เปิดหลักฐาน “พระเจ้าตาก” ระดม “ชาวศรีเทพ” ร่วมสร้างกรุงธนบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตาก วงเวียนใหญ่
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

เมืองโบราณศรีเทพ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้าง หลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 เมืองนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรในพื้นที่ ก่อนต่อมาจะกลายเป็นเมืองที่มีบทบาทน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังมีเมืองศรีเทพแห่งใหม่ในแถบนั้น ที่มีอีกชื่อว่า เมืองท่าโรง หรือ เมืองวิเชียรบุรี และ “ชาวศรีเทพ” จากที่นี่ ก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างกรุงธนบุรีในเวลาต่อมา

กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์เจ้าของผลงาน อาทิ “มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex”, “พระเจ้าท้ายสระฉบับพรหม (ไม่) ลิขิต การเมืองการค้าอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมืองศรีเทพใหม่ ในรุ่นหลัง ตั้งอยู่ซ้อนทับกับท่าโรง/วิเชียรบุรี บางครั้งจึงเรียกเมืองนี้ว่า เมืองท่าโรง สันนิษฐานว่ามาจาก ท่าลง หมายถึง ท่าลงเรือ หรือท่าน้ำของชาวศรีเทพโบราณ ก่อนจะเดินบกไปยังเมืองศรีเทพโบราณ

กระทั่งสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ปี 2310 แม้บริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนบน ได้แก่ ย่านวิเชียรบุรี บัวชุม ลำนารายณ์ และชัยบาดาล ซึ่งถือเป็นกลุ่มเมืองในเขตหุบเขา มีเทือกเขาล้อมรอบทางทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ตรงกลางมีลำน้ำป่าสักกับแควเล็กแควน้อยสาขาไหลผ่าน ไม่ได้ถูกกองทัพพม่าบุกรุกโจมตี แต่ก็ได้ผลกระทบจากการที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ถูกทำลาย สินค้าของป่าที่ผลิตขึ้นจากภายในย่านจึงไม่มีตลาดรับซื้อ

เศรษฐกิจของเมืองศรีเทพกระเตื้องขึ้น เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรี “ชาวศรีเทพ” ก็ส่งสินค้าของป่าลงไปขายที่ธนบุรี ประกอบกับเมืองศรีเทพมีชายฉกรรจ์ฝีมือดี จึงสามารถเป็นฐานกำลังให้ธนบุรีในการรับศึกใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือคือ “ศึกอะแซหวุ่นกี้” ทั้งยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขุดคูสร้างกำแพงแนวป้องกันพระนครให้พระเจ้าตากอีกด้วย

กำพลอ้างอิงหลักฐานอย่าง พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ระบุถึงการขุดคูสร้างเมืองใหม่ที่กรุงธนบุรีเมื่อ พ.ศ. 2313 ไว้ว่า

“ลุศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก (พ.ศ. ๒๓๑๓) ทรงพระวิจารณะว่าเมืองเก่านี้น้อยนัก ไพร่พลสิมาก เกลือกมีการสงครามมาหาที่มั่นผู้คนจะอาศัยมิได้ จึงทรงพระกรุณาให้ข้าทูลละอองฯ ฝ่ายทหารพลเรือนทำค่ายด้วยไม้ทองหลางทั้งต้น เป็นที่มั่นไว้พลางก่อน จึงจะก่อกำแพงเมืองภายหลัง ให้ทำค่ายตั้งแต่มุมกำแพงเมืองเก่าไปจนวัดบางว้าน้อยวงลงไปริมแม่น้ำใหญ่ แล้วขุดคูรอบพระนคร มูลดินขึ้นเป็นเชิงเทินตามริมค่ายข้างใน เดือนหนึ่งสำเร็จการ”

คำว่า “เมืองเก่า” ตามความในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้ หมายถึงเมืองบางกอกเก่า ตามที่เคยเป็นมาในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่า ครั้งนั้นพระเจ้าตากไปได้คนจากไหนมาช่วยขุดคูเมือง ในขณะที่ยังมีศึกที่ต้องยกทัพไปปราบปรามอยู่รอบทิศ

แต่วันหนึ่ง กำพลก็ค้นพบหลักฐาน

“บังเอิญว่าช่วงที่ผู้เขียนได้ไปค้นคว้าเอกสารโบราณที่หอสมุดแห่งชาติ (หสช.) เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ได้ค้นพบเอกสารจดหมายเหตุสมัยกรุงธนบุรีอยู่ฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือราชการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มีพระราชโองการสั่งไปยังหัวเมืองต่างๆ ซึ่ง ‘สงบอยู่’ (คือไม่มีภัยสงคราม) อย่างเมืองนครไชยศรี เมืองท่าโรง (วิเชียรบุรี) เมืองบัวชุม เมืองชัยบาดาล เมืองกาพราน ให้เกณฑ์คนลงมาขุดคูเมืองสร้างพระนคร เนื้อความเอกสารคำสั่งดังกล่าวนี้มีเนื้อความดังนี้

“(สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) จึงทรงพระกรุณาฯ สั่งว่า ถ้าราชการทางเมืองท่าโรง บัวชุม กาพราน ไชยบาดาล สงบอยู่ ก็ให้พระยานครไชยศรี พระกาพราน พระไชยบาดาล พระท่าโรง คุมพรรคพวกสมกำลังลงไปจับการขุดคูเลนทำการพระนครให้พร้อมกัน แต่ในเดือน ๓ ข้างขึ้นปีมะเส็ง เบญจศก” กำพลเล่า พร้อมยกหลักฐานประกอบ

เพราะฉะนั้น “เมืองท่าโรง” ซึ่งเป็นอีกชื่อของเมืองศรีเทพ จึงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ชัดว่า “ชาวศรีเทพ” มีส่วนในการสถาปนากรุงธนบุรี อันเป็นพื้นฐานแก่กรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. ไขปริศนาเมืองศรีเทพ : ศรีเทพหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไม่ได้หายไปไหน?
“วิเชียรบุรี” นครหลวงไก่ย่างรสเด็ดคือ “ทายาทสายตรง” ของมรดกโลกศรีเทพ. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567