“เราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง…” พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 กับการ “เปนคนไทยรู้เสมอฝรั่ง”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะพัฒนากรุงสยามให้มีความเจริญทางกายภาพให้เท่าเทียมกับนานาอารยประเทศตั้งแต่เมื่อครั้งเสด็จประพาสอินเดียแล้ว ดังที่พันตรีเลเดนได้บันทึกไว้เมื่อเสด็จไปยังทัชมาอาลว่า

“พระเจ้าแผ่นดินขณะที่ทรงชื่นชมกับความสมดุลของส่วนสัดและการตกแต่งที่วิจิตร มีผู้ได้ยินพระองค์ทรงรับสั่งว่างบประมาณในการก่อสร้างนั้นน่าจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างถนน สะพาน และขุดคลองมากกว่า” (สหาย 2546, 503) พระราชดำรินี้ได้เกิดขึ้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ดังที่กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงนิพนธ์ลงในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อวันที่  26 ตุลาคม พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) หลังจากเสด็จสวรรคตว่า

สร้างถนนสถลสถานโอฬารตา

มีรถม้ารถรางรถยางยนตร์

มีรถไฟเรือไฟโคมโคมไฟฟ้า

อุดหนุนพาณิชย์เปรื่องประเทืองผล

โรงเลื่อยโรงสีไฟใช้จักร์กล

ห้างร้านกล่นสินค้าหาประชัน

โทรเลขโทรศัพท์ไปรษณีย์

สดวกดีพูดจาเพลาสั้น

(คำกลอนสรรเสริญพระบารมี 2468, 1)

ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะได้ความร่วมมือฝรั่งจากประเทศต่างๆ ในยุโรปดังที่นายและนาง Jottrand ได้จำแนกไว้ว่า

แต่ละกรมกองของการปกครองของสยามอยู่ภายในมือของชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะคิดว่าตนเองเป็นรัฐย่อยๆ ภายในรัฐใหญ่ กองสารวัตรทหารเป็นชาวเดนนิชตำรวจและการคลังชาวอังกฤษ ยุติธรรมชาวเบลเยี่ยม ทหารเรือชาวเดนนิช รถไฟชาวเยอรมัน (Jottrand  1996, 415)

นายและนาง Jottrand ลืมกล่าวถึงงานโยธา ซึ่งชาวอิตาเลียนเป็นผู้ดูแล

อย่างไรก็ตามกรุงสยามยังขาดคนไทยที่จะมาควบคุมฝรั่งเหล่านี้ พระองค์จึงทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ พระราชดำรัสและพระราชหัตถเลขาถึงพระราชโอรสจึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นว่า พระองค์มิได้ทรงนึกถึงอย่างอื่นเลยนอกจากพระราชประสงค์ที่จะให้กรุงสยามเจริญรุ่งเรือง และยังแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และหาหนทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างสุขุมและแยบคาย เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชศรีมา ว่า

“ความเจริญรุ่งเรืองทั้งหลายนี้ ได้เกิดขึ้นเพราะความสังเกตแล้วคิดการประกอบแลเล่าเรียนต่อๆ กันมา อาไศรยความอุส่าห์แลความเพียรเปนที่ตั้งเท่านั้น เขาหาได้เปนอย่างอื่นนอกจากเปนมนุษย์เหมือนเราไม่เราควรจะมีมานะว่าเราก็เปนมนุษย์เช่นเขา ไม่ได้เลวกว่าเขาในการที่เกิดมานั้นเลย แต่เพราะว่าเรามีความรู้น้อยกว่าเขาเท่านั้น จึงได้เห็นเปนผิดกันบ้าง แต่เปนการดีหนักหนาที่เขาไม่ได้ซ่อนเร้นความรู้เขาเลย เราอยากรู้อันใดเราเรียนรู้ได้เหมือนเขาทั้งสิ้น ต้องการอย่างเดียวแต่การอุส่าห์ความเพียรเท่านั้นที่จะให้วิเศษเสมอเขา” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2458, 106-107)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับฝรั่งที่ว่า “การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา” โดยมีพระราชดำรัสว่า “เราทั้งหลายต้องพยายามที่จะเอาเยี่ยงอย่างความดีมาแต่ที่อื่นๆ” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2454, 132) ความดีของฝรั่งนั้นพระราชทานไว้ว่า “เปนฝักฝ่ายข้างความเจริญของยุโรป คือความรู้แลความคิดทั้งความเพียรซึ่งประกอบโลกธาตุให้เป็นผลดีขึ้น… ความรู้ในประเทศยุโรปไม่ใช่แต่เวลากำลังที่เดินขึ้นสู่ความจำเริญ มันกำลังเดินโดดโลดโผนซึ่งจะเดินตามยาก นี่เปนส่วนข้างฝ่ายดีของประเทศยุโรป” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. 126, 4 : 643-644)

ในขณะเดียวกันเราจะต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนไทยด้วยดังที่มีพระราชดำรัสว่า “เราทั้งหลายไม่พึงควรเฉภาะแต่ที่จะรักษา ยังควรทำให้เจริญขึ้นในสิ่งอันดี แลสิ่งที่เคารพนับถือว่าเป็นอาการกิริยาแลธรรมเนียมแห่งประเทศเราด้วย” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2458, 132)

ทรงตักเตือนนักเรียนไทยในต่างประเทศว่า “ให้พึงนึกในใจไว้ว่าเราไม่ได้มาเรียนจะเปนฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” (จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว2458, 138)

การ “เปนคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” จึงเป็นสิ่งที่ชาวไทยทุกคนควรใส่ใจเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยทั้งปวง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ปกิณกะในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม” โดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561