ปริศนาเลข “12” ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ทั้ง 12 ในหนึ่งรอบ กับราศีทั้ง 12 ในหนึ่งปี

เลข 12 ราศี นักษัตร

ปริศนา เลข 12 ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ทั้ง 12 ในหนึ่งรอบ กับ ราศี ทั้ง 12 ในหนึ่งปี

ผมสนใจดาราศาสตร์มาก แต่ตกวิชาเลขคณิตตลอดมาจึงไม่มีสิทธิ์รู้เรื่อง เพื่อนฝูงคุยกันเรื่องโหราศาสตร์หรือดาราศาสตร์ ผมได้แต่หุบปากเงียบ เพราะตามตัวเลขของเขาไม่ทัน ดังนั้น ผมไม่หวังที่จะเข้าใจดาราศาสตร์

แต่ผมยังหวังที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับเทพปกรณัมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราศีทั้ง 12 ของรอบปีและสัตว์ 12 ตัวที่นับครบ 12 ปี เรียกว่า “หนึ่งรอบ” ทั้งสองระบบนี้ดูเผิน ๆ เป็นคนละเรื่องกัน แต่ถ้าดูลึก ๆ ก็น่าสงสัยว่า ทั้งสองระบบสะท้อนอะไรคล้าย ๆ กัน หรือมาจากต้นตออันเดียวกัน

ระบบที่นับ 12 ปีเป็นหนึ่งรอบนั้นเป็นของภาคตะวันออกของอุษาทวีป (ที่เรียกกันว่า “12 นักษัตร” ดูเหมือนจะผิดเพราะนักษัตรหมายถึง 27 ราศี ในทางโคจรของดวงจันทร์ ในที่นี้ผมจึงขอเรียกมันว่า “12 สัตว์ปี”) ระบบนี้แพร่ทั่วจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น เวียดนาม, ลาว, เขมร แล้วมาจบที่สยามหรืออย่างมากก็ถึงรัฐไทยใหญ่ พม่า, ลังกา, อินเดีย ไม่รู้จัก แต่ยังมีหลักฐานว่าระบบ 12 สัตว์ปีเคยมีใช้ในตุรกีและอียิปต์โบราณ

ส่วนระบบ 12 ราศีของปีเป็นของตะวันตก คือ เกิดที่เมโสโปเตเมีย (อิรักปัจจุบัน) ก่อน แล้วแพร่ไปสู่ยุโรป, อินเดีย และอุษาคเนย์ในที่สุด

สยาม, ลาว, เขมร จึงเหมาะที่จะเรียกว่า “อินโดจีน” เพราะใช้ทั้งสองระบบรวมกัน คือระบบนับเดือนตามราศีของอินเดีย และระบบเรียกหนึ่งรอบของ 12 ปีตามชื่อสัตว์แบบจีน

แต่ช้าก่อน! เรารู้ได้อย่างไรว่า 12 สัตว์ปีเป็นของจีน?

สัตว์ 12 ตัวนี้ชาวไทยมิได้ใช้ศัพท์จีนเรียก แต่ใช้ศัพท์ในภาษาตระกูลมอญ-เขมร ประหลาด ๆ ที่ไม่ใช่มอญหรือเขมรที่ใช้กันในปัจจุบัน จะเป็นไปได้ไหมว่าจีนยืมระบบ 12 สัตว์ปีจากแหล่งอื่น เช่น ชาวมอญ-เขมรโบราณ หรือจากตะวันออกกลาง?

จีนจะรับอะไรจากตะวันออกกลางได้อย่างไร?

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป (รวมทั้งผม) จีนนั้นเก่าแก่ที่สุดในโลก แต่จากการขุดค้นของนักโบราณคดีปรากฏว่า ราชวงศ์จีนที่มีอารยธรรมสูง (การหล่อสัมฤทธิ์, การสร้างเมืองสี่เหลี่ยมจัตุรัส, จักรปั้นหม้อ, ลายลักษณ์อักษร, รถรบเทียมม้า, ปฏิทิน ฯลฯ) คือราชวงศ์ชาง (Shang Dynasty) ซึ่งมีอายุเพียง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล

แต่เมโสโปเตเมียมีอารยธรรมสูง รวมทั้งปฏิทินและการหล่อสัมฤทธิ์ตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ยิ่งกว่านั้นชาวเมโสโปเตเมียนับด้วยระบบ 12 เป็นหลัก (Duodecimal System) จนทุกวันนี้เราจึงมี 4 ฤดู (Spring, Summer, Autumn, Winter) ที่ตรงกับ “เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย” ในคำสอนของพระพุทธศาสนา, 12 เดือนเป็น 1 ปี, 60 นาที ครบ 1 ชั่วโมง, และแผนที่จักรวาลที่แบ่งเป็น 360 องศา (12 x 30)

เลขเหล่านี้มิได้เกิดโดยบังเอิญ แต่ล้วนเกิดจากการนับโดยถือ 12 เป็นหลักที่แพร่ออกจากตะวันออกกลางเมื่อหลายพันปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเทพนิยายของกรีกเรื่อง เฮอร์คิวลีส (Herakles หรือ Herculese) ซึ่งเป็นเจ้าข้าวโดยแท้ ท่านทำวีรกรรม 12 ประการโดยปราบปรามหรือปล้นดังต่อไปนี้

1. สิงห์ 2. มกร 3. แพะ 4. หมู 5. โรงม้า 6. นก 7. วัว 8. ม้า 9. ผ้าพันเอวกัญญา 10. ฝูงวัว 11. แอปเปิลทอง 12. หมา

ซึ่งพอเทียบได้กับ 1. ขาล 2. มะโรง 3. มะแม 4. กุน 6. ระกา 7. ฉลู 8. มะเมีย 12. จอ

นั่นคือ 8 ใน 12 ของวีรกรรมเฮอร์คิวลีสตรงกับ 12 สัตว์ปีซึ่งน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า 12 ราศีของอินเดียเป็นของที่มาจากตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อผมเห็นว่าจำนวนสัตว์ในหนึ่งรอบของภาคตะวันออกของอุษาทวีปมีจำนวน 12 พอดี, ผมก็ต้องสงสัยว่าระบบนี้น่าจะมีกำเนิดในตะวันออกกลางเช่นกันและน่าจะมีความสัมพันธ์กันระหว่างสัตว์ทั้ง 12 ในหนึ่งรอบกับราศีทั้ง 12 ในหนึ่งปี

แต่ความสัมพันธ์ที่เห็นได้ชัดมีน้อยมาก กล่าวคือ ปีมะแมเป็นแพะ (หรือแกะ) เช่นเดียวกับราศีเมษ และปีฉลูเป็นวัวเช่นเดียวกับราศีพฤษภ เมื่อเทียบสัตว์ 12 ในหนึ่งรอบกับราศี 12 ในหนึ่งปีไม่ได้ผลเช่นนี้ผมก็จนด้วยเกล้า จึงหันไปดูหลักฐานทางเทพปกรณัมศาสตร์

เทพปกรณัม 12 ข่ม 13

ตามพระคัมภีร์เก่าชาวยิวเคยมี 13 เผ่าแต่สาบสูญหนึ่งเผ่าเหลือ 12 พระเยซูมีอัครสาวก 12 องค์ ท่านเป็นที่ 13 และท่านต้องตาย

พระเจ้าอาเธอร์ในนวนิยายอังกฤษโบราณมีอัศวิน 12 ที่มักประชุมกันรอบ “โต๊ะกลม” ตามหลักแล้วกษัตริย์นั่งโต๊ะกลมไม่ได้ เพราะหมายถึงความเท่าเทียมกัน โต๊ะนั้นจึงต้องเข้าใจว่าหมายถึงรอบปี โต๊ะกลมดังกล่าวมี 13 ที่นั่ง แต่ทุกครั้งอัศวินจะต้องขาดประชุมหนึ่งคนเพราะใครนั่งบนเก้าอี้ที่ 13 จะต้องตาย

หลายชาติหลายภาษานับว่า เลข 13 เป็นเลขซวยจึงพยายามตัดออก 1 ให้เหลือ 12 ให้ได้ นักเทพปกรณัมศาสตร์ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าแต่เดิมในหนึ่งปีมี 13 เดือนจริง และเดือนที่ 13 นั้นเป็นเดือนที่ประหารเจ้าข้าวเจ้าปี (Sacred king)

“เดือน” ที่ 13 นั้นคือจำนวนวันที่เป็นเศษระหว่างปีจันทรคติกับสุริยคติ

แต่เมื่อมนุษย์เจริญก้าวหน้าจะเลิกประเพณีการบูชายัญเจ้าข้าว ก็จำเป็นจะต้องขจัดเดือนที่ 13 ดังกล่าวเสียให้เหลือแต่ 12 เจ้าข้าวหรือ Sacred King จะได้รอดชีวิตและครองราชย์นาน ๆ ออกไปจนกลายเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่รู้จักกันจนทุกวันนี้

การเปลี่ยนประเพณีและการดัดแปลงปฏิทินไม่ใช่เรื่องวันสองวัน แต่ใช้เวลาหลายร้อยปีทีเดียว

สมัยปัจจุบันเดือนที่ 13 นั้นถูกลืมสนิท แต่…ผมพึ่งได้รับความรู้ใหม่จาก Encyclopedia Britanica นั่นคือ ในการโคจรประจำปีของดวงอาทิตย์พระองค์จะเสด็จผ่านราศี 13 ดวง, ไม่ใช่ 12

ราศีที่ 13 ที่ถูกลืมหรือที่ถูกกลบนั้นคือ Ophiuchus คือ “นาคธร” หรือ “คนถืองู” คือ เจ้าแม่ดินนั้นเอง

ส่วนระบบสัตว์ 12 ตัวในหนึ่งรอบดูเหมือนกับว่าจะเกิดจาก 12 เดือนของปี กล่าวคือ เมื่อคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์คิดจะยึดชีวิตของเจ้าข้าวจึงให้ท่านครอง 12 ปี แทน 12 เดือนแล้วเขี่ยเดือน 13 ที่อาถรรพณ์ให้ออกเสียให้กลายเป็น 12 ปีบริบูรณ์ ไม่มีเศษปีหรือปีอาถรรพณ์ให้เหลือ

ถ้าหากว่า 13 เดือนของปีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ถูกตัดให้เหลือเพียง 12 เดือนในสมัยประวัติศาสตร์เป็นความจริงดังสันนิษฐาน, ผมอยากถามว่าสัตว์ 12 ตัวในหนึ่งรอบแต่เดิมเคยมี 13 ตัวไหม?

แล้วสัตว์ตัวที่ 13 ควรจะเป็นตัวอะไร?

ผมขอทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านช่วยวิเคราะห์ ผมเชื่อว่า หากเราสามารถตีปริศนาปฏิทินได้ เราอาจจะทราบถึงอดีตและปัจจุบันของมนุษย์เราได้มากขึ้น

และอาจจะเข้าใจดีขึ้นว่า การ “ครบ 3 รอบหรือ 5 รอบ” หรือกี่รอบก็ตามสำคัญไฉน?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ราศี 12 เป็น 1 ‘ปี’ สัตว์ 12 ตัวเป็น 1 ‘รอบ’ ใครคิด? และคิดทำไม?” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2534


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2565