พระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งไม้สักทอง ภายในพระราชวังดุสิต

การพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาพจาก หนังสือ ภาพงามของความหลัง)

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นภายในพระราชวังดุสิต สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง โปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาจากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง

พระที่นั่งวิมานเมฆ มีห้องทั้งหมด 72 ห้อง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบวิกทอเรียน ผังเป็นรูปตัว L ลักษณะเป็นมุมฉาก เป็นอาคารสามชั้น เว้นแต่บริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ที่เรียกว่า “แปดเหลี่ยม” นั้น สร้างเป็นสี่ชั้น ชั้นที่อยู่ติดดินก่ออิฐถือปูน ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นเรือนไม้ทั้งสิ้น

Advertisement

จุดเด่นของพระที่นั่งองค์นี้คือ ส่วนที่เป็นลวดลายฉลุที่จั่วหน้าบัน คอสองและเชิงชาย ที่เรียกว่า ลายขนมปังขิง (Gingerbread) ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมกันมากในสมัยนั้น

สถาปนิกผู้ออกแบบคือ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายกองผู้กำกับการก่อสร้าง คือ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) นายช่างเอกแห่งยุคอีกคนหนึ่ง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่ง เมื่อวันที่ 26-30 มีนาคม 2444 (ศักราชแบบเก่า)

ในการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ โปรดให้รวมการพระราชพิธีจรดกรรบิดกรรไกร (การใช้กรรไกรขริบปอยผมเล็กน้อย เป็นการเริ่มพระราชพิธีโสกันต์และเกศากันต์) พระราชทานหม่อมราชวงศ์ 5 คน คือ หม่อมราชวงศ์หญิงประพันธ์, หม่อมราชวงศ์ชายโป๊ะ, หม่อมราชวงศ์ชายโป๊ย, หม่อมราชวงศ์ชายนัฏฐสฤษดิ์ และหม่อมราชวงศ์หญิงเป้า กับทั้งการขึ้นพระตําหนักสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา รวมสามงานด้วยกัน

ระหว่างงานเฉลิมพระที่นั่ง 5 วันนี้มีการพระราชกุศลพิธีสงฆ์อยู่หลายเวลา ในเวลานั้นผู้ที่เป็นสกลมหาสังฆปรินายก ประธานสงฆ์ทั่วพระราชอาณาเขตคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีทุกเวลา

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ค้นเจอภาพเหตุการณ์ที่พระที่นั่งวิมานเมฆภาพนี้ เข้าใจว่าจะเป็นการเฉลิมพระที่นั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2444 ซึ่งปรากฏพระภิกษุกำลังทรงพระดำเนินลงจากอัฒจันทร์พระที่นั่งองค์แรกสุดคือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เบื้องหลังเห็นพระที่นั่งรูปครึ่งวงกลม ซึ่งชาววังสมัยนั้นเรียกว่า “โป่ง” โดยมีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยอยู่ทั่วบริเวณ

การพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ (ภาพจากหนังสือ ภาพงามของความหลัง)

ในการเฉลิมพระที่นั่งคราวนั้น เวลากลางคืนมีการแสดงถวายทอดพระเนตรด้วย ละครเล่นในปะรำที่ชาลาพระที่นั่ง เป็นละครของเลื่อน ภริยาของหลวงฤทธิ์นายเวร (พุฒ) จัดมาถวายสองคืน คืนสุดท้ายเป็นลิเกของพระยาเพ็ชรปาณี เมื่อรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรแล้วจึงได้พระราชทานรางวัลแก่เจ้าของละครและลิเกทั้งสองราย

 


อ้างอิง :

หนังสือ ประมวลภาพ วังและตำหนัก จัดทำโดย ไตร-สตาร์ พับลิชชิ่ง

หนังสือ ภาพงามของความหลัง เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ (เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, 2558)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2563