รัฐบาลไทยยอมรับมี “จีนเดียว” ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2518

เมื่อค่ำวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางไปเยือนไต้หวัน เพื่อเป็นการย้ำจุดยืนของสหรัฐ ในการสนับสนุนประชาธิปไตยในไต้หวัน ท่ามกลางความไม่พอใจของทางการจีน ที่ประกาศว่าสหรัฐเป็นผู้ทำลายสันติภาพรายใหญ่ของโลก และประกาศซ้อมรบทันที

ขณะเดียวกันศิลปินนักแสดงจีนชื่อดัง เช่น หลิวเต๋อหัว, ฟ่านปิงปิง, ฟ่านเฉิงเฉิง, แอนเจลาเบบี้, ดาเรนหวัง ฯลฯ ต่างก็โพสต์ภาพสนับสนุนนโยบายจีนเดียว ล่าสุดโลกออนไลน์จีนร้อนระอุกับแฮชแท็ก #世界上只有一个中国 ที่แปลว่า “บนโลกมีจีนเดียวเท่านั้น” และ #只有一个中国 หรือ มีเพียงจีนเดียวเท่านั้น โดยสื่อจีนต่างได้โพสต์ภาพสีแดงธงชาติจีน

บ้างก็ใช้ข้อความว่า 中国  世界上只有一个中国 ที่แปลว่า ประเทศจีน บนโลกมีเพียงจีนเดียวเท่านั้น ที่ขึ้นไปอยู่ในฮอตเสิร์ชในเว่ยป๋อ โดยมีศิลปินอย่าง แจ็คสัน หวัง, ตี๋ลี่เร่อปา, หยางหยาง,เซียวจ้าน, หวังอี้ป๋อ ฯลฯ ก็ได้โพสต์ภาพดังกล่าวลงในเว่ยป๋อ

ในส่วนของกระทรวงต่างประเทศของไทย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า

“ไทยติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไทยไม่ประสงค์ที่จะเห็นการดำเนินการใด ๆ ที่จะเพิ่มความตึงเครียดและบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยหวังให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะใช้ความอดทนอดกลั้นและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการว่าด้วยการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี” [สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

ย้อนกลับเมื่อปี 2518 ที่ไทยยอมรับว่ามี “จีนเดียว” เป็นครั้งแรก

ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 11.10 น. ตามเวลาในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายเติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 และรองนายกอีก 2 คน คือ นายหัวโกะฝง นายเฉินซิเหลียน พร้อมด้วยนายวูเตอะ รองประธานสภาประชาชนจีน นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนให้การต้อนรับ

ภายหลังพิธีต้อนรับและรับประทานอาหารกลางวัน ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พลตรีชาติชาย ชุณหวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกระทรวงต่างประเทศ เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลจีนทันทีเพื่อเจรจากับนายเติ้งเสี่ยงผิงเกี่ยวกับสถานกาณ์ในอินโดจีน

ภายหลังการเจรจากับนายเติ่งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ เดินทางไปเยี่ยม นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยใช้เวลาสนทนากันนานกว่าครึ่งชั่วโมง ในเรื่องการสถาปนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ, สถานการณ์ของเอเชียอาคเนย์ และเรื่องของคนจีนในประเทศไทย ฯลฯ

ข่าวหน้า 1 ใน นสพ. รวมประชาชาติ (ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

ตอนค่ำวันเดียวกัน (30 มิถุนายน 2518) รัฐบาลจีนจัดงานเลี้ยงต้อนรับนายกรัฐมนตรีของไทยและคณะที่ศาลาประชาชน ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐบาลจีน ยังเชิญทูตานุทูตต่างประเทศ ซึ่งมีทูตจากลาว เขมร และเวียดนามร่วมด้วย โดยมีแขกมาในงานประมาณ 700 กว่าคน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช และคณะอีก 3 คน คือ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุน นายประกายเพ็ชร์ อินทุโสภณ เลขาธิการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาพบกับนายเหมาเจ๋อตุง ในเวลา 10.20 น. ที่ พระราชวังจงหนานไห่

ค่ำวันเดียวกัน เวลา 18.40 น. คณะผู้แทนไทยนำโดยม.ร.ว. คึกฤทธ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่นายโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีนพักรักษาตัวอยู่ เพื่อลงนามในแถลงการณ์ร่วม ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการสถาปนาสัมพันธ์ทางการทูต

เนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าว ในข้อที่ 6 กล่าวรับรองเรื่อง “จีนเดียว” ว่า

“รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนเพียงรัฐบาลเดียว รับทราบท่าทีของรัฐบาลจีนว่ามีจีนเพียงประเทศเดียว และว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่แบ่งแยกมิได้ และตกลงใจที่จะถอนผู้แทนทางการของตนทั้งหมดออกจากไต้หวันภายในระยะเวลา 1 เดือน นับจากวันที่ลงนามแถลงการณ์ฉบับนี้”

ภายหลังการลงนามของผู้นำทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้มีการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นภาษาไทย ถ่ายทอดเสียงไปทั่วโลก โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงปักกิ่ง ในตอนค่ำรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพเลี้ยงตอบแทนที่ศาลาประชาคม โดยเชิญเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของจีน และทูตทุกประเทศในกรุงปักกิ่งมาร่วมงาน

ส่วนผลสืบเนื่องจากการลงนามในครั้งนั้น

ไต้หวันชิงตัดความสัมพันธ์กับไทยทันที โดยกระทรวงต่างประเทศไต้หวันออกแถลงการณ์ว่า เนื่องจากรัฐบาลไทยกระทำการไม่เป็นมิตรอย่างยิ่ง ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับระบอบปกครองคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลไต้หวันจึงได้แนะนำสถานเอกอัครราชทูตของคนในกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำประท้วงอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลไทยด้วยว่า ไต้หวันพิจารณาเห็นว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1975

ซึ่งในขณะนั้นหลังจากไทยตัดความสัมพันธ์กับไต้หวันแล้ว จะเหลือเพียง 28 ประเทศในโลกที่ยังคงมีความสัมพันธ์กับประเทศไต้หวัน

ด้าน นายชาร์ลส์ เอส. ไวท์เฮาส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนว่า “เป็นเรื่องธรรมดา เราก็มีที่ทำการที่ปักกิ่ง เราก็ไปปักกิ่ง มาร์คอสก็ไป เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ไป ทำไมคนอื่น ๆ จะไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับปักกิ่งไม่ได้” อย่างไรก็ตาม นายไวท์เฮาส์ปฏิเสธที่จะวิจารณ์ความสำเร็จของไทยในการเปิดความสัมพันธ์กับจีน

ด้านนายชิโอ ยัง เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่ไทยเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนนั้น ชอบแล้วทุกประการ ทั้งนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สิงคโปร์เองก็จะเปิดความสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน ซึ่งคงจะหลังอินโดนีเซีย

ขณะที่สถานีวิทยุพนมเปญออกอากาศรับฟังได้ในกรุงเทพฯ รายงานว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ประเทศ เป็นการสนับสนุนให้สันติภาพของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียอาคเนย์ สถานีวิทยุพนมเปญยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขมรกับไทย นับว่าได้รับความเยียวยาให้ดีขึ้นอย่างมาก ทั้งกล่าวโจมตีซีไอเอที่พยายามก่อกวนสร้างความยุ่งยากในภูมิภาคนี้

ภาพจาก เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อมูลจาก :

“โซเชียลจีนระอุ ‘โลกนี้มีจีนเดียว’ พุ่งติดเทรนด์ ‘แจ็คสัน หวัง’ โพสต์สนับสนุนด้วย”. https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3487820  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565

“แจ็คสันผนึก “หลิว” ยันมี “จีนเดียว” โลกระทึกจีนติดอาวุธซ้อมรบฮึ่มไต้หวัน ฉะสหรัฐ (คลิป)”. https://www.amarintv.com/news/detail/143452  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565

“กรณีสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน”. https://www.mfa.go.th/th/content/taiwan030865?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d  สืบค้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565

“จีนประกาศเปิดสถานทูตในไทยก่อนสิ้นปีฯ”. หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

“ไต้หวันตัดความสัมพันธ์ไทย ว่ากระทำการมาเป็นมิตร”. หนังสือพิมพ์รวมประชาชาติ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


เผยแผร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2565