สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

พระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ภาพจากเพจวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม )

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่

[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออก

ตอนที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค” อ่านได้ที่ https://www.silpa-mag.com/club/article_6802

ตอนที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

ซึ่งผู้อ่านสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2556), หน้า 108-128 อนึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สามารถสอบถามไปได้ที่เพจวัดราชประดิษฐฯ https://web.facebook.com/Watrajapradit/]

พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5

ภายหลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เพียง 4 ปี คือในปี พ.ศ. 2415 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระสาสนโสภณ (สา) ให้เป็นพระธรรมวโรดม ทำหน้าที่เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ทำหน้าที่สนองงานพระพุทธศาสนา คือ “สั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์ แลอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระอารามทั้งปวงซึ่งขึ้นในคณะ” โดยยังคงราชทินนามพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลก่อนทำให้มีการเรียกเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม

ภายหลังได้รับตำแหน่งพระธรรมวโรดมเพียงปีเดียว พระสาสนโสภณ (สา)ได้รับมอบหน้าที่สำคัญคือการเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในการผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2416 พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่พุทธรัตนสถานมนทิรารามในพระบรมมหาราชวังชั้นใน โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมกับนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่จนครบคณะสงฆ์ ครั้งนั้นทรงผนวชอยู่ 15 วัน ก่อนจะลาผนวชแล้วประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การปฏิบัติหน้าที่เป็นพระกรรมวาจารย์ในคราวผนวชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ต้องทำทัฬหีกรรม หรือ อุปสมบทซ้ำ อีกครั้งหนึ่ง เพราะพระเถระผู้ร่วมคณะสงฆ์ประกอบพระราชพิธีส่วนมากทำทัฬหีกรรมแล้วทั้งสิ้น (เว้นแต่เพียงหม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา อีกองค์หนึ่งเท่านั้น)

สมเด็จพระสังฆราชทรงทำทัฬหีกรรมหลังจากอุปสมบทครั้งหลังได้ 22 พรรษาแล้ว โดยไม่พบหลักฐานว่าทำที่ไหน ใครเป็นอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์คือ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม สำหรับสถานที่ประกอบพิธีสันนิษฐานว่ากระทำที่แพโบสถ์ตรงวัดราชาธิวาส และมีขั้นตอนเช่นที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

แต่ครั้งทูลกระหม่อม [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ยังทรงผนวช พวกพระธรรมยุตนับถือสีมาน้ำว่า บริสุทธิ์ เป็นที่สิ้นสงสัยไม่วางใจในวิสุงคามสีมาอันไม่ได้มาในบาลี เป็นแต่อรรถกถาจารย์ แนะไว้ในอรรถกถาอนุโลมตามสีมา ครั้งยังไม่มีวัดอยู่ตามลำพัง จึงใช้สีมาน้ำเป็นที่อุปสมบท ต่อมาพระรูปใดจะอยู่เป็นหลักฐานในพระศาสนา ท่านผู้ใหญ่จึงพาพระรูปนั้น ไปอุปสมบทซ้ำในสีมาน้ำ เรียกว่าทำ ทัฬหิกรรม สำนักวัดบวรนิเวศหยุดมานาน พระเถระในสำนักนี้ ไม่ได้ทำทัฬหิกรรมโดยมาก

สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) อุปสมบทครั้งหลังกว่า 20 พรรษาแล้ว พึ่งได้ทำทัฬหิกรรม ครั้งจะสวดกรรมวาจาเมื่อล้นเกล้าฯทรงผนวชพระ [พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] เสด็จพระอุปัชฌายะ [สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์] ตรัสเล่าว่า พระเถระทั้งหลายผู้เข้าในการทรงผนวชล้วนเป็นผู้ได้ทำทัฬหิกรรมแล้ว ยังแต่ท่านองค์เดียว ทั้งจักเป็นผู้สำคัญในการนั้น จึงต้องทำ คงจะไม่ทรงนึกถึงหม่อมเจ้าธรรมุณหิศธาดาผู้ไม่ได้ทำอีกองค์หนึ่ง

ครั้งเราบวช ความนับถือในพระบวชสีมาน้ำยังไม่วาย เราเห็นว่าเราเป็นผู้ยั่งยืนในพระศาสนาต่อไป พระเช่นเราจักต้องเป็นหลักในพระศาสนาด้วยเหมือนกัน เมื่อพระในนิกายเดียวกัน มีวิธีปฏิบัติแผกกันตามสำนัก เราควรเป็นผู้เข้าได้กับทุกฝ่าย อันจะให้เข้าได้ ต้องไม่เป็นที่รังเกียจในการอุปสมบทเป็นมูล ทั้งเราก็อุปสมบทเร็วไปกว่าปกติ เมื่อทำทัฬหิกรรมอุปสมบทซ้ำอีกในสีมาน้ำ จักสามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ดี

เราจึงเรียนความปรารภนี้แก่เจ้าคุณอาจารย์[พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรํสี)] ขอท่านเป็นธุระจัดการให้…เราจักถือเจ้าคุณอาจารย์เป็นอุปัชฌายะใหม่ ในเวลาทำทัฬหิกรรม เจ้าคุณพระพรหมมุนีฟันหักสวดจะเป็นเหตุรังเกียจ เจ้าคุณอาจารย์ท่านเลือกเอาเจ้าคุณธรรมไตรโลก (ฐานจาระ) วัดเทพสิรินทร์ ครั้งยังเป็นบาเรียนอยู่วัดโสมนัสวิหารเป็นผู้สวดกรรมวาจา ท่านรับจัดการให้เสร็จ พาตัวไปทำทัฬหิกรรมที่แพโบสถ์ อันจอดอยู่ที่แม่น้ำ ตรงฝั่งวัดราชาธิวาสออกไป เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๔๑ ตรงกับวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๒ แรกขอนิสสัยถืออุปัชฌายะใหม่ แล้วทำวิธีอุปสมบททุกประการ สวดทั้งกรรมวาจามคธและกรรมวาจารามัญ

ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ในฐานะพระกรรมวาจาจารย์แต่ครั้งยังทรงผนวชยังปรากฏอยู่เสมอมาแม้ว่าจะทรงลาผนวชแล้ว พระองค์ทรงฉลองพระราชศรัทธาด้วยการเสด็จพระราชดำเนินมาสรงน้ำสงกรานต์ รวมทั้งทรงประทับตรัสด้วยคราวละนานๆ อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินมาวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ.2419 ดังนี้

เสด็จพระราชดำเนิรมาประทับตรัสกับพระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมอยู่ประมาณ 40 นาที แล้วจึงทรงสรงน้ำแลถวายผ้าไตร แก่พระสาสนโสภณในการสรงน้ำสงกรานต์ โดยท่านเปนพระกรรมวาจาจารย์

หรือ เหตุการณ์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ของปีเดียวกัน ความว่า “เสด็จมาถวายพุ่มขี้ผึ้งแลเครื่องสการบูชา เครื่องจำพรรษาแก่พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมกับพรงสงฆ์วัดราชประดิษฐเสร็จแล้ว ประทับตรัสอยู่กับพระสาสนโสภณประมาณชั่วโมงหนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรออกจากพระอุโบสถ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่เสมอมา นอกเหนือจากพระราชจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิดดังกล่าวแล้ว ยังทรงสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ให้สูงขึ้นตามลำดับ โดยในปี พ.ศ.2422 ทรงโปรดเกล้าเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงรักษาเกียรติยศของพระกรรมวาจาจารย์ในพระองค์ ด้วยการเร่งไต่สวนหาผู้กระทำผิดในกรณี “ลักโคมหลวง” เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) มาร่วมพิธีมหาสมณุตตมาภิเศกสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งปรากฏข้อความจากจดหมายพระราชกิจรายวัน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

อนึ่ง ในการสมณุตมาภิเศกครั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลาเช้าสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์วัดราชประดิษฐ มารับพระราชทานฉันท์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วได้รับเครื่องไทยทานฃองหลวงที่โปรดให้สมเดจถวายแก่พระสงฆ์ คือวันนั้นสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ได้โคมกับเครื่องบริขานอื่นๆให้สิทธิถือตามหลังไปถึงน่าวัดมหรรณพาราม โปลิศเข้าจับเอาสิทธิสมเดจว่าลักเอาโคมของหลวงไป นำตัวเอาไปส่งให้พระประสิทธิสัลการที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระประสิทธิสัลการถามได้ความแล้วจึ่งว่าถ้าโคมของหลวงหายไปไม่พ้นตัวนายคนนี้ที่เปนสิทธิสมเดจแล้วสั่งให้ปล่อยตัวไป

สิทธิสมเดจจึงได้ไปเรียนความกับสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ ครั้นเวลาค่ำสมเดจพระพุทธมาสวดมนต์จบแล้ว จึ่งถวายพระพรกล่าวโทษพระประสิทธิว่าเปนการปมาท จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิอธิบดีกรมพระนครบาล ว่ายศสมเดจพระพุทธโฆษาจาริย์ก็เสมอกบยศสมเดจเจ้าพระยา ซึ่งพระประสิทธิกล่าวเหลือเกินดังนี้ ให้พระประสิทธิไปสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ในวัดราชประดิษฐทั้งวัด แล้วให้มีลครสมโภชด้วยวันหนึ่ง ครั้นต่อมาพระประสิทธิก็ทำตามพระบรมราชโองการแล้ว

หลังจากเหตุการณ์ร้ายแรงผ่านพ้นไปแล้ว ในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าเพิ่มอิศริยศสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ให้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะทรงระลึกถึงในฐานะสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นอาจารย์ถวายข้อธรรมะให้ทรงศึกษาระหว่างผนวช ซึ่งยากที่จะมีพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือนได้ ดังข้อความจากประกาศสถาปนาเพิ่มอิศริยยศ ดังนี้

ได้เปน พระกรรมวาจาจารย์ให้สมเร็จอุปสมบทกิจการพระราชกุศลส่วนผนวชในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งได้เรียบเรียงหนังสือธรรมวินัยถวายให้ทรงศึกษาในข้อปฏิบัติต่างๆ เปนอันมากพระสงฆ์ที่จะได้เปนกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเช่นนี้มิได้มีมากเหมือนพระสงฆ์สามัญ นานๆ จะได้มีสักครั้งหนึ่ง

การสถาปนาในคราวนี้ทรงมีพระราชประสงค์ “สมควรที่จะมีอิศริยยศให้พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนๆมา” ดังนั้น จึงทรงเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ มีนิตยภัตรเดือนละ 11 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 12 รูป มากกว่า สมเด็จพระราชาคณะตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งมีนิตยภัตรเดือนละ 6 ตำลึง 7 ตำลึง และ 10 ตำลึง มีถานานุกรมได้ 8 รูป และ 10 รูป สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)  เป็นพระมหาเถระรูปที่ 2 ได้รับพระราชทานราชทินนามที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ อันเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช นับได้ว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศอย่างสูงเป็นกรณีพิเศษ

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณประมาณ 1 ปี ครั้นปี พ.ศ.2435 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชรา ขณะมีพระชนมายุ 83 พรรษา ประกอบกับใกล้ช่วงเวลาที่จะมีงานพระราชพิธีรัชฎาภิเษก สมควรที่จะมีพระสังฆราชประกอบพิธีอันสำคัญนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาสมเด็จอริยวงศาคตญาณ (สา) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2436 อันเป็นปีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระชนมายุครบ 80 ปี การสถาปนาคราวนี้เรียกว่า “สถาปนาเพิ่มอิสริยยศ พระราชทานมุทธาภิเศก” ในการที่ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดให้มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัตรเดิม โดยโปรดเกล้าฯให้ตั้งพระสุพรรณบัตรสมโภชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานเฉพาะใบกำกับพระสุพรรณบัตรใหม่เท่านั้น ในคราวเดียวกันนี้ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะดำรงพระยศกรมหมื่น เป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เป็นเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุตติกนิกายด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งฐานานุกรมได้ 16 รูป นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้ต่างได้รับพระราชทานสิทธิให้ตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป เป็นประเพณีตลอดมา จนแม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชที่สืบลำดับต่อมาก็มีสิทธิตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป อีกทั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังนับเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช แม้ว่าก่อนหน้านี้พระพิมลธรรม (อู่) จะได้เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์แรกจากการพระราชทานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 4 แต่ก็มิได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช อันแสดงถึงพระราชศรัทธาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ปฏิบัติศาสนกิจและปกครองคณะสงฆ์อย่างเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442 ขณะพระชนมายุ 87 ปี ทรงดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระสังฆราช 6 ปีเศษ และครองวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 34 ปี หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยจนตลอดรัชกาล ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงว่างอยู่ถึง 11 ปี (พ.ศ.2442-2453)