ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | สิทธิพล เครือรัฐติกาล |
เผยแพร่ |
…การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516-กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม) จบลงด้วยการสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1976 (พ.ศ. 2519) โดยในเย็นวันนั้น กลุ่มนายทหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยอ้างภัยคุกคามจาก “จักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์” ที่มีต่อประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์[11]
2 วันต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งก็คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้มีความรู้สึกตั้งแต่เมื่อครั้งศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษในต้นทศวรรษ 1950 แล้วว่า ลัทธิคอมมิวนิสม์นั้น “แคบ แรง และเอาความเคียดแค้นชิงชังเป็นสรณาคม”[12]
ทั้งนี้ในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เขาจัดรายการ “สนทนาประชาธิปไตย” ทางโทรทัศน์ร่วมกับ นายดุสิต ศิริวรรณ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายทหาร และเขียนหนังสือชื่อลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์ เพื่อปลุกให้สาธารณชนตระหนักถึงภยันตรายของลัทธิดังกล่าว และในวันที่ 13 ตุลาคม 1976 (พ.ศ. 2519) นายธานินทร์กล่าวคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยระบุถึงการเน้นความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและการต่อต้านประเทศคอมมิวนิสต์ ความตอนหนึ่งว่า
มีประเด็นสำคัญสองประเด็นที่บางประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์พึงใคร่ครวญ คือ
1. ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศในโลกเสรีด้วยการช่วยเหลือและสนับสนุนการก่อการร้าย และบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย โดยอ้างว่ารัฐบาลตนเคารพในบูรณภาพและไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่น แต่ถ้าพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศของตนกระทำก็อ้างว่าช่วยไม่ได้ และ
2. ถ้าหากประเทศไทยกับประเทศทั้งหลายในกลุ่มอาเซียนจะผูกมิตรไมตรีอันดีต่อกัน ก็หาใช่ธุรกิจอันใดของประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์จะมาแทรกแซงให้เกิดความร้าวฉานไม่
ทั้งสองประเด็นนี้ ถ้าประเทศเหล่านั้นไม่เลือกปฏิบัติเป็นอื่น หรือไม่เปลี่ยนท่าทีเป็นอื่น ชาวโลกเขาจะมองประเทศเหล่านั้นเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการตีสองหน้า[13]
การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลธานินทร์ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี เอกอัครราชทูตประจำกรุงปักกิ่งต้องเดินทางกลับประเทศชั่วคราวเพื่อมารับทราบแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ซึ่งสั่งว่า “ท่านทูตก็อยู่ที่เมืองจีนต่อไป แต่ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยนะ”[14]
ส่วน นายอานันท์ ปันยารชุน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ถูกสั่งพักราชการและตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วยข้อหา “เปิดเผยความลับสำหรับความปลอดภัยของประเทศ”[15] ซึ่งแม้ต่อมาจะไม่พบความผิดและทางกระทรวงเสนอย้ายเขาไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนเป็นกรุงบอนน์เพราะได้รับแจ้งว่านายกรัฐมนตรี “บอกว่าไม่ได้ ขืนไปอยู่ลอนดอนเดี๋ยวจะไปคบกับ ดร. ป๋วยปลุกระดมคนไทย”[16]
นอกจากนี้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520) รัฐบาลประกาศห้ามคณะผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปพบปะหรือแลกเปลี่ยนการเยือนด้านต่างๆ หรือมีการติดต่อที่เป็นทางการกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสม์ ส่วนภาคเอกชนต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี[17] และในเดือนมีนาคมของปีเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยออกประกาศเรื่องสิ่งพิมพ์ต้องห้าม ซึ่งในจำนวน 100 รายการมีที่เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรงไม่ต่ำกว่า 30 รายการ[18]
ขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาจีนก็ถูกปิด โดยมีเพียง 3 ฉบับ คือ ซื่อเจี้ยยื่อเป้า ซิงเสียนยื่อเป้า และจิงหัวยื่อเป้า ที่พิมพ์จำหน่ายต่อไปได้[19] อีกทั้งรัฐบาลไทยยังพยายามติดต่อรัฐบาลไทเปเพื่อยกสถานะสำนักงานของนักการทูตไต้หวันประจำประเทศไทยให้เป็นทางการมากขึ้น แทนที่จะสังกัดสำนักงานสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ประจำกรุงเทพมหานครต่อไปดังที่เป็นอยู่ในขณะนั้น[20]
ขณะเดียวกัน สื่อของทางการจีนที่เคยลดการกล่าวโจมตีไทยในช่วงหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตก็กลับมาโจมตีไทยอย่างรุนแรงอีกครั้ง ดังเช่นสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (Voice of the People of Thailand) ซึ่งกระจายเสียงจากมณฑลหยุนหนานของจีนที่เรียกร้องให้ชาวไทยผนึกกำลังกันโค่นล้ม “ระบอบฟาสซิสม์ปฏิกิริยาที่ทรยศ (reactionary fascist and traitorous regime)” ของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และสร้างประเทศไทยใหม่ที่เป็นเอกราช เป็นประชาธิปไตย และเจริญรุ่งเรือง[21]
แต่นั่นมิได้หมายความว่าจีนไม่มุ่งหวังปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยแต่อย่างใด เพราะช่วงหลัง ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามเริ่มตกต่ำลง และเวียดนามก็เอียงเข้าหาสหภาพโซเวียตมากยิ่งขึ้น ทำให้จีนเห็นความสำคัญของประเทศไทยในทางยุทธศาสตร์ที่จะช่วยคานอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและเวียดนามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้น ประเด็นที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะยึดอำนาจรัฐไทยได้สำเร็จหรือไม่นั้นจึงไม่สำคัญในสายตาของจีนเท่ากับประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรให้รัฐบาลไทยไม่ว่าจะเป็น “ขวา” หรือ “ซ้าย” มีท่าทีเป็นมิตรกับจีน[22] และนี่คือภารกิจสำคัญของไฉเจ๋อหมิน (Chai Zemin) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยคนแรก ซึ่งเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 26 มกราคม 1976 (พ.ศ. 2519)…
เชิงอรรถ :
[11] ปฐม มณีโรจน์ และ สุนทร เกิดแก้ว (บรรณาธิการ). การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน : ประมวลเอกสารสำคัญทางการเมืองระหว่าง 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2519. (กรุงเทพฯ : โครงการผลิตเอกสารประกอบการศึกษาทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2520), น. 1.
[12] ยศ สันตสมบัติ. อำนาจ บุคลิกภาพ และผู้นำการเมืองไทย. (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533), น. 122.
[13] ปฐม มณีโรจน์ และ สุนทร เกิดแก้ว (บรรณาธิการ). การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน : ประมวลเอกสารสำคัญทางการเมืองระหว่าง 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2519. น. 180.
[14] อานันท์ ปันยารชุน. “ปาฐกถาพิเศษ,” น. 21.
[15] ปฐม มณีโรจน์ และ สุนทร เกิดแก้ว (บรรณาธิการ). การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน : ประมวลเอกสารสำคัญทางการเมืองระหว่าง 6 ตุลาคม-22 ตุลาคม 2519. น. 153
[16] อานันท์ ปันยารชุน. “ปาฐกถาพิเศษ,” น. 20. ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 1976
[17] สุดาพร หาญไพบูลย์. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2518-2528. (สารนิพนธ์ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529), น. 65.
[18] ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 94 ตอนที่ 19 (11 มีนาคม 2520) น. 1-12.
[19] อวี๋ติ้งปัง และเฉินซู่เซิน. จงไท่กวานซี่สื่อ (ประวัติความสัมพันธ์จีน-ไทย). (ปักกิ่ง : จงหัว, 2009), น. 351.
[20] Embassy Bangkok. “PRC Ambassador Ch’ai Tse-Min,” Wikileaks Cable : 1978BANGKO133331_d, dated May 10, 1978, https://wikileaks.org/plusd/cables/1978BANGKO13331_d.html.
[21] Document 228 : New Year’s Day editorial of the “Voice of the People of Thailand,” 1 January 1977 (Extracts), in China and Thailand, 1949-1983, edited by R. K. Jain (New Delhi : Radiant Publishers, 1984), p. 211.
[22] สารสิน วีระผล. “ความสัมพันธ์ไทย-จีน : กระแสพัฒนาการบนความขัดแย้งในภูมิภาคจากห้วงสองทศวรรษ (ค.ศ. 1975-1995),” น. 296.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ความสัมพันธ์ไทย-จีนในยามยาก : คึกฤทธิ์ รัฐประหาร 6 ตุลา และธานินทร์ (ค.ศ. 1975-77)” เขียนโดย สิทธิพล เครือรัฐติกาล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2563