เบื้องหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน “คึกฤทธิ์” พูดอะไรทำให้จีนเครียด

คึกฤทธิ์ โจวเอินไหล ลงนาม สถาปนา ความสัมพันธ์ไทย-จีน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯ ไทย และนายโจวเอินไหล นายกฯ จีน ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน

ท่ามกลางความสงสัยและไม่แน่นอน ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คือผู้ร่วมสถาปนา ความสัมพันธ์ไทย-จีน แต่คำพูดอะไรที่ทำให้ทางการจีนถึงกับเครียด! 

การเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อ ค.ศ. 1972 จนนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่รัฐบาลเผด็จการทหารไทยไม่ได้ทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงท่าทีของมหามิตรสหรัฐอเมริกาล่วงหน้า นำไปสู่ความโกลาหลภายในรัฐบาลเผด็จการทหารไทย

การเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อจีนดังกล่าว เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักให้รัฐบาลเผด็จการทหารไทยเริ่มปรับเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างรวดเร็ว กระทั่งเกิดความสับสนและโจมตีซึ่งกันและกันในหมู่ชนชั้นนำไทย [1]

อย่างไรก็ตาม นับแต่การสถาปนาระบอบเผด็จการทหารสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ซึ่งเปิดฉากขึ้นใน ค.ศ. 1957 การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับจีนถูกทำให้เป็นอัมพาต การค้นคว้าทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายสำหรับนักวิชาการ เนื่องจากอาจถูกจับจ้องจากรัฐ และติดป้ายว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ [2]

ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวนี้ การศึกษาเกี่ยวกับจีนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนจีนในประเทศไทย จึงอยู่ในภาวะชะงักงัน

พลันที่สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อจีน จนรัฐบาลไทยจำต้องเดินตาม รัฐบาลเผด็จการทหารไทยเริ่มตระหนักถึงภาวะสุญญากาศทางความรู้เกี่ยวกับจีน โดยเฉพาะมิติด้านความสัมพันธ์ไทย-จีน ภายใต้ภาวะดังกล่าว รัฐบาลเผด็จการทหารไทยได้ตั้งคณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับจีนในเอกสารภาษาจีน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใน ค.ศ. 1972 เพื่อแปลเอกสารภาษาจีนและค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน การใช้อดีตเป็นเครื่องมือส่องสว่าง คลายความสงสัยและไม่แน่นอนของสถานการณ์ในขณะนั้น…

กระทั่งรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1975

แม้การเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม หากอ่านเอกสารหลักฐานจากฝั่งจีนจะพบว่าการเดินทางครั้งนี้ได้สร้างปัญหาให้กับความสัมพันธ์ไทย-จีน ตั้งแต่เริ่มต้น อันเป็นผลมาจากสุญญากาศทางความรู้เกี่ยวกับจีน จนนำไปสู่การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับความอ่อนไหวของจีน ต่อประเด็นประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่เกี่ยวกับการนิยาม “ชาติจีน”

ภายหลังจากการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน นายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 เพียง 3 วันต่อมา ปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อน และเกี่ยวข้องกับประเด็นคนจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย ได้สร้างความกังวลให้แก่ทางการจีนอย่างมาก

ภายหลังจากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมฯ คณะของไทยได้เดินทางเยือนเซี่ยงไฮ้และคุนหมิง เมื่อเดินทางถึงคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ในวันที่ 4 กรกฎาคม ทางเจ้าภาพได้จัดเลี้ยงรับรองอาหารค่ำซึ่งปรุงโดยชนชาติไทจากสิบสองปันนา มีลาบเนื้อ และน้ำพริกอ่องเป็นอาหารจานเด็ดเพื่อสร้างความประทับใจให้กับคณะ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ [3]

ภายหลังรับประทานอาหาร ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้กล่าวขอบคุณเจ้าภาพด้วยอารมณ์ขันว่า

“เมื่อมาถึงคุนหมิง รู้สึกว่าข้าพเจ้ากลับมาบ้านเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะทราบจากประวัติศาสตร์ว่าสมัยราชวงศ์ถัง อาณาจักรไทยย้ายจากเมืองตาลีมาอยู่คุนหมิง แต่นั่นเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ที่พิสูจน์ได้ก็คืออาหารมื้อแรกที่นี่มีอาหารไทย 2 อย่าง คือ ลาบเนื้อ ซึ่งอร่อยกว่าไทยมาก และน้ำพริก ถ้าอย่างนี้ ไม่เรียกว่ากลับบ้านเดิมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรอีกแล้ว” [4]

อานันท์ ปันยารชุน นักการทูตหนุ่มที่ร่วมคณะไปด้วย ได้กล่าวถึงความรู้สึกโดยรวมของคณะนักการทูตไทย และเล่าขยายความถึง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ว่า

“เราทุกคนก็รู้ว่าเรื่องสิบสองปันนา และเรื่องเชียงรุ่ง ในมณฑลยูนนาน ความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจมันก็มีมานาน คุณคึกฤทธิ์ก็บอกเลยคืนนั้นว่า พรุ่งนี้เช้าผมจะเอาธงไทยไปปักหน้าบ้านพักรับรอง แล้วประกาศว่าคณะของเรามาปลดแอกมณฑลยูนนานออกจากจีนแล้ว เรามาเรียกร้องดินแดนกลับคืนไป” [5]

ฝ่ายจีนไม่ได้รู้สึกซาบซึ้งกับคำกล่าวขอบคุณของนายกรัฐมนตรีไทย และความพยายามที่จะเชื่อมโยงไทยกับจีนมากนัก ตรงกันข้าม คำกล่าวด้วยอารมณ์ขันของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กลับสร้างความวิตกกังวลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรุงปักกิ่งที่ร่วมเดินทางมากับคณะนักการทูตไทย ซึ่งรวมถึง ฮานเนี่ยนหลง (韩念龙) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน และ ฮว่ากั่วเฟิง (华国锋) รองนายกรัฐมนตรี

สำหรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งทำการปฏิวัติสําเร็จใน ค.ศ. 1944 การสร้างนิยาม “ชาติจีน” เป็นโจทย์สำคัญอันหนึ่งในการยึดโยงคนจีนเข้าด้วยกัน เมื่อการปฏิวัติเสร็จสิ้นลง ทางการจีนได้พยายามนิยาม “ชาติจีน” ว่าคือประเทศชาติที่เกิดจากการหลอมรวมของคนหลากหลายชาติพันธุ์ รวม 56 ชาติพันธุ์ ซึ่งมาจากโครงการจัดจำแนกชาติพันธุ์ตามสูตร 55 (ชนชาติพันธุ์ส่วนน้อย) +1 (ชนชาติพันธุ์ฮั่น) = 56 ทั้งนี้สูตรการจำแนก 56 ชาติพันธุ์นี้เพิ่งมาสำเร็จลงตัวเมื่อ ค.ศ. 1979 ด้วยการจัดจำแนกชนชาติพันธุ์จีนั่ว (基诺族) เป็นชนชาติพันธุ์สุดท้าย [6]

ดังนั้น คำกล่าวของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ใน ค.ศ. 1975 ที่กล่าวถึงความผูกพันระหว่างชนชาติพันธุ์ไทในยูนนานกับคนไทย ความรู้สึกเหมือนกลับบ้านเดิมและการเรียกร้องดินแดนคืน อันเป็นผลมาจากการถูกหล่อหลอมด้วยประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า จึงสร้างความวิตกกังวลให้แก่ทางการจีนอย่างมาก

เนื่องจากเป็นการท้าทายกระบวนการนิยาม “ชาติจีน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการยึดโยง “ชนชาติพันธุ์ไท” ในจีน เข้ากับจินตนาการ “ชาติไทย” อันเป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ขมขื่นจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่เพิ่งผ่านพ้นไม่นาน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐบาลเป็นประเด็นอ่อนไหว

ดังนั้น ประวัติศาสตร์ฉบับอัลไต-น่านเจ้า จึงเป็นเรื่องอันตราย นอกจากการอ้างอธิปไตยโดยนัยเหนือชนชาติพันธุ์ไทในจีนแล้ว ประวัติศาสตร์ฉบับดังกล่าวยังอ้างอธิปไตยทางประวัติศาสตร์เหนือดินแดนจีน…

หลังคณะของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เดินทางกลับไทยไม่กี่วัน กระทรวงการต่างประเทศจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ได้สั่งการผ่านพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลยูนนาน ให้สถาบันวิจัยประวัติศาสตร์ประจำมณฑลยูนนานวิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน เพื่อความกระจ่างในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทยฉบับอัลไต-น่านเจ้า ที่อ้างอธิปไตยทางประวัติศาสตร์เหนือชนชาติพันธุ์และดินแดนบางส่วนของจีน ทั้งยังเน้นความไม่ลงรอยระหว่างชนชาติพันธุ์ไท(ย) กับจีน ด้วยการอ้างว่า การรุกรานของจีนเป็นชนวนทำให้ “คนไท(ย) ทิ้งแผ่นดิน” อพยพลงใต้จากน่านเจ้าจนมาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยทุกวันนี้ [7]

ภายหลังได้รับแจ้งจากรัฐบาลจีน เฉินหลี่ว์ฝ่าน (陈吕范) นักวิจัยอาวุโสประจำสถาบันวิจัยประวัติศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าจัดตั้งกลุ่มวิจัยความสัมพันธ์ไทย-จีน ขึ้น กลุ่มวิจัยเน้นจุดมุ่งหมายในการวิจัย 2 เรื่อง คือ การล้มล้างมายาคติประวัติศาสตร์เรื่องยูนนานเคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรไท(ย) และการสลายความไม่ลงรอยระหว่างชาติพันธุ์ไท(ย) กับจีน

การทำงานของกลุ่มวิจัยไม่ได้เกิดจากการทำตามคำสั่งของรัฐบาลจีนเพียงด้านเดียว หากแต่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมวิชาการ ที่ต้องการใช้วิชาการเป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของจีนด้วย

เฉิน หัวหน้ากลุ่มวิจัยได้เขียนบันทึกระลึกถึงเหตุกาณ์ตั้งแต่เริ่มต้นได้รับการติดต่อให้ทำวิจัยและบรรจุรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ในบันทึกดังกล่าว เฉินเขียนด้วยอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมพาดพิงถึง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และคณะทูตไทยกับการอ้างอิงประวัติศาสตร์ฉบับอัลไต-น่านเจ้า ว่า

“ท่านนายกรัฐมนตรีไทยที่เพิ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศชาติของข้าพเจ้าเสร็จสิ้น ผู้นี้คิดว่าการเดินทางมายูนนานคือ ‘การเดินทางกลับบ้านเดิม’ ท่านกล่าวว่า ‘เมืองหลวงของไทยแต่เดิมอยู่ที่ต้าหลี่ ต่อมาจึงอพยพลงมายังคุนหมิง’ นอกจากนี้นายชะลอ วนะภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อเดินทางกลับแล้ว ได้เขียนบทความลงวารสาร ที่กรุงเทพฯ ระบุว่า ยูนนาน ‘เคยเป็นดินแดนใต้อาณัติของไทยมาก่อน’” [8]

กลุ่มวิจัยได้เริ่มแปลเอกสารภาษาไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย และ ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งรวมถึงงานประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทยที่แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการ ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการสร้างมหาอาณาจักรไทยด้วยการผนวกรวมพื้นที่ต่างๆ ที่มีคนไท(ย) อาศัยอยู่เข้าด้วยกัน รวมทั้งจีนตอนใต้ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้รัฐบาลจีนใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ ไทย-จีน

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ไม่ได้มุ่งเพียงการนำเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาลจีนเท่านั้น หากแต่การผลิตความรู้ของกลุ่มวิจัยยังมีภาคปฏิบัติการที่ใช้ความรู้วิชาการเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานทางการทูตโดยตรงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์, สงครามเวียดนาม: สงคราม กับความจริงของ “รัฐไทย” (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2549), น. 118-119.

[2] อาทิ เขียน ธีระวิทย์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ในช่วงเวลานี้ว่า เขาถูกจับจ้องทั้งจากสันติบาลและอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นคือประภาส จารุเสถียร เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการทำวิจัยเกี่ยวกับจีน ดู เขียน ธีระวิทย์, “จีนศึกษาของไทย: เหลียวหลังแลหน้า,” ใน จีนใหม่ศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549), น. 17-26.

[3] อานันท์ ปันยารชุน, “ปาฐกถาพิเศษ,” ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน เหลียวหลังแลหน้า, บรรณาธิการโดย เขียน ธีระวิทย์ และเจียแยนจอง (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), น. 19

[4] กลุ่มนักข่าวการเมือง อักษรบัณฑิต, คึกฤทธิ์เปิดม่านไม้ไผ่ (กรุงเทพฯ สวนอักษร, 2518), น. 77.

[5] อานันท์ ปันยารชุน, “ปาฐกถาพิเศษ” น. 19.

[6] ประเด็นการจัดจำแนกชาติพันธุ์กับการนิยาม “ชาติจีน” ดู Thomas S. Mullaney, Coming to Terms with the Nation: Ethnic Classification in Modern China (Berkeley: University of California Press, 2011).

[7] 陈吕范, [中泰关系若干问题研究课题小结],《秦族起源与南诏国研究文集》上, 陈吕范编 (北京:中国书籍出版社,2005) 1.

[8] Ibid., p.2.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ เขียนจีนให้เป็นไทย” เขียนโดย สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ (มติชน, 2564)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2564