เส้นทางธุรกิจลูกสาวเจ้าสัวต้นตระกูลล่ำซำ แกลบที่โรงไฟฟ้าใช้เกือบทั้งหมด มาจากร้านนี้

บ้านกวางหงวนฟง อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ล่ำซำ
บ้านกวางหงวนฟง ของอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน ต้นตระกูลล่ำซำ (ภาพจาก Twentieth Century Impressions of Siam)

ลูกสาวเจ้าสัว “ล่ำซำ” ที่ว่า คือ นางเนย หลีอาภรณ์ บุตรสาวของ นายอึ้งเมี่ยวเหงียน จีนในบังคับฝรั่งเศส ต้นตระกูลล่ำซำรุ่นที่ 1 กับ นางหุ่น ลูกครึ่งจีน-ไทย ต่อมานางเนยแต่งงานกับนายหลีเต็กเคย จึงเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เพราะกิจการของเจ้าสัวล่ำซำนั้นต้องตกทอดเป็นของลูกชาย โดยทั้งสองตกลงใจทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน

ธุรกิจพลังงานที่ว่าคือ “แกลบ” ในเวลานั้นแกลบไม่ได้ใช้แค่เป็นเชื้อเพลิงที่ให้พลังงานในการครัวเรือนสำหรับหุงหาอาหารเท่านั้น

เพราะเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว แม้จะมีการนำเข้าน้ำมันก๊าดจากรัสเซียเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ 2431 เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทางแทนน้ำมันพืช และไขสัตว์ แต่น้ำมันก๊าดมีข้อเสียที่ไวไฟ ทางการจึงออกกฎหมายควบคุมการขนย้าย, จำหน่าย และจัดเก็บ โดยห้ามเก็บไว้ในสถานที่เดียวกันเกิน 80 แกลลอน

ส่วนพลังงานอย่างอื่น ๆ เช่น พลังงานน้ำ, ถ่านหิน ฯลฯ ในเมืองไทยยังไม่มี “แกลบ” จึงเป็นพลังงานสำคัญให้กับหลายกิจการ และที่สำคัญคือราคาถูกกว่าพลังงานอื่นๆ เพราะเมืองไทยมีการปลูกข้าวจำนวนมาก แกลบหรือเปลือกข้าวคือ ผลพลอยได้ของโรงสีจากการสีข้าวที่สร้างรายได้เพิ่มจำนวนไม่น้อย นอกเหนือจากค่าสีข้าว และการขายข้าว

นางเนยและนายหลีเต็กเคยได้เข้าหุ้นกับนางเฮียะ จีนในบังคับฝรั่งเศส ตั้งร้านตังเสง รับซื้อแกลบขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2451 ด้วยทุนจดทะเบียน 83,000 บาท หากภายหลังกิจการของนางเฮียะล้มลายใน พ.ศ. 2456 นางเนยจึงติดต่อขอซื้อหุ้นของนางเฮียะในร้านตังเสงทั้งหมด

กิจการของร้านตังเสงดำเนินไปด้วยดี นอกจากความสามารถในการบริหารนางเนยที่เคยช่วยนางหุ่นดูแลกิจการต่างในบ้านล่ำซำแล้ว ยังเป็นเพราะเครือข่ายสายสัมพันธ์กับโรงสีข้าวขนาดใหญ่ค่อยสนับสนุน ซึ่งบางแห่งเป็นกิจการของครอบครัวและเครือญาติ เช่น โรงสีของตระกูลหลีของสามี, โรงสีของนายหลีเต็กออ-น้องชายนายหลีเต็กเคย ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดสมัยรัชกาลที่ 6, โรงสีของนายอึ้งยุกหลง-พี่ชายนางเนย, โรงสีตระกูลหวั่งหลี ของตระกูลพี่สะใภ้นางเนย ฯลฯ

ร้านตังเสงจึงเป็นหนึ่งในผู้ค้าแกลบรายใหญ่ของประเทศ และมีลูกค้ารายใหญ่สำคัญก็คือ บริษัทไฟฟ้าสยามคอร์เปอเรชั่น ที่ได้สัมปทานดำเนินกิจการไฟฟ้าเวลานั้น แกลบเกือบทั้งหมดที่โรงไฟฟ้าใช้เป็นพลังงานมาจากร้านตังเสง ร้านตังเสงของนางเนยส่งแกลบให้กับโรงไฟฟ้าอยู่ประมาณ 25 ปี นอกจากนี้ก็ส่งแกลบให้โรงเบียร์ของพระยาภิรมย์ภักดี (ปัจจุบันคือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด) ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วรวุฒิ จิราสมบัติ. “ลูกสาวเจ้าสัว ‘ล่ำซำ’” ใน, ลูกจีนหลานมอญ. สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2547

ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์. “100 ปี ‘น้ำมัน’ ในสยาม” ใน, นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กรกฎาคม  2564