สำรวจ “ด้านมืด” ของกรุงเทพฯ จากบันทึกของเจ้าชายสวีเดน

เจ้าชายวิลเลียม แห่งสวีเดน (ประทับพระเก้าอี้ขวาสุด) ทรงฉายร่วมกับพระราชวงศ์ที่เสด็จมาร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าชายสวีเดน ราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ 6 บันทึก “ด้านมืด” กรุงเทพฯ แหล่งอบายมุขเพียบ

ย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นครั้งที่ 2 อย่างเช่นที่พระปฐมบรมราชวงศ์และพระบรมชนกนาถได้ทรงเคยกระทำมา โดยงานพระราชพิธีจัดระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-10 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 ในครั้งนั้นได้เชิญพระราชอาคันตุกะรวม 14 ประเทศเข้าร่วมงานพระราชพิธีซึ่งมีทั้งที่เป็นพระราชวงศ์ เอกอัครราชทูตพิเศษ และอัครราชทูตพิเศษ

Advertisement

บรรดาพระราชอาคันตุกะโดยเฉพาะในฝ่ายพระราชวงศ์นั้นมีเจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน (H.R.H. Prince William of Sweden) ในครั้งนั้นได้ทรงบันทึกเรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน คือกัมพูชาและพม่า โดยใช้ชื่อหนังสือว่า In The Land of The Sun : Notes and Memories of a Tour in The East ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการแปลและเรียบเรียงในส่วนของเมืองไทยและพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือชื่อดินแดนแห่งแสงตะวัน

เจ้าชายวิลเลียมเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเดินสมุทร เอส.เอส. ไคลสท์ (The S.S. Kleist) จากเมืองท่าเจนัว ใช้เวลา 3 สัปดาห์ถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 25 พฤศจิกายน จากนั้นได้เสด็จเข้าประทับที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งทางราชการจัดถวาย และได้ทรงเข้าร่วมตลอดงานพระราชพิธี ในบันทึกของพระ องค์กล่าวถึงความประทับใจไว้ดังนี้

“สำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวกับในบทพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของข้าพเจ้าคงต้องจบลงตรงนี้ อาจสรุปได้โดยไม่เกินความเป็นจริงว่าทุกพิธีเฉลิมฉลองของโบราณแต่ดั้งเดิมนั้นเป็นของแท้และมีความเป็นเลิศไม่มีใครเทียบเท่า คาดว่าความอลังการที่คู่ควรพระอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราษฎรกว่า 6 ล้าน 5 แสนคน และอากาศร้อนจัด คงก่อให้เกิดความรู้สึกอันอบอุ่นแก่ทั้งประชาชนและประเทศชาติได้ ท้ายที่สุดนี้ข้าพเจ้ามิอาจละเลยที่จะขอกล่าวคำสรรเสริญจากใจจริงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างยอดเยี่ยม ต่อทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเตรียมงานอย่างซับซ้อนและมากขั้นตอน รวมทั้งระเบียบปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นวิธีดำเนินงานที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด มาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จพระราชพิธี”

เมื่อล่วงพ้นพระราชภารกิจที่สำคัญนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งแสดงถึงความเป็นมาของบ้านเมืองอย่างกรุงศรีอยุธยา เหมือนกับพระราชอาคันตุกะพระองค์อื่น แต่จากบันทึกดังกล่าวทำ ให้ทราบว่า ทรงโปรดปรานการท่องเที่ยวและผจญภัย เช่น การล่าสัตว์ โดยได้ทรงล่าเสือในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และล่าควายป่าบริเวณท้องทุ่งในเขตอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในปัจจุบัน และแม้จะเสร็จสิ้นพระราชภารกิจในเมืองไทยก็มิได้เสด็จกลับสวีเดนในทันที แต่ได้เสด็จต่อไปยังพม่าและกัมพูชาอีกด้วย

เจ้าชายวิลเลียมกับควายป่าที่ทรงล่าได้ในเขตอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ด้วยพระอุปนิสัยดังกล่าวทำให้ระหว่างประทับอยู่ในกรุงเทพมหานครได้เสด็จไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ หลายแห่งทั้งที่เป็นวัดวาอารามอย่างชาวตะวันตกรายอื่น และย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนในบริเวณสำเพ็ง รวมทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในรัชกาลที่ 6 ที่พระราชวังพญาไท แต่สิ่งที่ทรงแตกต่างออกไปคือการที่ทรงตระหนักถึงความไม่ดีของทุกเมืองในโลกหรือที่ทรงเรียกว่า “ด้านมืด” และทรงปรารถนาที่จะรับรู้ ดังข้อความจากบันทึกตอนหนึ่งว่า

“ในเรื่องความเป็นเมืองในอุดมคติ กรุงเทพฯ ก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทุกเมืองที่จะต้องมีด้านมืด ซึ่งก็คงจะไม่ถูกต้องที่จะเหมารวมว่าเป็นเช่นนั้นไปเสียทุกเรื่อง และก็อย่างที่ข้าพเจ้าพยายามยึดถือเหตุผลอยู่เสมอว่าก่อนที่เราจะรู้จักกับสิ่งใด เราก็ควรที่จะได้รู้จักกับด้านดีและด้านเลวของสิ่งนั้นเสียก่อน บ่ายวันหนึ่งข้าพเจ้าจึงได้ออกไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ดีไม่งามต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร”

เจ้าชายวิลเลียมทรงทราบข้อมูลและได้รับการเชื้อเชิญให้มาเยี่ยมชมจากหัวหน้าตำรวจชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ที่โดยสารมาพร้อมกันในเรือไคลสท์ระหว่างเสด็จมาร่วมงานพระราชพิธี และสิ่งที่เป็น “ด้านมืด” จากคำบอกเล่าของหัวหน้าตำรวจนายนี้คือเรื่องฝิ่นและการพนัน

ตลาดขนาดใหญ่ของการค้าฝิ่นอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะฝิ่นสัมพันธ์กับตลาดแรงงานโดยเฉพาะแรงงานชาวจีนที่ตอบสนองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าข้าว ซึ่งมีแหล่งปลูกข้าวในที่ราบลุ่มเจ้าพระยารอบเขตกรุงเทพฯ พร้อมกับการตั้งโรงสีขึ้นมารองรับ สิ่งที่ตามมาคือการใช้แรงงานกุลีในโรงสีที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุง เทพฯ โรงสีขนาดใหญ่จะมีกุลีประมาณ 200 คน ส่วนโรงสีขนาดเล็กประมาณ 100 คน จึงมีความต้องการฝิ่นเพราะช่วยกระตุ้นให้เกิดกำลังและสามารถทำงานหนักได้ ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่สำคัญจนสามารถทำให้เจ้าภาษีฝิ่นขาดทุนหรือกำไรได้ทีเดียว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงแรงงานชาวจีนในกิจการค้าขนาดย่อยและกรรมกรรับจ้างอื่นๆ

ความต้องการฝิ่นที่มีอย่างมากมีผลทำให้การเก็บภาษีฝิ่นเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐ เห็นได้จากปริมาณภาษีชนิดนี้ที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงปี พ.ศ. 2439-41 จำนวน 1,099,200 บาท ปี พ.ศ. 2442-44 จำนวน 1,920,000 บาท และปี พ.ศ. 2445-47 จำนวนถึง 3,071,200 บาท

สำหรับการพนัน หรือโรงบ่อนเบี้ย ทางรัฐบาลได้มีการส่งเสริมกิจการนี้นับตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 ภายหลังจากที่ประสบปัญหาขาดแคลนรายได้เพื่อใช้ในการปรับปรุงประเทศในด้านต่างๆ ให้มีความทันสมัย ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2430 มีการให้สัมปทานบ่อนเบี้ยมากขึ้น ทำให้มีบ่อนเบี้ยถึง 413 แห่งทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้งรัฐให้การช่วยเหลือในด้านนโยบายด้วยการออกกฎหมายห้ามราษฎรเล่นการพนันชนิดอื่นภายนอกบ่อนเบี้ย

ชายชาวสยามกำลังดื่มด่ำอยู่กับพิษของฝิ่นที่กำลังออกฤทธิ์

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2430-60 รัฐบาลเข้ามาควบคุมกิจการนี้มากขึ้น เพื่อให้การเก็บรายได้มีความรัดกุมจึงมีการลดจำนวนบ่อนเบี้ยลง ทำให้อากรบ่อนเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 2,777,100 บาท ในปี พ.ศ. 2438 เป็น 5,732,517 บาท ในปี พ.ศ. 2448 ขณะเดียวกันก็ได้มีมาตรการส่งเสริมให้คนเข้าใช้บริการมากขึ้น ได้แก่ การย้ายที่ตั้งโรงบ่อนจากถนนใหญ่เข้าสู่ชุมชนในตรอกซอกซอย และสร้างบ่อนเบี้ยให้มีขนาดใหญ่ การเพิ่มเวลาเปิด-ปิดโรงบ่อน พร้อมทั้งลดอัตราค่าบริการให้ถูกลง รวมไปถึงการให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการด้วยการจัดพลตระเวนเข้าไปดูแล ประกอบกับกลยุทธ์ของโรงบ่อนในการดึงดูดลูกค้าด้วยการใช้มหรสพประเภทต่างๆ ทำให้โรงบ่อนกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความบันเทิงและการพนันนานาชนิดของชุมชน

การเดินทางเพื่อสัมผัส “ด้านมืด” ของกรุงเทพฯ เริ่มต้นในตอนบ่ายคล้อยของวันหนึ่ง โดยใช้รถลากเป็นพาหนะ เจ้าชายวิลเลียมเสด็จพร้อมกับหัวหน้าตำรวจนายหนึ่งซึ่งมีปืนพกมาด้วย การท่องเที่ยวครั้งนี้ทรงถึงกับบันทึกไว้ว่า “…เป็นการเที่ยวชมที่คง ไม่เคยมีนักท่องเที่ยวคนใดทำมาก่อนอย่างแน่นอน”รถลากได้พาพระองค์ลัดเลี้ยวเข้าสู่ตรอกซอกซอยเล็กๆ ที่แทบปราศจากผู้คน ขณะที่บรรยากาศดูลึกลับมากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์ได้เริ่มรับรู้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว ดังข้อความจากบันทึกว่า“…เมื่อเราผ่านถนนอันกว้างขวางนั้นมาแล้วเราก็จะเข้าสู่ทางแคบๆ เป็นซอกซอยคดเคี้ยว เป็นย่านที่มีคนอยู่อย่างบางตา มีโคมไฟกระดาษแขวนประดับอยู่หน้าประตูตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ซึ่งนี่ก็คือ ‘ด้านมืด’ ของกรุงเทพฯ…”

เมื่อเจ้าชายวิลเลียมเสด็จถึงโรงยาฝิ่น ทรงบรรยายถึงสภาพที่สัมผัสได้ในครั้งแรกว่า “…ตลอดทางเดินแคบๆ ที่ผ่านเข้าไปนั้นเป็นช่องทางที่เพดานต่ำจนข้าพเจ้าต้องก้มตัว จากนั้นเราจึงเข้ามาถึงโรงยาที่มีแสงไฟสลัวมัวซัว ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับบรรยากาศหวานเอียนๆ ชวนให้สำลัก ทั่วทั้งห้องอบอวลไปด้วยควันสีน้ำเงินจางๆ ซึ่งในตอนแรกนั้นมันบดบังสายตาของข้าพเจ้า จากนั้นสายตาของข้าพเจ้าจึงคุ้นกับความมืดมากขึ้นเรื่อยๆ…” และการที่มีหัวหน้าตำรวจติดตามมาด้วยทำให้การชมบรรยากาศในสถานที่แห่งนี้ง่ายขึ้น ชายชาวจีนเจ้าของโรงยานำนักท่องเที่ยวคณะนี้มายังห้องของลูกค้าซึ่งบรรยากาศแย่ยิ่งกว่าตอนแรก ซึ่งมีสภาพดังนี้

“บรรยากาศในห้องนี้ดูราวกับว่าชวนให้เกิดอาการสำลักและหายใจไม่ออกมากขึ้นกว่าเดิม บนเตียงไม้เตี้ยๆ ตามแนวกำแพงมีชายชาวสยามเปลือยกายท่อนบนนอนเรียงรายอยู่หลายคน ต่างกำลังดื่มด่ำอยู่กับพิษของฝิ่นซึ่งกำลังออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ ตรงหน้าแต่ละคนมีตะเกียงเล็กๆ วางอยู่ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ในการเตรียมยาเสพติดนั้น ฝิ่นจำนวนพอเหมาะถูกนำมาวางบนปลายเข็มและนำไปลนไฟจนกระทั่งมันอ่อนตัวกลายเป็นเมือกขนาดกำลังดี นิ้วมืออันสั่นเทาได้หยิบเอาเม็ดสีดำเล็กๆ นั้นวางให้ตรงที่ได้อย่างยากเย็น นานทีเดียวกว่าพวกเขาจะหยิบมันใส่ไว้ในกล้องยาได้ ที่ต้องทำแบบนั้นเพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้ซึมซาบรสชาติในการเสพฝิ่นจำนวนนั้นให้ออกฤทธิ์ไปได้อย่างช้าๆ

สำหรับคนที่เป็นเจ้าทาสของเจ้าภาษีฝิ่นนั้น วิธีการเดียวที่จะทำให้เขาหลุดพ้นเป็นอิสระได้ก็คือความตาย เขาจะเริ่มต้นด้วยการดูดกล้องเดียวทีละน้อยๆ ก่อนในไม่ช้าก็จะเริ่มต้นดูดเพิ่มอีกกล้องหนึ่ง และก่อนที่ชายเคราะห์ร้ายจะได้ทันรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไปนั้น เขาก็ได้ล้มตัวลงนอนเหยียดยาวทั้งวัน ในสภาพที่สะลึมสะลือไม่รู้สึกรู้สมไปเสียแล้ว เฝ้าแต่สูดควันกลิ่นฉุยจากกล้องหนึ่งไปอีกกล้องหนึ่ง บางโอกาสก็ตกอยู่ในอาการสัปหงก ตกอยู่ในอาการประสาทหลอนขั้น ลึกเห็นอะไรก็ขำไปเสียหมด ทั้งยังมีอาการเพ้อฝันด้วย”

ความน่าสังเวชของผู้ติดฝิ่นและบรรยากาศที่แวดล้อม แม้จะเป็นโรงยาฝิ่น “ชั้นดี” ของกรุงเทพฯ ในจำนวนนับร้อยแห่งตามที่ทรงทราบมาก็ทำให้พระ องค์ถึงกับบรรยายว่า “…ข้าพเจ้าจากสถานที่แห่งนั้นมาด้วยอาการขยะแขยงและดีใจเหลือเกินที่ได้กลับมานั่งอยู่ในรถลากอีกครั้ง…สำหรับข้าพเจ้านั้นแห่งเดียวก็เกินพอแล้ว…”

หลังจากนั้นได้เสด็จยังโรงบ่อนเบี้ยซึ่งมีบรรยา กาศที่แตกต่างออกไปดังนี้ “…บรรยากาศที่นี่คึกคักและเร้าใจ ที่ตรงทางเข้าแคบๆ นั้นชาวจีนและชาวสยามต่างเบียดเสียดไหล่เกยกันดูสับสนปนเปละลานตา บางคนกำลังจะกลับ บางคนก็เพิ่งจะมาถึง แต่ที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสะดุดนั้นก็คือส่วนใหญ่คือคนที่เพิ่งจะมาถึง และต่างก็รีบลุกลี้ลุกลนจนทำให้เดินชนกันอย่างรุนแรงในทางเดินแคบๆ นั้น…”

“ชาวสยามมีนิสัยเป็นนักพนันติดตัวมาตั้งแต่เกิด” ข้อสรุปของเจ้าชายวิลเลียม

โรงบ่อนเบี้ยที่ได้พบเป็นห้องโถงขนาดใหญ่มุงด้วยสังกะสี ภายในใช้ไม้ตีตารางกั้นแทนผนัง มีตะเกียงน้ำมันพอให้แสงสว่าง บรรดาลูกค้านั่งเล่นพนันอยู่บนพื้นโดยมีเสื่อขาดๆ รองรับ ความแปลกแยกจากลูกค้าปกติทำให้ความบันเทิงที่กำลังดำเนินอยู่ต้องสะดุดลงชั่วคราว “…เสียงฮือฮาเอะอะได้เงียบลงชั่วขณะตอนที่เราได้เดินเข้ามา ทุกคนในนั้นต่างเหลียวมาจ้องดูชายผิวขาวที่ได้เสี่ยงภัยล่วงล้ำเข้ามายังสถานที่หย่อนใจที่ให้สิทธิ์เฉพาะชนชาวผิวเหลืองเท่านั้น แต่ในไม่ช้าพวกเขาก็หันกลับมาเล่นพนันกันอย่างเต็มเหนี่ยวอีกครั้ง…”

ผู้มาเยือนได้อธิบายถึงวิธีเล่นพนันที่นิยมกันคือ เจ้ามือจะนำเบี้ยหอยออกมากองทีละ 4 โดยที่ครั้งสุดท้ายจะเป็นการตัดสิน ถ้าเหลือเบี้ยหอยอยู่ 1 เบี้ย ผู้แทงหมายเลข 1 จะเป็นผู้ชนะ ถ้ามีหอย 2 เบี้ย หมายเลข 2 ก็ชนะ ซึ่งมีเลขเพียง 4 ตัวให้เลือกพนัน หากทายถูกจะได้รับเงินมากถึง 3 เท่าของเงินที่เดิมพัน การพนันแบบนี้เรียกว่าเล่นถั่ว ซึ่งชาวจีนนำเข้ามาแพร่หลายในตอนปลายสมัยอยุธยา และภายในโรงบ่อนยังมีนักพนันกำลังนั่งล้อมวงเล่นพนันอีกประเภทหนึ่ง โดยบนเสื่อของนักพนันจะวาดรูปกากบาทอันใหญ่ เจ้ามือจะใช้ไม้ทำเครื่องหมายกาก บาทไว้ในกรอบโลหะสี่เหลี่ยมและวางเครื่องหมายนั้นตรงกลางเสื่อแล้วจึงปั่นเบี้ย เมื่อเปิดฝาออกใครที่แทงจำนวนเบี้ยในช่องกากบาทตรงกับเบี้ยที่ออกมาก็จะเป็นผู้ชนะ การพนันชนิดนี้เรียกว่าโปกำ ซึ่งเป็นการพนันที่ถูกดัดแปลงจากการเล่นถั่วและโปปั่นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้เล่นชาวไทย

ภาพชีวิตของนักพนันที่ดำเนินไปด้วยความหวังจากโชคชะตา ขณะที่การคดโกงของเจ้ามือก็ดำเนินอย่างเป็นปกติ แต่บางครั้งก็ขลุกขลักอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งทรงบรรยายถึงวิถีชีวิตในวงเล่นถั่วขนาดใหญ่ของบ่อนที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้

“การนับเป็นไปอย่างช้าๆ และชัดถ้อยชัดคำ สายตาทุกคู่ต่างจ้องมองเขม็งไปที่หอยตัวขาวๆ เหล่านั้น บางทีชีวิตของเขาหรือคนอื่นๆ อาจจะขึ้นอยู่กับหอยกองนั้นก็เป็นได้ และแล้วการนับก็สิ้นสุด หมายเลข 3 ชนะ เหรียญเงินถูกเขย่าขลุกขลิกอยู่ข้างใต้ไม้คราดอันยาวของเจ้ามือ และทำการแบ่งแจกจ่ายให้เหล่าผู้ชนะที่โชคดี แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะเจ้ามือเกิดเงินหมดขึ้นมา จึงเกิดเสียงเอะอะเอ็ดตะโร เสียงตะโกน เสียงสบถดังระงม

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดูเหมือนจะเรียบร้อยลงไปได้โดยง่าย หลังจากที่มีการเจรจากัน ถุงขนาดใหญ่จึงได้ถูกล้วงขึ้นมาจากใต้โต๊ะ เสียงเหรียญดังกรุ๋งกริ๋งอยู่ในภาชนะซึ่งกลิ้งข้ามพื้นโต๊ะสีเขียวส่งไปให้กับกลุ่มตนที่แทงหมายเลข 3 จนก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนเช่นนี้ เจ้ามือเป็นชายชาวจีนร่างเล็ก มีดวงตายิบหยีหางตาชี้ เขาสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองจากการคด โกงได้อย่างสะดวกสบายที่สุด โดยการทำให้เงินทองเหล่านั้นหายวับไปอยู่ตามซอกพับของเสื้อสกปรกที่เขาใส่อยู่ได้อย่างรวดเร็ว แล้วเกมพนันก็ดำเนินต่อไปราวกับว่าไม่มีอะไรเคยเกิดขึ้น”

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชม “ด้านมืด” ของกรุงเทพฯ ของเจ้าชายวิลเลียมอาจไม่ได้ทำให้สังคมไทยขณะนั้นตระหนักถึงพิษภัยร้ายแรงแต่อย่างใด ตราบเท่าที่รายได้ของรัฐบาลในช่วงนั้นยังมาจากกิจการเหล่านี้ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์คือบันทึกที่กล่าวถึงบรรยากาศของบ้านเมืองและสภาพวิถีชีวิตของราษฎรที่สัมผัสกับ “ด้านมืด” อย่างเป็นปกติในสังคม

สิ่งที่เจ้าชายวิลเลียมทรงประสบก็ไม่เคยหยุดการพัฒนาเช่นกัน เห็นได้จากเมื่อรัฐบาลปราบปรามฝิ่นอย่างหนักในช่วงทศวรรษ 2500 ทำให้ยาเสพติดชนิดอื่นระบาดอย่างหนักทั้งเฮโรอีนและยาบ้าในเวลาต่อมา และในส่วนของนักพนันเมื่อรัฐบาลประกาศให้การพนันชนิดที่เล่นในโรงบ่อนเบี้ยเป็นสิ่งผิดกฎ หมายก็ทำให้กิจการนี้ต้องยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2460 ส่งผลให้การเล่นไพ่เป็นที่นิยมมากขึ้น หรือแม้แต่ในปัจจุบันที่การขายหวยใต้ดินได้ถูกยกระดับขึ้นมาไว้บนดินอย่างสง่างามทำให้หวยกลายเป็นการพนันแห่งชาติไปแล้ว ปรากฏการณ์คลั่งหวยของประชาชนทุกงวดวันที่ 1 และ 16 ของเดือน และการจับบ่อนการพนันขนาดใหญ่ รวมถึงการเล่นพนันบอลโลกแต่ละครั้ง ซึ่งอาจตรงกับข้อสรุปของเจ้าชายวิลเลียมในเรื่องดังกล่าวว่า

 “…ชาวสยามมีนิสัยเป็นนักการพนันติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเขาก็ได้รับโอกาสและมีช่องทาง ที่จะเล่นการพนันได้อย่างสบายอกสบายใจเสียด้วย…”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

นนทพร อยู่มั่งมี. “‘ด้านมืด’ ของกรุงเทพฯ จากบันทึกของพระราชอาคันตุกะในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 6,” ใน ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2562