“กรุงเทพฯ-ธนบุรี” เคยเป็น “ทะเลตม” มาก่อน จริงหรือ?

เรือ แล่น บ้านเมือง กรุงเทพ ธนบุรี ที่อดีตเคยเป็น ทะเลตม พระเจ้าตาก
จิตรกรรมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ในอดีต “กรุงเทพฯ” รวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง “ธนบุรี” เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่หลายคนน่าจะไม่รู้ว่า เวลาต่อมาพื้นที่เหล่านั้นได้กลายเป็น “ทะเลตม”

ข้อมูลเกี่ยวกับจุดกำเนิดของธนบุรีกับทะเลตม ปรากฏอยู่ในหนังสือ “โบราณคดีกรุงธนบุรี” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ นักโบราณคดีเมือง ที่ได้มาตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยอ้างอิงจากความรู้ทางธรณีสันฐานที่ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ตรวจสอบได้ว่า พื้นที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี ตั้งอยู่บน ทะเลตม จริง ๆ 

Advertisement

ว่าแต่ทะเลตมคืออะไร? 

ในหนังสือกล่าวว่า “ทะเลตม คือ ดินโคลนของตะกอนปากแม่น้ำที่เกิดจากการทับถมบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งแต่เดิม ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเคยเป็นทะเลมาก่อน ก่อนที่น้ำทะเลจะถอยร่นจนเกิดเป็นแผ่นดินหรือทะเลตม

ทะเลตมนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ตามธรรมชาติ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก มีป่าชายเลนอยู่สุดขอบชายทะโลโบราณ ทะเลตมจึงไม่มีหาดทรายแต่เป็นดินตม”

ทำไมทะเลตมถึงกลายมาเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้? 

ว่ากันว่า ทะเลตมเริ่มกลายมาเป็นพื้นที่ที่ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย คือช่วง 800 ปีเป็นต้นมา โดยผู้คนต่างต้องการเส้นทางออกทะเล จะเห็นได้จากการตั้งชุมชนโบราณทวารวดีหลายแห่งบริเวณปากทางออกทะเล และหากมองในแง่ธรณีสัณฐาน ก็จะพบว่าในช่วงนั้น ทะเลบริเวณอ่าวไทยได้ถอยร่นเข้าไปใกล้เคียงกับแผ่นดินในปัจจุบัน นำมาสู่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 

ผู้คนไม่ได้หลั่งไหลกันมาอย่างคับคั่ง แต่เป็นการค่อย ๆ อพยพมาอยู่อาศัย เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ยังไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยเท่าที่ควร แหล่งน้ำยังเค็มและกร่อย ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไปคนก็อพยพเข้ามามากขึ้น จนก่อตัวกันเป็นชุมชน เป็นเมือง และพัฒนากลายมาเป็นเมืองใหญ่ อย่าง กรุงศรีอยุธยา เมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าทะเลตมเป็นจุดกำเนิดก่อนเกิดเมืองเหล่านี้?

หลังจากที่เกิดเมืองสำคัญมากมาย ลากยาวจนมาถึง “กรุงเทพฯ” และ “ธนบุรี” ในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มตามหาต้นตอของผืนแผ่นดินว่าแต่เดิมเคยเป็นอะไรมาก่อน ก่อนจะกลายมาเป็นเมืองอย่างที่เราอาศัยในปัจจุบัน ประจวบเหมาะกับเทคโนโลยีและการค้นพบหลักฐานที่กว้างไกลมากขึ้น จึงทำให้สามารถนำความรู้ด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์โบราณ และโบราณคดี มาใช้ค้นหาได้

โดยได้มีการนำดินจากหลุมขุดค้นบริเวณอดีตปาร์คสามเสน สวนสาธารณะเอกชนที่สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 และบริเวณใกล้กับบ้านพระสรรพการหิรัญกิจ ไปตรวจสอบด้วยวิธีวิเคราะห์ละอองเรณู (pollen analysis) ซึ่งพบละอองเรณูของพืชพันธุ์ป่าชายเลนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปรงทะเล ลำเท็ง โกงกาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเดิมพื้นที่นี้เป็นทะเลและป่าชายเลนมาก่อน 

นอกจากนี้ยังปรากฏว่าหลักฐานว่าธนบุรีนั้นเคยเป็นทะเลตมมาก่อนจริง ๆ จากภาพถ่ายเก่าของ วิลเลียมส์ ฮันท์ ที่ถ่ายภาพมาถึงฝั่งธนบุรี ใน พ.ศ. 2489 ที่เห็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นดอนมีบ้านเรือนเสาสูง ห่างออกไปเป็นพื้นที่ท้องนาที่มีน้ำท่วมเจิ่งนอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2567