ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บันทึกถึงคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายที่ควรมี?

ดร.ป๋วย พูดคุยกับประชาชน ที่ตำบลกุดจอก จังหวัดชัยนาท พ.ศ. 2514 (ภาพจาก หนังสือมรดกทางปัญญาชิ้นสำคัญของอาจารย์ป๋วย)

ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (9 มีนาคม 2459-28 กรกฎาคม 2542) มีผลงานที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ หรือการธนาคาร ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของท่าน ดร. ป๋วยได้ทุนไปเรียนจนจบปริญญาเอก ด้านสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง จากมหาวิทยาลัยลอนดอน นอกจากการทำงานในสายงานดังกล่าว ดร. ป๋วยยังริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร สิ่งที่ ดร. ป๋วยย้ำอยู่เสมอคือ ความเป็นธรรมในสังคม และยึดหลักธรรมคืออำนาจมิใช่ ‘อำนาจธรรม’ เห็นได้จากข้อเขียนของท่าน

งานเขียนหนึ่งของ ดร. ป๋วยที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และร่วมสมัย กล่าวถึงคุณภาพชีวิตของคนไทย [ข้อเขียนนี้เดิมเป็นภาษาอังกฤษ ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Development Advisory Group – SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 – puey-ungpakorn.org] ที่ชื่อว่า “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516 (อ้างอิงจาก วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์. “การเปลี่ยนแปลงของคนไทยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ใน, เอกสารการสัมมนาวิชาการประจำปี 2547 เรื่อง เหลียวหลังแลหน้า: ยี่สิบปีเศรษฐกิจสังคมไทย วันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2547) ดังนี้


 

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิการของแม่และเด็ก

ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก

พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกกฎหมายหรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง

ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์

ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น

เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม

บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่ จะต้องมีขื่อมีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน

ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิดและวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาสรับเงินทุนจากต่างประเทศมาเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดีและขายสินค้าได้ราคายุติธรรม

ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้น มีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่

ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสืออื่นๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก

ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก

ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาทและชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่างๆ เที่ยวงานวัด งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร

ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม

เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน

เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ

ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ

เมียผมก็ต้องการโอกาสต่างๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว

เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา

เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ

เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่นๆ บ้าง

ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป

นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาที่จะควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน

สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์อ่านมาจนจบ ขอความสุขสวัสดีและสันติสุขจงเป็นของท่านทั้งหลาย และพระท่านกล่าวไว้ดังนี้ เกี่ยวกับความสวัสดี

“เราตถาคตไม่เห็นความสวัสดีอื่นใดของสัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญา เครื่องตรัสรู้ ความเพียร ความสำรวมอินทรีย์ และความเสียสละ” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมออนไลน์]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 ธันวาคม 2564