ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นอกจาก นายหมุด (จักรีแขก) จะเป็นขุนศึกที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “พระเชียงเงิน”
เชื่อกันว่า… พระเชียงเงิน เดิมทีแล้วท่านเป็นเจ้าเมืองเชียงเงินที่อยู่ติดกับเมืองตาก (ปัจจุบันยังปรากฏเป็นชื่อตำบลในเขตเทศบาลเมืองตากอยู่) ก่อนที่ต่อมา จะกลายเป็นขุนศึกติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงกอบกู้เอกราช ทั้งยังเป็นผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการรวบรวมกำลังคน ต่อสู้กับพม่า เพื่อฟื้นฟูเอกราชของสยาม

หน้าที่ของท่านส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการลำเลียงกองเสบียง เครื่องครัว ไพร่พล และยังออกรบต่อสู่กับศัตรูที่เมืองระยอง
ในพระราชพงศาวดารจะกล่าวถึงท่านในชื่อ “พระเชียงเงินท้ายน้ำ”
ท่านเป็นคนที่พระเจ้าตากสินทรงไว้วางพระราชฤทัยและทรงเมตตามาก เพราะหลังจากกอบกู้เอกราชให้แผ่นดินสยามได้แล้ว ท่านได้รับตำแหน่งขุนนางและผู้นำทัพ และเมื่อพระเจ้าตากสินทรงปราบหัวเมืองเหนือได้ ก็โปรดให้ท่านรั้งเมืองสุโขทัยในตำแหน่งพระยาสุโขทัย อย่างที่ปรากฏอยู่ในเอกสารมากมาย ว่า…
“ครั้น ณ วันศุกร์เดือน ๑๑ แรมค่ำหนึ่งสมโภชพระเมืองพิษณุโลก ๑ เวนแล้วข้าหลวงซึ่งมีความชอบในการสงครามให้รั้งเมืองครองเมืองตามฐานานุกรมลำดับ เจ้าพระยาพิชัยราชาเป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก พระยายมราชเป็นเจ้าพระยาสุรศรี รั้งเมืองพิษณุโลก พระยาศรีหราชเดโชรั้งเมืองพิชัย พระท้ายน้ำรั้งเมืองสุโขทัย…”

นอกจากนี้…เมื่อท่านมาเข้าเฝ้าพระเจ้าตากสินทีใด พระองค์ก็จะทรงสั่งสอนวิชารบให้เสมอ อย่างที่ปรากฏในสำเนาท้องตราปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ว่า…
“…ทรง ฯ สั่งว่า เจ้าพระยาสุรศรี เจ้าพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย พระยาสุโขทัย ลงมาเฝ้าทูลละอองฯ แจ้งราชการครั้งก่อนนั้น ทรง ฯ ได้ตรัสเนื้อความด้วยจำเพาะพระที่นั่งว่า เดือน ๑๐ หาราชการไม่ ให้พร้อมกันลงมา เฝ้าทูลละออง ฯ จะพระราชทานความรู้วิชาการให้ต้านต่ออริข้าศึก…”
จนเมื่อท่านเสียชีวิต สมเด็จพระเจ้าตากสินก็โปรดพระราชทานเพลิงศพและให้จัดทำพระเมรุเทียบเท่ากับพระเจ้านราสุริยวงศ์ พระราชนัดดา
เป็นหลักฐานว่าพระองค์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและทรงเมตตาเจ้าเมืองสุโขทัยคนนี้เพียงใด
อ่านเพิ่มเติม :
- พระเจ้าตาก กับบทบาทของนายหมุด (จักรีแขก) “ทหาร” มุสลิมคู่พระทัย
- วีรกรรมของเจ้าพระยาสุรสีห์ ทหารที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักจน “ฆ่าไม่ลง”
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปเรตร์ อรรถวิภัชน์. วัดเสี่ยงทายพระบารมี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและทหารคู่พระทัยจากเมืองตาก ใน ศิลปวัฒนธรรม เดือน พฤศจิกายน 2567 ปีที่ 46 ฉบับที่ 1.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2567