ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวจีน ที่เข้ามาอยู่ในไทย ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินสยามโดยรวมเท่านั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในสังคมชาวจีนในสยามก็ปรากฏความเปลี่ยนแปลงภายในเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงชนชั้น ฐานะทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างชนแต่ละกลุ่มภาษา ซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนจีนภาษาต่างๆ ในไทยปรากฏสภาพความแตกแยกและเป็นอริกันเอง
การอพยพย้ายถิ่นของ “ชาวจีน” มาไทยนั้น มีนักวิชาการทั้งชาวไทยและต่างประเทศสืบค้นข้อมูลกันมายาวนาน จากการศึกษาของพรพรรณ จันทโรนานนท์ ได้อธิบายไว้ว่า “ชาวจีนในประเทศไทย คือชาวจีนที่อพยพมาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ชาวจีนเหล่านี้ได้แก่ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ (ฮากกา) ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ รวม 5 กลุ่มภาษาใหญ่ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน 5 กลุ่มภาษาดังกล่าวในประเทศไทย เห็นได้จากศาลเจ้า สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมถิ่นเกิด สมาคมอาชีพ และโรงเรียนจีน อันเป็นหลักฐานที่แน่ชัด ซึ่งเราสามารถสืบหาข้อเท็จจริงได้”
การอพยพของ ชาวจีน แบ่งได้เป็นหลายช่วงเวลา หลักฐานจากการสืบค้นโดยนักวิชาการบ่งชี้ว่า ปรากฏกลุ่มที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา กลุ่มนี้มักเป็นพวกกะลาสีเรือ พ่อค้า พวกโจรสลัด (สิง ฮุ่ยหยู; 2000 : 58)
เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มชาวจีนเริ่มมีบทบาทในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเชิงการค้า การปกครอง กลุ่มจีนเก่า (อพยพมาไทยตั้งแต่โบราณกาลดังที่เอ่ยถึงข้างต้น) ได้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในระบบศักดินากลายเป็นขุนนางไทยไปแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาสังคมชาวจีนในพื้นที่ดินแดนสยาม ย่อมก่อตัวขึ้นกลายเป็นสังคมของชาวจีนไปโดยปริยาย
ฐานะทางสังคมในชุมชนชาวจีนในสยาม
เมื่อมาถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หลักฐานที่ปรากฏเกี่ยวกับสังคมชาวจีนในสยามบ่งชี้ถึงรายละเอียดสังคมของชนชาตินี้ได้หลายประการ ประการแรกที่ควรรับทราบคือ หลักฐานการเลื่อนฐานะทางสังคมของคนในสังคมจีน ซึ่งพบว่า มีอัตราสูงมากโดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1880-1910 (พ.ศ. 2423-2453)
กรณีตัวอย่างของผู้มานะบากบั่นสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นจากการใช้แรงงานจนกลายเป็นเศรษฐีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เป็นที่รับรู้แพร่หลาย ตัวอย่างที่พอยกมาให้เห็นภาพได้ อาทิ จางติง ซึ่งเดินทางจากเฉาอัน ช่วงศตวรรษที่ 1870 เดิมทีเป็นพ่อครัว มาเป็นกุลีสีข้าว ต่อมากลายเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจิ้นเฉิงหลี (กิมเซ่งหลี)
หรือกรณีของ เฉิน ฉือหง ซึ่งมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2408) เขาเป็นหนุ่มวัย 20 ปีที่ไม่มีเงินติดตัวเลย ภายหลังสามารถมีเรือสำเภาของตัวเอง และตั้งโรงสีได้ เมื่อเขาปลดเกษียณไปอยู่เมืองซัวเถาก็โอนธุรกิจมาอยู่ในการดูแลของ หลี เหมย (Li-Mei) ผู้เป็นบุตรชาย
แม้จะมีกรณีตัวอย่างของการเลื่อนฐานะทางสังคม แต่หากเอ่ยถึงความสัมพันธ์ภายในระหว่างสังคมชาวจีนในสยาม การศึกษาของจี. วิลเลียม สกินเนอร์ (G. William Skinner) พบว่า ในระดับชนชั้นเดียวกันนั้นแทบหาความเป็นปึกแผ่นได้ยาก เขาใช้คำว่า “แทบไม่มีปรากฏในสังคมจีน” เพราะแทบทุกคนพยายามยกฐานะทางสังคมของตัวเองให้สูงขึ้น สกินเนอร์ อธิบายว่า
“ชุมชนชาวจีนทั้งหมดได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นที่ว่าใครก็ตามถ้าทำงานหนักและกระเหม็ดกระแหม่จะประสบความสำเร็จ และมีฐานะมั่นคง”
ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพการแบ่งแยกคือ ศาลเจ้าของคนจีน สกินเนอร์ อธิบายว่า แต่ละกลุ่มภาษาเลือกนับถือเจ้าองค์หนึ่งหรือมากกว่านั้นตามที่พวกเขาพอใจ หรือการแบ่งแยกกลุ่มในเรื่องทางศาสนาอย่างการใช้งานสุสาน
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อปรากฏการสร้างสุสานในกรุงเทพฯ แต่ละแห่งถูกกำหนดให้ฝังคนกลุ่มภาษาเดียวกันเท่านั้น สุสานสาธารณะแห่งแรกเป็นของกวางตุ้ง (ค.ศ. 1884 หรือ พ.ศ. 2427) และสุสานสุดท้ายของคนจีนตามกลุ่มภาษาคือสุสานของแต้จิ๋วใน ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442)
หลักฐานอีกประการย่อมพบได้จากหนังสือเกี่ยวกับสยามในสมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งต่างปรากฏหลักฐานบ่งชี้ความแตกแยกและเป็นอริกันเองระหว่างคนจีนกลุ่มภาษาต่างๆ
ในค.ศ. 1837 (พ.ศ. 2380) จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl) เขียนในหนังสือ “The Eastern Seas, or Voyages and Discoveries in the Indian Archipelago in 1832-33-34” ว่า
“คนพื้นเมืองของมณฑล (จีน) ต่างๆ ล้วนเป็นอริกันมาก ขนาดเสมือนว่าพวกเขาเป็นคนละชาติที่เป็นอริกัน”
ด้านโฮเวิร์ด มัลคอล์ม เขียนไว้ในหนังสือ “Travels in South-Eastern Asia, Embracing Hidustan, Malaya, Siam and China, With Notices of Numerous Missionary Stations, and a Full Account of the Burman Empires” เมื่อปี 1839 โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ความแตกต่างกันของภาษาของแต่ละท้องถิ่นผลักดันให้พวกนี้แบ่งกลุ่มกันคล้ายสมาคมของเครือญาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้พวกนี้ไว้ตัวและเย็นชาต่อกันเท่านั้น บางครั้งถึงกับทำให้เกิดการวิวาทจนเสียหาย”
สกินเนอร์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เขาอ่านบทความ “The Chinese” เมื่อปี 1870 (พ.ศ. 2413) ยังเล่าถึงความรู้สึกไม่เป็นมิตรระหว่างกลุ่มภาษา อาทิ ความรู้สึกของคนกวางตุ้งต่อจีนแคะ ซึ่งพวกคนกวางตุ้งดูถูกและกดขี่จีนแคะ ส่วนคนแต้จิ๋วก็ถูกคนกวางตุ้งชิงชังเพราะพวกนี้มีอิทธิพล
การรวมตัวกันของสมาคมลับในสยามในศตวรรษก่อนหน้านี้ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกสามัคคีภายในสังคมชาวจีนโพ้นทะเลได้เช่นกัน สกินเนอร์ เอ่ยถึงการเข้ามาของสมาคมหุงเหมิน ซึ่งถูกนำเข้าจากจีนมาเผยแพร่ในสยามราวศตวรรษที่ 17 หรืออย่างน้อยก็ต้นศตวรรษที่ 18
สมาคมลับ
เดิมทีสมาคมลับนี้มีจุดประสงค์เพื่อล้มกษัตริย์ราชวงศ์แมนจูและสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นมาอีกครั้ง แต่นอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการเมือง สมาคมลับชาวจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีหน้าที่อีกหลายประการในท้องถิ่น จุดประสงค์อีกประการของสมาคมลับชาวจีนในสยามคือให้การคุ้มครองและสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจสำหรับสมาชิกโดยวิธีนอกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายไปเลย
หน้าที่สำคัญอีกอย่างของสมาคมลับคือ สงวนงานที่เคยทำกันมาไม่ให้คนอื่นแย่งทำ และการขยายตัวของคนกลุ่มภาษาหนึ่งไปยังแวดวงงานใหม่ๆ ก็ย่อมต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาคมลับของตนเช่นกัน
กรรมกรมีความจำเป็นต้องเป็นสมาชิกของสมาคมเพื่อให้ได้งาน เนื่องจากหัวหน้ากลุ่ม “แรงงาน” ได้รับและรักษาสิทธิป้อนแรงงานบางประเภทหรือที่บางโรงสี โรงเลื่อย หรือที่ท่าเรือ โดยมีสมาคมลับหนุนหลัง สกินเนอร์ ยังอธิบายว่า คนงานรถไฟแทบทุกคนในช่วง ค.ศ. 1892-1910 (พ.ศ. 2435-2453) ล้วนเป็นสมาชิกสมาคมลับ มีแต่พวกที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือเป็นลูกจ้างเท่านั้นที่จะเลี่ยงเป็นสมาชิกสมาคมลับหุงเหมิน
สมาคมขนาดใหญ่มีหัวหน้าเป็นพวกนายอากรฝิ่น บ่อนพนันหรือโรงเหล้า หรือพ่อค้าที่มั่งคั่งพอจะประมูลธุรกิจผูกขาดเหล่านี้ โดยก่อนการประมูลพวกเขาจะใช้อิทธิพลของสมาคมลับที่ตัวเองอยู่ข่มขู่กลุ่มคนจีนคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองชนะประมูล และจะใช้อำนาจรักษาสิทธิ์ทางธุรกิจเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองสมาชิกให้พ้นจากผลของการดำเนินการที่สมาคมก่อขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว สมาคมลับกลับไม่ได้เป็นแนวกั้นคนไทยหรือชาวตะวันตก แต่เป็นพลังแบ่งแยกภายในสังคมคนจีนเอง โดยกงสีต่างๆ ก่อจลาจลวุ่นวาย และก่อการเพื่อชิงผลประโยชน์ซึ่งคนไทยและชาวตะวันตกไม่ได้เล็งด้วยซ้ำ สกินเนอร์ ค้นคว้าเอกสารแล้วพบว่า ในช่วง ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ในกรุงเทพฯ มีสมาคมลับที่มีอำนาจอย่างน้อย 6 สมาคม เมื่อผ่านไปอีกทศวรรษ กงสีแถบปากน้ำโพ 3 กลุ่มก็มีเรื่องปะทะกันบ่อยครั้ง หลายเมืองขนาดใหญ่ปรากฏกงสีที่เป็นคู่แข่งกัน
สกินเนอร์ บรรยายไว้ส่วนหนึ่งว่า
“…การเป็นสมาชิกแทบทั้งหมดยึดแนวกลุ่มภาษาเป็นสำคัญ และในหลายกรณีสมาคมลับคู่แข่งซึ่งเป็นของคนกลุ่มภาษาเดียวกันทั้งคู่ต่างต่อสู้เพื่อชิงความเป็นใหญ่กัน ตัวอย่างเช่น สมาคมจี่เซียนกวนของพวกจีนแคะซึ่งตั้งขึ้นในราวก่อนปี ค.ศ. 1880 (พ.ศ. 2423) ในที่สุดก็แตกออกเป็นสองค่าย คือพวกหมิงซุน และฉวินอิง ซึ่งต่อสู้กันในที่แจ้งและที่ลับ จนกระทั่งได้มีการปรับความเข้าใจกัน จึงเป็นอันสิ้นสุดความแตกแยกในทศวรรษแรกของศตวรรษนี้”
หัวหน้าคนจีน ภาษาไทยเรียกว่าหัวหน้าฝ่ายจีน (หัวหน้าที่ดูแลเรื่องคนจีน) ภาษาพูดเรียกกันว่า “นายอำเภอเจ๊ก” รับผิดชอบต่อเจ้านครหรือเจ้าเมือง ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชนชาวจีน มีอำนาจจับกุมและสั่งลงโทษสถานเบาได้
การวิวาทกันระหว่างกงสี และความเป็นอริกันภายในคนจีนกลุ่มภาษาต่างๆ ทำให้ระบอบหัวหน้าชาวจีนเสื่อมสลายลงในช่วงศตวรรษที่ 19 ราวทศวรรษที่ 1890 (พ.ศ. 2434-2442) ตำแหน่งหัวหน้าคนจีนเปลี่ยนไปเป็นตำแหน่งทางการศาลในกระทรวงต่างประเทศของไทย หน้าที่รับผิดชอบคือพิจารณาคดีระหว่างหมู่คนจีน สกินเนอร์ สืบค้นได้ว่า บุคคลสุดท้ายที่ชาวจีนเรียกเป็นหัวหน้าในกรุงเทพฯ คือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งหน้าที่สิ้นสุดลงในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 แต่ในภาคเหนืออีกหลายจังหวัดยังพอมีแต่งตั้งหัวหน้าคนจีนอยู่บ้าง
สกินเนอร์ พบว่า หัวหน้าคนจีนในเชียงใหม่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชื่อ ตู้ กวาน เซิ่ง ในบ้านของเขายังมีคุกด้วย
ระบอบนี้ยังคงอยู่จนถึงทศวรรษสุดท้ายในศตวรรษที่ 19 ในแคว้นปกครองตนเองทางเหนือ เจ้านครแต่งตั้งหัวหน้าคนจีนและให้ยศถาบรรดาศักดิ์ เมื่อมีการรวมอำนาจปกครองมาขึ้นกับส่วนกลาง และขยายการบังคับบัญชามาจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองเหนือ หัวหน้าคนจีนในเมืองต่างๆ จึงถูกแต่งตั้งโดยตรงจากกรุงเทพฯ และถูกลดอำนาจลงเหลือแค่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ค้ำประกัน อีกไม่กี่ปีต่อมาระบอบนี้ก็หมดสิ้นลง
ในภาพรวมแล้ว พอจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า สังคมชาวจีน (ในสยาม) ในศตวรรษที่ 19 แตกแยกกันรุนแรงในแนวดิ่ง สมาคมที่ช่วยเหลืออนุเคราะห์สมาชิกจริงๆ (ซึ่งมีไม่มาก) ยังถูกจำกัดเฉพาะในกลุ่มภาษาเดียว ไม่พบเห็นองค์กรใดที่โอบอุ้มชาวจีนไว้ทั้งหมด หรือแม้แต่ส่วนสำคัญของชุมชนก็ยังไม่ปรากฏ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 สมาคมลับของชาวจีนมีวิวาทและปะทะกัน แม้ไม่ได้เป็นการแข็งข้อต่อรัฐ แต่ก็ถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นเองปรากฏความวุ่นวายขนาดย่อมโดยชาวจีนเป็นประจำ ตัวอย่างหนึ่งคือจลาจลในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ก็เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสมาคมลับ 2 แห่ง การจลาจลดำเนินไป 36 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับกองทหารภายใต้บังคับบัญชาของนายทหารเดนมาร์ก ขับไล่ชาวจีนสองกลุ่มที่ปะทะกันให้แยกจากกันไปได้
กงสุลอังกฤษเล่าผลจากเหตุการณ์นี้ไว้ว่า พวกหัวหน้าสมาคมลับถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก ชาวจีนประมาณ 900 คนถูกส่งฟ้องศาลซึ่งตั้งเป็นพิเศษเพื่อพิจารณาคดีนี้ ผู้ที่ถูกพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมถูกลงโทษปรับหรือโบย
การจลาจลที่เกิดขึ้นในภายหลังจากครั้งนี้ยังเป็นผลให้มีบทบังคับให้จดทะเบียนสมาคมและให้ตำรวจเป็นผู้ควบคุมสมาคมทั้งหมด มีบทลงโทษหนักสำหรับผู้จัดตั้งหรือดำเนินการสมาคมเถื่อน
อ่านเพิ่มเติม :
- สมาคมลับคนจีนระดมชัตดาวน์กทม. ผละงานทั่วเมืองล้มหมดท่า จุดจบอั้งยี่ในไทยหลังร.6
- ชาวจีนอพยพใหม่ เหมือน-แตกต่าง จากชาวจีนโพ้นทะเลอย่างไร?
- พ่อค้าจีน-ชาวจีนในทัศนะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ แง่มุม “ความอันตราย-ความเป็นอื่น”?
อ้างอิง :
สกินเนอร์, จี วิลเลียม. สังคมจีนในประเทศไทย ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์. มูลนิธิโตโยต้า, 2548
สิง สู่ยหยู. (2000). “การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย,” ใน ความสัมพันธ์ไทย-จีน เหลียวหลังแลหน้า. กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อ้างถึงใน “ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม”. พรพรรณ จันทโรนานนท์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2563