คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์

พิธีกรรม ตี กล้อง มโหระทึก ยุค ดึกดาบรรพ์
ภาพเขียนสมัยใหม่ที่ช่างเขียนสร้างจินตนาการพิธีกรรมตีมโหระทึกยุคดึกดาบรรพ์ (จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2547)

“คนไทย” อยู่ที่นี่ ที่ “อุษาคเนย์” : เมื่อกลับจากน่านเจ้าและสิบสองพันนาในมณฑลยูนนาน ผมเขียนเล่าเรื่องไว้ในหนังสือชื่อ “คนไทยไม่ได้มาจากไหน?” (พ.ศ. 2527)

ต่อมาผมเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “คนไทยอยู่ที่นี่” (พ.ศ. 2529)

ชื่อหนังสือ “คนไทยอยู่ที่นี่” กลายเป็นปัญหา เพราะไม่ชัดเจน และเล่นมากไป เมื่อไปเมืองแถนที่เวียดนามกลับมาแล้ว จึงเขียนอธิบายเพิ่มเติมไว้ในหนังสือชื่อ “ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม” (พ.ศ. 2534) ว่า “คนไทยในอุษาคเนย์”

ที่เขียนไปทั้งหมดก็เพื่อบอกว่า ถิ่นกำเนิดของคนชนชาติไทยไม่ได้อยู่ที่เทือกเขาอัลไต ไม่ได้อยู่ที่น่านเจ้า ไม่ได้อยู่ที่สิบสองพันนา ไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว แต่มีพัฒนาการผสมกลมกลืนอย่างกว้างขวางอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์นี่แหละ

ผมพยายามย้ำว่า “ไทย” ไม่ใช่ชื่อ “เชื้อชาติ” หากเป็นชื่อ “สัญชาติ” และ “คนไทย” ในดินแดนประเทศไทยก็มีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีพัฒนาการความเป็นมาแตกต่างกัน จะเหมารวมกันหมดทั้งประเทศไม่ได้

แต่คำอธิบายของผมก็ยังบกพร่องอยู่ดี เพราะมีข้อด้อยหลาย ๆ ด้าน ข้อด้อยสำคัญก็คือ ผมไม่ได้เอาจริงเอาจัง แต่ทำเป็นเล่นสนุกสนานไปหมด เพราะไม่ชอบความเครียด และไม่เห็นความจำเป็นว่าเรื่องอย่างนี้จะต้องเครียด

ครั้นไปเมืองจ้วงที่มณฑลกวางสีกลับมาจึงเขียนหนังสือเล่มใหม่สด ๆ ร้อน ๆ ชื่อ “คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์” (พ.ศ. 2537) เพื่อชี้แจงหลักฐานเพิ่มเติมให้ชัดเจนขึ้นอีก พร้อมกับย้ำว่า ชนชาติจ้วงเป็น “เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด”

หลายท่านงุนงงสงสัยแล้วถามผมว่าเป็นเครือญาติทางไหน? ยิ่งใหญ่ยังไง? เก่าแก่ตรงไหน?

อันที่จริงผมเขียนไว้ในบทท้ายของหนังสือแล้ว แต่หลายท่านคงยังไม่ได้อ่าน และไม่อยากหามาอ่าน เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อหามาอ่าน ผมจึงขออนุญาต “ยัดเยียด” คำให้การมาอีกดังนี้

จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด

ที่ว่า “จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย” ก็เพราะภาษาจ้วงกับภาษาไทยอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน

นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด “ปากต่อปาก” ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่น เรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝนเช่นกบ ฯลฯ ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่ารวมทั้งคนไทยในประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงย่อมพูดว่า “ไทยเป็นเครือญาติตระกูลจ้วง” ด้วยก็ได้

ที่ว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” ก็เพราะในมณฑลกวางสีมีชาวจ้วงถึง 12-13 ล้านคน และอยู่เขตมณฑลอื่น ๆ อีกเกือบ 1 ล้านคน นับเป็นเครือญาติตระกูลไทยมีจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยซึ่งนับว่าใหญ่มาก

นอกจากนั้น ชาวจ้วงยังมีส่วนเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึกที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย

นี่แหละ “ผู้ยิ่งใหญ่”

ที่ว่า “เก่าแก่ที่สุด” ก็เพราะมีร่องรอยและหลักฐานว่า จ้วงมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว โดยดูจากภาพเขียนที่ผาลาย กับมโหระทึกและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ “ผี”

ภาพเขียนมหึมาบนภูผามหัศจรรย์ หรือผาลาย เป็นภาพพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีภาพมโหระทึก และกลุ่มคนประโคมตีมโหระทึก มีภาพคนประดับขนนกบนหัวแล้วทำท่ากางขากางแขนคล้ายกบ

มโหระทึกเป็นกลองหรือฆ้องทำด้วยสำริดที่มีตัวตนเป็นวัตถุจริง ๆ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ และมีพัฒนาการเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว อาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย

เฉพาะบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี พบมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า 600 ใบ และชาวจ้วงทุกวันนี้ยังมีมโหระทึกประจำตระกูลกับประจำหมู่บ้านใช้งานในพิธีกรรมที่ทำสืบเนื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์อีก รวมแล้วนับพัน ๆ ใบ แสดงว่าชาวจ้วงให้ความสำคัญต่อมโหระทึกมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่าจ้วงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึก (แม้ชนชาติอื่นจะมีมโหระทึกด้วย แต่รวมแล้วไม่มากเท่าจ้วง)

ทุกวันนี้ชาวจ้วงยังใช้มโหระทึกประโคมตีในพิธีสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรม “ขอฝน” เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังพิธีบูชากับประจำปีตามหมู่บ้านต่าง ๆ มีขบวนมโหระทึก แห่กบ มีการละเล่นที่คนแต่งตัวเป็นกบช่วยเหลือมนุษย์ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกับภาพเขียนที่ผาลาย แสดงว่าชาวจ้วงยังสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมตั้งแต่ยุคสำริดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 3,000 ปีมาแล้ว

พิธีกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นระบบความเชื่อ “ผี” ที่มีอยู่ในนิทานและนิยาย ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันกับความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับลมมรสุมอันเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และทางวัฒนธรรมที่มีความเจริญมาช้านาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงว่าชาวจ้วงตั้งหลักแหล่งเป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่บริเวณมณฑลกวางสีและเขตใกล้เคียงอย่างสืบเนื่องมาแต่ดั้งเดิมเริ่มแรก ยิ่งการที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมากถึง 12-13 ล้านคน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนพื้นเมืองในภูมิภาคนี้มาช้านานมากทีเดียว

นี่แหละ “จ้วง-เครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด”

แต่ทุกวันนี้จ้วงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่ได้เป็นประชากรของประเทศไทย และไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวจ้วงเป็นคนจีน เพราะเป็นประชากรจีน และอยู่ในดินแดนประเทศจีน รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัยและขนบธรรมเนียม ประเพณีหลาย ๆ อย่าง

และแม้จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองจ้วงกวางสี แต่อาจมีชาวจ้วงบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยสมัยโบราณก็ได้ ส่วนชาวจ้วงเกือบทั้งหมดก็อยู่ที่เมืองจ้วงนั้นแหละ

เหตุที่ต้องสนใจศึกษาเรื่องจ้วง ก็ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ว่า

“จ้วง เป็นกลุ่มชนชาติไทยที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่อย่างสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ซึ่งอย่างน้อยก็ราว 2,300-2,400 ปีมาแล้ว ฉะนั้นวัฒนธรรมของชาวจ้วงก็คือวัฒนธรรมไทยที่มีความเก่าแก่เป็นอารยธรรมเริ่มแรกของภูมิภาคนี้ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลอารยธรรมจีนและอินเดีย”

“แสดงว่าคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย พูดภาษาไทย มีระบบความเชื่อและประเพณีหลายอย่างคล้ายคลึงกับชาวจ้วง ไม่ได้เพิ่งมีความเจริญรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมของตนเองเพียงสมัยสุโขทัยราว 700-800 ปี อย่างที่ใครต่อใครคิดกันไปเองเท่านั้น”

“ถ้าไม่มีชาวจ้วงที่เป็นเครือญาติตระกูลไทย ผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดเป็นผู้สืบทอดอารยธรรมต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วเอาไว้ คนไทยก็คงไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่าตนเอง ก็มีพื้นเพรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์”

บรรพชนคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์

ในบทท้ายของหนังสือ “คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์” ที่เขียนขึ้นใหม่ทั้งเล่ม ผมพยายามเชื่อมโยงร่องรอยและหลักฐานเพื่อชี้ให้เห็นว่า ดินแดนสยามอันกว้างใหญ่ไพศาลมีผู้คนหลายหมู่หลายเหล่าหลายเผ่าพันธุ์ผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน มีทั้งพวกพื้นเมืองดั้งเดิม และมีทั้งพวกที่เคลื่อนย้ายมาตามเส้นทางการค้าทางบกกับทางทะเล แล้วบางพวกก็ตั้งถิ่นฐานอยู่กับคนพื้นเมืองจนกลายเป็น “พื้นเมือง” ไปด้วย แล้วใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสำคัญในการสื่อสารจนถูกเรียกจากผู้อื่นว่า “ชาวสยาม”

ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศขึ้นมาใหม่ คือให้ความสำคัญเฉพาะ “ชนชาติไทย” เป็นหลัก แต่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องดินแดนและผู้คนซึ่งประกอบด้วยชาวพื้นเมืองดั้งเดิมและกลุ่มชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เข้ามาประสมกลมกลืนจนกลายเป็นชาวสยามหรือ “คนไทย” สืบมาถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นบรรพชนของ “คนไทย” ทุกวันนี้คือ “ชาวสยาม” ที่มีทั้งเม็ง-มอญ ขอม-เขมร ลัวะ-ละว้า ข่า-ข้อย ลาว และ “แขก” อย่างมาเลย์-จาม รวมทั้งเจ๊ก-จีน ฯลฯ

คนไทย สมัย รัชกาลที่ 5
คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก www.wikimedia.org)

คนพวกนี้เกือบทั้งหมดมีถิ่นฐานเป็นคนพื้นเมืองอยู่ในดินแดนประเทศไทยนี้มาแต่ดั้งเดิม ส่วนน้อยมาจากที่อื่น แต่ก็อยู่กันมาช้านาน แล้วต่างก็มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และดูเหมือนจะมีจำนวนมากกว่าพวกที่เป็นชนชาติไทยเสียอีก

เพราะฉะนั้น บรรพชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากที่ไหน เพราะอยู่ที่นี่ แม้จะมีชนชาติไทยอยู่ที่โน่นด้วย คือกระจายอยู่นอกประเทศไทย แต่พวกนั้นก็ไม่ได้อพยพหลบหนีการรุกรานมาจากไหน ล้วนมีถิ่นฐานอยู่ที่โน่นบ้างอยู่ที่นี่บ้าง คือ อยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์มาแต่ครั้งดั้งเดิมดึกดำบรรพ์อย่างน้อยก็ 3,000 ปีมาแล้ว

พูดกันง่าย ๆ ไม่ต้องลึกลับซับซ้อนจนสับสนดีกว่าว่า “คนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์”

แต่ถ้าท่านผู้อ่านมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ขอได้โปรดเขียนแย้งมาที่นี่ ที่ศิลปวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12  มกราคม 2566