สุจิตต์ วงษ์เทศ : บ้านเมืองเรื่องพระลอ ไม่มีอยู่จริงในล้านนา

พระเพื่อนพระแพง ตัวละครใน ลิลิตพระลอ พระลอ
"พระเพื่อนพระแพง" พ.ศ. 2514 สีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปรษยกฤต (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)

เวียงสอง จ. แพร่, เวียงกาหลง จ. เชียงราย, เวียงลอ จ. พะเยา ดั้งเดิมไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่อง พระลอ แต่ถูกครอบงำและกล่อมเกลาว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องพระลอเมื่อไม่นานมานี้ด้วยอำนาจของระบบการศึกษาแบบท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทอง จากนั้นถูกยกไปโฆษณาชวนเชื่อด้วยการตลาดของวัฒนธรรมท่องเที่ยว ดังนี้

1. เชื่อว่าพระลอเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ล้านนา ที่แพร่กระจายเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ กวีสมัยนั้นจึงแต่งเรื่องพระลอเป็นโคลงสี่สุภาพ

Advertisement

2. เชื่อว่ามีบ้านเมืองและภูมิประเทศจริงตามเนื้อเรื่องในพระลอ นักค้นคว้าและนักวิชาการทางวรรณคดีจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ราว 70 ปีที่แล้ว (ก่อน พ.ศ. 2500) ร่วมกันศึกษาค้นคว้าแล้วแปลความหมายด้วยข้อมูลจำกัด จากนั้นมีข้อสรุปเรื่องเวียงสองกับเวียงกาหลง ดังนี้ เวียงสอง (อ. สอง จ. แพร่) คือเมืองสรองของท้าวพิชัยพิษณุกร และเป็นเมืองกำเนิดของพระเพื่อนพระแพง ส่วนเวียงกาหลง (อ. เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย) เป็นเมืองกาหลง คือ เมืองแมนสรวง และมีแม่น้ำกาหลงที่พระลอทำพิธีเสี่ยงน้ำแล้วข้ามไปเมืองสรองเพื่อเสพสังวาสกับพระเพื่อนพระแพง

พระลอ พระเพื่อน พระแพง รูปปั้นที่ “อุทยานลิลิตพระลอ” อ. สอง จ. แพร่ (ภาพจาก “ย่ำถิ่นหม้อห้อม แพร่ 8 อำเภอ : ข่าวสดหรรษา” ข่าวสดออนไลน์)

ต่อมาอีกนานหลายสิบปีพบ เวียงลอ (อ. จุน จ. พะเยา) เป็นเมืองโบราณมีชื่อเหมือนพระลอในวรรณคดีไทย ทำให้บรรดานักค้นคว้ากับนักวิชาการสมัยหลังพากันลากเข้าหาวรรณคดีไทยเรื่องพระลอว่าเวียงลอเป็นเมืองของพระลอ

บ้านเมืองในล้านนาไม่เกี่ยวกับวรรณคดีไทยเรื่องพระลอ

เวียงสอง, เวียงกาหลง, เวียงลอ ไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยเรื่องพระลอ เพราะพระลอไม่เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องแต่งหรือนิยายที่กำหนดไม่ได้ว่าแต่งสมัยไหน อยุธยาหรือรัตนโกสินทร์? และบ้านเมืองรวมถึงแม่น้ำในวรรณคดีเรื่องพระลอล้วนเป็นนามสมมุติจากจินตนาการของคนแต่งซึ่งไม่จำเป็นต้องมีจริง และแท้จริงคือไม่มีตัวตน

เวียงสองไม่ใช่เมืองสรองในเรื่องพระลอ พงศาวดารโยนก รวมถึงเอกสารจาก “ปั๊บสา” ใดๆ ที่พบในภาคเหนือไม่เคยบอกว่าเวียงสองเกี่ยวข้องกับพระลอ จึงไม่เคยพบตำนานนิทานท้องถิ่นความทรงจำใดๆ ว่าพระลอเกี่ยวข้องกับเวียงสอง

คำว่า “สอง” ในที่นี้เป็นคำลาวดั้งเดิม หมายถึง เจริญรุ่งเรือง (คำนี้มีต้นตอจากคำว่า ฉลอง) ไม่หมายถึงจำนวนคู่หรือสองที่มีนักค้นคว้าพยายามจะลากไปหมายถึงสองสาวศรี  พี่น้องชื่อพระเพื่อนพระแพง

เวียงสองเป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว แต่เติบโตเป็นเมืองมีคูน้ำคันดินราวเรือน พ.ศ. 2000 (แผ่นดินพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ตรงกับพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา) ตั้งอยู่ลุ่มน้ำยมบนชุมทางคมนาคม 4 ทิศทาง ถึงเมืองสุโขทัย, เมืองแพร่, เมืองน่าน, เมืองพะเยา, เมืองเชียงราย, เมืองเชียงแสน (จ. เชียงราย) ริมแม่น้ำโขง [ข้อมูลเรื่องนี้อยู่ในบทความเรื่อง “อิง-ยม-น่าน ความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างสุโขทัย แพร่ น่าน พะเยา” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2531)]

พื้นที่เวียงสองมีวัดแห่งหนึ่งสร้างตามแบบแผนประเพณีดั้งเดิมในวัฒนธรรมโบราณของล้านนา-ล้านช้าง กล่าวคือ ศูนย์กลางของวัดมี “พระธาตุ” หมายถึง สถูปประธานของวัดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์เท่านั้น แต่เรียกตามภาษาปากชาวบ้านสมัยหลังว่า “ธาตุหินส้ม” เนื่องจากซากอิฐและหินที่ชำรุดออกมาแล้วชาวบ้านมองเห็นเป็นสีส้ม

ต่อมาไม่กี่ปีนี้เองมีการเปลี่ยนนาม “ธาตุหินส้ม” เป็น “พระธาตุพระลอ” ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนซึ่งได้จากแนวคิดเลื่อนลอยที่พบในตำราเรียนเกี่ยวกับวรรณคดีไทยเรื่องพระลอ และเพื่อเป็นจุดขายการท่องเที่ยว

เวียงกาหลง ไม่ใช่เมืองกาหลงหรือเมืองแมนสรวง และไม่มีแม่น้ำกาหลง ตามเนื้อเรื่องในพระลอ

“กาหลง” ในชื่อเวียงกาหลง มีต้นตอจากน้ำแม่กาซึ่งมีกำเนิดจากทิวเขาบริเวณนั้นได้ไหลแตกสาขาจากสายเดิมออกไปอีกทางซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียก “น้ำหลง” แต่ที่สุดน้ำหลงจะไหลวกเข้าไปรวมกับน้ำสายเดิม คือ น้ำแม่กา ส่วนสายที่น้ำหลงไปก็เรียก “น้ำแม่กาหลง” ตรงกับภาคกลางเรียกแม่น้ำกาหลง [คำอธิบายนี้มีในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงราย พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 หน้า 159]

เวียงกาหลงเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพสูงราวเรือน พ.ศ. 2000 อันเป็นช่วงเวลาล้านนารุ่งเรืองทางการค้าขายทั่วภูมิภาค ดังนั้นเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาเคลือบมีจำนวนมากในเวียงกาหลง แล้วยังพบต่อเนื่องถึงเขตน้ำแม่วัง (อ. วังเหนือ จ. ลำปาง) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องพระลอ

เวียงลอ ไม่ใช่เมืองของพระลอในวรรณคดีไทยเรื่องพระลอ

เวียงลอ หมายถึง เวียงงาม เหตุจากคำว่า “ลอ” มีรากจากภาษาเขมรซึ่งเป็นคำทั่วไปสมัยนั้นว่า ลออ (ละ-ออ) แปลว่า งาม

นักค้นคว้าและนักวรรณคดีสมัยหลัง พบคำว่า “ลอ” ในชื่อเวียงลอ เลยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นเมืองของพระลอในวรรณคดีไทยเรื่องพระลอ จึงมีผู้สร้างอนุสาวรีย์พระลอไว้สักการะและสร้างประเพณีประดิษฐ์สมทบด้วย

เวียงลอมีอายุราวเรือน พ.ศ. 2000 มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีน้ำแม่อิงไหลผ่ากลางเมือง ส่วนบริเวณในเวียงนอกเวียงพบสถูปเจดีย์ใหญ่น้อยจำนวนมากในปริมณฑลกว้างขวางล้วนมีฝีมือช่างแบบพะเยา เป็นเมืองบนเส้นทางคมนาคมระหว่างเมืองพะเยากับเมืองเชียงของ (จ. เชียงราย) เพื่อเข้าสู่เส้นทางหลักคือแม่น้ำโขง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564