“ถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องอ่านจารึกให้ได้” : ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร

ภาพถ่าย ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร
ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร (ภาพจาก มติชนออนไลน์ / สุรินทร์ มุขศรี)

วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2542 เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 80 ของ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร บรรดาลูกศิษย์จากหลายสถาบันจึงร่วมกันจัดงานแสดงมุทิตาจิต โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ ห้องประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2542 ได้นำบทปาฐกถาพิเศษของ ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร มาเผยแพร่ ที่ท่านได้เล่าย้อนเรื่องราวตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน และวัยเกษียณ ดังนั้น เพื่อเป็นการอุทิศและไว้อาลัยแก่ ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ที่ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ศิลปวัฒนธรรมจึงได้นำบทปาฐกถาพิเศษมาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง เป็นการระลึกถึงคุณูปการของ “มหาบัณฑิต 5 แผ่นดิน” 


วินัยดี เรียนเด่น ไม่เป็นกีฬา

ชีวิตผมดีเด่นตรงที่เรียนหนังสือเก่ง เมื่อเรียนชั้นประถมมีพี่น้องเรียนอยู่ 3 คน ผมเป็นคนที่ 3 ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่พอถึงประถม 3 ภาคเรียนสุดท้าย เขาสอบได้ว่า คนหนึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ไม่ใช่พี่น้องท้องเดียวกัน ผมจึงต้องเสียค่าเล่าเรียน 3 บาท ผมสอบประถม 3 ได้ภายในอายุ 9 ปีเต็ม จึงได้ทุนเล่าเรียนจนจบมัธยม 8 ทั้งนี้จะต้องไม่สอบตกเลย

ผมมาเรียนซ้ำชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เพื่อ สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง จึงต้องเสียค่าเล่าเรียน 60 บาท สมัยนั้นใครเรียนเก่งจะต้องเรียนมัธยม 8 สองปี ใครไม่เก่งจะเรียนเพียงปีเดียว เพราะคนจะชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ต่อเมื่อไม่เคยสอบชั้นมัธยม 8 มาก่อน คนเรียนเก่งจึงต้องซุ่มเรียนซ้ำชั้นกันทุกคน

ผมได้ทุน ก.พ. ไปเรียนปริญญาตรีทางเกษตรวิศวกรรมที่ฟิลิปปินส์ กลับมาทํางาน 12 ปี แล้วได้ทุน ก.พ. ไปเรียนจบปริญญาโทและเอกทางวิชาสถิติและวิชาขยายพันธุ์พืชที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ผมเป็นหนี้ตาสีตาสาเรื่องทุนเล่าเรียน จึงไม่เคยคิดจะหนีไปรับเงินเดือนสูง ๆ ที่อื่น และยังสอนหนังสือใช้หนี้ตาสีตาสามาจนทุกวันนี้

เมื่ออยู่ชั้นประถมได้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 2 สตางค์ พอซื้อขนมจีนและส้มตําได้อย่างละจาน สมัยเรียนมัธยม 8 สวนกุหลาบได้ค่าเบี้ยเลี้ยง 6 สตางค์ เป็นค่าก๋วยเตี๋ยว 5 สตางค์ และค่าน้ำลําไยใส่น้ำแข็งสตางค์หนึ่ง

ผมเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนสตรีประจําจังหวัดแพร่ นารีรัตน์ ความประพฤติเรียบร้อย จนครูใหญ่แนะนําให้นักเรียนสตรีทั้งหลายเอาอย่างเด็กชาย ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งเรียบร้อยที่สุดในโรงเรียน นักเรียนสตรีบางคนชอบปีนต้นไม้ ส่วนผมถูกผู้ปกครองกวดขันมาก เดินกระดานจนเกิดเสียงดังก็ไม่ได้ เดินแกว่งแขนกว่าเดียวแขนจะหลุด เลยเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้

ผมข้ามชั้นจากมัธยม 2 ไปมัธยม 4 จากมัธยม 4 ไปมัธยม 6 ตอนนั้นผมภูมิใจมาก แต่มาตอนหลังผมไม่สนับสนุนให้ใครเรียนกระโดดข้ามชั้น เพราะจะขาดความรู้วิชาพื้นฐานบางวิชาไป เช่นผมไม่ได้เรียน แผนที่ประเทศไทยชั้นมัธยม 3 ตอนสอบวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ชั้นมัธยม 6 ผมสอบได้เพียง 8 คะแนน จากคะแนน เต็ม 60 คะแนน ปัจจุบันผมมาเป็นรองประธานคณะกรรมการชําระประวัติศาสตร์ ไทยและราชบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ได้อย่างไรไม่ทราบ

ผมให้กําลังใจนักศึกษาว่า ในเมืองไทยนี้ใครอยากจะออกไปอยู่แนวหน้าในสาขาวิชาใดก็ได้ ถ้าสนใจศึกษาและค้นคว้าอย่างจริงจัง เพราะคนไทยไม่ชอบทําอะไรจริงจังกันเป็นส่วนใหญ่

ผมมีนิสัยไม่ยอมเห็นใครผิด พอครูเขียนเรื่องใดผิดลงบนกระดานดํา ผมจะต้องลุกขึ้นท้วงตลอดเวลา จนวันหนึ่ง อาจารย์ใหญ่มาสอนภาษาไทยแทนครูที่ขาด ท่านบอกว่าชูชกคงมีลักษณะบุรุษโทษ 18 ประการอยู่เพียงบางลักษณะเท่านั้น ผมเปิดตํารายันว่าชูชกมีลักษณะบุรุษโทษครบ ทั้ง 18 ประการ ผมเคารพอาจารย์ใหญ่ผู้นี้มาก เห็นหน้าท่านซีด ตั้งแต่นั้นมา ผมไม่กล้าทักท้วงครูบาอาจารย์อีกต่อไป

ผมเรียนหนังสืออย่างเดียว การกีฬาไม่เอาไหนเลย สาเหตุหนึ่งเพราะถึงปีที่เรียนบาร์เดี่ยว ผมกระโดดเท่าใดก็ไม่สูงพอที่จะจับบาร์ได้

นักเรียนห้อง 8 ก สวนกุหลาบสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ 17 ปีติดต่อกัน แน่ละ คนสอบได้ที่หนึ่งโรงเรียนต่าง ๆ พากันลาออกมาเรียนที่สวนกุหลาบกันหมด นอกจากนั้น นักเรียนมัธยม 8 ก สวนกุหลาบแข่งขันกันเรียนมาก อาจารย์ต้องขอร้องให้ไปเที่ยวเตร่เสียบ้าง อย่าเรียนให้คร่ำเคร่งจนเกินไป

พอปิดเรียนภาคต้น 3 วัน ผมไปเรียนโหราศาสตร์กับพระที่วัดสุทัศน์ วิชาอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ ผมอยากจะเรียนทั้งนั้น พอรู้เรื่องแล้วก็หมดสนุก อยากเรียนเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องใหม่ต่อไปอีก เช่น หนังสือพิมพ์สมัยนั้นลงเรื่องเครื่องรับวิทยุแบบเครื่องแร่ เรื่องวิชาดนตรีสากล ผมเรียนจากหนังสือพิมพ์จนพอไล่เสียงอ่านโน้ตได้ตะกุกตะกัก เพราะมีความรู้ทางดนตรีไทย เป็นนักร้องส่งเพลง 3 ชั้นดนตรีไทยประจําโรงเรียนอยู่แล้ว เป็นหัวหน้าลูกคู่ มีหน้าที่บรรจุเพลงละครร้องประจําโรงเรียน เล่นซอด้วงและออร์แกนเป็นเพลงสองชั้นได้ แต่ไม่อดทนพอที่จะหัดเล่นเพลงสามชั้น

สอบตก

จบมัธยม 8 ผมไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ปีละ 20 บาท จึงคิดจะไปเป็นครูประชาบาล เงินเดือน 8 บาท เพื่อเก็บเงินมาเรียนธรรมศาสตร์ บังเอิญผมสอบชิงทุน ก.พ. ได้ไปเรียนวิชาเกษตรที่ฟิลิปปินส์

ปีนั้นผมเป็นคนเดียวที่สอบตกสัมภาษณ์ของ ก.พ. เพราะคุณหลวงวิจิตร วาทการถามว่า ทําไมถึงอยากไปเรียนที่อังกฤษ ผมตอบว่ารู้ภาษาอังกฤษแล้ว ไม่อยากเรียนภาษาอื่นให้ปวดหัวเปล่า ๆ ที่ตอบไปอย่างนั้นเพราะรู้ว่าคุณหลวงวิจิตรวาทการ รู้ถึง 7 ภาษา ท่านเลยให้ผมตกสัมภาษณ์ แต่เมื่อรวมกับคะแนนข้อเขียนยังผ่านไปได้

ผมกลับจากฟิลิปปินส์ มาเรียนธรรมศาสตร์ทางไปรษณีย์จนสอบได้ธรรมศาสตรบัณฑิต แล้วเรียนต่อปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ สอบตกอยู่วิชาเดียวคือเศรษฐศาสตร์พิสดาร ท่านอาจารย์ออกข้อสอบว่า ท่านเห็นอย่างไรกับการแช่เย็นธนบัตรใบละพัน สมัยนั้นเงินเฟ้อ รัฐบาลได้แช่เย็นธนบัตรใบละพันให้ใช้ไม่ได้ชั่วคราวเป็นเวลาหนึ่งปี

ตามข้อเสนอของท่านอาจารย์ผู้นั้น ผมตอบว่ามีทั้งคุณและโทษ ตัวอย่างเรื่องโทษได้แก่ ร้านทำหมวกมีธนบัตรใบละพันอยู่เก้าใบ จะจ่ายเงินเดือนลูกจ้างก็จ่ายไม่ได้ โรงทำหมวกจึงต้องปิดไป ผมจึงสอบตก

อีกปีหนึ่งอาจารย์ผู้เดียวกันสอนว่า ราคาทองในเมืองไทยถูกกำหนดโดยพ่อค้าเพียงสองสามคน ทองเป็นเหมือนสินค้าอย่างหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับค่าของเงินบาท พอดีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สอนว่า มีอาจารย์ธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งสอนว่า ราคาทองไม่เกี่ยวกับค่าเงินบาทนั้น ท่านว่าให้ฟังหูไว้หู เพราะแม้แต่ประเทศอังกฤษ พอทองขึ้นราคา รัฐมนตรีคลังต้องวิ่งพล่านทีเดียว ผมเอาคำตอบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปตอบ จึงสอบตกอีก

อีกครั้งหนึ่ง ผมสอบสัมภาษณ์วิชาการทหาร คำถามว่า เห็นอย่างไรที่ทุกคนต้องเป็นทหาร ผมตอบว่ามีส่วนดีและส่วนเสีย คือส่วนดี ฝึกหัดให้คนแข็งแรงขึ้นและมีระเบียบวินัย ที่ไม่เคยเรียนหนังสือก็จะได้เรียนจนอ่านออกเขียนได้ ส่วนข้อเสียคือคนแต่ละคนมีความสามารถที่จะช่วยชาติได้ในหน้าที่ต่าง ๆ กัน

ท่านอาจารย์ติงว่าทุกคนไม่ว่าเจ้าว่าไพร่ต้องเป็นทหาร ดังนี้ไม่เป็นธรรมดีหรอกหรือ ผมยืนยันว่าบางคนอาจช่วยชาติในหน้าที่อื่นได้ดีกว่าเป็นทหาร ผมจึงสอบตกอีก

ทั้งหมดนี้เพราะผมเป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เงินเดือนสูงกว่าปริญญาโทอยู่แล้ว สอบได้หรือตกไม่สำคัญสำหรับผม

ภาพถ่าย ประเสริฐ ณ นคร ฉากหลังเป็น อักขระ บน ศิลาจารึก
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร

โรคามาเยือน

เมื่อผมอายุ 3 ขวบ เดินเตาะแตะลงไปจมน้ำในสระ บังเอิญไปเกาะเสาหลักมีคนเห็นหลักไหว เลยไปช่วยไว้ทัน เมื่ออายุ 10 ขวบ ผมเป็นไข้จับสั่น ตัวแข็งไปแล้วครึ่งซีก หมอจบอนุปริญญา แพทย์แผนปัจจุบันหมดปัญญารักษา แต่นายแพทย์แผนโบราณใช้ดีงูเหน็บทวาร ทำให้ขับถ่ายได้ เลยหายตัวแข็ง ถ้าไม่มีแพทย์แผนโบราณช่วยชีวิตไว้ ผมคงไม่ได้มายืนอยู่ที่นี่

เมื่อเรียนที่คอร์เนล ผมเป็นวัณโรคในกระดูก กระดูกสันหลังข้อที่ 5 กร่อนไปครึ่งซีก ต้องผ่าตัดเอากระดูกป่นไปโรยเชื่อมไว้ แล้วใส่เฝือกต่างเสื้ออยู่ 3 ปี ยาสมัยนั้นแรงมาก มีคนแพ้ยาร้อยละ 5 คน ผมแพ้ยา ทำให้เกิดประสาทหลอน

อนึ่งหลังฉีดยาหัวจะหมุนไปหมด ผมจึงไม่ยอมให้ฉีดยา บุรุษพยาบาลหลายคนต้องมาช่วยกันจับ เขาคิดว่าผมเสียสติ ผมลองทดสอบความจำว่าเป็นอย่างไร ผมสามารถท่องบทอาขยานในมหาเวสสันดรได้แปดหน้า และท่องโคลงโลกนิติ โคลงในตะเลงพ่ายได้เป็นสิบ ๆ บท

ระฆังจีน ตีเมื่อคืน ดังเมื่อเช้า

ผู้ที่สอนรากฐานวิชาคณิตศาสตร์ให้ผม มีคุณครูลือ ไชยประวัติ ที่พิริยาลัย แพร่ (คุณพ่อของ ดร. โอฬาร) อาจารย์ซิลเวอร์ ทอรน ที่สวนกุหลาบ และศาสตราจารย์รัว ที่ฟิลิปปินส์

ในตอนแรก อาจารย์ซิลเวอร์ ทอรน ไม่ค่อยชอบผมเท่าไร เพราะผมไปสมัครเรียนเมื่อเปิดเรียนไปแล้ว ไม่ทราบระเบียบที่อาจารย์วางไว้ และผมไปเข้าห้องเรียนสายเป็นประจํา ผมพักอยู่ในวัดเลียบ เดินไปถึงประตูโรงเรียนพอดีระฆังครั้งที่ 1 ประตูปิด ต้องวิ่งไปเข้าประตูหน้า ห่างออกไปร้อยเมตร ทําให้เข้าเรียนสาย ถูกทําโทษให้คัดเรื่องที่กําลังเรียน 3 จบ พอวันมาส่งงานก็มาสายเสียอีก ต้องคัดเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า ตอนหลังอาจารย์ให้คิดปริศนาคํานวณ ใครคิดได้มีรางวัลหนึ่งบาท ผมคิดได้เสมอ อาจารย์เลยหายเกลียด

ผมเป็นคนล่าช้า เพื่อนให้สมญาว่า ระฆังจีน ตีเมื่อคืน ดังเมื่อเช้า แปลว่า ระฆังตะกั่ว ตีตอนกลางคืน ต้องรอถึง ตอนเช้า จึงจะมีเสียงมุยออกมา

สมัยผมเป็นเด็ก ทุกคนจะต้องฝึกฝนตนตามหนังสือ มันสมองมหาบุรุษ และวิชาแปดประการ ของคุณหลวงวิจิตร วาทการ ฝึกให้มีสมาธิดี บังคับให้หลับตื่นได้ตามเวลาที่ต้องการ การเรียนอาศัยสมาธิมาก เวลาผมอ่านหนังสือ คนมาเรียกชื่อผมข้าง ๆ ตัว ผมยังไม่ได้ยินเลย

ต่อมาเมื่อเรียนวิชาธรรมศาสตร์ ครั้งหนึ่ง อ่านหนังสือรู้เรื่องเพียงสามบรรทัด ต่อจากนั้นขาดสมาธิ อ่านจบไปทั้งหน้าโดยไม่รู้เรื่องเลย ครั้นกลับมาอ่านใหม่ พอถึงสามบรรทัด ใจลอยไปไม่รู้เรื่องในหนังสือเช่นเดิม ผมจึงเข้าใจว่า ทําไมบางคนเรียน หนังสือไม่เก่ง และจับใจความไม่ค่อยได้ สาเหตุหนึ่งเพราะสมาธิไม่ดีนี้เอง

ไม่ชอบบริหาร

ผมชอบสอนหนังสือ ไม่ชอบบริหาร แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัยก็ต้องทําหน้าที่เป็นเลขานุการคณะ พอเพื่อน ๆ ขอรถหลวงไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ก็โกรธ คนที่ไม่ควรจะได้ขึ้นเงินเดือนก็คิดว่าตนควรจะได้สองขั้น หาว่าผมกันท่า ที่จริงคณบดีเป็นผู้ขึ้นเงินเดือน เลขานุการไม่มีเสียงอะไร

ต่อมาคุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นข้าราชการประจําคนแรกที่ได้รับทาบทามให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องให้ผมเป็นเลขาธิการ ถ้าท่านถามผมเสียก่อน ผมจะ ไม่ยอมรับตําแหน่งนี้

ต่อมาผู้ใหญ่ให้คนมาทาบทามว่า ท่านจะเสนอชื่อผมเป็นอธิการบดี ซึ่งจะได้เป็นแน่ ผมตอบว่า ชาตินี้ผมเป็นได้แค่รองอธิการบดี เพราะภาษีสังคม ผมเงินดือนหกพันบาท จ่ายค่าของขวัญแต่งงานรายละ 50 บาท ถ้วยรางวัลที่ 2 ด้วย ตกเดือนละสองพันบาท ถ้าเป็นอธิการบดีจะต้องจ่ายค่าถ้วยเพิ่มจากรางวัลที่สอง 200 บาท เป็นรางวัลที่หนึ่ง 500 บาท ผมไม่มีทางเป็นอธิการบดีได้

อีกครั้งหนึ่ง ผมไม่ยอมแย่งตําแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติจาก ดร. กำแหง พลางกูร ซึ่งป่วยเป็นอัมพาต แต่ผมต้องรักษาราชการแทนอยู่ถึงหนึ่งปี

เขาว่าผมเป็นแดง

เมื่อจะตั้งทบวงมหาวิทยาลัย ผมจะไปขอให้ ดร. ชุบ กาญจนประกร เป็นปลัดทบวง แต่ผู้ใหญ่ไปพูดกับท่านนายกรัฐมนตรี ตกลงกันให้ผมเป็นปลัดทบวง ถ้าผมปฏิเสธก็จะเสียถึงผู้ใหญ่ ผมจึงต้องเป็นปลัดทบวง ผมไม่ชอบใช้อำนาจ ถ้าตัดเงินเดือนใครแล้ว ใจจะไม่สบายไปทั้งเดือน ถ้าจะให้บริหารโดยเลิกสอน ผมก็จะไม่ยอมรับตำแหน่งนั้น

ต่อมาถึงรัฐบาลคณะปฏิรูป คุณหลวงอิงคศรีกสิการ เห็นเขาไม่เสนอชื่อผมไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป จึงเสนอชื่อผมไปในโควต้ากระทรวงเกษตร แต่ถูกตัดออก เพราะเขาว่าผมเป็นแดง

สาเหตุหนึ่งเกิดจาก ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ได้รับเสนอชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่มีผู้สนองพระบรมราชโองการ เพราะเกิดการปฏิรูปเสียก่อน ทางรัฐบาลจึงขีดชื่อออก เพราะสองคนนี้เป็นผู้เสนอให้มีกรรมการสรรหาตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งรัฐบาลเข้าใจว่าเป็นสาเหตุให้ฝ่ายแดงเข้าไปยึดอำนาจในสภามหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งแล้ว เพราะฝ่ายแดงเท่านั้นที่ถนัดวิ่งเต้นจนได้เป็นกรรมการสภา ต่อไปสภามหาวิทยาลัยจะถูกฝ่ายแดงยึดอำนาจหมดทุกมหาวิทยาลัย

ผมได้ชี้แจงให้ทราบว่า ทั้งสองคนเห็นด้วยกับที่ประชุมอธิการบดี ว่าไม่ควรใช้คะแนนนิยมตัดสินการเลือกตั้งผู้บริหาร แต่อาจารย์ได้อำนาจเลือกคนที่ตนเห็นสมควรไปแล้ว ถ้าใครไปตัดสิทธิคงจะเกิดเรื่องใหญ่

ทั้งสองคนหาทางออกโดยให้ตั้งกรรมการสรรหา ให้อาจารย์ทุกคนยังมีสิทธิเสนอชื่อได้ แต่กรรมการสรรหาจะกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง อำนาจสุดท้ายจะไปอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้ รัฐบาลรับปากว่าจะใส่ชื่อสองคนนี้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากรต่อไป แต่ในที่สุดไม่มีชื่อสองคนนี้ และผมกลายเป็นแดงไปด้วย

พ.ศ. 2527 ผมเกษียณไปได้ 5 ปีแล้ว ทางการไม่กล้าตั้งผมเป็นที่ปรึกษากรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทหาร เพราะเขาว่า ผู้ใหญ่พูดกันว่าลึก ๆ ลงไปผมเป็นแดง ถ้าตั้งเป้นที่ปรึกษา ฝ่ายแดงจะได้ใจ ในตอนนั้น ศ. สิปปนนท์ได้เป็นรัฐมนตรีไปแล้ว และ ศ. วิจิตรก็ได้เป็นปลัดทบวงไปแล้ว ผมยังคงจะได้ชื่อว่าเป็นแดงไปจนตายกระมัง

ผมขอลาออกจากตำแหน่งปลัดทบวง เพราะเมื่อไม่ไว้วางใจกันแล้ว ผมต้องติดต่อกับอาจารย์และนิสิตอยู่ตามหน้าที่ ผมจะทำอย่างไรถูก แต่ผู้ใหญ่จัดการให้ผมถอนใบลา และให้ผมเป็นสมาชิกสภาในโควต้าทหาร

โลกประวัติศาสตร์

ผมสนใจทางวิทยาศาสตร์ ขอให้น้องชายส่งตำรามาจากอังกฤษ เขาเคยส่งเรื่องระเบิดอะตอมมิก เรื่องจักรวาลขยายตัว ตำราทฤษฎีเลขเฉพาะมาให้ แต่ไม่ยอมส่งวิธีแต่งเพลงสากลและตำราแต่งกลอนฝรั่งมาให้ ผมเลยแต่งเพลงสากลและกลอนฝรั่งไม่ได้

พ.ศ. 2486 ผมทำเรื่องโคลงนิราศหริภุญชัย เรื่องนางนพมาศ พ.ศ. 2487 ผมเลิกค้นคว้าทางภาษาไทยและประวัติศาสตร์ไปเป็นเวลา 16 ปี เพราะถูกปรามว่าการเขียนแก้ไขประวัติศาสตร์อาจทำให้ถูกคว่ำบาตรว่าเป็นลูกศิษย์คิดล้างครู มาถึง พ.ศ. 2503 คุณธนิต อยู่โพธิ์ ขอให้ผมไปสัมมนาโบราณคดีที่สุโขทัย ผมจึงกลับมาอยู่ในวงวรรณคดีและประวัติศาสตร์อีก

เมื่อก่อนเมืองไทยพบศิลาจารึกก็จะต้องทำสำเนาส่งไปให้ ศ. เซเดส์ อ่านที่ปารีส ท่านก็อายุมากแล้ว ถ้าตายไป มิเป็นอันว่าจะไม่มีคนไทยอ่านศิลาจารึกในเมืองไทยได้เชียวหรือ ผมคิดว่าคนไทยจะต้องอ่านจารึกได้ ถ้าไม่มีคนไทยคนไหนจะอ่านจารึกได้ ผมนี่แหละจะต้องอ่านจารึกให้ได้

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงขอให้ผมมาสอนวิชาการอ่านศิลาจารึกจนถึงครั้งที่ 3 ผมจึงรับมาสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบันนี้

ชีวิตของผมมีผลงานทางวิชาการมาก เพราะภรรยายอมให้ผมใช้เวลาว่างทำงานทางวิชาการ ผมขอขอบคุณภรรยาผมไว้ในที่นี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562