พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค” สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนับเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร พระภิกษุที่จะดำรงในตำแหน่งนี้ต้องมีความเหมาะสมทั้งความรู้ทางธรรมอย่างแตกฉาน ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติมีที่งดงาม จนเป็นที่ยอมรับจากองค์พระมหากษัตริย์ให้ดูแลพุทธศาสนจักรต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งหนึ่งในจำนวนสมเด็จพระสังฆราชจำนวนทั้งสิ้น 20 พระองค์ มี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปแรก

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แม้จะทรงมีพระชาติกำเนิดมาจากสามัญชนแต่ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ทรงเป็นที่ยอมรับจากพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ด้วยการเป็นศิษย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5 ความสำคัญเช่นนี้ทำให้พระประวัติของพระองค์น่าสนใจและสมควรเผยแพร่

[ในการลงเผยแพร่ครั้งนี้แอดมินได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน และได้ตัดเอกสารเชิงอรรถอ้างอิงออกเพื่อความกระชับในการเผยแพร่

ตอนที่ 1 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “สังฆราช 18 ประโยค”

ตอนที่ 2 สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”

พระชาติกำเนิด

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มีชาติกำเนิดตามที่ พระเทพกวี หรือ พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สาม หนึ่งในศิษย์ผู้ใกล้ชิดของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ได้รวบรวมไว้เมื่อปี พ.ศ.2458 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเดิมชื่อ สา ประสูติ ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา เบญจศก จุลศักราช 1175 (ตรงกับ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2356) เวลาเพลประมาณ 5 โมงครึ่ง

บิดาของท่านชื่อ จัน บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลบางเชิงกราน แขวงเมืองราชบุรี เมื่อครั้งเป็นภิกษุมีความเชี่ยวชาญในการเทศน์มิลินท์และมาไลย จนมีฉายาที่เรียกขานกันหลังจากครั้นลาสิกขาแล้วว่า จันมิลินท์มาไลย

มารดาชื่อ ศุข ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบุตรีเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ สมุหกลาโหมปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานบริเวณบางไผ่ แขวงเมืองนนทบุรี ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งท่านศุขได้มีถิ่นพำนักบริเวณตำบลคลองบางไผ่ใหญ่ ก่อนที่ท่านจันจะวิวาหมงคลอยู่กับท่านศุข ณ ตำบลเดียวกันนี้ พร้อมกับมีบุตรชายหญิงรวมกัน 5 คน คือ

  • หญิงชื่อ บวบ
  • ชายชื่อ ช้าง เป็นพระสุภรัตกาสายานุรักษ์
  • ชายชื่อ สา คือสมเด็จพระสังฆราช
  • ชายชื่อ สัง อุปสมบทอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่พระสุนทรมุนี ภายหลังลาสิกขา
  • หญิงชื่อ อิ่ม

นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ เทียนวรรณ นักคิดผู้เรียกร้องการปฏิรูปบ้านเมืองคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากท่านศุขมีพี่น้องอีก 2 คนคือ แจ่มและจันทร์ ซึ่งย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณคลองบางขุนเทียน แขวงเมืองนนทบุรี โดยเทียนวรรณเป็นหลานของยายแจ่ม ส่วนสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นั้นมีฐานะเป็นลุงของเทียนวรรณ และเคยอบรมสั่งสอนเทียนวรรณซึ่งบวชเป็นสามเณร ขณะจำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ  ซึ่งเทียนวรรณได้บันทึกถึงช่วงเวลาดังกล่าวอันสะท้อนความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยของพระสาสนโสภณ ที่อบรมเทียนวรรณเป็นอย่างดี ดังนี้

พยายามเรียนวินัยเข้าใจจริง

แล้วเรียนธรรมกรรมฐานแลญาณเก้า

ไม่นิ่งเปล่าเรื่องวิชาหาทุกสิ่ง

จนออกชื่อลือชาว่ากล้าจริง

ไม่มีสิ่งมัวหมองครองวินัย

สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรก

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ศึกษาเบื้องต้นกับบิดาของท่านซึ่งมีความถนัดในทางศาสนามาแต่เดิม ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดใหม่ ในคลองบางขุนเทียนบ้านหม้อบางตนาวสี แขวงเมืองนนทบุรี(ปัจจุบันคือ วัดนครอินทร์ จังหวัดนนทบุรี) ภายหลังย้ายมาอยู่วัดสังเวชวิศยาราม เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักนายอ่อนอาจารย์เนื่องมาจากสาเหตุตามที่พระเทพกวี หนึ่งในศิษย์บันทึกว่า “บิดาของท่านพอแปลได้บ้างเล็กน้อย จะเรียนต่อไปบิดาของท่านบอกได้แต่ไม่ชำนาญจึงมาเรียนในสำนักนายอ่อนอาจารย์

ครั้นปี พ.ศ.2369 พระชนมายุได้ 14 พรรษา เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเล่าถึงการสอบดังกล่าวให้กับพระเทพกวี ความว่า เมื่อเป็นสามเณรอายุได้ 14 เข้าแปลประปริยัติธรรมได้ 2 ประโยค ตกประโยค 3 ต้องเป็นเปรียญวังหน้า ครั้งในรัชกาลที่ 3

“เปรียญวังหน้า” ตามที่สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวถึงนั้น เป็นด้วยเหตุที่ว่า ประเพณีการแปลพระปริยัติธรรมสมัยนั้น ผู้เข้าแปลทีแรกต้องแปลพระธรรมบทให้ได้ครบ 3 ประโยคในคราวเดียวจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าไม่ได้ครบทั้ง 3 ประโยค เข้ามาแปลคราวหน้าก็ต้องแปลประโยค 1 ไปใหม่ ครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์อุปการะแก่พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนมิให้ท้อถอยจากความเพียรไปเสีย ถ้ารูปใดแปลได้ 2 ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะเข้าแปลใหม่ได้เป็นเปรียญ พระภิกษุสามเณรที่ได้รับพระราชทานอุปการะเหล่านั้น จึงพากันเรียกว่า เปรียญวังหน้า

ต่อมา สมเด็จพระสังฆราชแต่ครั้งยังเป็นสามเณรได้ไปถวายตัวและเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเสด็จประทับผนวชอยู่ ณ วัดสมอราย หรือ วัดราชาธิวาส เมื่อถึงคราวสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุ มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นประธานในการสอบ ครั้งนั้นสามเณรสา สามารถแปลได้ 9 ประโยค เป็นสามเณรเปรียญเอกในรัชกาลที่ 3 เมื่ออายุได้ 18 ปี นับเป็นสามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

อุปสมบทครั้งแรก

สามเณรสาอุปสมบทครั้งแรกเมื่ออายุ 21 ปี ณ วัดราชาธิวาส มีฉายาครั้งแรกว่า ปุสฺโส โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์คือใคร แต่สันนิษฐานว่าขณะนั้นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิยมพระอุปัชฌาย์รามัญ ซึ่งมีพระสุเมธาจารย์ (เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยรูปหนึ่ง และเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์อยู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า พระอุปัชฌาย์และพระกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราช คือ พระสุเมธาจารย์ (เกิด) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชอุปสมบทได้ 4 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สมเด็จพระสังฆราชขณะอุปสมบทได้ 6 พรรษา เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร

หลังจากนั้น พระอมรโมลี (สา) อยู่ในสมณเพศมาระยะเวลาหนึ่งก่อนจะลาสิกขาด้วยสาเหตุที่เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จัดงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงโปรดให้อาราธนาพระภิกษุที่มีความสามารถมาถวายพระธรรมเทศนา พร้อมกับตั้งพระทัยถวายเครื่องไทยธรรมและเงินติดกัณฑ์เทศน์เป็นจำนวนมากถึง 10 ชั่ง ครั้งแรกทรงอาราธนาพระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบุรณะ ผู้มีความสามารถในการเทศนาและแต่งหนังสือไทยอย่างแตกฉานในสมัยนั้น แต่พระเทพโมลี (ผึ้ง) ไม่ปรารถนาปัจจัยจำนวนมากมายเช่นนั้นจึงลาสิกขาไปก่อน ทำให้ทรงต้องอาราธนาพระอมรโมลี (สา) ซึ่งมีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

ศิษย์หลวงในรัชกาลที่ 4

เมื่อพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาไปใช้ชีวิตในเพศฆราวาสนั้น เป็นช่วงที่เรื่องราวของท่านมิได้ถูกกล่าวถึงอย่างเป็นทางการ มีเพียงเรื่องเล่าในหมู่ศิษยานุศิษย์ใกล้ชิด หรือพระภิกษุสงฆ์ในวัดราชประดิษฐฯ บางรูปเท่านั้น ดังที่ ทองอินทร์ แสนรู้ ซึ่งศึกษาวิชาโหราศาสตร์กับเจ้าคุณพระเทพเมธากร หรือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามรูปที่สี่ และได้ทราบเรื่องช่วงชีวิตฆราวาสของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าคุณอดีตเจ้าอาวาสว่า

ข้าพเจ้ายกครูเรียนโหรจากท่านเจ้าคุณพระเทพเมธากร (ทิม อุฑาฒิโม) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯองค์ปัจจุบัน ศิษย์เอกผู้สืบต่อตำราของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาโส แย้ม) ท่านได้พร่ำสอนข้าพเจ้าเสมอว่า วัดราชประดิษฐ์นี้มีอาถรรพ์ สึกออกไปแล้วไม่เสือผู้หญิงก็นักเลงชั้นยอด ท่านไม่เคยให้เหตุผล แต่ท่านชอบเล่าอดีตเหมือนผู้ใหญ่ทั้งหลาย เคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเป็นนักเลงของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสะเทวะ) ว่า เคยสำเร็จเป็นเปรียญ 9 ประโยค แล้วสึกออกไปเป็นนักเลงแถวหน้าโรงหวย จนในหลวงรัชกาลที่ 4 จับบวช และแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชในกาลต่อมา

และยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ในเพศฆราวาสนั้น มหาสาได้ออกไปครองเรือนมีครอบครัว ท่านมีภรรยา 2 คน จึงเป็นที่มาของสองนามสกุล คือ “ปุสสเทโว” และ “ปุสสเด็จ” ซึ่งทั้งสองนามสกุลนี้ยังมีผู้สืบสกุลในท้องที่จังหวัดนนทบุรีที่ล้วนเป็นเครือญาติกัน ถ้าเป็นดังข้อมูลนี้ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดียวที่ทรงครองเรือนมีครอบครัว ซึ่งนับเป็นความพิเศษอีกประการหนึ่งในพระประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) กลับมาอุปสมบทใหม่ในปี พ.ศ.2394 ซึ่งตรงกับปีแรกในรัชกาล เมื่ออายุ 39 ปี มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (ฟัก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งต่อมาลาสิกขาได้รับราชการดำรงตำแหน่งพระยาศรีสุนทรโวหาร การอุปสมบทครั้งที่ 2 นี้ได้รับฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ส่วนฉายา ปุสฺสเทว อันเป็นอีกนามหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่ามีการเรียกกันตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เห็นได้จากสร้อยพระนามคือ “ปุสสเทวาภิธานสังฆวิสุต” เมื่อครั้งทรงสถาปนาให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณในปี พ.ศ.2434 ฉายา ปุสฺสเทว มีความหมายว่า เทวดาผิวขาว อันอาจบ่งชี้ถึงความฉลาดปราดเปรื่องประดุจเทวดาและมีผิวพรรณสัณฐานที่ขาวผุดผ่องเป็นราศีของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้

การอุปสมบทครั้งที่ 2 มีเรื่องเล่ากันว่าภายหลังจากพระอมรโมลี (สา) ลาสิกขาอยู่ในเพศฆราวาสเป็น มหาสา นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกริ้วมากเพราะพระอมรโมลีมิได้กราบบังคมทูลลาตามธรรมเนียมของพระราชาคณะที่ต้องปฏิบัติ พระองค์ทรงให้กรมการติดตามจับตัวมหาสาซึ่งพำนักที่บ้านมารดาที่บางไผ่ใหญ่ แขวงเมืองนนทบุรี แต่มหาสาก็หลบหนีไปอยู่บ้านญาติฝ่ายบิดาที่บ้านกร่าง แขวงเมืองราชบุรี และถูกจับกุม ณ ที่แห่งนั้น แล้วนำมาเข้าเฝ้า ด้วยเหตุที่มหาสาเมื่อครั้งอยู่ในสมณเพศเป็นที่โปรดปรานมาก จึงทรงเสียพระทัยต่อการกระทำโดยพลการของมหาสาคราวนี้ ดังนั้นจึงทรงลงโทษ ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อุปสมบทใหม่เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว) ในฐานะอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ประพฤติดี

การอุปสมบทคราวนี้พระเกียรติคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ปรากฏโดดเด่นไม่น้อยกว่าการอุปสมบทคราวก่อนโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งรู้จักกันในนามของ “พระมหาสา 18 ประโยค” เนื่องจากการอุปสมบทครั้งที่ 2 นั้น ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรม (คือสอบใหม่) ด้วยเพราะครั้งนั้นผู้ที่เป็นเปรียญเมื่อลาสิกขาแล้วถือว่าหมดสิทธิในการเป็นเปรียญ เพราะเปรียญเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง และทรงสอบได้เป็นเปรียญเอก 9 ประโยคอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชได้รับการกล่าวขานต่อมาว่า “สังฆราช 18 ประโยค” ซึ่งมีพระองค์เดียวในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ต่อมาในปี พ.ศ.2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ โดยได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นเงิน “ 4 ตำลึง 2 บาท” ทุกเดือน สาเหตุที่แต่งตั้งตำแหน่งพระราชาคณะในครั้งนั้นเนื่องจาก พระสาสนโสภณ หรือ ขรัวสา ได้เข้าไปถวายเทศน์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่พอพระทัย แต่เพราะพระที่เข้าไปถวายเทศน์นั้นจะต้องเป็นพระราชาคณะซึ่งขณะนั้นไม่มีพระภิกษุรูปใดที่สามารถถวายเทศน์ได้ต้องพระทัย แม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ยังเคยลงจากธรรมาสน์โดยไม่เทศน์ถวายเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพระธรรมอย่างถ่องแท้ขณะทรงผนวชมาแล้ว อีกทั้ง ขรัวสา ก็บวชมาแล้วถึง 7 พรรษา เลยกำหนด 6 ปีที่จะเป็นพระราชาคณะได้

สำหรับนาม พระสาสนโสภณ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระนิพนธ์พระราชทานตามนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช คือ สา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า

พระสรสาตรพลขันธ์ (สมบุญ) เคยเล่าให้หม่อมฉันฟังว่า เมื่อทูลกระหม่อมจะทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ เมื่อยังเรียกกันว่า อาจารย์สา ให้เป็นพระราชาคณะ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามเอานามเดิมของท่านขึ้นต้น แล้วต่อสร้อยว่า พระสาสนดิลก นาม 1 พระสาสนโสภณ นาม 1 โปรดให้พระสรสาตรไปถามว่าท่านจะชอบนามไหน ท่านว่า นามสาสนดิลก นั้นสูงนัก ขอรับพระราชทานเพียงนามสาสนโสภณ ก็ได้นามนั้น คนทั้งหลายเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา ได้ความเข้าที

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) นับเป็นพระสาสนโสภณรูปแรก และทรงโปรดนามนี้มากแม้จะทรงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2415 ก็คงใช้นามว่า “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม” เท่ากับทรงพระกรุณาโปรดให้ยกตำแหน่งที่พระสาสนโสภณขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองในครั้งนี้

จนถึงปี พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระสาสนโสภณ (สา) ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และไม่ได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามพระสาสนโสภณเป็นเวลาถึง 21 ปี กระทั่งปี พ.ศ.2443 จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อ่อน อหึสโก) เจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตยมหาสีมารามรูปที่สอง เป็นที่พระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย นับแต่นั้นมาสมณศักดิ์ตำแหน่งที่พระสาสนโสภณ ได้เป็นตำแหน่งของเจ้าคณะรองฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สืบมาจนปัจจุบัน

ความไว้พระทัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพระสาสนโสภณ (สา) ยังเห็นได้จากภายหลังการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.2407 เพื่อให้เป็นวัดสำหรับพระภิกษุในธรรมยุติกนิกายใช้ศึกษาเล่าเรียน และให้ผู้ที่ศรัทธาในพระธรรมยุติกานิกายใช้ทำบุญ อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นสวนกาแฟมีโรงทานสำหรับทำบุญของชาวบ้านมาก่อน รวมทั้งให้สอดคล้องกับธรรมเนียมการสร้างวัดประจำเมืองสมัยโบราณที่ต้องมีวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน

เมื่อการสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสร็จสิ้นจึงโปรดเกล้าฯให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2408 โดยในวันนั้นโปรดเกล้าฯให้มีขบวนแห่ประกอบด้วยธงทิว พิณพาทย์ และรถอีกหลายคันรับพระสาสนโสภณจากวัดบวรนิเวศวิหารมายังพระอารามแห่งใหม่ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนตาลปัตรเป็นตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรมแด่พระสาสนโสภณ (สา) อีกด้วย

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕

พระสาสนโสภณ (สา) นอกจากจะช่วยดูแลพระอารามแห่งใหม่แล้วยังช่วยพระราชกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีเช่นที่พระเทพกวี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามได้บันทึกไว้ว่า

สมเด็จพระสังฆราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดว่าเป็นผู้แต่งเทศน์ดี แต่ครั้งเสด็จดำรงอยู่ในพระผนวช ภายหลังเมื่อเป็นพระสาสนโสภณแล้ว ถ้าพระราชาคณะหรือเปรียญจะถวายเทศน์ ต้องมาให้ตรวจเสียก่อน ถ้าใครไม่ชำนาญในการแต่งเทศน์ก็ทรงแต่งให้ แลได้ทรงรจนาหนังสือที่เป็นพระสูตรแลกถามรรคต่างๆมาก แลได้ทราบได้เห็นมีอยู่ในที่วัดอื่นๆที่ใช้เทศน์กันอยู่ก่อนๆหรือปัจจุบันนี้ เป็นหนังสือที่ทรงรจนามาก

นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงมอบหมายให้พระสาสนโสภณ (สา) ดำรงตำแหน่งสำคัญแล้ว สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความสัมพันธ์ในฐานะพระอาจารย์และศิษย์หลวง คือพระจริยวัตรที่แสดงถึงความสนิทสนมกันดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงบันทึกดังนี้

เมื่อเรายังเยาว์ แต่จำความได้แล้ว ได้ตามเสด็จทูกระหม่อมไปวัดราชประดิษฐ์อยู่เนืองๆ คราวหนึ่งได้ยินตรัสถามสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ครั้งยังเป็นพระศาสนโสภณว่า คนชื่อคนมีหรือไม่ สมเด็จพระสังฆราชนิ่งนึกอยู่ครู่หนึ่ง แล้วถวายพระพรทูลว่า ไม่มี ทรงชี้เอาเราซึ่งนั่งอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า นี่แนะชื่อคน แต่นั้นเราสังเกตว่าทรงพระสรวล และสมเด็จพระสังฆราชก็เหมือนกัน

อีกส่วนหนึ่งมาจากระยะทางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักทำให้เดินทางสะดวกโดยไม่จำกัดเวลา เช่นที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจโดยมากจะเสด็จฯทรงพระแคร่คนหาม ออกทางประตูเทวาพิทักษ์มายังวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม แล้วประทับสนทนากับสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) อยู่ที่กุฏิของท่านนานๆ จนบางคราวถึงกับลงบรรทมคว่ำสนทนากัน หรือในบันทึกของนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรของพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ล.ศิริ อิศรเสนา) กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงว่างพระราชกิจในเวลาราตรี มักจะเสด็จไปทรงคุยธรรมะกับพระสาสนโสภณ (สา) ในโบสถ์วัดราชประดิษฐ์เป็นเวลาจนกระทั่งดึกดื่นค่อนคืน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ทรงเล่าว่า เจ้านาย พระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอเล็กๆที่ตามเสด็จไปพร้อมกับเจ้าจอมมารดา ต้องนอนหลับตากยุงอยู่บนแท่นสี่มุมโบสถ์วัดราชประดิษฐ์ จนกระทั่งเสด็จฯกลับ

สายสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ยังปรากฏอยู่เสมอจวบจนวาระแห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ปีมะโรงอันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษาของพระสงฆ์ ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องนมัสการ พร้อมทั้งมีพระราชดำรัสให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เข้าในพระที่บรรทม มีพระราชดำรัสพระราชนิพนธ์เป็นมคธภาษา ทรงลาและขมาพระสงฆ์จากนั้นทรงโปรดฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร เชิญไปอ่านในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พอถึงเวลา 9 นาฬิกา (21.00 น.) ก็เสด็จสวรรคต เล่ากันว่าครั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ท่านนั่งฟังด้วยน้ำตาไหล

คลิกติดตามอ่านตอนต่อไป สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”


หมายเหตุ : ผู้อ่านสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ในบทความ “200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชคู่พระทัยของพระมหากษัตริย์ 2 รัชกาล” เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 34 ฉบับที่ 10 (ส.ค. 2556), หน้า 108-128 อนึ่งทางวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สามารถสอบถามไปได้ที่เพจวัดราชประดิษฐฯ https://web.facebook.com/Watrajapradit/]


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2562