเพื่อลูกค้าจะได้ราคาที่ยุติธรรมที่สุดและปราศจากการผูกขาดของฝรั่งผู้รับเหมา

มีหลักฐานที่น่าตกใจว่าปรากฏการณ์ใหม่นี้ทำให้นายช่างทั้งสามจำเป็นต้องแข่งกันเสนอราคาเพื่อมิให้งานหลุดลอยไปยังผู้เสนอราคารับเหมาถูกกว่าตน แต่ในทางลับแล้วยังทำให้เกิดการตัดราคาและแย่งลูกค้ากันเองระหว่างผู้รับเหมาเพื่อรักษาปริมาณงานของพวกตนไว้ [10] 

โรงเรียนทหารสราญรมย์ มีรูปแบบการก่อสร้างอาคารเป็นแบบนีโอคลาสสิค ผังอาคารเป็นรูปตัว E เน้นจุดเด่นที่มุขขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมุขกลางมีแผงประดับหน้ามุข ประกอบด้วยตราประจำพระองค์รัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุคทองของช่างฝรั่งในบางกอกตลอดรัชกาลที่ 5 นั้น มีสถาปนิกมากหน้าหลายตาหลั่งไหลกันเข้ามาขุดทองอย่างชะล่าใจ เพราะอิสระในการรับเหมางานและโอกาสที่ช่างฝรั่งสามารถสร้างชื่อเสียงและความร่ำรวยให้ตนเองในชั่วข้ามคืน เมืองบางกอกเป็นที่รวมของสถาปนิกและช่างฝรั่งต่างด้าวมากที่สุดในเอเชีย ดังมีหลักฐานรายนามต่อไปนี้

นายคลูนิส นายแกรซี นายคาร์ดู นายซันเดรสกี นายตามาโย นายโมเรสกี นายริกอตตี นายคาล ดอริ้ง นาย โอ. ตาเวลา นายฮาเล นายแฟร์โร นายโรเบิตตี นาย ยี. คันโนวา นายซีก๊อด นาย ซี. อัลเลกรี นาย อี. ยี. กอลโล นายปาสมอว์ นายชอว์ นายวิลเลียม แบนคลี นายมาโยลา นายเลียวนาดี นาย อี. บ็อค นายบรูโน นายฮันสเล นายกาโตร์ [8]

ทว่า ใน .. 2431 ก็พลันเกิดภาวะขัดจังหวะขึ้นในระบบราชการของรัฐบาลสยาม เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้เริ่มปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อควบรวมหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง โครงการก่อสร้างต่างๆ ถูกจัดให้เข้ามาอยู่ในความควบคุมของกรมโยธาธิการซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ในปีนั้น [7] และ [10]

ช่างฝรั่งแพแตกเมื่อตั้งกรมโยธาธิการ

การปฏิรูประบบราชการในสยาม .. 2431 เป็นช่องว่างในประวัติศาสตร์ไทยที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อผู้เกี่ยวข้อง หากแต่ไม่ค่อยมีการวิเคราะห์ไว้มากนัก โดยส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจเพียงด้านเดียวว่าเป็นความจำเป็นอีกระดับหนึ่งเพื่อการพัฒนาไปสู่สังคมที่มีระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น

การจัดระเบียบงานด้านการโยธาแม้ว่าจะทำให้ระบบราชการเข้ารูปเข้ารอยขึ้น แต่มันยังหมายถึงกฎเหล็กที่ควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐครอบคลุมอากีเต็กหลวงผู้เป็นลูกจ้างรัฐไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางและทำงานภายใต้เงื่อนไขของรัฐเท่านั้น จะไม่มีอิสระรับเหมางานตามอำเภอใจเช่นเคย

หนังสือตำนานงานโยธาอธิบายว่าเพื่อให้งานด้านการโยธาภายในพระนคร (บางกอก) ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่กำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก

กรมโยธาธิการที่รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ .. 2431 ก็เพื่อรวบรวมหน่วยราชการที่มีอยู่เดิมแต่กระจัดกระจายไปตามกรมกองต่างๆ และมุ่งหมายให้เป็นที่สำหรับฝึกหัดนายช่าง (ไทย) รุ่นใหม่ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีแบบตะวันตก ให้สามารถทำหน้าที่วางแผน ออกแบบ และจัดทำงบประมาณ ตลอดจนดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุด้วยตนเอง [7]

ที่สำคัญและมีนัยยะแฝงก็คือ กรมโยธาธิการจะเป็นศูนย์รวมงานด้านออกแบบก่อสร้างและวางผังเมือง โดยการควบคุมของภาครัฐ สร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่เป็นชาวสยามและจำกัดบทบาทของอากีเต็กหลวงหรือช่างฝรั่งผูกขาดงานด้านนี้กว่า 20 ปีก่อนหน้านั้น [7] 

การดำเนินชีวิตต่อมาของนายช่างใหญ่ต่างชาติทั้ง 3 นาย เป็นกรณีศึกษาถึงความผันแปร ความไม่แน่นอน และความโดดเดี่ยวในการประกอบอาชีพที่ตนไม่คุ้นเคยมาก่อน ทั้งลักษณะการว่าจ้าง การรับเหมาก่อสร้าง และการลงทุนที่ลงเอยด้วยความผิดหวัง และเสื่อมศรัทธาในสถานภาพใหม่ของตนที่จะต้องเลือกว่าจะเป็น ช่างใหญ่อิสระ หรือ ลูกจ้างประจำ

ภาพถ่ายเก่า “ศาลสถิตยุติธรรม” ที่มีหอนาฬิกาตั้งอยู่บนอาคาร (ภาพจาก สมชาติ จึงสิริอารักษ์. สถาปัตยกรรมตะวันตกในสยาม สมัยรัชกาลที่ ๔-พ.ศ. ๒๔๘๐. (กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๓), น. ๑๘๖.)

วิถีชีวิตของนายช่างฝรั่งยุคบุกเบิกมีอันต้องหักเหหันไปทำงานด้านอื่น ที่อาจอยู่เบื้องหลังงานโยธาที่เคยเป็นงานประจำ เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ และผู้นำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือจากต่างประเทศ

แต่ปัญหาใหม่ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็คือเงินลงทุนในกิจการใหม่นั้นมหาศาลและหนี้เก่าจากการรับเหมาก่อสร้างที่ตามเก็บไม่ได้จากผู้ว่าจ้างในระบบเก่า ทำให้ชีวิตที่เคยรุ่งเรืองของนายช่างฝรั่งต้องตกอับอย่างรวดเร็ว [8]

1. นายจอห์น คลูนิส นายช่างใหญ่ชาวอังกฤษ เริ่มประสบปัญหามาตั้งแต่ก่อนตั้งกรมโยธาธิการ เพราะต้องแข่งขันแย่งงานจากการประเมินราคาค่าก่อสร้างหรือเปิดซองประมูลแข่งกับช่างฝรั่งอื่นๆ ซึ่งมีมากขึ้น ทำให้ทุนหายกำไรหด และหนี้เก่าที่ค้างจ่ายก็ยังไม่สามารถเก็บจากรัฐบาลสยามได้ 

อนาคตของเขาหดหู่ยิ่งขึ้นภายหลังจัดตั้งกรมโยธาธิการ นายคลูนิสก็ไม่ได้รับงานออกแบบก่อสร้างให้กับรัฐบาลอีกเลย เขาจึงหันเหไปตั้งโรงงานทำอิฐขึ้นแทนเพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนโครงการก่อสร้างของภาครัฐ แต่ก็ต้องประสบกับการขาดทุน เขาพยายามใช้ความสัมพันธ์เก่ากับราชสำนักขอรับพระราชทานยืมเงินก้อนใหญ่ 250 ชั่ง เพื่อยื้อชีวิตโรงงานอิฐ แต่กลับได้รับการปฏิเสธ (ในยุคที่รัฐบาลต้องการจัดการเองผู้เขียน)

ในที่สุดนายคลูนิสก็ตกอยู่ในฐานะล้มละลาย ถูกศาลกงสุลอังกฤษบังคับให้ขายเลหลังทรัพย์สินที่มีอยู่และสิ่งปลูกสร้างที่ท่าเตียน คลองมอญ และหนองแขมที่เขาเคยเลือกสยามเป็นบ้านใหม่และเรือนตาย

นายคลูนิสล้มป่วยด้วยโรคบิดใน .. 2436 และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 65 ปี ศพของเขายังฝังอยู่ สุสานโปรเตสแตนต์ ถนนตก จนทุกวันนี้ [10] 

2. นายแกรซี ผู้สร้างผลงานตึกฝรั่งไว้มากที่สุดในยุคบุกเบิก เป็นตัวอย่างคลาสสิคของช่างฝรั่งที่รุ่งโรจน์และตกต่ำเพราะความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการไทย

การตั้งกรมโยธาธิการ .. 2431 มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจการของนายแกรซี ในด้านการหางานใหม่ๆ และในด้านบุคลากร ดังปรากฏว่าผู้ว่าจ้างหันไปติดต่อกับกรมโยธาธิการโดยตรงและพนักงานประจำของนายแกรซีลาออกแล้วพากันย้ายไปเข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ เช่น นายอัลเลกรีและนายเรเมดี ซึ่งผลักดันให้ศิษย์ก้นกุฏิของนายแกรซีกลายเป็นช่างใหญ่เร็วขึ้นทันตาเห็น [10]

หลังการตั้งกรมโยธาธิการ ก็ไม่ปรากฏว่านายแกรซีได้รับงานรัฐบาลอีกเลยทั้งที่เขายังเป็นนายช่างฝรั่งที่ใหญ่และโด่งดังที่สุดในบางกอก

นายแกรซีจำต้องเบนเข็มไปเป็นนักลงทุนผลิตวัสดุก่อสร้างตั้งโรงงานผลิตอิฐ หิน และปูน แต่ก็ไม่สำเร็จ เขาจึงมีอันต้องหันเหไปหากินในธุรกิจแนวอื่นๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เช่น รับเหมาสร้างทางรถไฟ ทำเหมืองแร่ สร้างระบบชลประทาน และจัดสรรที่ดิน

ต่อมานายแกรซีประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจากหนี้เก่าที่เก็บไม่ได้โดยเฉพาะชาวราชสำนักซึ่งพากันเพิกเฉยหรือถ่วงเวลา เพราะหนี้ส่วนใหญ่เกิดก่อนการตั้งกรมโยธาธิการ ทำให้เขาไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและสัญญาถูกละเมิดจากงานที่ค้างไม่เสร็จจำนวนมาก [10]

ชีวิตของนายแกรซีเลวร้ายขึ้นช่วงเกิดวิกฤติการณ์ .. 112 ในช่วงบั้นปลายเขายื่นเรื่องเปลี่ยนสัญชาติเป็นฝรั่งเศส ทว่า ยิ่งทำให้สถานะของเขาแย่ลงไปอีก ในที่สุดก็ถูกกดดันให้ต้องออกจากสยามประเทศ ทิ้งธุรกิจก่อสร้างใหญ่ที่สุดของฝรั่งในบางกอกไว้เบื้องหลัง

ก่อนจากไปเขาได้ทำเรื่องขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการรับใช้ราชสำนักมายาวนาน รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชมงกุฎสยามชั้นที่ 5 ให้ แต่นายแกรซีกลับปฏิเสธ เพราะเห็นว่าไม่คู่ควรกับคุณงามความดีที่เขาสร้างสมมา เขาจึงกลับออกไปมือเปล่า [10]

นายแกรซีเสียชีวิตที่บ้านเกิดในยุโรปเมื่อ .. 2447 สิริอายุได้ 68 ปี

ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของช่างฝรั่งสมัยหลัง

ความต้องการทักษะของฝรั่งลดความสำคัญลงตั้งแต่กลางรัชกาลที่ 5 และในรัชกาลต่อๆ มา หลังจากที่ชาวสยามหัวก้าวหน้าจบการศึกษาต่อจากต่างประเทศและกลับมายึดอาชีพสถาปนิก นักออกแบบ และวิศวกรกันดาษดื่น ช่างฝรั่งฝีมือดีที่ครองตัวอยู่ได้แต่ก็ต้องแข่งขันในเชิงวิชาชีพมากขึ้นเป็นทวีคูณ [10]

ภายหลังความถดถอยของช่างฝรั่งเมื่อตั้งกรมโยธาธิการนั้นมีอันต้องสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อกรมโยธาธิการถูกยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงโยธาธิการใน .. 2435 ภายใต้การกำกับดูแลของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เจ้านายสยามผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะจนได้รับพระสมัญญาว่านายช่างใหญ่แห่งสยาม [10]

นับจากนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของวงการก่อสร้างไทย เมื่อเจ้ากระทรวงท่านเป็นถึงนายช่างใหญ่ผู้สันทัดงานออกแบบก่อสร้างเสียเอง ชีวิตอันโลดโผนและครึกครื้นของช่างฝรั่งอิสระต้องผันตัวมาเป็นลูกจ้างประจำที่มีสัญญาว่าจ้าง มีบำนาญ และไม่อาจรับงานนอกอันฝันเฟื่องอีกต่อไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

3. นายคาร์ดู นายช่างฝรั่งและน้องคนเล็กแจ้งเกิดภายหลังนายคลูนิสและนายแกรซี ดูจะไหวตัวทันกว่าเพื่อนและเอาตัวรอดมาได้ภายหลังตั้งกรมโยธาธิการ แต่ก็ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงของระบบผู้รับเหมาช่วงที่เป็นคนไทยและจีน สามารถรับงานจากช่างฝรั่งตามกฎระเบียบใหม่ได้ เช่น งานไม้ งานปูหิน และงานปูกระเบื้อง ทำให้งานของช่างฝรั่งไม่สามารถรับผิดชอบแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้เช่นเคยจนเกิดการฟ้องร้องกันเมื่องานล่าช้าและไม่แล้วเสร็จตามสัญญาอยู่เสมอ

แต่ที่ตัดอนาคตและปิดทางทำมาหากินของนายคาร์ดูก็คือ การที่เขาฟ้องร้องเอาผิดกับท่านเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเสียเองในเรื่องที่กระทรวงไม่จ่ายเงินค่างวดให้ตามสัญญา ฝ่าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ก็ทรงโต้แย้งว่านายคาร์ดูบิดพลิ้วไม่ก่อสร้างได้เท่ากับที่อ้างว่าได้ทำไปแล้ว(10)

การลดบทบาทและการจากไปของนายช่างฝรั่งยุคบุกเบิก เป็นช่องว่างในประวัติศาสตร์ไทยเบื้องหลังมรดกอันยิ่งใหญ่ที่พวกเขามอบไว้แก่ชาวสยาม แต่คนรุ่นหลังกลับไม่รู้เลยว่าเบื้องหลังความอลังการเหล่านั้นแฝงไว้ด้วยความขมขื่นและผิดหวังขนาดไหนในความทรงจำของผู้สร้าง


เอกสารประกอบการค้นคว้า

[1] 108 ปีแห่งการเจริญเติบโต (2428-2536) ของโรงเรียนอัสสัมชัญ, บริษัท มิลเลี่ยนแนร์ กรุ๊พ จำกัด, 2536.

[2] ไกรฤกษ์ นานา. “ทึ่งหลักฐานใหม่ เก่าที่สุด! ประวัติพระบรมรูปปั้นพระเจ้าแผ่นดินไทย มีต้นกำเนิดจากไหน?,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 4 “สิ่งที่เรารู้ อาจไม่ใช่ทั้งหมด. บริษัท .เอเซียเพรส (1959) จำกัด, 2556.

[3]______. สยามกู้อิสรภาพตนเอง. สำนักพิมพ์มติชน, 2550.

[4]______. สยามในโลกสากล. บริษัท .เอเซียเพรส (1989) จำกัด, 2559.

[5]______. “Impressionism ลัทธิประทับใจ ศิลปะที่ถูกเว้นวรรคในสยาม สาบสูญจากเมืองไทยนาน 4 แผ่นดิน,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2559).

[6] ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. สำนักพิมพ์มติชน,  2550.

[7] ตำนานงานโยธา, สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, 2557.

[8] ผุสดี ทิพทัส. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

[9] พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม กับงานช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.

[10] พีรศรี โพวาทอง. ช่างฝรั่งในกรุงสยาม : ต้นแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.

[11] วิไลเลขา ถาวรธนสาร. ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก. สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2545.

[12]“Government Offices,” in THE SIAM REPOSITORY. Vol. 3 No. 1-4, Published at Smith’s Place, Bangkolem, Bangkok, 1871.

[13] www.finearts.go.th


หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ ความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก สวนทางกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของผู้สร้าง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563