การสถาปนาความสัมพันธ์ ไทย-จีน 1975 นโยบายต่างประเทศไทยในภาวะไร้ทางเลือก

เติ้งเสี่ยวผิง (ซ้ายสุด) ให้การต้อนรับ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ขวาสุด) ที่เดินทางเยือนกรุงปังกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1975 (ภาพจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2518)

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 นอกจากจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญด้านการต่างประเทศของรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในนโยบายต่างประเทศของไทยอีกด้วย เพราะนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน รัฐบาลไทยภายใต้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ค.ศ. 1948-57) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ค.ศ. 1959-63) และ จอมพล ถนอม กิตติขจร (ค.ศ. 1963-73) ต่างดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและต่อต้านโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน

ไม่ว่าจะเป็นการส่งทหารไปร่วมสงครามเกาหลีเมื่อ ค.ศ. 1950 เพื่อขับไล่กองทัพของเกาหลีเหนือออกไปจากเกาหลีใต้ การร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Treaty Organization – SEATO) เมื่อ ค.ศ. 1954 การลงนามในแถลงการณ์ร่วมถนัด-รัสก์ (Thanat-Rusk Communiqué) เมื่อ ค.ศ. 1962 การส่งทหารไปปฏิบัติการในสงครามเวียดนาม รวมทั้งอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในประเทศไทยและส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในอินโดจีนตลอดทศวรรษ 1960 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 ขณะที่รัฐบาลไทยก็ต้องรับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ก่อความไม่สงบในเขตชนบทตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ซึ่งพรรคดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สถานการณ์เปลี่ยนไปในต้นทศวรรษ 1970 เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามและหันมาสมานไมตรีกับจีนเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1971 ตามด้วยการเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ในปีถัดมา ส่งผลให้ประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาต้องปรับนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ใน ค.ศ. 1972 เริ่มติดต่อกับจีนอย่างไม่เป็นทางการโดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง หรือที่เรียกว่า “การทูตปิงปอง”

แต่เนื่องจากขณะนั้นจีนยังอยู่ในยุคซ้ายจัดและสนับสนุนขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายทั่วโลก ทำให้ไทยลังเลที่จะปรับเปลี่ยนท่าทีต่อจีน จนกระทั่งในครึ่งแรกของ ค.ศ. 1975 เมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถยึดอำนาจการปกครองในลาว กัมพูชา และเวียดนามใต้ได้สำเร็จ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคมของปีนั้นจึงหารือกับ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และตัดสินใจเดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ไทย หรือกล่าวได้ว่าการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1975 เกิดจากสถานการณ์บังคับจนไทยไม่มีทางเลือกอื่น [3]

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 (ภาพจาก หนังสือความสัมพันธ์จีน-ไทย, สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน, 2547)

การตัดสินใจครั้งนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มิได้หารือกับฝ่ายความมั่นคงแต่อย่างใด ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติเล่าในงานสัมมนาเมื่อ ค.ศ. 2000 ว่า

“เดินไปเดินมา อยู่วันหนึ่งคุณชาติชายก็เรียกเข้าไปในห้อง บอกว่า ‘คุณอานันท์…คุณอานันท์ต้องไปปักกิ่งแล้วนะ ไปเจรจาเปิดความสัมพันธ์’ ผมก็บอกว่า ‘ท่านรัฐมนตรีช้า ๆ หน่อย ไม่ใช่ว่าอยากไปปั๊บก็เดินทางได้เลย’ ผมก็ถามต่อไปว่า ‘อันนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือฮะ’ คุณชาติชายบอก ‘เฮ้ย…ไม่ใช่ แต่ท่านนายกฯ คึกฤทธิ์กับผมตกลงกันแล้ว’ …ดังนั้นผมก็ถามไปว่า แล้วทาง สมช. หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติว่ายังไง ซึ่งตอนนั้นคุณสิทธิ (พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา) เป็นเลขาธิการ สมช. คุณชาติชายก็แบบคุณชาติชายนั่นแหละ ท่านหัวเราะก๊าก บอกว่า ‘ไปถามมัน มันก็บอกให้ศึกษาต่อไปน่ะซี ก็ สมช. มันชอบศึกษาอยู่เรื่อย ไม่ต้องทำอะไรคอยเป็นปี ๆ…ไม่ต้องไปถาม’” [4]

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนยังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ขบวนการนักศึกษาไทยออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักหลังการเปิดเสรีทางการเมืองเมื่อสิ้นสุดรัฐบาลเผด็จการทหารใน ค.ศ. 1973 จนทำให้ชนชั้นนำจารีต ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง และปัญญาชนสายอนุรักษนิยมกังวลว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวค่อนไปทางลัทธิคอมมิวนิสม์ และการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จะยิ่งเป็นช่องทางให้กระแสฝ่ายซ้ายในสังคมไทยรุนแรงขึ้น

ดังที่ นายบุญชนะ อัตถากร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 1975 โดยวิจารณ์ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ ว่ามีแนวความคิดเอียงซ้ายเกินไป และ “ผมต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย หากจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ขออีกสัก 40-50 ปีก็แล้วกัน” [5]

ขณะที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ยืนยันว่าการเดินทางไปจีนก็เพื่อเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น โดยจะไม่นำสิ่งที่พบเห็นในจีนมาปรับใช้กับประเทศไทยแต่อย่างใด [6] ความหวาดเกรงข้อครหาทำนองนี้เองที่ทำให้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เลือก ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี พระราชปนัดดา (เหลน) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงปักกิ่งคนแรก โดยให้เหตุผลว่า “คุณชายเป็นเชื้อพระวงศ์ คงไม่เป็นคอมมิวนิสต์” [7]

การวางท่าทีต่อจีนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่รัฐบาลของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (14 มีนาคม 1975-20 เมษายน 1976) และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (20 เมษายน-6 ตุลาคม 1976) ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ค.ศ. 1976 ที่บุคคลสำคัญของจีนถึงแก่อสัญกรรมไล่เลี่ยกัน 3 คน ได้แก่ โจวเอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรี ในเดือนมกราคม จูเต๋อ (Zhu De) ประธานคณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชน ในเดือนกรกฎาคม และเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนกันยายน

ซึ่งในกรณีของโจวเอินไหลและเหมาเจ๋อตง นายกรัฐมนตรีของไทยเพียงแต่ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังกรุงปักกิ่ง แต่ไม่ได้สั่งลดธงครึ่งเสาเนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ใช่ประมุขของประเทศ ต่างจากกรณีของจูเต๋อซึ่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช สั่งลดธงครึ่งเสาเนื่องจากเป็นผู้ทำหน้าที่ประมุขของประเทศแทนตำแหน่งประธานาธิบดีที่ยกเลิกไปตามรัฐธรรมนูญจีนฉบับ ค.ศ. 1975 ผลปรากฏว่าเรื่องนี้ถูกโจมตีอย่างกว้างขวาง ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเล่าย้อนความหลังว่า 

“ประมุขของประเทศจีนเขาเสียชีวิตไป คือใน hierarchy ของจีนเขาไม่ได้บอกว่าเป็นประธานาธิบดี เพราะเขาไม่มีตำแหน่ง President อาจใช้ชื่อว่า Chairman ของ Standing Committee อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราดูในสารบบของจีนแล้วเราก็จะรู้ว่าคน ๆ นี้คือประมุขของประเทศ แล้วกระทรวงต่างประเทศก็บอกรัฐบาลว่าต้องลดธงครึ่งเสา 3 วัน ผมยังจำได้ว่าคุณสมัคร สุนทรเวช [8] ด่ากระทรวงต่างประเทศใหญ่ บอกว่าไอ้พวกนี้งี่เง่า เขาไม่ได้เป็นประมุข ไม่ได้เป็น President นี่มันประจบ มันสอพลอ มันเอาใจจีน กระทรวงต่างประเทศถูกด่าหมด อุทาร สนิทวงศ์ฯ ทมยันตี ดร. อุทิศที่เล่นระนาดเก่ง [9] โอ้ย” [10]

อ่านเพิ่มเติม :


เชิงอรรถ :

[3] สารสิน วีระผล. “ความสัมพันธ์ไทย-จีน : กระแสพัฒนาการบนความขัดแย้งในภูมิภาคจากห้วงสองทศวรรษ (ค.ศ. 1975-1995),” ใน จีน-ไทยในศตวรรษที่ 21. บรรณาธิการโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2542), น. 295; พวงทอง ภวัครพันธุ์. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2561), น. 136. 

[4] อานันท์ ปันยารชุน. “ปาฐกถาพิเศษ,” ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน เหลียวหลังแลหน้า. น. 15. 

[5] กลุ่มนักข่าวการเมืองอักษรบัณฑิต. คึกฤทธิ์เปิดม่านไม้ไผ่. (กรุงเทพฯ : อักษรบัณฑิต, 2518), น. 101.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 96. 

[7] จุลชีพ ชินวรรโณ. 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน : ความร่วมมือระหว่างกัลยาณมิตร 2518-2548. (กรุงเทพฯ : กระทรวงการต่างประเทศ, 2549), น. 46. 

[8] รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

[9] หมายถึง พลโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (นามปากกาว่า ทมยันตี) และ ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแสดงสำคัญของฝ่ายขวาในการเมืองไทยช่วงกลางทศวรรษ 1970

[10] อานันท์ ปันยารชุน. “ปาฐกถาพิเศษ,” น. 20.


หมายเหตุ : คัดเนื้อส่วนหนึ่งจากบทความ “ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยามยาก : คึกฤทธิ์ รัฐประหาร 6 ตุลา และธานินทร์ (ค.ศ. 1975-77/พ.ศ. 2518-20)” เขียนโดย รศ. ดร. สิทธิพล เครือรัฐติกาล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2564