ชื่อ “อู่ตะเภา” มาจากไหน? สู่จุดกำเนิด “สนามบินอู่ตะเภา” ฐานทัพอเมริกาใช้บอมบ์อินโดจีน

สนามบิน อู่ตะเภา เครื่องบิน

อู่ตะเภา คงเป็นชื่อที่คุ้นหูและเป็นที่รู้จักกันในฐานะสนามบินที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย แต่รู้หรือไม่ว่า “อู่ตะเภา” มีชื่อมาจากอะไร? และ “สนามบินอู่ตะเภา” มีความสำคัญและสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาอย่างไร?

อู่ตะเภามาจากอู่สำเภา?

คำว่า “อู่ตะเภา” มีผู้สันนิษฐานว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า “อู่สำเภา” ซึ่งหากพิจารณาจากที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภาซึ่งอยู่ติดกับทะเล ข้อสันนิษฐานนี้อาจเป็นจริง

ทว่า อู่ตะเภาไม่ได้มีอยู่แค่ในจังหวัดชลบุรี-ระยอง โดยปรากฏชื่ออู่ตะเภาที่เป็นชื่อหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 12 แห่ง บางแห่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ไม่น่าจะเป็น “อู่สำเภา” ได้ เช่น ชื่อหมู่บ้านอู่ตะเภา อำเภอเมือง อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี หรือชื่อตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท 

ดังนั้นคำว่าอู่ตะเภาจึงไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กับอู่เรือติดทะเลหรือเรือสำเภา แต่อาจมีอีกสิ่งหนึ่งที่สัมพันธ์กันจนกลายเป็นชื่ออู่ตะเภา

อ้างอิงจากบทความเรื่อง “อู่ตะเภา ไม่ใช่สนามบิน?” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558 ระบุถึงข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งว่า คำว่า อู่ตะเภามาจากชื่อเรียกพืชในกลุ่มเฟิร์นชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดีในนาม “หญ้าลิเภา”

อู่ตะเภา มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า “ลิเภาใหญ่” ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า String fern ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lygodium salicifolium C. Presl และชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ มากมาย เช่น กระฉอด (ภาคตะวันออก), กูดคือ (น่าน), หญ้ายายเภา (จันทบุรี), หมอยสาวแก่ (ภาคอีสาน) และ หมอยแม่ม่าย (นครราชสีมา) เป็นต้น

ทั้งนี้ หญ้าลิเภามีประโยชน์อย่างมากเพราะสามารถใช้เป็นสมุนไพรได้ เช่น ใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย นำใบมาขยี้ใช้พอกแผลช่วยห้ามเลือดและช่วยให้แผลแห้งเร็ว ราก ต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเหลือง รักษาโรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว เถา ต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาแก้เลือดพิการ แก้ระดูมากะปริดกะปรอย เป็นต้น

คำว่าอู่ตะเภาจึงอาจมามาจากชื่อพืชในกลุ่มหญ้าลิเภา ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูง และมีแพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่จนเป็นที่มาขอชื่อ “สนามบินอู่ตะเภา” มากกว่าชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “อู่สำเภา”

กำเนิดสนามบินอู่ตะเภา

การก่อตั้ง “สนามบินอู่ตะเภา” มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 กองทัพเรือไทยได้ใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ก่อสร้าสนามบินแห่งใหม่ของกองทัพเรือ มีทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร ต่อมา พ.ศ. 2507 สงครามเวียดนามได้อุบัติขึ้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำอินโดจีน ทั้งในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ดังนั้น สหรัฐอเมริการผู้นำฝ่ายโลกเสรีจึงใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ลงมติอนุมัติให้กองทัพสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเป็นฐานทัพในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ การก่อสร้างใช้งบประมาณและการควบคุมงานโดยสหรัฐอเมริกา และเพียง 1 ปี สนามบินอู่ตะเภาจึงสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ และในเวลาเดียวกันนั้น ทหารช่างสหรัฐอเมริกาที่เดินทางเข้ามาในไทย ก็ได้ปรับปรุงสนามบินอื่นๆ เพื่อใช้สำหรับอากาศยานทางทหาร เช่น สนามบินตาคลี สนามบินนครพนม และสนามบินอุดรธานี เป็นต้น

ในเวลานี้สนามบินอู่ตะเภาได้กลายเป็นสนามบินที่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดทรงอานุภาพที่สุดในโลก คือเครื่องบิน B-52

และเมื่อกองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภาอย่างเต็มพิกัด ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคมของชาวอู่ตะเภาเปลี่ยนไปอย่างมาก ร้านค้า โรงแรม สถานบันเทิง แหล่งเริงรมย์ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

บทความเรื่อง “ภาพเก่าเล่าตำนาน : ฝูงบินมฤตยู…เคยมาอยู่…ณ อู่ตะเภา” โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ในมติชนออนไลน์ ระบุว่า สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้สนามบินอู่ตะเภา เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2509 ถึง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2519 สนามบินอู่ตะเภามีเครื่องบินทิ้งระเบิด เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ เครื่องบินถ่ายภาพทางอากาศ และเครื่องบินชนิดอื่นๆ อีกมากมายเพื่อทำสงครามในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา

นับเป็นเวลากว่า 10 ปีที่สนามบินอู่ตะเภาถูกใช้เป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา และการทิ้งระเบิดกว่าร้อยละ 80 ในเวียดนามเหนือล้วนบินขึ้นมาจากฐานทัพอากาศในประเทศไทย สนามบินอู่ตะเภาก็เป็นหนึ่งในนั้น

พ.ศ. 2519 กองทัพสหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากสนามบินอู่ตะเภา รัฐบาลไทยเห็นว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ มีโครงสร้างพื้นฐานดี และควรนำมาใช้ประโยชน์ จนกระทั่ง วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 จึงมีมติให้กองทัพเรือร่วมกับกรมการบินพลเรือนพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาบางส่วนให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์ ต่อมา พ.ศ. 2539 กองทัพเรือได้จัดตั้งการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดำเนินการในเชิงพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพเรือ

เครื่องบิน B-25 กำลัง ทะยาน ลงจอด สนามบิน อู่ตะเภา
เครื่องบิน B-25 กำลังทะยานลงจอด ณ สนามบินอู่ตะเภา (ภาพจาก USA National Archives)

อู่ตะเภากับนาซ่า

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 สนามบินอู่ตะเภาได้กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่า ได้ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อจอดอากาศยานและขึ้นทำการบินตรวจสภาพอากาศ ทำให้เกิดข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องอธิปไตยกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน

วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555 สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงว่า เป็นเรื่องสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยนาซ่ามีหนังสือขอตั้งฐานปฏิบัติการหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองว่าเรื่องนี้ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การตั้งฐานปฏิบัติการเพียงต้องการถ่ายภาพจากดาวเทียมเพื่อตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในภูมิภาคนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน กษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ได้แถลงตอบโต้ว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาที่เริ่มในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์นั้น เป็นเรื่องศูนย์กลางระหว่างประเทศในการกู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภูมิภาค แต่กรณีนาซ่าขอใช้สนามบินอู่ตะเภาด้วยนั้นเป็นคนละภารกิจกัน แม้จะเสนอเข้ามาสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งแล้ว

วันที่ 11 มิถุนายน ธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารสนเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวแยกเป็น 2 เรื่อง คือ 1. โครงการตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (เอชเอดีอาร์) และ 2. การที่นาซ่าขอใช้สนามบินเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ 

เรื่องแรกเป็นข้อเสนอของฝ่ายไทยสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ส่วนเรื่องที่สองนาซ่าได้แจ้งให้ไทยพิจารณาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งไทยมีการประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว 5 ครั้ง เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับไทยในอนาคต เพื่อพยากรณ์ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นและเตรียมการรับมือ

สนามบิน อู่ตะเภา
สนามบินอู่ตะเภา (ภาพจาก มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2555, สำนักพิมพ์มติชน 2556)

พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านมีความเห็นแย้งโครงการดังกล่าวโดยย้ำว่า การที่นาซ่าขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาเข้าข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และหวั่นเกรงประเทศเพื่อนบ้านจะหวาดระแวงในเรื่องการถูกจารกรรม

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 มีการประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้นาซ่าเข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว และได้ข้อสรุปว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 (2) แต่เพื่อให้เกิดความรอบครอบ จึงเห็นว่าควรให้เปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 179 ในสมัยประชุมสภาสามัญที่จะเปิดวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันรุ่งขึ้น นางคริสติน นีดเลอร์ โฆษกสถานฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยแถลงว่า น่าเสียดายที่นาซ่าไม่สามารถดำเนินการตามโครงการสำรวจอากาศในประเทศไทยได้ เนื่องจากช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับช่วงโอกาสที่เปิดให้มีการสำรวจรูปแบบของอากาศเฉพาะเจาะจงที่มีอยู่เพียง 4-6 สัปดาห์ ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เรื่องนี้จึงเป็นอันยุติไป

ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปีผ่านมาที่ “สนามบินอู่ตะเภา” ได้ถือกำเนิดขึ้น ผ่านการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะฐานทัพและการบริการเชิงพาณิชย์ ในอนาคตสนามบินแห่งนี้ก็จะกลายเป็นสนามบินอันดับที่สามของประเทศ รองจากสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองเพื่อใช้รองรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศูนย์ข้อมูลมติชน. มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2555. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย .”อู่ตะเภา ไม่ใช่สนามบิน?”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2558.

นิพัทธ์ ทองเล็ก. ภาพเก่าเล่าตำนาน : ฝูงบินมฤตยู เคยมาอยู ณ อู่ตะเภา. มติชนออนไลน์ สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1680217. เข้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563.

การท่าอากาศยานอู่ตะเภา. แผนยุทธศาสตร์การท่าอากาศยานอู่ตะเภา พ.ศ. 2560-2562 ฉบับทบทวน (ประจำปี พ.ศ. 2562).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2563