กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณร้อยปีก่อนหน้าตาเมืองเป็นอย่างไร

ปากคลอง บางลำพู คลองบางลำพู กรุงเทพ พระนคร เรือ ใน คลอง
บริเวณปากคลองบางลำพู ในสมัยรัชกาลที่ 7 (ภาพจาก สมุดภาพประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์, กรมศิลปากร)

กรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี ที่มีทั้งสิ้น 21 อำเภอ ในสมัยรัชกาลที่ 7 หรือเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เมืองมีหน้าตาเป็นอย่างไร พอมีเค้าว่าจะเป็นอย่าง 50 เขต เช่นในปัจจุบันหรือไม่

ถัด พรหมมาณพ ได้บันทึกไว้หนังสือ “ภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ : มีแผนที่ประกอบ กล่าวถึงกรุงเทพพระมหานคร” โดยกล่าวถึงเขตท้องที่อำเภอต่าง ๆ รวมทั้งสถานที่สำคัญในแต่ละอำเภอไว้ดังนี้

อำเภอชั้นใน จังหวัดพระนคร หรือ กรุงเทพมหานคร

(ก) อำเภอชั้นในมี 8 อำเภอ คือ :

(1) อำเภอพระนคร ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ข้างวัดชนะสงคราม ถนนจักรพงศ์ เยื้องกับสถานีตำรวจพระนครบาลชะนะสงคราม แบ่งเป็นตำบล 43 ตำบล พลเมืองมีราว 78,895 คน อำเภอนี้ท้องที่อยู่ภายในเขตต์กำแพงพระนคร แขวงพระนครกลาง มีพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นมาก บ้านเรือนเป็นตึกและมีถนนมาก ตามริมถนนมีตึกแถวและบ้านเรือนเต็มไปทั้งนั้น ไม่มีที่ว่างเปล่าเลย สถานที่สำคัญและวัดที่สำคัญอยู่ในอำเภอนี้มาก เป็นที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง วัดสำคัญ และกระทรวงต่าง ๆ ทั้งสิ้น

(2) อำเภอนางเลิ้ง ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่สามแยกถนนหลานหลวงกับถนนพะเนียง ตำบลสนามกระบือ หน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แบ่งเป็น 20 ตำบล มีพลเมืองราว 29,264 คน ท้องที่อำเภอนี้ต่อจากอำเภอพระนคร ทางด้านเหนือมีคลองบางลำพูขั้น ทิศเหนือและทิศตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษมอยู่ในแขวงจังหวัดพระนครเหนือพลเมืองอยู่มากเหมือนกันมีถนนน้อย

(3) อำเภอดุสิต ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองเปรมประชากร ถนนสุโขทัย ติดต่อกับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทางด้านเหนือ แบ่งเป็นตำบล 26 ตำบล มีพลเมืองราว 33,582 คน เนื้อที่กว้างมากแต่มีพลเมืองน้อย มีถนนสายต่างๆ มากและรื่นรมย์ดี มีต้นไม้งามๆ ตามข้างถนน และโดยมากมีบ้านที่ดีๆ และเป็นที่ๆ มีวังเจ้านายอยู่มาก เว้นไว้แต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีคนหนาแน่น มีวัดและสถานที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป อำเภอนี้มีที่ว่างอยู่ทางตะวันออกมาก พลเมืองจึงได้สร้างบ้านเรือนขยายความกว้างของพระนครออกไปเสมอทุกปี อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครเหนือเหมือนกัน

(4) อำเภอสัมพันธวงศ์ ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ป้อมปัจจนึก ตำบลวัดกะละหว่า ตรอกกรมเจ้าท่าและธนาคารสยามกัมมาจล ตรงข้ามกับโรงน้ำแข็ง บี.เอม.ซี. แบ่งท้องที่เป็นตำบล 38 ตำบล มีพลเมืองราว 67,714 คน ทิศตะวันตกจดเขตต์คูคลองพระนคร ด้านใต้จนถึงสะพานดำรงสถิตย์ ทิศเหนือจดถนนเจริญกรุงเป็นเขตต์เรื่อยลงไปจนถึงสามแยกหน้าสถานีตำรวจพระนครบาลสามแยก แล้วต่อไปตามถนนพระราม 4 เป็นเขตต์จนถึงสะพานเจริญสวัสดิ์ ตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเขตต์ด้านใต้จดแม่น้ำเจ้าพระยา

อำเภอนี้มีพลเมืองอยู่หนาแน่นมาก มีสถานที่สำคัญและเป็นทำเลการค้าขายเป็นพื้น ถนนสำเพ็ง เยาวราช และราชวงศ์ ซึ่งเป็นถนนที่มีการค้าขายมากก็อยู่ในอำเภอนี้ และพลเมืองส่วนมากเป็นจีน บ้านเรือนเป็นตึก ริมถนนเยาวราชมีตึกงาม ๆ และสูงถึง 9 ชั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นท่าเรือ มีเรือสำเภาจีน เรือโปะ เรือกลไฟเดิรภายในหัวเมือง ริมทะเลในอ่าวสยาม มาจอดเทียบท่าในท้องที่อำเภอนี้ทั้งสิ้น ปลาทะเลที่จับได้จากปากน้ำจังหวัดสมุทรปราการพวกเรือโปะโดยมากไม่บรรทุกรถไฟ จ้างเรือกลไฟลากมาจำหน่ายเอง และเทียบท่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้ อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้

(5) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่ถนนหลวง หลังวัดเทพศิรินทร์ แบ่งท้องที่ออกเป็น 22 ตำบล มีพลเมืองราว 58,339 คน มีอาณาเขตต์ติดต่อคือ ตะวันตกต่อจากคลองคูพระนคร ตะวันออกจดคลองผดุงกรุงเกษม ทิศใต้จดถนนเจริญกรุงและถนนพระราม 4 ต่อกับอำเภอสัมพันธวงศ์ และทิศเหนือจดคลองมหานาคติดต่อกับอำเภอนางเลิ้ง อำเภอนี้มีพลเมืองอาศัยอยู่มากเหมือนกัน มีทำเลการค้าขายมาก มีถนนหลายสาย ริมถนนบางถนนมีตึก บางถนนเป็นบ้านและห้องแถวให้เช่า ยังมีที่ว่างอยู่มาก มีวัดและสถานที่สำคัญอยู่หลายแห่ง อำเภอนี้อยู่แขวงจังหวัดพระนครใต้เหมือนกัน

(6) อำเภอบางรัก ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ถนนนเรศ ซึ่งเป็นถนนซอยระหว่างถนนสี่พระยากับถนนสุริวงศ์ ใกล้ ๆ กับสถานีตำรวจนครบาลบางรัก แบ่งท้องที่อำเภอเป็น 26 ตำบล มีพลเมืองราว 49,973 คน เขตต์ท้องที่อำเภอนี้คือ ทิศตะวันตกติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองผดุงกรุงเกษม แต่สะพานเจริญสวัสดิ์จนออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ทางทิศเหนือต่อจากแนวทางรถไฟสายปากน้ำและคลองหัวลำโพง ทางทิศใต้จดคลองถนนสาทรมีพื้นที่เกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม

อำเภอนี้แถบบริเวณถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของธนาคาร บริษัทประกันภัย สำนักงานห้างใหญ่ ๆ ที่ไว้สินค้า โรงภาษีและที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง นอกจากนี้มีถนนที่ซอยต่อระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนพระราม 4 สี่สาย คือ ถนนสี่พระยา, สุริย์วงศ์, สีลม และถนนสาทร และระหว่างถนนซอยเหล่านี้ยังมีถนนซอยเล็ก ๆ อีกมากมาย ตามริมถนนที่กล่าวมานี้มีบ้านงามๆ ของคนไทยและชาวต่างประเทศอาศัยอยู่มาก มีคนชาติฝรั่งต่างๆ เช่าบ้านตามริมถนนเหล่านี้อยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ และในท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ตั้งของสถานทูตต่างประเทศหลายชาติดังจะกล่าวต่อไป อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้

(7) อำเภอประทุมวัน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่สี่แยกถนนพระราม 1 กับถนนพญาไทยผ่านกัน ตำบลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งท้องที่เป็นตำบล 17 ตำบล มีพลเมืองราว 46,902 คน มี อาณาเขตต์ติดต่อคือ ทางทิศตะวันตกจดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่สะพานเจริญสวัสดิ์ถึงสี่แยกคลองมหานาค ทางทิศเหนือจดคลองมหานาค ทิศใต้จดแนวรถไฟสายปากน้ำ และทางทิศตะวันออกจดแนวทางรถไฟสายแม่น้ำ (ช่องนนทรี)

อำเภอนี้ตอนริมคลองผดุงกรุงเกษมเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟกรุงเทพฯ และบริเวณกรมรถไฟหลวงและต่อลงมาจากบริเวณสถานีตลอดจนถึงทุ่งทางรถไฟสายแม่น้ำ (ช่องนนทรี) มีบ้านงาม ๆ และตามข้างถนนมีสถานที่ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถานเสาวภา, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สถานทูตต่างประเทศและบ้านฝรั่งชาติต่าง ๆ อยู่มาก สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ด้วยแห่ง 1 ถนนที่จะทำต่อไปจังหวัดสมุทรปราการก็ต่อจากถนนเพลินจิตร์ (พระราม 1) ในอำเภอนี้ และความขยายตัวของพระนครก็ขยายออกไปทางอำเภอนี้มากเพราะพลเมืองได้ปลูกบ้านงาม ๆ ตามทุ่งทางรถไฟสายแม่น้ำมากขึ้นเสมอ อำเภอนี้อยู่ในเขตต์จังหวัดพระนครใต้เหมือนกัน

(8) อำเภอบ้านทะวาย ที่ว่าการอำเภอตั้งที่เชิงสะพานถนนสาทร ถนนเจริญกรุง แบ่งท้องที่เป็นตำบล 20 ตำบล มีพลเมืองราว 45,388 คน มีอาณาเขตต์ติดต่อกันคือ ทิศเหนือติดต่อกับคลองสาทร ทิศใต้ติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อจากทุ่งมหาเมฆ ตามทางรถไฟสายแม่น้ำ ทิศตะวันตกติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกติดต่อกับคลองหัวลำโพง (คลองเตย)

อำเภอนี้มีพลเมืองน้อย ตอนที่นับว่าสำคัญคือตอนถนนสาทร และระหว่างถนนเจริญกรุงกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะตอนนี้เป็นท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งเป็นท่าเรือเดิรติดต่อกับต่างประเทศทั้งสิ้น และมีอู่เรือที่สำคัญด้วย นอกจากนี้มีโรงเลื่อยจักรและโรงสีไฟที่ใหญ่ ๆ ที่เป็นท่าเรือคือ ท่าเรือห้างบอเนียว, อีสเอเซียติก, แองโกลสยาม, โรงเลื่อยของห้างอีสเอเซียติก, อู่บางกอกด๊อก เป็นต้น ท้องที่นอกจากนี้เป็นสวนผลไม้ต่าง ฃๆ และที่นา อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดพระนครใต้

ท้องที่ทั้ง 3 แขวงของ จังหวัดพระนคร เมื่อเทียบเคียงความสำคัญในทางการค้าขายแล้ว จังหวัดพระนครใต้สำคัญที่สุด เพราะเป็นทำเลที่มีการค้าขาย เป็นที่อยู่ของพ่อค้าและฝรั่งชาติต่างๆ ก็อยู่ในจังหวัดพระนครใต้มาก สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โรงพยาบาลที่สำคัญ, ธนาคาร, สถานทูตต่างประเทศ, ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง, ท่าเรืออยู่ในเขตต์จังหวัดพระนครใต้ทั้งสิ้น และมีเนื้อที่มากกว่าทั้ง 2 แขวงรวมกัน จังหวัดพระนครกลางสำคัญที่สุดในการที่เป็นที่ตั้งของกระทรวงต่าง ๆ พระบรมมหาราชวัง มีวัดงาม ๆ และเป็นพระนครเดิม จังหวัดพระนครเหนือสำคัญที่สุดในการที่มีพระที่นั่งงดงาม และวังเจ้านายอยู่มาก

อำเภอชั้นนอก จังหวัดพระนคร

มี 4 อำเภอ คือ :

(1) อำเภอบางซื่อ ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ริมสถานีรถไฟหลวงบางซื่อ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 6 ตำบล มีพลเมืองราว 36,290 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีอาณาเขตต์ต่อจากอำเภอดุสิตขึ้นไปทางทิศเหนือ ท้องที่อำเภอนี้มีพลเมืองน้อย กรมทหารม้า, ทหารปืนใหญ่, ทหารราบ, สื่อสาร, มีโรงงานกรมช่างแสงทหารบก, โรงงานทำเครื่องประกอบเครื่องบินของกรมอากาศยาน, โรงปูนซิเมนท์ และที่ทำน้ำประปาก็อยู่ในอำเภอนี้ ท้องที่อำเภอนี้มีท้องนาทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ มีพลเมืองออกไปทำไร่ผักและสร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้นเสมอ เป็นอำเภอหนึ่งที่ขยายตัวแห่งพระนครให้กว้างขวางออกไปเหมือนกัน

(2) อำเภอบางเขน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ข้างวัดบางเขน ใกล้กับตลาดบางเขน ไปจากพระนครได้โดยทางรถไฟสายเหนือ ลงที่สถานีบางเขน แบ่งท้องที่เป็นตำบล 5 ตำบล มีพลเมืองราว 10,905 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้านอาณาเขตต์ทางทิศใต้ติดต่อกับอำเภอบางซื่อ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี ทิศตะวันออกติดต่อจังหวัดมีนบุรี และทางทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดธัญญะบุรี มณฑลอยุธยา

ท้องที่อำเภอนี้เป็นท้องนาทั้งสิ้น เว้นไว้แต่ริมทางรถไฟมีไร่ผักอยู่บ้าง ที่ดอนเมืองเป็นที่ตั้งกรมอากาศยานทหารบก มีสนามบินที่ดี มีโรงเรียนฝึกหัดการบินเบื้องต้น มีโรงไว้เครื่องบิน ที่หลักสี่มีสถานีวิทยุของกรมไปรษณีย์โทรเลขขนาดใหญ่เปิดใช้เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2473 ที่บางเขนมีตลาดขายของและเป็นตลาดขายเข้า มีของเบ็ดเตล็ดต่างๆ ขายรูปร่างตลาดคล้าย ๆ ตลาดบางบัวทอง หรือตลาดจังหวัดมีนบุรี หรือตลาดดอนเมือง ที่ปากคลองบางเขนที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตลาดผลไม้ที่มาจากสวนเรียกว่า ตำบลตลาดแก้ว

(3) อำเภอบางกะปิ ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองแสนแสบฝั่งเหนือ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 9 ตำบล มีพลเมืองราว 18,664 คน มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน อาณาเขตต์อยู่ทางภาคตะวันออกแห่งพระนคร มีเขตต์ติดต่อกับจังหวัดมีนบุรี ท้องที่อำเภอนี้เป็นที่นาทั้งสิ้น จากพระนครจะไปอำเภอนี้ได้โดยทางเรือ ไปลงเรือที่เชิงสะพานเฉลิมโลก มีเรือเดิรไปมาประจำอยู่เสมอ

(4) อำเภอพระโขนง ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ข้างวัดสะพานริมสถานีรถไฟพระโขนง ริมทางรถไฟสายปากน้ำ แบ่งท้องที่เป็น 11 ตำบล มีพลเมืองราว 28,042 คน ท้องที่เป็นที่สวนตอนริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้เป็นที่นาทั้งสิ้นอยู่พระนครจะไปอำเภอนี้ ไปได้โดยรถไฟสายปากน้ำ

อำเภอชั้นใน จังหวัดธนบุรี (พลเมืองสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2472 มีราว 177,989 คน)

(ก) อำเภอชั้นใน 6 อำเภอ คือ :

(1) อำเภอบางพลัด ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดอาวุธวิกสิตาราม ปากคลองบางพลัด ตรงข้ามกับโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน แบ่งท้องที่เป็นตำบล 18 ตำบล มีพลเมืองราว 15,238 คน อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือ อาณาเขตต์ตามคลองบางกอกน้อยฝั่งเหนือ ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือจดอำเภอตลิ่งชัน และอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตะวันออกตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอนี้ไม่มีถนน มีทางหลวงเล็กๆ ตัดเลาะไปตามบ้านและสวนผลไม้ต่างๆ  ส่วนหนึ่งของบางบำหรุซึ่งขึ้นชื่อว่ามีสัปปะรดมาก และบางยี่ขันขึ้นชื่อเรื่องเงาะอยู่ในท้องที่อำเภอนี้ สถานีต้นทางรถไฟสายบางบัวทองก็ตั้งต้นจากริมวัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม (บน) ในอำเภอนี้เหมือนกัน ท้องที่หาที่ว่างไม่ค่อยมี เต็มไปด้วยสวนผลไม้ทั้งนั้น

(2) อำเภอบางกอกน้อย ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งที่วัดสุวรรณาราม (วัดทอง) ริมคลองบางกอกน้อยตำบลตลาดบ้านบุอาณาเขตต์ทางทิศเหนือตามคลองบางกอกน้อย ทิศตะวันตกจดอำเภอตลิ่งชัน ตะวันออกจดแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศใต้จดอำเภอบางกอกใหญ่ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 19 ตำบล มีพลเมืองราว 20,769 คน ในอำเภอนี้มีแนวถนน (แต่รถเดิรไม่ได้) ตั้งแต่คลองมอญหลังกระทรวงทหารเรือตลอดมาจนผ่านหลังโรงพยาบาลศิริราช ริมถนนนี้มีตลาดสำคัญเรียกว่า ตลาดบ้านขมิ้น

ท้องที่อำเภอนี้มีสวนและที่ว่างเปล่ามาก และเป็นอำเภอที่มีสถานที่สำคัญ เช่น เป็นที่ตั้งกระทรวงทหารเรือ , โรงพยาบาลศิริราช และสถานีรถไฟบางกอกน้อย ตำบลบางขุนนนท์เป็นที่กรมเพาะปลูกสร้างตัวอย่างสวน มีพรรณรุกข์ชาติต่าง ๆ ปลูกทดลองไว้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร และนอกจากนี้ตำบลนี้ขึ้นชื่อในการที่มีทุเรียนชนิดดีด้วย อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือเหมือนกัน

(3) อำเภอบางกอกใหญ่ ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งที่ข้างหน้าวัดหงสรัตนาราม ริมคลองบางกอกใหญ่ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 15 ตำบล มีพลเมืองราว 13,730 คน อาณาเขตต์ทางคลองบางกอกใหญ่ขึ้นไปทางเหนือจดแนวคลองมอญ บรรจบคลองบางกอกน้อยที่คลองเสาบางเสาธงกับคลองบางเชือกหนังติดกับแม่น้ำเดิม ท้องที่อำเภอนี้ไม่มีถนนดีเลย มีแต่ทางเดิรเท่านั้น มีสวนและที่ว่างอยู่มาก มีวัดและสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระราชวังเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งบัดนี้เป็นโรงเรียนนายทหารเรือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และพระพุทธปรางค์ , ป้อมวิชัยประสิทธิ์ปากคลองบางกอกใหญ่ เป็นต้น ที่ตำบลเจริญพาศน์มีสะพานคอนกรีตข้ามคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมทางคมนาคมทางบกระหว่างจังหวัดธนบุรีเหนือกับจังหวัดธนบุรีใต้ ท้องที่อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือ

(4) อำเภอคลองสาน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดทองนพคุณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวัดปทุมคงคาทางฝั่งพระนคร แบ่งท้องที่เป็นตำบลทั้งสิ้น 17 ตำบล มีพลเมืองราว 24,445 คน อาณาเขตต์ทิศเหนือนับจากปากคลองบางกอกใหญ่จนปากคลองบางไส้ไก่ลงมาทางใต้ ทิศตะวันตกตามแนวคลองบางไส้ไก่วกมาทิศใต้ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตะวันออกติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา

ภูมิประเทศอำเภอนี้ตอนเหนือมีบ้านขุนนางข้าราชการงดงามหลายแห่ง เมื่อการตัดถนนในจังหวัดธนบุรีเสร็จแล้ว ท้องที่อำเภอนี้จะเจริญมากกว่าอำเภออื่น ๆ เพราะสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ที่สร้างเชื่อมพระนครกับธนบุรีก็สร้างในท้องที่อำเภอนี้ นอกจากนี้ยังมีวัดและสิ่งสำคัญหลายอย่าง เช่น วัดกัลยาณมิตร, วัดพิชัยญาติ , วัดประยูรวงศ์ , โบสถ์ฝรั่ง (กุฎีจีน) และเสาธงสัญญาณที่ป้อมป้องปัจจามิตร์ที่ปากคลองสาน โรงพยาบาลโรคจิตร์ที่ตำบลปากคลองสานก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ ตอนใต้หลังบ้านต่อจากลำแม่น้ำออกไปมีสวนผลไม้ต่างๆ ริมแม่น้ำ มีบ้านงามๆ โรงเลื่อยโรงสีเป็นอันมาก มีเรือสินค้ามาจอดบรรทุกเข้าสารอยู่เสมอ สถานีต้นทางของรถไฟสายแม่กลองของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ข้างปากคลองสานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับคลองผดุงกรุงเกษม หรือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ก็ตั้งอยู่ในอำเภอนี้ อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้

 (5) อำเภอบุคคโล ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หลังวัดบุคคโล ตำบลบุคคโล แบ่งท้องที่เป็นตำบล 10 ตำบล มีพลเมืองราว 10,475 คน อาณาเขตต์ต่ออำเภอคลองสานลงไปทางใต้จนจดคลองบางปะแก้ว จดเขตต์จังหวัดพระประแดง ท้องที่อำเภอนี้มีสวนทั่วไปไม่มีถนน มีทางเดิรไปตามขนัดสวนต่อเนื่องจากอำเภอคลองสาน ตอนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีโรงสีไฟใหญ่ ๆ หลายโรง และมีท่าเรือสำหรับเรือสินค้าที่มาบรรทุกข้าวสารจอด อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้

(6) อำเภอบางยี่เรือ ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือเหนือ) ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ แบ่งท้องที่เป็นตำบล 5 ตำบล มีพลเมืองราว 15,936 คน อาณาเขตต์ต่ออำเภอคลองสานไปทางตะวันตกตามแนวคลองบางไส้ไก่ ทางใต้จดกับอาณาเขตต์อำเภอบางขุนเทียน ทิศตะวันตกจดคลองด่าน ทิศเหนือจดคลองบางกอกใหญ่ ท้องที่อำเภอนี้ ตอนริมคลองบางกอกใหญ่มีโรงสีและตลาดสำคัญคือตลาดพลู นอกจากนี้มีสวนผลไม้ต่างๆ และมีของสวนที่สำคัญขึ้นชื่อคือพลู ในท้องที่อำเภอนี้และอำเภอบางขุนเทียนมีการปลูกพลูตามร่องสวนมาก ตลาดพลูจึงเป็นศูนย์กลางของพลู อำเภอนี้อยู่ในแขวงจังหวัดธนบุรีใต้

อำเภอชั้นนอก จังหวัดธนบุรี 

(ข) อำเภอชั้นนอก 3 อำเภอ คือ :

(1) อำเภอตลิ่งชัน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ริมคลองตลิ่งชัน (แม่น้ำเจ้าพระยาเดิม) ข้ามทางรถไฟสายบางกอกน้อย แบ่งท้องที่เป็นตำบล 8 ตำบล มีพลเมืองราว 14,671 คน อาณาเขตต์ของอำเภอนี้คือ อาณาเขตต์ต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภอนี้คือ อาณาเขตต์ต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภอบางกอกน้อยและอำเภอบางพลัด ตอนริมคลองบางกอกน้อย ริมคลองตลิ่งชัน และริมคลองบางระมาด (ตอนจะออกคลองบางกรวยและแม่น้ำอ้อม) มีสวนผลไม้ ส่วนหนึ่งของบางบำหรุซึ่งขึ้นชื่อว่ามีสัปปะรดดีก็มาขึ้นอยู่ในอำเภอนี้ ตอนนอก ๆ ออกไปเป็นท้องนาและไร่ผักจนจดจังหวัดนครปฐมมณฑลนครชัยศรี ริมทางรถไฟสายใต้มีไร่ผักซึ่งพวกจีนไปทำอยู่มาก ในอำเภอนี้มีสถานีชุมทางหรือทางแยกของรถไฟสายใต้มาข้ามสะพานพระราม 6 เข้ามายังสถานีกรุงเทพฯ

(2) อำเภอภาษีเจริญและกิ่งหนองแขม ที่ว่าการอำเภอตั้งที่วัดรางบัวริมคลองภาษีเจริญตอนใน อยู่จังหวัดพระนครจะไปยังที่ว่าการอำเภอนี้ คือลงเรือยนตร์ซึ่งเดิรในคลองบางกอกใหญ่ไปขึ้นที่ประตูน้ำภาษีเจริญ มีทางเดิรไปยังวัดรางบัวก็ถึงที่ว่าการอำเภอทีเดียว และยังมีกิ่งอำเภอหนองแขมขึ้นอำเภอภาษีเจริญอีกกิ่งหนึ่ง ตั้งที่ว่าการกิ่งที่ริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือตำบลหนองแขม รวมตำบลทั้งอำเภอมี 13 ตำบล มีพลเมืองราว 32,139 คน อาณาเขตต์ทางทิศเหนือต่อกับอำเภอตลิ่งชัน มีคลองบางเชือกหนังเป็นอาณาเขตต์ ทางทิศใต้และทิศตะวันตกจดจังหวัดสมุทรสาคร มณฑลนครชัยศรี ทิศตะวันออกจดอำเภอบางยี่เรือและอำเภอบางขุนเทียน ท้องที่อำเภอนี้ตามคลองตอนในมีสวนผลไม้ต่าง ๆ มาก ตอนนอกเป็นท้องนาทั้งสิ้น

 (3) อำเภอบางขุนเทียน ที่ว่าการอำเภอตั้งที่ข้างวัดราชโอรส (วัดจอมทอง) ริมทางรถไฟสายท่าจีน หรือริมคลองด่านตอนจะออกสามแยกคลองด่าน คลองดาวคะนองและคลองมหาชัยต่อกัน อยู่จังหวัดพระนครจะไปที่ว่าการอำเภอนี้ ต้องขึ้นรถไฟสายท่าจีนที่ปากคลองสาน หรือไปเรือในคลองบางกอกใหญ่ขึ้นรถไฟที่ตลาดพลูไปลงที่สถานีวัดจอมทองก็ถึงที่ว่าการอำเภอทีเดียว แบ่งท้องที่เป็นตำบล 13 ตำบล มีพลเมืองราว 26,586 คน อาณาเขตต์อำเภอนี้อยู่ทางใต้ของอำเภอบางยี่เรือและอำเภอภาษีเจริญ ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอคลองสานและอำเภอบุคคโล ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่มีสวนมากและมีผลไม้ที่ขึ้นชื่อคือ ส้มเขียวหวานที่ตำบลบางมดก็อยู่ในท้องที่อำเภอนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก ถัด พรหมมาณพ. ภูมิศาสตร์มณฑลกรุงเทพฯ : มีแผนที่ประกอบ กล่าวถึงกรุงเทพพระมหานคร, โรงพิมพ์ธรรมพิทยาคาม, พิมพ์ครั้งแรก 2474.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 เมษายน 2565