ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับเหตุผลที่เสนอให้ใช้คำ “ล้านนา” แทน “ลานนา”

ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร (ภาพจาก มติชนออนไลน์ / สุรินทร์ มุขศรี)

ล้านนาและล้านช้างเป็นคําที่ใช้คู่กันอยู่เสมอๆ บางคนก็นิยมใช้ว่า ลานนาและลานช้าง บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า “ล้านนา” และ “ล้านช้าง” เป็นคําที่ถูกต้อง และเป็นคําที่ใช้อยู่ในศิลาจารึกเมื่อพ.ศ. 2096 แล้ว

หลักฐานเรื่องล้านช้างมีมากกว่าเรื่องล้านนา กล่าวคือ มีคํา “ล้านช้าง” ในศิลาจารึก ชม. 7 พ.ศ. 2096 ของกษัตริย์ล้านนา-ล้านช้าง ส่วนศิลาจารึกเจดีย์ศรีสองรัก พ.ศ. 2106 ของพระมหาจักรพรรดิ์และพระไชยเชษฐาธิราช มีคําศรีสัตนาคนหุต ซึ่งแปลว่าช้างล้านตัว และในจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ. 2223 มีคําล้านช้างอยู่

ส่วน “ล้านนา” มีปรากฏในศิลาจารึก ชม. 7 ของ พระไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. 2096 ซึ่งอ้างว่ายังเป็นกษัตริย์แห่งล้านนาและล้านช้างอยู่ มีข้อความว่า “สมเด็จบรมบพิตรตนสถิตเสวยราชพิภพทั้งสองแผ่นดินล้านช้างล้านมา” จารึกหลักนี้สันนิษฐานว่า เดิมอยู่แถวเชียงรายเชียงแสน เพราะบอกเขตแดนของวัดว่าทางตะวันออกมีน้ำของ (แม่น้ำโขง) เป็นแดน (บรรทัดที่ 8) ในระยะนั้นเชียงใหม่ไม่ยอมเป็นเมืองลูกหลวงของเวียงจันทน์ พระไชยเชษฐาจึงยกพลมาที่เชียงราย เชียงแสน พยายามที่จะตั้งเชียงรายเป็นเมืองหลวง แต่ชาวเชียงใหม่ไม่ยอม

ผู้เขียนเชื่อว่า “ล้านนา” เป็นชื่อที่ถูกต้องด้วยเหตุผลว่า ทางภาคเหนือในสมัยโบราณแบ่งเขตปกครองออกเป็นพันนา อนึ่งมีกษัตริย์ของเชียงใหม่ทรงพระนามว่า กือนา แปลว่าร้อยล้านนา ส่วนคำ “ลาน” ซึ่งแปลว่าที่ราบโล่งไม่ปรากฏว่ามีใช้ในภาคเหนือมาแต่เดิม เช่นลานวัด ใช้ว่าข่วงวัด และที่จารึกพ่อขุนรามคําแหงกล่าวถึง “หัวลาน” น่าจะตรงกับ “สนามหลวง” ของภาคกลางในปัจจุบัน หรือตรงกับคําว่า “เค้าสนาม” ซึ่งเป็นที่ทำงานของเจ้าเมืองในภาคเหนือ

คำลานนา และลานช้างน่าจะเกิดขึ้นเพราะเครื่องหมายวรรณยุกต์ในภาษาไทยตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของภาษาถิ่นนครศรีธรรมราชและหลวงพระบางเท่านั้น ไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของถิ่นอื่น ๆ รวมทั้งสุโขทัยเองด้วย ในสมัยโอรส นัดดา และปนัดดาของพ่อขุนรามคาแหงจารึกสุโขทัยจึงใช้ เครื่องหมายวรรณยุกต์น้อยมาก และมีอยู่ระยะหนึ่งที่ไม่ใช้วรรณยุกต์เลย

ภาษาถิ่นในภาคเหนือก็ไม่นิยมใช้วรรณยุกต์ในใบลานสมัยดั้งเดิมเช่นเดียวกัน จนทําให้มีผู้เข้าใจผิดว่าดินแดนภาคเหนือชื่อว่าลานนามาจนทุกวันนี้ (พ.ศ. 2526)

ผู้เขียนขอเสนอให้มหาวิทยาลัยศิลปากรใช้ “ล้านนา” แทน “ลานนา” ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว



เอกสารประกอบ

1. นางสาวกรรณิการ์ วิมลเกษม อักษรฝักขามที่พบในศิลาจารึกภาคเหนือ วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต พ.ศ. 2524 หน้า 10-11
2. ฮันส์ เพนธ์ วารสารสยามสมาคม ปีที่ 6 8 ม.ค. 1980.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2562