จดหมายเหตุความทรงจำ “เจ้าครอกวัดโพธิ์” ประวัติศาสตร์สยาม ฉบับผู้หญิงแต่ง

สตรี เจ้าครอก ในราชสำนัก จิตรกรรมฝาผนัง วัดเวฬุราชิน
ภาพเขียนสตรีในราชสำนัก จากจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเวฬุราชิณ

จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี “เจ้าครอกวัดโพธิ์” ประวัติศาสตร์สยาม ฉบับผู้หญิงแต่ง

เป็นความอาภัพของประวัติศาสตร์โลกและประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นโดยผู้ชาย เป็น “History” คือเป็นเรื่องของผู้ชายแทบทั้งสิ้น

ในพระราชพงศาวดารไทยนั้นจะมีเรื่องของผู้หญิงอยู่ไม่กี่บรรทัด เพราะเรื่องของ “บ้านเมือง” ถูกผู้ชายคุมไว้หมด ขณะที่พระราชพงศาวดารก็ไม่ค่อยมีเรื่อง “ในบ้าน” ดังนั้นเมื่อผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “บ้านเมือง” อย่างกรณีของพระสุริโยทัย จึงถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์

แต่ประการสำคัญก็คือผู้หญิงเมื่อจะเขียนหนังสือ มักจะถูกกีดกัน ถูกเพ่งเล็ง โดนตำหนิไปในทางชู้สาวเสียหมด กับความไม่นิยมให้ผู้หญิงรู้มากเกินหน้าผู้ชาย ทำให้หนังสือตำรับตำราที่ผู้หญิงแต่งขึ้นจึงแทบไม่ปรากฏในสังคมเก่า

หลักฐานการแต่งหนังสือของผู้หญิง มักจะออกมาในรูปของเพลงยาว ซึ่งมีทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ยังไม่เคยเห็นหนังสือประเภทพงศาวดารที่แต่งโดยผู้หญิงปรากฏ นอกจาก “จดหมายความทรงจำ” ของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี หรือ “เจ้าครอกวัดโพธิ์”

แม้จะไม่ถูกจัดอยู่ในตระกูลหนังสือพงศาวดาร แต่ก็เป็นหนังสือที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะช่วงกรุงแตก ช่วงรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี และเหตุการณ์ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และคงจะเป็นเล่มเดียวที่เป็นประวัติศาสตร์จากมุมมองของผู้หญิง ดังนั้นจึงมีเรื่อง “ในวัง” มากกว่า “นอกวัง”

จดหมายเหตุความทรงจำ เล่มนี้ ประกอบไปด้วยเนื้อหา 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เป็นจดหมายความทรงจำ และส่วนที่เป็นพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกนั้นจะเป็นส่วนของพระราชสาส์นต่างๆ

ส่วนของจดหมายเหตุความทรงจำ ของ เจ้าครอกวัดโพธิ์ แบ่งเป็นสองสำนวนคือ ช่วงแรก พ.ศ. 2310-2363 ส่วนนี้จะมีพระราชวิจารณ์โดยตลอด ช่วงที่สองเป็นส่วนที่พบภายหลังบันทึกเพิ่มเติมจนถึงปี 2381 ซึ่งไม่ใช่สำนวนของ กรมหลวงนรินทรเทวี เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ปี 2370 แล้ว และเป็นส่วนที่ไม่มีพระราชวิจารณ์เพราะส่วนหลังนี้ได้มาในปี 2459 หลังรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตไปแล้ว 6 ปี

ต้องยอมรับว่าเฉพาะตัว จดหมายเหตุความทรงจำ นั้น “เคี้ยวยาก” เพราะเป็นสำนวนเก่า และยังมีเรื่อง “ภายใน” อยู่มาก ดังนั้นเมื่อมีพระราชวิจารณ์กำกับโดยตลอดก็ทำให้อ่านได้คล่องคอมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลัง ส่วนของพระราชวิจารณ์จึงกลายเป็นส่วนสำคัญกว่าต้นฉบับจดหมายเหตุความทรงจำ บางปีพิมพ์ถึงกับตั้งชื่อโดยยกเอาพระราชวิจารณ์ขึ้นต้นชื่อหนังสือ แต่ผู้ที่ได้อ่านก็ต้องยอมรับว่าเพลิดเพลินไปกับพระราชวิจารณ์จริงๆ เรียกได้ว่าตั้งแต่หน้าแรกที่ทรงสืบหาตัวผู้แต่งเลยทีเดียว

หากจดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ตกมาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เห็นตัวว่าใครจะวินิจฉัยออกว่าใครเป็นผู้แต่งหนังสือนี้ ในขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงจำหลักด้วยคำเพียงสองสามคำที่ปรากฏในจดหมาย คือผู้เขียนเอ่ยถึง กรมหมื่น โดยไม่เอ่ยชื่อ และกล่าวถึง กรมหมื่น พระองค์นี้เมื่อสิ้นพระชนม์ว่า ประชุมเพลิง แทนถวายพระเพลิง จึงทรงทราบว่า ผู้เขียนคือ กรมหลวงนรินทรเทวี เพราะทรงเรียกกรมหมื่นโดยไม่ออกพระนามเนื่องจากเป็นพระภัสดาของท่าน ซึ่งเดิมเป็นสามัญชน แต่ถูกยกให้เป็นเจ้าภายหลัง จึงทรงใช้คำ ประชุมเพลิง แทน ถวายพระเพลิง นอกจากนี้ยังทรงจับได้อีกหลายประการซึ่งเป็นเรื่องที่ “คนใน” เท่านั้นที่จะรู้ จึงเหลือกำลังที่คนอื่นจะสืบค้นได้เช่นนี้

พระประวัติ กรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงนิพนธ์จดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ พระนามเดิมคือ “กุ” สถาปนาเป็น “พระองค์เจ้าหญิงกุ” เมื่อคราวประดิษฐานพระราชวงศ์ ทรงเป็นพระน้องนางเธอต่างพระชนนี ในรัชกาลที่ 1

พระชนนีของพระองค์เจ้าหญิงกุ เป็นพระน้องนางเธอของพระอัครชายาเดิม (หยก หรือดาวเรือง) ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ถอดความให้ง่ายก็คือ พระองค์เจ้าหญิงกุ ทรงเป็นน้องสาวคนละแม่กับรัชกาลที่ 1 ตามประวัติคือเมื่อพระอัครชายาเดิม (คือแม่รัชกาลที่ 1) สิ้นพระชนม์ พระปฐมบรมมหาชนก (พ่อรัชกาลที่ 1) จึงทรงรับเอาพระน้องนางเธอของพระอัครชายาที่สิ้นพระชนม์ มาเป็นพระชายาสืบต่อ และมีพระราชธิดา 1 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงกุ

ปีประสูติของพระองค์เจ้าหญิงกุไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่รัชกาลที่ 5 ทรงวินิจฉัยไว้ว่า คงประสูติแต่ครั้งกรุงเก่า และน่าจะมีพระชันษามากกว่ารัชกาลที่ 2 ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เมื่อเรียบเรียงหนังสือฉบับนี้คงมีอายุราว 70 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 3

พระปฐมมหาชนกรับเอาพระน้องนางเธอของพระอัครชายา (หยก) หลังจากพระอัครชายาสิ้นพระชนม์ซึ่งไม่ทราบปี พระราชโอรสองค์สุดท้ายของพระอัครชายา คือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ประสูติในปี 2286 ดังนั้นพระองค์เจ้าหญิงกุต้องประสูติหลังปี 2286 และหากมีพระชันษามากกว่ารัชกาลที่ 2 ราว 10 ปีขึ้นไป ซึ่งพระราชสมภพในปี 2310 จึงน่าจะประสูติระหว่างปี 2287-2300 เท่ากับทรงโตทันที่จะรู้เห็นเหตุการณ์พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุง เพราะขณะนั้นจะมีพระชนมายุไม่น้อยกว่า 10 พรรษา

พระภัสดา (สามี) พระองค์เจ้าหญิงกุ คือหม่อมมุก บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) เมื่อรัชกาลที่ 1 ประดิษฐานพระราชวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมมุก ซึ่งเป็นนายกวดหมาดเล็กหุ้มแพร ให้เป็นกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์คือทรง “ยกให้เป็นเจ้า” ด้วยทรงเป็นพระภัสดาของพระองค์เจ้าหญิงกุ พระน้องนางเธอของพระองค์

หม่อมมุก บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) นี้ สืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์คือ ศิริวัฒนะพราหมณ์ ปุโรหิตในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่อมามีบุตรรับราชการเป็นพระมหาราชครู

พระมหาราชครูมีบุตรอีก 2 คน คือ เจ้าพระยาพิษณุโลก (เมฆ) และเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) หม่อมมุกเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) มีน้องชายคือ พระยาพลเทพ (ปิ่น) ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ท่านปิ่นผู้นี้คือบิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทหารเอกในรัชกาลที่ 3

พระองค์เจ้าหญิงกุ และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือกรมหมื่นนรินทรเทพ และกรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์

พระองค์เจ้าหญิงกุประทับอยู่ที่วังริมวัดพระเชตุพนฯ ตัววังอยู่ท้ายสนมแถบวิหารพระนอน ทรงเก็บอากรตลาดท้ายสนมตลอดพระชนมายุ จนคนทั้งหลายเรียกว่า “เจ้าครอกวัดโพธิ์” (หรือ เจ้าครอกวัดโพ)

คำว่า “เจ้าครอก” นี้ใช้สำหรับผู้มียศในราชสกุล และเป็น “เจ้า” โดยกำเนิด

พระองค์เจ้าหญิงกุสิ้นพระชนม์ในปี 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 จึงทรงสถาปนานามพระอัฐิเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี”

มูลเหตุที่ทรงนิพนธ์ “บันทึก” ในรูปจดหมายความทรงจำฯ นี้ ก็ด้วยทรงเห็นเหตุการณ์มามากถึง 3 พระราชวงศ์ 5 แผ่นดิน และทรงอยู่ใกล้ชิดกับราชการมาโดยตลอด จึงมีผู้มาสอบถามเรื่องราวต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงคิดแต่งหนังสือไว้ “เล่าเรื่อง” ให้ลูกหลานฟัง เนื้อหาต่างๆ จึงมีความเที่ยงตรงดังพระราชวิจารณ์ที่ว่า “ข้าพเจ้ายืนยันได้ว่าหนังสือฉบับนี้ ไม่มีความเท็จเลย ความที่เคลื่อนคลาดนั้นด้วยลืมบ้าง ด้วยทราบความผิดไปบ้าง เรียงลงไม่ถูกเปนภาษาไม่แจ่มแจ้งบ้าง”

การเขียนหนังสือลักษณะบันทึก “ส่วนตัว” นี้ น่าจะมีอยู่ก่อนนานแล้ว แต่หายสาบสูญไปไม่มีหลักฐานมาถึงปัจจุบัน บันทึกส่วนตัวที่สาบสูญไป แต่มีการค้นพบภายหลัง เช่น ร่างบันทึกรายงานการเดินทางไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสของโกษาปาน ในปี 2223 บันทึกของโกษาปาน ฉบับนี้น่าจะเข้าข่ายเป็นบันทึกช่วยจำ เพราะยังใช้คำสามัญอยู่และแทนตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” จึงไม่น่าจะเป็นบันทึกเพื่อถวายรายงานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บันทึกฉบับร่างของโกษาปานนี้ตกหล่นอยู่ในประเทศฝรั่งเศสถึง 300 ปี

และน่าเชื่อว่าบันทึกลักษณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะข้าราชการ หรือผู้ชายเท่านั้น เพราะเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงตรวจสอบพบว่า จดหมายเหตุความทรงจำฉบับนี้ เป็นสำนวนผู้หญิง ก็ไม่ได้มีพระราชวิจารณ์ว่าเป็นของแปลกอะไร ทั้งยังทรงยกตัวอย่าง พระองค์เจ้าประทุมเมศ ซึ่งเขียนหนังสือประทานพรในเวลาสรงน้ำสงกรานต์ นอกจากนี้ยังทรงคิดไปถึงเจ้านายฝ่ายหญิงพระองค์อื่นที่เข้าข่ายจะแต่งหนังสือนี้ได้

นั่นแสดงว่าเจ้านายฝ่ายหญิงหลายพระองค์ทรงนิพนธ์หนังสืออยู่เป็นธรรมดา ทั้งที่เปิดเผย และเป็นบันทึกลับ น่าเสียดายว่าหนังสือเหล่านั้นไม่ได้ตกมาถึงคนรุ่น

ผู้ที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคงรู้คุณค่าโดยไม่ต้องบรรยายสรรพคุณใดๆ ทั้งคุณค่าในต้นฉบับจดหมายเหตุความทรงจำ และส่วนของพระราชวิจารณ์ แต่ท่านที่ยังกลัวๆ กล้าๆ ที่จะหยิบหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่าน ก็ต้องบอกว่า หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก เต็มไปด้วยเกร็ดความรู้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อมีพระราชวิจารณ์ประกอบด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ “คนใน” เขียน “คนใน” อธิบาย ทำให้เรื่องต่างๆ ที่ “คนนอก” ไม่มีอ่านไม่รู้เรื่อง มีโอกาสเข้าใจมากขึ้น

เช่นเรื่องที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือ เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกคาดโทษ กรณียิงปืนใหญ่สู้พม่าใกล้วัง มีบันทึกไว้ดังนี้

“4. แผ่นดินต้น อยู่น่าวัดแก้วได้ยิงสู้พม่า ครั้งหนึ่งต้องคาดโทษมิให้ยิง ให้แจ้งศาลาก่อน พม่าล้อมไว้ 3 ปี” มีพระราชวิจารณ์ต่อดังนี้

4. คำที่เรียกแผ่นดินต้น หมายความว่าเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องที่เล่าต่อไปถึงจะยิงปืนต้องบอกศาลา มีในที่อื่นคล้ายกัน เช่น จดหมายหลวงอุดม และมีคำเล่าถึงเรื่องหม่อมเพ็ง หม่อมแมน ซึ่งเป็นคนขวัญอ่อนกลัวปืน ข้อนี้นับว่าเป็นพยานอีกเรื่องหนึ่ง”

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “วงใน” เข้าทำนองพงศาวดารกระซิบ เมื่อนางห้ามในพระเจ้ากรุงธนบุรี ประสูติพระราชโอรส แต่ทรงระแวงว่าจะมิใช่ลูกของพระองค์ เพราะถวายงานเพียง “หนเดียว” เมื่อถามก็ตอบอย่างประชดประชันว่าท้องกับเจ๊ก ซึ่งคงจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง บันทึกมีดังนี้

“41. นางห้ามประสูติเจ้า ท่านสงสัยว่าเรียกหนเดียวมิใช่ลูกท่าน รับสั่งให้ภรรยาขุนนางเข้าไปถาม ได้พยานคนหนึ่งว่าผัวไปหาหนเดียวมีบุตร จึงถามเจ้าตัวว่าท้องกับใคร (ทูล) ว่าท้องกับเจ๊ก เฆี่ยนสิ้นชีวิตในฝีหวาย”

ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า

41. เรื่องนางห้ามประสูติเจ้า นางห้ามคนนี้เห็นจะไม่ได้ตามเสด็จจึงได้ทรงสงสัย คำให้การอยู่ข้างจะขันอยู่หน่อย จึงต้องถูกเฆี่ยนถึงตาย”

ยังมีเหตุการณ์ตอน กบฏพระยาสรรค์ ซึ่งขณะนั้นขึ้นนั่งเมืองแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จออกผนวชที่วัดแจ้ง พระยาสรรค์กำลังอยู่ในภาวะคับขันต้องเผชิญหน้ากับทัพพระยาสุริยอภัย ฝ่ายของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระยาสรรค์จึงปล่อยเจ้ารามลักษณ์ (กรมขุนอนุรักษ์สงคราม) ซึ่งถูกจับขังไว้แต่แรก ให้ออกมาช่วยรบ และคิดจะทูลเชิญพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าร่วมทำศึกด้วย แต่ทรงปฏิเสธ จดหมายความทรงจำฯ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ดังนี้

125. เรียกท่านที่ทรงผนวชว่า ประจุออกเถิด ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย”

มีพระราชวิจารณ์ถึงเรื่องนี้ไว้โดยสรุปว่า ตรงกันกับที่เคยได้ยินมา และยังทรงเพิ่มเติมคำของพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกว่า “เจ้ากรุงธนร้องตอบออกมาเช่นนี้ แล้วได้บอกด้วยว่าคงไม่รอด บ้านเมืองเป็นของสองพี่น้องเขานั่นแนะ ถ้าไม่ตายก็ฝากตัวเขาให้ดีเถิด…”

นี่เป็นส่วนหนึ่งจากพระราชวิจารณ์รวมทั้งหมด 256 ข้อ ยังมีเนื้อหาสำคัญๆ อีกมากที่ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มอื่นๆ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญที่เขียนโดยผู้หญิง บันทึกเหตุการณ์ผ่านสายตา คำบอกเล่า และเจาะลึก ซึ่งมีอยู่น้อยในหนังสือตระกูลพระราชพงศาวดาร เมื่อรวมกับพระราชวิจารณ์ฯ จึงเป็นหนังสือที่ครบถ้วนกระบวนความ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในระหว่างสร้างบ้านแปลงเมือง

หนังสือจดหมายเหตุความทรงจำพิมพ์มาแล้ว 14 ครั้ง พิมพ์ครั้งแรกในปี 2451 เนื้อหาครบถ้วนขาดก็แต่จดหมายเหตุความทรงจำที่พบเพิ่มเติม ส่วนในการพิมพ์ครั้งหลังๆ มีการตัดเนื้อหาในส่วนหลังออกบ้าง โดยเฉพาะส่วนของพระราชสาสน์ศุภอักษร และเรื่องนิพานวังน่า เพราะเห็นว่าคนไม่อ่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2565