ชื่อปีนักษัตรไทยมาจาก “ภาษาสหประชาชาติ” ทั้งไทย, มอญ,เขมร, จาม, จีน ฯลฯ

บางส่วนของ 12 ปีนักษัตร (ซ้าย) ปีฉลู (ขวา)ปีมะเมีย (ภาพจาก ตำราพรหมชาติ ฉบับราษฎร์ โรงพิมพ์ ลูก ส. ธรรมภักดี, 2521

ชื่อปี “นักษัตร” ของไทยคือ ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ นี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสนพระทัยมาก ในสาส์นสมเด็จ สาสน์ของพระองค์ท่านที่ทรงมีไปมาติดต่อกับท่านเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน หลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องนี้

พระองค์ท่านทรงสนพระทัยว่าชื่อปีของไทยนี้มีที่มาอย่างไร เป็นภาษาอะไร พระองค์ทรงค้นชื่อปีในภาษาจีนและภาษาของชนชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มอญ เขมร ญวน จาม ทิเบต และญี่ปุ่น ทรงให้ท่านเสฐียรโกเศศค้นชื่อในภาษาจีนหลวง (จีนกลาง) และทรงให้ท่านเสฐียรโกเศศถามจากมหาฉ่ำ (ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ) ถึงชื่อปีที่เรียกในภาษาเขมร กับได้ทรงสืบค้นชื่อปีอย่างมอญประทานแก่ท่านเสฐียรโกเศศด้วย

ต่อไปนี้เป็นชื่อปีอย่างมอญ เขมร และจาม ที่มีในหนังสือสาส์นสมเด็จ

ชื่อปีที่เราเรียกกันนั้นเรียกว่า ปี 12 นักษัตร คือถือเอาตามดาวฤกษ์ 12 ดวง ซึ่งกำหนดให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ท่านเสฐียรโกเศศได้กล่าวไว้ว่า

“เรื่อง 12 นักษัตรเป็นที่น่าฉงนที่สุด ชื่อปีที่เรียกว่า ชวด ฉลู ก็พ้องกันแต่ลางชื่อ ที่อยู่ในชาตินี้บ้าง ชาติโน้นบ้าง หาที่พ้องกันหมดไม่ได้ เป็นแต่ได้แน่ว่าจะมีที่มาแห่งเดียวกัน และเป็นของที่ต่างฝ่ายได้มาในรุ่นหลัง เพราะเขมรกับมอญเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน การที่พ้องชื่อกันหมด แต่ไม่เช่นนั้น มอญดูเป็นว่าเรียกตามชื่อสัตว์โดยตรง เพราะมีคำ ‘แส้ะ’ ซึ่งแปลว่าม้า แต่ชื่ออื่นสอบไม่ออก…”

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฯ ทรงประทานความเห็นไว้ว่า ชื่อปีเถาะของมอญที่ว่า “กะต้าย” นั้น น่าจะเป็นคำ “กระต่าย” ของไทยที่เอามาจากมอญ และ “คำนั่ก” ที่เป็นเพื่อปีมะโรงนั้น น่าจะได้แก่ “คำนาค” ในภาษามคธ ปีมะเมียที่มอญเรียก “แส้ะ” นั้นไปตรงกับคำ “แสะ” ซึ่งแปลว่าม้าในภาษาเขมร แต่เขมรเรียกชื่อปีม้าว่า “มะมี” และปีมะแมที่มอญเรียก “คะแบะ” นั้นใกล้มาทางเขมรซึ่งเรียกแพะว่า “พะแพ”**

ท่านเสฐียรโกเศศได้ให้ความเห็นว่า ชวดกับเถาะ ตรงกับคำสามัญที่ใช้เรียกชื่อสัตว์ในภาษาจีน วอก ตรงกับทางพายัพ (ภาษาไทยเหนือ) จอ ตรงกับญวน มะโรง ตรงกับหล่งหรือร่องของจีน และญวน กุน-ปีหมู น่าจะตรงกับ เปิ้งจ๊าง (พึ่งช้าง) ของไทยเหนือ ซึ่งกุนนี้อาจมาจากกุญชรก็ได้ ฉลู-ปีวัว น่าจะตรงกับ Kabave ควายในภาษาจาม

เมื่อได้รวมมติของนักปราชญ์ทั้งสองที่ได้กล่าวนามมาแล้ว ก็พอจะอนุมานที่มาของปีได้ดังนี้

ชวด น่าจะมาจากภาษาจีน

ฉลู น่าจะมาจากภาษาจาม

ขาล ไม่มีมติในชื่อนี้ ผู้เขียนเห็นว่าใกล้มาทางขลา หรือคลาของเขมร ซึ่งแปลว่า เสือ

เถาะ น่าจะมาจากภาษามอญและจีน

มะโรง น่าจะมาจากภาษาจีนและญวน

มะเส็ง ไม่มีมติเกี่ยวกับชื่อนี้

มะเมีย, มะแม ไม่มีมติเกี่ยวกับชื่อนี้ แต่ท่านเสฐียรโกเศศให้ความเห็นว่าเป็นชื่อสัตว์ตามเสียงที่สัตว์นั้นร้อง คือ ม้าและแพะ แต่ไม่ได้ บอกว่าเป็นภาษาอะไร

วอก น่าจะมาจากภาษาไทยเหนือโบราณ

ระกา ไม่มีมติในชื่อนี้

จอ น่าจะมาจากภาษาญวน

กุน น่าจะมาจากภาษาทางพายัพหรือไทยเหนือ

คำที่ใช้เรียกชื่อปีของไทยนี้ ผู้เขียนมีความสนใจมานานแล้ว และพยายามหาทางสืบค้นเท่าที่พอจะทำได้ ทั้งนี้เพราะหนังสือที่พอจะใช้สืบค้นได้มีแต่ทางไทยเราเท่านั้น ทางฝรั่งไม่มี เมื่อได้มาอ่านสาส์นสมเด็จดังกล่าวแล้วรู้สึกว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้น

แต่จะอย่างไรก็ดี ความรู้ใหม่ที่ได้มานั้นดูจะเป็นแต่ข้อสันนิษฐานเท่านั้น ผู้เขียนเองก็ไม่มีภูมิปัญญาพอที่จะแสดงความคิดเห็นในทางสนับสนุนหรือโต้แย้ง ขอออกความเห็นเพิ่มเติมแต่เพียงเล็กน้อย คือ

ปีวอกกับปีจอนั้น วอก กับ จอ น่าจะเป็นภาษาส่วย

ส่วยเรียกลิงว่า เว้าะ เรียกสุนัขหรือหมาว่า จอ เป็นคําที่ใช้พูดกันอยู่แม้ในทุกวันนี้ ส่วยน่าจะเป็นชนเผ่าหนึ่งของชนชาติขอมโบราณ หรืออาจเป็นชนเผ่าหนึ่งต่างหาก เช่นกับชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น ขมุ ข่า กะเหรี่ยง หรืออีก้อ เป็นต้น

ถ้าหากวอกกับจอเป็นภาษาส่วยจริงตามที่ได้ออกความเห็นมานั้น ก็แสดงว่าส่วยมีประวัติความเป็นมายาวนานจนมี ภาษาปรากฏเป็นชื่อปีของไทยเรา และเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ชื่อปีของไทยเป็น “ภาษาสหประชาชาติ”

หมายเหตุ *  และ** ตามต้นฉบับในตารางนั้น ปีมะแม ในภาษาเขมรเรียกว่า “มะแม” แต่ในเนื้อหาตอนหนึ่ง (**) เขียนว่า “ทางเขมรเรียกแพว่า พะแพ”  จึงของคงไว้ตามต้นฉบับเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ชื่อปีของไทยเป็น ‘ภาษาสหประชาชาติ'” เขียนโดย ทอง โรจนวิภาค ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2538


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 สิงหาคม 2562