ค้นกำเนิด 12 นักษัตร จีนถึงไทย ทำไมใช้สัตว์เรียกชื่อปีเป็นคติบอกเวลาเก่าแก่ของโลก

ภาพวาด สัญลักษณ์ จักรราศี นักษัตร และ ระบบสุริยะ
ภาพ "Scenographia systematis mvndani Ptolemaici" วาดเมื่อ ค.ศ. 1660 แสดงสัญลักษณ์จักรราศีและระบบสุริยะโดยมีโลกเป็นศูนย์กลาง

คติเรื่อง 12 นักษัตร เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณกาล เรียกได้ว่าเก่าแก่ระดับดึกดำบรรพ์ กระทั่งการค้นหาที่มาต้นตอการใช้สัตว์เป็นชื่อปี (และมีแนวโน้มที่คตินี้กำลังถูกใช้ในการออกสลากเป็น “ครั้งแรกในโลก” ตามการกล่าวอ้างของคนไทย) นักวิชาการส่วนใหญ่ถึงกับบอกว่า สืบค้นหาหลักฐานยาก แต่ก็ยังพอปะติดปะต่อเค้าโครงบางอย่างพอบอกเล่าความเป็นมาของสัตว์และการใช้สัตว์เป็นชื่อปีจากความเชื่อของคนบางกลุ่มได้บ้าง

12 นักษัตร: “นักษัตร” คืออะไร

ราชบัณฑิตยสภาบรรยายความหมายของคำว่า “นักษัตร” ตรงกับคำอธิบายของสมบัติ พลายน้อย ซึ่งนิยามว่าหมายถึง “ชื่อรอบเวลากำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร” โดยกำหนดให้สัตว์ 12 ชนิดเป็นเครื่องหมายแต่ละปี

เริ่มจากปีชวด มีหนูเป็นเครื่องหมาย ปีฉลู มีวัวเป็นเครื่องหมาย ปีขาล มีเสือเป็นเครื่องหมาย ปีเถาะ มีกระต่ายเป็นเครื่องหมาย ปีมะโรง มีงูใหญ่เป็นเครื่องหมาย ปีมะเส็ง มีงูเล็กเป็นเครื่องหมาย ปีมะเมีย มีม้าเป็นเครื่องหมาย ปีมะแม มีแพะเป็นเครื่องหมาย ปีวอก มีลิงเป็นเครื่องหมาย ปีระกา มีไก่เป็นเครื่องหมาย ปีจอ มีหมาเป็นเครื่องหมาย ปีกุน มีหมูเป็นเครื่องหมาย

(ซ้าย) คันฉ่องโลหะยุคราชวงศ์ถัง ค.ศ.618-905 (พ.ศ.1161-1448) สัตว์รอบวงในได้แก่สัตว์ประจำทิศทั้ง 4 คือ มังกร, หงส์, เสือ และเต่า ถัดออกมาคือสิบสองนักษัตร และวงนอกเป็นสัตว์ 28 ตัว (ขวา) หนูซ่อนตัวอยู่ในหมู่ดอกไม้ ศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง ค.ศ.618-907 (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือ สิบสองนักษัตร โดย ส. พลายน้อย สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2547)

สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า 12 นักษัตร มีในกลุ่มเอเชียเท่านั้น ประเทศที่ปรากฏความเชื่อนี้โดยมากก็ใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์กับไทย อาทิ จีน ญวน ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว ทิเบต ไทใหญ่ ซึ่งประการนี้อาจสะท้อนได้ว่า ชนเหล่านี้มีความเป็นมาที่สืบเนื่องมาจากที่เดียวกันก็เป็นได้

คำถามที่สำคัญซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ไทยรับแนวคิดเรื่อง 12 นักษัตรนี้มาจากไหน หลักฐานของไทยก็ปรากฏในหลายแห่ง เริ่มตั้งแต่ตำนานการตั้งจุลศักราชกล่าวว่า เริ่มต้นใช้จุลศักราช 1 เมื่อเช้าวันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุนเอกศก ตรงกับพุทธศักราช 1182 เมื่อเห็นว่าเริ่มที่ปีกุน บ่งชี้ว่าปีนักษัตรมีมาก่อนปีจุลศักราช แต่จะเริ่มเมื่อใดนั้นก็ยังไม่สามารถชี้เฉพาะได้อย่างชัดเจน

ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวถึง “1214 สกปีมะโรง” สมบัติ พลายน้อย ตีความว่า เมื่อ พ.ศ. 1835 ไทยก็ได้ใช้ปีนักษัตรแล้ว หรืออาจมีใช้กันก่อนหน้านี้แล้วก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

หลักฐานที่น่าสนใจอีกแห่งคือหนังสือพงศาวดารไทใหญ่ อันเป็นพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนหนึ่งกล่าวถึง 12 นักษัตรว่า

“ในนามสัตว์ 12 นักษัตรข้างไทยสยามนั้น น่าจะเลียนนามสัตว์ประจำองค์สาขาปีมาจากเขมรอีกต่อ จึงไม่ใช้นามปีตามภาษาไทยเหมือนไทยใหญ่ กลับไปใช้ตามภาษาเขมร ฝ่ายไทยใหญ่เล่าเมื่อคำนวณกาลจักรมณฑลก็ไพล่ไปเลียนนามปีและนามองคสังหรณ์อย่างไทยลาว หาใช้นามปีของตนเองไม่ และไทยลาวน่าจะถ่ายมาจากแบบจีนอันเป็นครูเดิมอีกต่อ แต่คำจะเลือนมาอย่างไรจึงหาตรงกันแท้ไม่ เป็นแต่มีเค้ารู้ได้ว่าเลียนจีน”

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า จุดร่วมระหว่างไทยกับจีนที่ถือว่าส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝ่าย หนึ่งในนั้นย่อมต้องมีเรื่อง 12 นักษัตรรวมอยู่ด้วย (ยิ่งเมื่อพิจารณาจากแนวคิดสลากแบบใหม่ที่ประกาศเมื่อกลางปี 2562)

เมื่อสืบค้นถึงนักษัตรจีน นักวิชาการและนักเขียนจีนผู้สืบค้นความเป็นมาของนักษัตรก็ล้วนบอกตรงกันตามตอบลำบาก เมื่อพิจารณาเบื้องต้น ซงเฉียวจือ ผู้เขียนหนังสือ “โหราศาสตร์จีน 12 นักษัตรประยุกต์” ในแนวทางแบบวิชาการ ยังบรรยายว่า จุดเริ่มต้นการใช้ 12 นักษัตรนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะตอบ แต่คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งกล่าวถึงเรื่อง 12 นักษัตร “อย่างละเอียดและชัดเจน” ปรากฏในคัมภีร์ ลุ่นเหิง ของหวางชงสมัยตงฮั่น ในคัมภีร์นี้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง 12 นักษัตรโดยใช้หลักกำเนิดและข่มกันตามกฎเบญจธาตุ หากพิจารณาในแง่การจับคู่สัตว์ที่แทน 12 นักษัตรกับภูมิดิน

ความคิดเห็นนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของโจวเซี่ยวเทียน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเสฉวน และคณะผู้เขียนหนังสือ “เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน” ซึ่งระบุว่า จากหลักฐานและข้อมูลเท่าที่มี พอจะระบุได้ว่า คติ 12 นักษัตรเกิดขึ้นก่อนสมัยฮั่นตะวันออกแล้ว (ค.ศ. 25-220)

เจ้าอี้ ผู้คงแก่เรียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนหนังสือชื่อ ไกหวีฉงซู มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่าด้วยการตรวจสอบกำเนิดแหล่งที่มาของ 12 นักษัตร แล้วสรุปว่า 12 นักษัตรเผยแพร่มากในสมัยตงฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีกล่าวถึงมากนัก ฮูหานเสีย ประมุขชนเผ่าซงหนูเป็นผู้นำเข้ามาในจงหยวน (ตงง้วน) สมัยซีฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) เห็นได้ว่า แนวคิดของเจ้าอี้ และลู่เหิง สอดคล้องกัน กล่าวคือ มองว่า 12 นักษัตรมาจากชนเผ่าส่วนน้อยทางตอนเหนือของจีน

อย่างไรก็ตาม สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า ในคัมภีร์ลุ่นเหิงไม่ได้บอกว่าทำไมถึงได้เอาสัตว์เหล่านั้นมาใช้เป็นชื่อปี

ต้นกำเนิดจากตุรกี?

การเรียกชื่อปีเป็น 12 นักษัตรยังมีอยู่ในจารึกภาษาโบราณของตุรกีด้วย ทำให้สันนิษฐานได้อีกว่า บางทีอาจมีกำเนิดมาจากตุรกีซึ่งเป็นตาดสาขาหนึ่ง จีนอาจได้มาจากตาด

คำถามต่อมาคือ ในโลกมีสัตว์มากมาย ทำไมต้องเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้มาเป็นสัตว์ประจำแต่ละนักษัตร ในบรรดา 12 ชื่อ มีทั้งสัตว์ที่มีอยู่จริง และสัตว์ในจินตนาการอย่างมังกร

คำถามนี้มีการพยายามหาคำตอบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจากตำนานเรื่องเล่าต่างๆ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ด้วยว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เอารูปสัตว์ใช้เป็นเครื่องหมายแทนสิ่งอื่น มีประโยชน์ให้จำสิ่งนั้นง่าย ถ้าหากชื่อปีใช้เขียนตัวอักษรและอ่านเรียกตามภาษาที่เขียน เมื่อพ้นเขตประเทศที่ใช้ตัวอักษรและภาษานั้นออกไปถึงนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศใช้ตัวอักษรและภาษาอื่น ชื่อปีที่บัญญัติก็ไม่มีใครเข้าใจ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าเอารูปสัตว์ขึ้นตั้งเป็นเครื่องหมายแทนปี เช่น เอารูปหนูเป็นเครื่องหมายปีที่ 1 เอารูปวัวเป็นเครื่องหมายปีที่ 2 ประเทศอื่นๆ จะเรียกหนูเรียกวัวตามภาษาของตนว่ากระไรก็ตาม คงได้วิธีประดิทินสิบสองนักษัตรไปใช้ได้ตรงกันกับประเทศเดิมไม่ขัดข้อง…”

ขณะที่นักวิชาการอย่างโจวเซี่ยวเทียน ก็ยอมรับว่าคำอธิบายเพื่อตอบคำถามข้างต้นมีมาจากหลากหลายสำนัก แต่สำหรับเขาคิดว่า คำอธิบายที่สมเหตุสมผลคือ “เลือกตามช่วงเวลาการเคลื่อนไหว” โดยเลือกสัตว์ 12 ชนิด มาเป็นปีนักษัตร และจัดลำดับก่อนหลังโดยมีส่วนเกี่ยวกับ “ความเคลื่อนไหว” จากพฤติกรรมของสัตว์นั้นเป็นประการสำคัญ

ในการอธิบายอาจต้องเอ่ยถึงการนับเวลาในสมัยโบราณ คนโบราณแบ่งเวลาในหนึ่งวันหนึ่งคืนเป็น 12 ชั่วยาม (เท่ากับ 24 ชั่วโมงของปฏิทินสุริยคติ) 1 ชั่วยามเท่ากับ 2 ชั่วโมง

12 ชั่วยาวนี้จะถูกจับคู่กับ “ตี้จือ” (แผนภูมิสวรรค์ภาคปฐพี ใช้สำหรับนับวันและปีแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นคติสำคัญในด้านโหราศาสตร์จีน)

ช่วงแรกเรียกว่า ยามจื่อ หมายถึง 23 ถึง 1 นาฬิกา ถูกจับคู่กับหนู เนื่องจากเป็นเวลาที่หนูออกหากิน
ช่วง 2 เรียกว่า ยามโฉ่ว หมายถึง 1 ถึง 3 นาฬิกา ถูกจับคู่กับวัว เนื่องจากเป็นตอนที่วัวเคี้ยวเอื้อง
ช่วง 3 เรียกว่า ยามฉิน หมายถึง 3 ถึง 5 นาฬิกา ถูกจับคู่กับเสือ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เสือเพ่นพ่าน
ช่วง 4 เรียกว่า ยามเหม่า หมายถึง 5 ถึง 7 นาฬากา ถูกจับคู่กับกระต่าย เนื่องจากเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น บนท้องฟ้าเห็นพระจันทร์ ตามตำนานเชื่อกันว่ามีกระต่ายอยู่บนดวงจันทร์จึงให้คู่กับกระต่าย
ช่วง 5 เรียกว่า ยามเฉิน หมายถึง 7 ถึง 9 นาฬิกา ถูกจับคู่กับมังกร เนื่องจากตามตำนานแล้ว มังกรจะร่ายรำให้เกิดฝน

โจวเซี่ยวเทียน ยอมรับว่า คำอธิบายข้างต้นอาจฟังดูฝืดๆ และทำให้คิดว่าเป็นการจับแพะชนแกะอยู่บ้าง แต่แนวคิดนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของซงเฉียวจือ ตำนาน 12 นักษัตรก็มีลักษณะเป็นวรรณกรรมแบบนึกคิดกัน ความน่าเชื่อถือก็มีน้อยอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเลือกและเรียงลำดับนั้นคงต้องผ่านพัฒนาการ มิได้เป็นดังนี้โดยเสร็จสมบูรณ์มาเลย

ในที่นี้เชื่อว่าน่าจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์ 12 ชนิดอยู่พอสมควร คำถามที่แพร่หลายที่สุดไม่พ้นเรื่อง “แมว” อันเป็นสัตว์ที่ถือว่าใกล้ชิดกับมนุษย์มาก แต่กลับหายไปจากนักษัตร

ซงเฉียวจือ อธิบายว่า ก่อนหน้าจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ ประเทศจีนมีแต่แมวป่า แมวบ้านที่ปรากฏในสมัยนี้นำเข้าจากอินเดียหลังสมัยจักรพรรดิฮั่นหมิงตี้ แต่ 12 นักษัตรมีครบตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงย่อมไม่มีตำแหน่งว่างสำหรับแมว แต่หากอ้างอิงจากตำนานพื้นบ้าน จะเชื่อว่า แมวถูกหนูทรยศจึงไม่มีชื่อในนักษัตร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

โจวเซี่ยวเทียน. เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน. รศ.อาทร ฟุ้งธรรมสาร แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

ซงเฉียวจือ. โหราศาสตร์จีน 12 นักษัตรประยุกต์. อธิคม สวัสดิญาณ แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2539

ส. พลายน้อย. สิบสองนักษัตร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2562