เป็นผู้หญิง (อยุธยา) แท้จริงแสนลำบาก ต้องทำไร่ไถนา ขายของ เลี้ยงลูก ส่วนชายนั้นขี้เกียจ!?

ผู้หญิงอยุธยา จูง ลูก กับ ขุนนาง อยุธยา

“ผู้หญิงอยุธยา” มีภารกิจหนักหน่วงอย่างยิ่ง เพราะต้องดูแลบ้านเรือน พ่อแม่ พี่น้อง ลูกและผัวด้วยตัวคนเดียว ยิ่งกว่านั้น ยังต้องทำไร่ไถนา บางทีต้องไปขายของในตลาด เพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวทั้งหมด เรื่องนี้ ลาลูแบร์ เล่าว่า “พวกผู้ชายเกียจคร้านมาก” ดังนี้

“ในระหว่างที่พวกผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรยามมีกำหนด 6 เดือนนั้น เป็นงานหลวงที่เขาจะต้องอุทิศถวายเจ้าชีวิตทุกปี ก็เป็นภาระของภรรยา, มารดาและธิดาเป็นผู้หาอาหารไปส่งให้ และเมื่อพ้นกำหนดเกณฑ์แล้วและกลับมาถึงบ้าน ผู้ชายส่วนมากก็ไม่รู้ที่จะทำงานอะไรให้เป็นล่ำเป็นสัน เพราะไม่ได้ฝึกงานอาชีพอย่างใดไว้ให้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษสักอย่างเดียว

ด้วยพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงใช้ให้พวกนี้ทำงานหลายอย่างต่าง ๆ กัน แล้วแต่พระราชประสงค์ เช่นนี้จึงพออนุมานได้ว่าชีวิตตามปกติของชาวสยามนั้นดำเนินไปด้วยความเกียจคร้านเป็นประมาณ เขาแทบจะไม่ได้ทำงานอะไรเลยเมื่อพ้นจากราชการงานหลวงมาแล้ว เที่ยวก็ไม่เที่ยว ล่าสัตว์ก็ไม่ไป ได้แต่นั่ง, เอนหลัง, กิน, เล่น, สูบยาสูบแล้วก็นอนไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

ภรรยาจะปลุกให้เขาตื่นราว 7 โมงเช้า เอาข้าวปลาอาหารมาให้บริโภค เสร็จแล้วก็ลงนอนต่อไปใหม่ พอเที่ยงวันก็ลุกขึ้นมากินอีก แล้วก็มื้อเย็นอีกคำรบหนึ่ง ระหว่างเวลาอาหารมื้อกลางวันกับมื้อเย็นนี้ เขาก็เอนหลังลงพักผ่อนเสียพักหนึ่ง เวลาที่เหลืออยู่นอนนั้นก็หมดไปด้วยการพูดคุยและเล่นการพนัน พวกภรรยานั้นไปไถนา ไปขายของหรือซื้อของที่ในเมือง”

ด้วยเหตุนี้ “ผู้หญิงอยุธยา” ที่เป็นราษฎรสามัญ จึงมีอิสระที่จะไปไหนได้เต็มที่ เพราะต้องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

แต่ภรรยาขุนนางไม่ค่อยได้ออกไปไหนนอกบ้านเรือน ไม่ได้สุงสิงกับผู้ใดนอกบ้าน โอกาสที่จะออกไปบ้างคือ ไปเยี่ยมญาติ ไปทำบุญที่วัด แต่แทนที่ภรรยาขุนนางเหล่านั้นจะรู้สึกอึดอัดไม่พอใจ เพราะถูกกวดขัน นางเหล่านั้นกลับรู้สึกเป็นเกียรติมาก รู้สึกเป็นผู้ดี และเห็นว่าการไปไหนมาไหนได้โดยเสรีเป็นสิ่งที่น่าอัปยศด้วยซ้ำ และคิดไปว่าสามีไม่ยกย่อง ทั้งดูถูกดูหมิ่นตัวเองเสียอีก ถ้าสามีปล่อยปละละเลยให้นางไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจ

ความรู้สึกอย่างนี้มีมาตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดูตอนยังเด็กและวัยรุ่น กล่าวคือเด็กหญิงชาวบ้านต้องช่วยเหลือตนเอง และช่วยแม่ทำงานทุกอย่าง แต่ลูกสาวขุนนางไม่ต้องทำการงานใด ๆ ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ และแต่งเนื้อแต่งตัวรอลูกชายขุนนางด้วยกันมาเลือกไปแต่งงาน

ถึงอย่างไรโดยภาพรวมแล้ว ผู้หญิงในกรุงสยามได้รับการยกย่องมากเมื่อมีฐานะเป็น “เมียหลวง” เช่น บันทึกจีนของหม่าฮวนระบุว่า กิจการทั้งปวงให้เมียจัดการดูแล ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรสามัญ ถ้ามีเรื่องราวที่จำต้องใช้หัวคิดและการตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะการลงโทษหนักเบา การค้าขายใหญ่น้อย พวกเขาทั้งหลายก็จะทำไปตามการตัดสินใจของเมีย ด้วยว่าความสามารถในทางความคิดจิตใจของพวกเมียนั้นเด่นล้ำกว่าของบรรดาผัวโดยแท้

ผู้หญิงอยุธยา ที่เป็นชาวบ้านมักมีผัวตั้งแต่อายุน้อย จะเห็นว่านางเอกในวรรณคดีทุกเล่ม แต่งงานอายุไม่เกิน 15 ส่วนผู้ชายก็ราวอายุ 18

การอยู่กินกันอย่างเสรีโดยไม่ได้แต่งงานถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องอับอาย เมื่อได้อยู่กินกันก็เสมือนว่าได้แต่งงานกันแล้ว โดยฝ่ายชายจัดพิธีขอขมาต่อพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเท่านั้น

แต่ผู้หญิงชาวกรุงศรีอยุธยาจะไม่ยอมแต่งงานกับชาวต่างชาติ แม้จะพูดจาวิสาสะกับชาวต่างชาติก็ไม่ยอม ถ้าใครทำอย่างนั้นจะถูกประณามว่า หญิงแพศยา

ส่วนผู้หญิงชาวมอญซึ่งมีอยู่มาก ล้วนยินดีแต่งงานกับชาวต่างชาติ และออกที่จะภาคภูมิใจที่ได้แต่งงานกับชาวยุโรปผิวขาวเสียด้วยซ้ำ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2565