ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดประวัติแสตมป์ และบุรุษไปรษณีย์ ของใหม่ในสยาม ที่กำเนิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5
แสตมป์ และบุรุษไปรษณีย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากความรุ่งเรืองของสื่อสิ่งพิมพ์ในสยาม กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อหมอบรัดเลย์ (Daniel Beach Bradley) ได้ออกหนังสือ “จดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์” อันเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของสยาม
จวบจนสมัยรัชกาลที่ 4 หมอสมิธ (Rev. Samuel John Smith) และหมอแอนดรูว์ (Rev. Andrew) ออกหนังสือพิมพ์ “บางกอกเดลิแอดเวอร์ไทเซอร์” (Bangkok Daily Advertiser) อันเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันฉบับแรกของสยาม ขณะที่รัชกาลที่ 4 ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือ “ราชกิจจานุเบกษา” แต่ออกเป็นครั้งคราวไม่มีกำหนดแน่นอน และไม่นานก็ล้มเลิกไป
หนังสือพิมพ์ “คอต”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการรื้อฟื้นหนังสือราชกิจจานุเบกษาขึ้นใหม่ โดยเป็นหนังสือทำนองบอกข่าวราชการ ข่าวในพระราชสำนัก ประกาศพระราชบัญญัติต่าง ๆ กำหนดออกเป็นรายสัปดาห์ แต่นั่นทำให้การรับรู้ข่าวสารล่าช้า หรือข่าวบางเรื่องตกหล่น จึงนำมาสู่การจัดทำหนังสือพิมพ์ “คอต” (Court)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษาไม่สามารถแจ้งข่าวสารได้ทันเหตุการณ์ จึงมีพระดำริจัดทำหนังสือพิมพ์สำหรับบอกข่าวราชการรายวัน สำหรับแจกจ่ายในหมู่เจ้านายและข้าราชสำนักผู้สนใจ โดยทรงชักชวนเจ้าพี่เจ้าน้องมาร่วมก่อตั้งเป็นคณะผู้จัดทำ (กองบรรณาธิการ) หนังสือพิมพ์คอต ซึ่งคำว่า “คอต” มีที่มาจากคำว่า Court แปลว่า พระราชสำนัก ตั้งสำนักงานที่ชั้นล่างของพระตำหนักหอนิเพทพิทยาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง
สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงเป็นทั้งเจ้าของ ผู้แต่งข่าว และผู้จัดการพิมพ์ (บรรณาธิการ) ทำหน้าที่รวบรวมต้นฉบับ และตรวจการพิมพ์ โดยมีเจ้านายอีกหลายพระองค์ผลัดเวรกันทรงแต่งข่าวในแต่ละวัน มีข่าวเช่น ข่าวพระราชสำนัก งานพระราชพิธี และพระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองทั้งในพระนคร และหัวเมือง เป็นต้น
หนังสือพิมพ์คอต ฉบับปฐมฤกษ์ เล่ม 1 แผ่นที่ 1 ออกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2418
หลังจากพิมพ์หนังสือพิมพ์คอตได้ประมาณ 6 เดือน สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์มีพระดำริปรับเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาข่าว ทรงเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ” เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2419
ทว่า หลังออกหนังสือพิมพ์ข่าวราชการได้ประมาณ 3 สัปดาห์ คณะผู้จัดทำทรงปรึกษากันเห็นว่า เจ้านายผู้แต่งข่าวแต่ละพระองค์ทรงมีพระภารกิจราชการอยู่เนือง ๆ จึงปรับเปลี่ยนกำหนดการออกหนังสือพิมพ์จากรายวันมาเป็นเดือนละ 2 ครั้งแทน (รายปักษ์)

โปสต์แมน บุรุษไปรษณีย์
ในช่วงระยะแรกของการออกหนังสือพิมพ์นั้น สมาชิกเข้ามารับหนังสือพิมพ์ที่สำนักงานพระตำหนักหอนิเพทพิทยาคมอย่างสม่ำเสมอ แต่นานวันเข้ามักไม่ใคร่ไปรับหนังสือพิมพ์กันเท่าใดนัก ทำให้หนังสือพิมพ์ตกค้างอยู่ที่สำนักงานจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจึงต้องเป็นผู้นำหนังสือพิมพ์ไปส่งให้แก่สมาชิก โดยจะคิดค่าปรับใบละ 1 เฟื้อง
เหตุนี้ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ มีพระดำริแก้ไขปัญหา ด้วยการให้มีคนเดินส่งหนังสือพิมพ์ให้แก่สมาชิกทุกวัน แทนการให้สมาชิกเข้ามารับหนังสือพิมพ์ที่สำนักงาน เรียกคนเดินส่งหนังสือพิมพ์นี้ว่า “โปสต์แมน” ซึ่งมาจากคำว่า Postman แปลว่า บุรุษไปรษณีย์ คิดค่าบริการปีละ 2 บาท พร้อมกันนั้นก็ได้ยกเลิกการคิดเงินค่าปรับไปด้วย
“…เด็กผู้ที่ส่งหนังสือนั้นจะได้แต่งตัวใส่เสื้อกางเกงสีน้ำเงิน สพายกระเป๋าหนังสือ ท่านทั้งหลายจะได้เปนสังเกตให้ชัด แลจะคิดจ้างไปส่งทุก ๆ วัน…”
แสตมป์
โปสต์แมนไม่เพียงทำหน้าที่ส่งหนังสือพิมพ์ในตอนเช้าเท่านั้น หากสมาชิกที่รับหนังสือพิมพ์ต้องการฝากส่งหนังสือหรือจดหมาย ก็สามารถให้โปสต์แมนนำไปส่งยังปลายทางได้ แต่จะต้องมี “แสตมป์” จึงจะสามารถทำได้
“…อนึ่ง คนเหล่านี้จะต้องเปนคนส่งหนังสือฝากด้วย เพิ่มออกจากหนังสือข่าวราชการ ถ้าเวลาเช้าหนังสือไปถึงบ้าน ถ้าท่านทั้งหลายผู้รับหนังสือจะส่งหนังสือฝากมาถึงท่านผู้หนึ่งผู้ใด ก็ตามแต่จะส่งได้ เหมือนหนึ่งคำภาษาอังกฤษที่เรียกว่า โปศตแมน แต่จะต้องมีสแตมป์ คือตราอย่างหนึ่งที่เปนกระดาษสี่เหลี่ยมเล็กๆ ปิดลงที่หลังเมื่อเวลาจะส่งให้กับเด็ก…”
สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงอธิบายว่า การมีโปสต์แมนรับฝากส่งหนังสือหรือจดหมายให้เช่นนี้เป็นเรื่องดี และสะดวกกว่า เพราะ “…เมื่อท่านทั้งหลายจะส่งหนังสือก็จะได้ส่งโดยเร็ว แลไม่เปนที่ลำบากแก่บ่าวไพร่ ด้วยใช้บ่าวนั้นมักจะไปช้าบิดพริ้วเสียโดยมาก นี้เปรียบเหมือนหนึ่งใช้ลูกจ้างเหมือนกัน การคงจะดีกว่าเปนแน่…”
นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของแสตมป์ และบุรุษไปรษณีย์ อันมีที่มาจากการจัดส่งหนังสือพิมพ์นั่นเอง

สำหรับแสตมป์ที่ใช้ในการนี้ เรียกว่า “แสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์” ถือเป็นแสตมป์ที่ใช้เฉพาะท้องถิ่น หรือ Local Stamp ซึ่งพิมพ์ขึ้นโดยใช้ในวงจำกัดสำหรับท้องถิ่นที่หนึ่งเท่านั้น ไม่ได้นำออกไปใช้อย่างเป็นทางการ โดยแสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. แสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ชนิดไม่ระบุราคาที่หน้าดวง ลักษณะเป็นแบบเดียวกับภาพวาดลายเส้นที่พิมพ์ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ คือเป็นพระรูปเขียนของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงผินพระพักตร์ไปทางซ้าย ด้านล่างมีข้อความภาษาอังกฤษ “RISING P” มาจากคำว่า Rising Prince คือพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์นั่นเอง
แสตมป์แบบแรกนี้ใช้สำหรับปิดผนึกลงบนหนังสือพิมพ์ในการจัดส่งให้แก่สมาชิก ใบละ 1 ดวง เพื่อป้องกันการปลอมแปลง
2. แสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ชนิดราคาสองสลึง ลักษณะเช่นเดียวกับแบบแรกทุกประการ บริเวณด้านบนเหนือพระรูปมีข้อความภาษาไทยระบุราคาว่า “สองสลึง” ด้านล่างมีข้อความภาษาอังกฤษว่า “RISING P”
สันนิษฐานว่า แสตมป์แบบที่สองนี้ใช้สำหรับการชำระค่าบริการส่งหนังสือพิมพ์
3. แสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ชนิดราคาอัฐหนึ่ง ลักษณะเป็นพระรูปเขียนของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์อยู่ภายในกรอบวงรี ทรงสวมเครื่องแบบทหาร ทรงผินพระพักตร์ไปทางซ้าย บริเวณด้านบนเหนือพระรูปมีข้อความภาษาไทยระบุราคาว่า “อัฐหนึ่ง” ด้านซ้ายมีอักษรภาษาอังกฤษ “B” ด้านขวามีอักษรภาษาอังกฤษ “P” ย่อมาจาก Bhanurangsi Post แปลว่า ไปรษณีย์ภาณุรังษี หรือ Bhanurangsi Postmaster แปลว่า นายไปรษณีย์ภาณุรังษี และบริเวณด้านล่างมีข้อความภาษาไทยว่า “ค่าหนังสือฝาก”
มุมทั้ง 4 ของแสตมป์แบบที่สามมีตัวอักษรย่อภาษาไทยกำกับ มุมด้านบนมีอักษรย่อภาษาไทย “ป. ม.” ย่อมาจากคำว่า โปสต์มาสเตอร์ (Postmaster) มุมด้านล่างมีอักษรย่อภาษาไทย “ภ. ส.” ย่อมาจากคำว่า ภาณุรังษีสว่างวงศ์

แสตมป์แบบที่สามนี้ใช้สำหรับสมาชิกผู้รับหนังสือพิมพ์ในการปิดลงบนหนังสือหรือจดหมาย (ที่ต้องการฝากส่ง) อันเป็นการชำระค่าธรรมเนียมในอัตราค่าบริการเดียวกับการส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะนำไปเป็นบำเหน็จรางวัลให้แก่โปสต์แมน
สำหรับค่าธรรมเนียมนั้น หากนำส่งภายในคูพระนครชั้นใน ต้องปิดแสตมป์ 1 ดวง ราคา 1 อัฐ ถ้าส่งนอกคูพระนครชั้นใน ต้องปิดแสตมป์ 2 ดวง เป็นราคา 2 อัฐ โดยสามารถซื้อแสตมป์ได้ที่สำนักงานพระตำหนักหอนิเพทพิทยาคม
การที่สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงออกหนังสือพิมพ์คอต-หนังสือพิมพ์ข่าวราชการ และการที่ทรงพระอนุญาตให้สมาชิกหนังสือพิมพ์ใช้บริการโปสต์แมนฝากส่งหนังสือหรือจดหมายได้นั้น นับเป็นจุดกำเนิดแสตมป์ และบุรุษไปรษณีย์ เป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการดำเนินกิจการไปรษณีย์ท้องถิ่นยุคแรกของสยาม
อ่านเพิ่มเติม :
- แรกเริ่มมีกิจการไปรษณีย์ เราสื่อสารกันด้วยจดหมายเมื่อใด
- เบื้องหลังไทยตั้งการไปรษณีย์หนแรก เลี่ยงอิทธิพลต่างชาติและเหตุที่งดจ้าง “คนอังกฤษ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุทธิศักดิ์ นิยม สุขสุวานนท์. แสตมป์เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กับกิจการไปรษณีย์ท้องถิ่นยุคแรกของกรุงสยาม ใน, “ศิลปวัฒนธรรม”. ปีที่ 34 ฉบับที่ 11.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2568