12 นักษัตร ตามความเชื่อและวัฒนธรรมจีน

ภาพประกอบบทความ

เมื่อทุกคนเกิดมา ก็มีนักษัตรประจำปีเกิดติดตัวมาด้วย ปีนักษัตร เป็นภูมิความรู้ที่มีมาแต่โบราณ มีอิทธิพลในประเทศทางตะวันออก ปีนักษัตรมีความสำคัญกับวิถีชีวิตผู้คน เพราะนอกจากจะเป็นหมุดบอกเวลา ยังเป็นฤกษ์ยามส่งสัญญานบางอย่างแก่ผู้คน สัตว์ประจำปีนักษัตรทั้ง 12 ชนิด ได้แก่ หนู, วัว, เสือ, กระต่าย, มังกร, งู, ม้า, แพะ, ลิง, ไก่ และหมู มีความแตกต่างตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศจีน วัฒนธรรมด้านนักษัตรของจีนมีประวัติมายาวนาน และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน

วัฒนธรรมด้านนักษัตรของจีน ไม่เพียงแต่มีประวัติอันยาวนานในอดีตเท่านั้น แม้แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีน ตัวอย่างเช่น เมื่อคนจีนพบเจอกัน แทนที่จะถามถึงอายุ กลับถามว่าเกิดปีนักษัตรอะไร แล้วคำนวณอายุตามลำดับของ 12 นักษัตร ซึ่งนอกจากจะทราบอายุของอีกฝ่ายแล้ว คนจีนยังชอบทายนิสัยใจคอจากนักษัตร จากนั้นก็พยากรณ์เรื่องหน้าที่การงาน คู่ครอง ความรัก โชคลาภ และสุขภาพจากนักษัตรนั้นๆ อีกเช่นกัน

ปัจจุบันมีหลักฐานข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่า คติ 12 นักษัตรนั้นกำเนิดขึ้นก่อนสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) นั่นคือความคิดเรื่องนักษัตรได้เกิดขึ้นในจีนก่อน ค.ศ. 25 แล้ว หวางชงที่อยู่ในสมัยฮั่นตะวันออกได้เขียนไว้ใน “ลุ่นเหิง” บรรพอู้ซื่อว่า “ยามหยินคือไม้ สัตว์ประจำของหยินคือเสือ ยามซวีคือดิน สัตว์ประจำของซวีคือสุนัข…ยามอู่คือม้า จื่อคือหนู ยามโหย่วคือไก่ ยามเหมาคือกระต่าย… ยามไฮ่คือสุกร ยามเว่ยคือแพะ ยามโจ๋วคือวัว…ยามซื่อคืองู ยามเซ็นคือลิง”

ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420-589) กวีเสิ่นจุ่งได้แต่งกลอน 12 นักษัตร ไว้บทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกวีที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละนักษัตร คำขึ้นต้นของแต่ละวรรคจะเป็นการเรียงนักษัตรหนูไปจนถึงสุกร ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดวัฒนธรรมนักษัตรแบบหนึ่งได้เช่นกัน

หนูคลานไปบนโต๊ะเปื้อนขี้ฝุ่น

วัวกลับคืนคอกในยามสนธยา

เสือคำรามกึกก้องทั่วทั้งป่า

กระต่ายบนจันทราอยู่นอกหน้าต่าง

มังกรอยู่ในที่ลึกและชิ้น

งูชอบห้อยต้นหลิวโยกกิ่งไกว

ม้ากระโจนตามทุ่งบุปผานานาพันธุ์

แพะได้อิ่มหนำฤดูแห่งวสันต์

ลิงแทะเกาลัดกันอย่างสำราญใจ

ไก่คุ้ยเขี่ยอาหารข้างลำธาร

สุนัขเฝ้าบ้านขโมยไม่กล้ำกราย

สุกรขี้คร้านมีแต่จะรอวันตาย

ในโลกนี้มีสัตว์อยู่มากมาย เหตุใดคนโบราณจึงได้เจาะจงเลือกเอาหนู วัว เสือ กระต่าย มังกร งู ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และสุกร เป็นสัตว์ประจำของแต่ละนักษัตรล่ะ

ใน 12 นักษัตรประกอบด้วยสัตว์เลี้ยง 6 ประเภท คือ ม้า วัว แพะ ไก่ สุนัข และสุกร เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ที่เข้าใจยากคือ เหตุใดจึงเลือกเอาสัตว์อีก 6 ชนิดมาเป็นปีนักษัตร มังกรเป็นแค่สัตว์ในตำนานเท่านั้น ส่วนการเลือกหนู แทนที่จะเลือกแมวเป็นปีนักษัตรยิ่งดูไม่มีเหตุผล เกี่ยวกับการเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้เป็นปีนักษัตรนั้นมีการอธิบายหลายสำนัก คำอธิบายที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลก็คือ “เลือกตามช่วงเวลาการเคลื่อนไหว” กล่าวคือ การเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้มาเป็นปีนักษัตรและการจัดลำดับก่อนหลังนั้น มีส่วนเกี่ยวพันกับเวลาการเคลื่อนไหว (หัวตง) ที่เป็นพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์เหล่านั้นเป็นสำคัญ

คนโบราณแบ่งเวลาในหนึ่งวันหนึ่งคืนออกเป็น 12 ชั่วยาม ซึ่งเท่ากับ 24 ชั่วโมงของปฏิทินสุริยคติ 1 ชั่วยามเท่ากับ 2 ชั่วโมง และ 12 ชั่วยามก็จับคู่กับ 12 ตี้จือ ดังนี้

ลำดับ ปีนักษัตร เวลา ชื่อยาม
1 หนู/ชวด 23.00-01.00 น. ยามจื่อ
2 วัว/ฉลู 01.00-03.00 น. ยามโฉ่ว
3 เสือ/ขาล 03.00-05.00 น ยามหยิน
4 กระต่าย/เถาะ 05.00-07.00 น. ยามเหมา
5 มังกร/มะโรง 07.00-09.00 น. ยามเฉิน
6 งู/มะเส็ง 09.00-11.00 น. ยามซื่อ
7 ม้า/มะมีย 11.00-13.00 น . ยามอู่
8 แพะ/มะแม 13.00-15.00 น. ยามเว่ย
9 ลิง/วอก 15.00-17.00 น. ยามเซิน
10 ไก่/ระกา 17.00-19.00 น. ยามโหย่ว
11 สุนัข/จอ 19.00-21.00 น. ยามซวี
12 สุกร/กุน 21.00-23.00 ยามไฮ่

 

ยามจื่อเป็นช่วงที่หนูออกมาหากินอย่างแข็งขัน ซอกแซกหากินไปทั่ว เลยใช้หนูคู่กับยามจื่อ ยามโฉ่วเป็นตอนที่วัวเคี้ยวเอื้อง เลยให้วัวคู่กับยามโฉ่ว ยามหยินเป็นยามที่เสือออกเพ่นพ่าน อาละวาดและดุดัน เสือจึงคู่กับยามหยิน ยามเหม่าพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น และยังเห็นพระจันทร์อยู่บนท้องฟ้า ตามตำนานเล่าว่ามีกระต่ายหยกบดยาอยู่บนดวงจันทร์ จึงให้กระต่ายคู่กับยามเหม่า ยามเฉินตามตำนานคือมังกรจะร่ายรำให้เกิดฝน จึงให้มังกรคู่กับยามเฉิน ยามซื่อนั้นงูเลื้อยไปมาตามพงหญ้าเพื่อหาอาหาร จึงให้งูคู่กับยามซื่อ ยามอู่คือยามเที่ยง มีแต่ม้าที่เวลานอน จะยืนนอน จึงให้ม้าคู่กับยามอู่ ยามเว่ยนั้นเป็นช่วงที่แพะปัสสาวะบ่อยที่สุด จึงให้แพะคู่กับยามเว่ย ยามเซินนั้นเป็นช่วงที่ลิงชอบส่งเสียงร้อง จึงให้ลิงคู่กับยามเซิน ยามโหย่วเป็นยามที่ไก่พากันกลับมาเข้าเล้า จึงให้ไก่คู่กับยามโหย่ว ยามซวีเป็นช่วงเริ่มต้นที่สุนัขต้องคอยเฝ้าบ้านช่องให้แก่เจ้าของ สุนัขจึงคู่กับยามซวี ส่วนยามไฮ่นั้นเป็นช่วงที่สุกรนอนแล้วจะอ้วนพีได้เนื้อเยอะ เลยให้สุกรคู่กับยามไฮ่

แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้ก็มีส่วนที่จับแพะชนแกะอยู่บ้าง ทำให้เป็นคำอธิบายบ้างอันที่ดูฝืดๆ

นอกจากนี้ การเลือกนักษัตรและลำดับก่อนหลังก็คงมิได้เสร็จสมบูรณ์ลงในคราวเดียว คงจะผ่านการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาที่ผ่านไป

เวลาคนจีนพูดถึงนักษัตร จะเอาปีที่เกิดเป็นหลัก ส่วนคนตะวันตกเวลาพูดถึงราศี จะใช้เดือนเป็นเกณฑ์ เพราะโหราศาสตร์ของตะวันตกนั้น เวลาคนคนหนึ่งเกิด ตำแหน่งของดวงดาวประจำราศีในวงโคจร จะแสดงถึงลักษณะนิสัยโดยกำเนิด และพรสวรรค์ของคนคนนั้น เพราะฉะนั้น กลุ่มดาว 12 ราศีจึงเป็นตัวแทนของนิสัยใจคอของคน 12 แบบ ส่วนนักษัตรของจีนก็มีวิธีการนับแบบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกี่ยวกับชะตาหรือดวงของคนเรานั้นควรจะฟังหูไว้หู

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อข้อมูลจาก โจวเซี่ยวเทียน-เขียน, รศ. อาทร ฟุ้งธรรมสาร-แปล. เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2565