ค้นหาความจริง “พระมหามงกุฎสยาม” ที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระมหามงกุฎสยาม ฉายพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์, (ขวา) พระมหามงกุฎสยาม ที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย

ภาพประวัติศาสตร์สำคัญที่สุดภาพหนึ่งในรัชกาลที่ ๔ เขียนโดยจิตรกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ “เล-อง เจโรม” คือภาพคณะราชทูตไทยถวายพระราชสาส์นต่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟองเตนโบล เมืองฟองเตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ (ค.ศ. ๑๘๖๑)

ในภาพนั้นมีรูป “พระมหามงกุฎสยาม” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวติดอยู่ด้วย

ถ้าไม่คิดอะไรมากดูผิวเผินก็เป็นเพียงของชิ้นหนึ่งจากเครื่องมงคลราชบรรณาการ ซึ่งประกอบไปด้วยของขวัญต่างๆ แต่ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น คือทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องราชูปโภคสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทยที่มีค่ายิ่ง และมีจำนวนมากถึง ๔๘ หีบ มากที่สุดกว่าที่เคยส่งไปให้พระประมุของค์ใดในโลก[1]

เจตจำนงในการส่งของชั้นสูงเหล่านั้นไปพระราชทานผู้นำประเทศมหาอำนาจยุโรป บ่งบอก “ความจำเป็น” บางอย่างในพระราชวินิจฉัยหรือเปล่า? เป็นคำถามที่น่าสงสัยยิ่ง ซึ่งยังหาคำตอบแท้จริงไม่ได้ แต่คำถามที่ ๒ ที่ดูสนุกกว่า คือมงกุฎองค์นั้นมีจริงหรือ? และถ้ามีเวลานี้ถูกเก็บอยู่ที่ไหน? นี่คือจุดเริ่มต้นของการตามแกะรอยเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ราชทูตไทยที่ปลายทางฝรั่งเศส ต้นเหตุของพระราชประสงค์สำคัญในครั้งนั้น

การลงพื้นที่ครั้งแรก (กันยายน ๒๕๔๖) ของผู้เขียนประสบความล้มเหลวอย่างน่าตกใจ ถึงจะค้นจนพบกรุพระราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตาม ชั่วเวลา ๒๔ ชั่วโมงต่อมา เป็นคราวเคราะห์ที่กล้องและฟิล์มที่บันทึกหลักฐานเหล่านั้น พร้อมทั้งเอกสารสิ่งตีพิมพ์ทั้งหมดที่ซื้อมาจากพระราชวัง ถูกโจรกรรมภายในห้องของโรงแรมที่พักในกรุงลอนดอนอย่างไร้ร่องรอย ความพยายามครั้งแรกเรียกได้ว่าคว้าน้ำเหลว และจำต้องกลับมามือเปล่า

ความพยายามครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นอีกครั้งในอีก ๒ เดือนถัดมา การค้นหามรดกสยามชิ้นนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาถึง ๑๐ ปีเต็ม (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๐๔) เตรียมการส่งราชทูตของพระองค์ไปฝรั่งเศส ทรงพยายามครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ เพื่อหาทางถ่วงดุลอำนาจอังกฤษในแหลมอินโดจีน โดยเสนอที่จะทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส แต่ไม่ได้รับความสนใจ ประกอบกับเกิดสงครามไครเมียขึ้นในยุโรปใน พ.ศ. ๒๓๙๖ ซึ่งฝรั่งเศสต้องเข้ารบด้วย จึงไม่สามารถส่งผู้ใดมาเจรจากับฝ่ายไทยได้ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๙๗ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงแต่งตั้งบูร์บูลอง กงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองมาเก๊า ให้เป็นทูตพิเศษมาเจรจากับราชสำนักไทย แต่ก็ไม่สำเร็จอีก จนกระทั่งข่าวการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างเซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ กับราชสำนักไทย ในปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ล่วงรู้ไปถึงกรุงปารีส รัฐบาลฝรั่งเศสเกิดความกังวลว่าอังกฤษจะได้รับผลประโยชน์จากไทยมากไป จะเป็นการน้อยหน้าอังกฤษ จึงได้ส่งชาร์ล เดอ มงติญยี เป็นทูตพิเศษเข้ามาเจรจาความทันที พร้อมกับนำภาพวาดพระบรมรูปจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และจักรพรรดินียูเจนีมาถวายในคราวเดียวกัน (ดูศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑ พ.ย. ๒๕๔๖ : รูปเหมือนนโปเลียน ที่ไม่มีใครเคยเห็น!) และสำเร็จเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีฉบับแรกในปี พ.ศ. ๒๓๙๙

(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระมหามงกุฎสยาม ฉายพร้อมเครื่องราชกกุธภัณฑ์, (ขวา) พระมหามงกุฎสยาม ที่พลัดพรากอยู่นอกแผ่นดินไทย

ด้วยความช่วยเหลือของทูตอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระปิ่นเกล้าฯ ทรงได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมเอเชียแห่งกรุงลอนดอน เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง มงติญยีจึงขอให้แต่งตั้งกษัตริย์ทั้งสองพระองค์เข้าเป็นสมาชิกราชสมาคมการปรับอากาศส่วนกลาง สมาคมเกษตรกรรม สมาคมพืชสวน และสมาคมภูมิศาสตร์แห่งฝรั่งเศส นอกจากนั้นเขายังเสนอต่อทั้งสองพระองค์ที่จะจัดเรือ “กาตินา” ให้ไว้ใช้สอยสำหรับการเสด็จประพาสฝรั่งเศส ด้วยหวังที่จะกระทำการล้ำหน้าฝ่ายอังกฤษ ซึ่งกำลังเตรียมการรับทูตไทยที่จะมาลอนดอนอย่างเอิกเกริก[1]

เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ถึงไมตรีจิตต่อฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตกลงพระทัยที่จะส่งคณะทูตชุดใหญ่ไปยังกรุงปารีส กรุงเทพมหานครกลายเป็นเวทีการแข่งขันระหว่างอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างคึกคัก

แต่แล้วความสัมพันธ์ทางการทูตกลับดำเนินต่อไปอย่างล่าช้า ทั้งนี้เนื่องจากความเพิกเฉยของทางรัฐบาลฝรั่งเศส ถึงแม้รัฐบาลไทยจะตระหนักในเรื่องนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงหวั่นระแวงว่าอังกฤษจะมีความคาดหมายแบบจักรวรรดินิยม ในภูมิภาคทางตะวันตกแห่งพระราชอาณาจักรของพระองค์ มติครั้งที่แล้วที่ออกมาในกัลกัตตาสนับสนุนให้ผนวกดินแดนพม่าเข้าไว้ใต้ราชบัลลังก์อังกฤษ กบฏที่เกิดขึ้นในพม่าไม่นานมานี้ทำให้ราชสำนักกรุงเทพฯ ตัดสินใจหาวิธีถ่วงดุลยภาพทางตะวันออก โดยการรักษาไมตรีอันดีงามกับรัฐบาลแห่งองค์พระจักรพรรดิฝรั่งเศสไว้ด้วยอีกทาง[2]

เชิญร่วมงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “พิพิธภัณฑสถานไทย : สมัยแรกและปัจจุบัน” วิทยากร : คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ผศ. ดร. กัณฐิกา ศรีอุดม มหาวิทยาลัยรังสิต และเอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เวลา 13.00-16.00 น. พิเศษ : นำชมห้องก่อนประวัติศาสตร์ และห้องศิลปะทวารวดี ในอาคารมหาสุรสิงหนาท สำรองที่นั่งล่วงหน้า *รับเพียง 40 ท่านเท่านั้น* มีบริการตรวจ ATK หน้างานสำหรับผู้เข้าร่วมฟังเสวนา แจ้งลงทะเบียนที่ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม และทางโทรศัพท์หมายเลข 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220

ความคืบหน้าครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อกงสุลฝรั่งเศสคนแรก ชื่อกงต์ เดอ กาสเตลโน เข้ารับตำแหน่งในสยาม เขาประสานงานได้เป็นอย่างดี จนในที่สุดโครงการเก่าเรื่องรับทูตไทยไปกรุงปารีสได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีก กระทั่งเรือ “จีรงด์” ถูกจัดส่งเข้ามาเพื่อนำคณะราชทูตไทยออกไปเป็นผลสำเร็จในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๐๓ โดยมีมงติญยีมาคอยต้อนรับอยู่อย่างอบอุ่นที่เมืองท่าตูลอง โครงการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสานต่อด้วยความพอพระทัย

พระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องยอมเปิดสัมพันธภาพกับชาติตะวันตก โดยการทำสนธิสัญญาใน “ลักษณะใหม่” กว่าที่ดำเนินอยู่แต่ก่อน จากที่เคยติดต่อกับชาวต่างชาติแบบระมัดระวังตัว และยึดถือศักดิ์ศรีของตนเป็นหลัก มาเป็นการยอมทำตามเงื่อนไขของประเทศตะวันตกอย่างกระตือรือร้น และในบางครั้งทรงเสนอเงื่อนไขเสียเองตามแนวคิดของพระองค์

ทรงกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองแนวใหม่ โดยเสนอที่จะ “สวามิภักดิ์” กับผู้รุกรานด้วยการทำตนเป็นพันธมิตรเล็กๆ ผู้นอบน้อม ด้วยทรงเห็นหนทางรอดวิธีเดียว คือการดำรงตนอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวที่สุด พระราชดำรัสที่ทรงมีถึงจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เมื่อทรงจัดส่งของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดจากสยามไปให้ แฝงกุศโลบายอันเร้นลับอยู่ในพระพจนารถ…

“ฝ่ายชาวประเทศไกลที่มีอย่างธรรมเนียมดีๆ เมื่อมาพบคบหากับชาวสยาม ที่มีปรกติธรรมดาตัวเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อน ความรู้น้อย เกลือกจะมีความเข้าใจเห็นชอบไม่ต้องกันต่างๆ ไปบ้าง ฝ่ายผู้ครอบครองแผ่นดินสยามที่มีกำลังพอประมาณจะระงับความได้ในบัดนี้ และภายหน้านั้น จะได้ครอบครองแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดิ์ ไม่ได้มีความรู้จนรำคาญได้ ก็ด้วยพระเจ้าแผ่นดินประเทศใหญ่ๆ ในเมืองที่มาทำสัญญาแล้วนั้น ทรงคิดและไตร่ถามถึงด้วยพระเมตตากรุณาเนื่องๆ ในการอันสมควร เมื่อเหตุใดๆ หากจะบังเกิดมี เพราะฉะนั้นขอพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจงทรงพระเมตตากรุณาปรานีแก่ผู้ครองสยามประเทศนี้ให้จงมาก และครั้งนี้กรุงสยามเห็นแก่ทางราชไมตรี ได้จัดแจงสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการบางสิ่ง มีบัญชีในหางว่าวที่มากับพระราชสาส์นนี้ ถึงของไม่สู้ดีก็เป็นฝีมือชาวสยามประเทศนี้ทำขึ้น และเป็นของในประเทศนี้ส่งมา ทรงยินดีมาเป็นทางเป็นนิมิต เพื่อจะให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงระลึกถึงทางพระราชไมตรีต่อไปภายหน้า ขอจงทรงพระเมตตารับไว้เทอญ” [3]

หนึ่งในพระราโชบายของพระองค์ คือการส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการ โดยมีพระมหามงกุฎสยามของพระองค์ไปด้วย เรื่องมงกุฎนี้มิใช่เล็กน้อยเลย มี “ความลับ” ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้นอีก ซึ่งมาจากพระราชวินิจฉัยที่ละเอียดอ่อนรอบคอบ แค่คิดเล่นๆ ในมุมกลับว่า จะเป็นไปได้หรือที่นโปเลียนที่ ๓ หรือพระราชินีวิกตอเรีย จะโปรดให้จำลองมหามงกุฎแห่งราชตระกูลของทั้งสองพระองค์ไปพระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นการตอบแทน ก็ตอบได้ง่ายๆ ว่าคงไม่มีทาง และไม่มีวันที่จะเป็นไปได้

ผู้เขียนพบข้อมูลแปลกๆ สนับสนุน “ความยิ่งใหญ่” ของพระมหามงกุฎสยามบ่งบอกถึง “ความในพระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะทรงมีพระราชดำริให้ “จำลองมงกุฎ” ขึ้นเพื่อส่งไป แสดงถึงว่าพระมหามงกุฎสยามเป็นเครื่องมงคลชั้นสูงจริงๆ ที่พระมหากษัตริย์ในอดีตจะทรงใช้สวมในงานพระราชพิธีหลวงอันเป็นมงคลพิธีเท่านั้น ไม่สามารถนำออกมาใช้พร่ำเพรื่อได้ หนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวถึงพระมหามงกุฎสยามว่า “เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด เป็นสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ สำหรับแสดงความยิ่งใหญ่ และเป็นพระเกียรติยศในฐานะพระราชา” มีธรรมเนียมสร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าแผ่นดินไทยเท่านั้น อย่าว่าแต่จะส่งไปเป็นของขวัญให้กษัตริย์องค์อื่นเลย แม้แต่ในเมืองไทยก็ยังเป็นของต้องห้าม มิให้นำออกมาโดยไม่มีเหตุผล[4]

สองปีก่อนที่จะมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นใหม่ เพื่อจัดส่งไปยุโรปนั้น เซอร์จอห์น เบาริ่ง เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชปรารภกับท่านเป็นกรณีพิเศษว่า…

“มีรับสั่งถามพวกเราว่าอยากจะได้เห็นพระมหามงกุฎสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสยามหรือไม่ เมื่อพวกเรากราบทูลตอบว่าอยากจะได้เห็นแล้ว จึงมีรับสั่งให้ขุนนางคนหนึ่งไปเชิญพระมหามงกุฎมาให้พวกเราดู และมีรับสั่งว่าพระมหามงกุฎนี้ได้ทรงต่อกันมาแต่พระบรมอัยกา เป็นรูปมียอดแหลม หนักอยู่ในราวสี่ปอนด์ ประดับหุ้มเต็มไปด้วยเพชรอันสวยงาม และเพชรเม็ดยอดนั้นเป็นเพชรเม็ดใหญ่งามนัก มีจรหูสองข้างลงไปทำด้วยทองคำประดับเพชร พระมหามงกุฎนั้นในเวลาที่สวมทรงเข้าแล้วต้องผูกรัดด้วยเชือกใต้คาง และได้ลองสวมด้วยพระองค์เองให้พวกเราดู แล้วรับสั่งว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามเวลาที่สวมทรงมงกุฎเมื่อราชาภิเษกต้องทำพิธีด้วยพราหมณ์ที่มีเกียรติยศสูงสุด”[4]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความผูกพันกับพระมหามงกุฎของพระองค์มากกว่าที่เราคิด

ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ และพระองค์ก็โปรดที่จะใช้พระนามนี้อยู่เสมอ ในบรรดาพวกฝรั่งก็คุ้นกับพระนาม King Mongkut มากกว่าพระปรมาภิไธยอื่นๆ และการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๖) ต้องทรงใช้พระนามนี้ในเวลาต่อมา กล่าวกันว่า เป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงใคร่จะให้พระราชนัดดาต่อไปมีพระปรมาภิไธยว่าคิงมงกุฎที่ ๒ (King Mongkut The Second) แล้วพระองค์จะได้ทรงเป็นคิงมงกุฎที่ ๑ (King Mongkut The First) เหมือนอย่างธรรมเนียมในยุโรป จึงได้ทรงขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามแก่พระราชโอรสเจ้าฟ้าที่จะเป็นรัชทายาทว่า “มงกุฎ” แต่เผอิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มิได้ทรงทำตาม แต่ต่อมาก็ได้ทรงขอแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ให้ทรงเลือกพระบรมนามาภิไธยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว

ตามเรื่องที่ยกมากล่าวนี้พิจารณาดูก็มีเค้าที่น่าคิดอยู่ ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะมิได้ทรงพระราชทานพระนามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกว่า “มงกุฎ” ก็ตาม แต่ในพระนามนั้นก็มีคำที่มีลักษณะเป็นมงกุฎอยู่ด้วย คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก มีพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิรุณหิส จะเห็นว่ามีคำว่า “อุณหิส” ซึ่งแปลว่ากรอบหน้า หรือ “มงกุฎ” รวมอยู่ด้วย

อันที่จริงไทยเรามีมงกุฎรวมอยู่ในเบญจราชกกุธภัณฑ์มาแต่สมัยโบราณ แต่เมื่อเราพูดถึงความเป็นพระมหากษัตริย์กันแล้วเราไม่พูดถึงมงกุฎ แต่กลับไปพูดถึงเศวตฉัตร ธรรมเนียมนี้ได้ถือกันมาช้านาน ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้ยกเอามงกุฎมาใช้เป็นสัญลักษณ์มากขึ้น[6]

พระมหามงกุฎสยามจึงมีความหมายลึกซึ้งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินคือพระองค์แล้ว ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชปรารภถึงความหมายของพระมหามงกุฎ โดยใช้วิธีอุปมาให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อคราวที่เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีความตอนหนึ่งว่า “ก่อนที่จะทำเมา ฉันบอกกับไชยยันต์แลพระยาพิไชยว่า ฉันจะต้องถอดมงกุฎออกเล่นกับแกเสียสักที” คำว่ามงกุฎในพระราชหัตถเลขานี้จึงหมายถึงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินนั่นเอง ไม่ใช่ว่าจะทรงถอดมงกุฎจริงๆ แต่หมายถึงว่าจะทรงลดพระองค์ลงเล่นสนุกกับคนเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีปรากฏในพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส ทรงเล่าถึงเมื่อตอนแรกที่พระองค์ได้รับราชสมบัติ มีความตอนหนึ่งว่า “ในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างขึ้นตั้งไว้ในสมมุติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้”

คำว่า “มงกุฎ” ในพระบรมราโชวาทตอนนี้ จะทรงหมายถึงภาระหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะทรงรับไว้

๑ ภาพพระมหามงกุฎสยาม (กลาง) และเครื่องมงคลราชบรรณาการชั้นเลิศจาก ร.๔, ๒ หน้าปกหนังสือพิมพ์ L’Ilustration ปี ๑๘๖๑ ลงข่าวเรื่องของมงคลราชบรรณาการจาก ร.๔, ๓ พระแท่นเสด็จออก จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ที่พระราชวังฟองเตนโบล

หลังจากพิจารณาสิ่งแวดล้อมทั้งปวงแล้ว ประเด็นที่เหลืออยู่คือ เป็นไปได้หรือที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเคร่งครัดในโบราณราชประเพณี จะทรงตัดสินพระทัยให้สร้างพระมหามงกุฎสยามส่งไปให้ชาวต่างชาติ!? นอกจากในรูปวาดของเจโรมแล้ว ยังมีหลักฐานสำคัญปรากฏพิมพ์อยู่ในหนังสือพิมพ์สมัยพระเจ้านโปเลียน (ดูภาพประกอบ) ลงข่าวทูตไทยถวายพระราชสาส์น ร.๔ พร้อมเครื่องบรรณาการในฝรั่งเศส[7]

วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ เวลาบ่าย คณะทูตานุทูตเข้าไปภายในท้องพระโรงที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่ง พระยาศรีพิพัฒน์ ราชทูต อ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการเป็นคำไทยก่อน ฯลฯ[8]

ท้องพระโรงกลาง ที่พระราชวังฟองเตนโบล

๑๔๓ ปีให้หลัง ผู้เขียนเดินอย่างประหม่าเข้าไปในท้องพระโรงที่เสด็จออกนั้น ซึ่งบัดนี้ดูเงียบเหงาและโหยหวน นานๆ จึงมีนักท่องเที่ยวเดินผ่านเข้ามาชำเลืองมองอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก พระแท่นที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เคยเสด็จออกเวลานี้ว่างเปล่าไร้วิญญาณ! แต่นั่นไม่น่าทึ่งเท่ากับพระตำหนักชั้นล่างด้านหลังของพระราชวัง! มีห้องๆ หนึ่งเคยเป็นมุขที่ประทับของพระจักรพรรดินียูเจนี แต่เวลานี้ใช้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์เรียกห้องจีน ในเวลาปกติจะปิดอยู่เสมอ และไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชม เมื่อผู้เขียนเข้าไปนั้นเจ้าหน้าที่ต้องเดินนำไปเพื่อเปิดหน้าต่างที่ปิดสนิทอยู่หลายบาน แสงสว่างจากภายนอกสาดเข้ามากระทบเครื่องบรรณาการมากมาย ที่จัดอยู่เป็นระเบียบในตู้ต่างๆ ทั่วไปในห้อง

หนึ่งในตู้ไม้มะฮอกกานีขนาดใหญ่ มีของชิ้นหนึ่งอยู่ตรงกลางตั้งเด่นเป็นที่สะดุดตา เหมือนครั้งวางอยู่ในท้องพระโรง เบื้องหน้าพระพักตร์นโปเลียนที่ ๓ ไม่ใช่ไหนอื่น พระมาลาทรงพีระมิดที่ทูตฝรั่งมักกล่าวขวัญถึง คือ “พระมหามงกุฎสยาม” ที่พลัดพรากจากมาตุภูมิมาเกือบสองศตวรรษนั่นเอง บัดนี้ส่องประกายวาววับเล่นแสงแดดอ่อนๆ อยู่ระยิบระยับ ดูน่าเวทนาจับใจ

พระมหามงกุฎ จัดแสดงอยู่ในตู้กระจกขนาดใหญ่

ผู้เขียนยืนตะลึงงงกับ “ชิ้นส่วน” ของประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า หวนนึกไปถึงคำพูดของพระยาศรีพิพัฒน์ที่กราบทูลจักรพรรดินียูเจนีเมื่อ ๑๔๓ ปีมาแล้ว ณ ห้องแห่งนี้ว่า “พระมหามงกุฎและเครื่องราชูปโภคที่ถวายนี้เป็นเครื่องสำหรับขัตติยราชตระกูลของกษัตริย์อย่างสูง ใช้ได้แต่ในหลวงเท่านั้นพระเจ้าข้า”[8]

อีกหลายเดือนต่อมา ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบว่าพระจักรพรรดิทรงรับและพอพระทัยเครื่องราชูปโภคของพระองค์ก็ทรงโสมนัสยินดี ทรงมีพระราชหัตถเลขาตามออกไปอีกฉบับหนึ่งว่า…

“กรุงสยามเมื่อได้ฟังความในพระราชสาส์นฉบับนี้ ก็มีความชื่นชมยินดียิ่งนัก ด้วยได้ฟังพระราชปฏิญญาว่าจะโปรดรักษาทางพระราชไมตรีในระหว่างฝรั่งเศสกับสยามนี้ ไม่ให้มีความเปลี่ยนแปลงไปเลย และว่าถึงเครื่องประดับที่กรุงสยามส่งไปกับพระราชสาส์นครั้งก่อนนั้น กรุงสยามเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองน้อย ไม่อาจจะขอให้กรุงฝรั่งเศสทรงรับเป็นเครื่องประดับสำหรับพระราชอิสริยยศได้ ซึ่งส่งไปนั้นเป็นแต่ความหารือ ว่าควรจะโปรดอย่างไรก็สุดแต่จะโปรด และซึ่งกรุงฝรั่งเศสโปรดทรงรับให้เป็นเครื่องประดับสำหรับราชอิสริยยศ ดังกล่าวมาในพระราชสาส์นนั้น กรุงสยามมีความชื่นชมยินดีเป็นที่สุด คิดขอบพระเดชพระคุณกรุงฝรั่งเศสเป็นอันมาก”[3]

จริงอยู่ที่ “เครื่องประดับ” ในพระพจนารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นของขวัญพิเศษสำหรับพระจักรพรรดิฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริงแล้วเรากำลังอยู่ต่อหน้า “รัฐประศาสโนบาย” อันแนบเนียนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดีๆ นี่เอง

หนังสือการต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย[2] อธิบายวิถีทางในการดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติไทย แม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปบ้างว่า “นับเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาดของรัชกาลที่ ๔ นอกจากจะทรงใช้นโยบายลู่ตามลมแล้ว ยังทรงยึดถือนโยบายผูกมิตรกับมหาอำนาจหนึ่งไว้คอนมหาอำนาจอื่น นโยบายผูกมิตรและถ่วงดุลนี้จะเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อไทยผูกมิตรกับอังกฤษเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ซึ่งกำลังหาทางยึดเขมรไปจากไทย! ครั้นไม่ได้ผลไทยก็หันมาใช้นโยบายลู่ตามลมอีก จะเห็นได้อีกว่าไทยดำเนินนโยบายหลายรูปแบบ สุดแล้วแต่จังหวะ! เวลา และความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความคงอยู่ของชาติเป็นสำคัญ”

“จังหวะ เวลา และความเหมาะสม” ที่มองเห็นอยู่ตรงหน้านี้ คือ พระราโชบายที่คาดไม่ถึงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงว่ามิได้ทรงยึดติดอยู่กับราชสมบัติและพระราชอิสริยยศของพระองค์แม้แต่น้อย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับนักล่าเมืองขึ้นที่ทรงอานุภาพอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมๆ กัน ทรงกล้าลดพระองค์โดยโปรดให้จำลองศักดิ์ศรี ความเป็นขัตติยราชอันสูงส่งที่มีอยู่ทั้งหมดและสัมผัสได้ พระราชทานให้เขาเสียเลย ผลที่ออกมาพอจะสรุปได้ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสไว้ใน “ความทรงจำ” ว่า “พระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชดำรัสว่า หนทางรอดของเมืองไทยคือการทำให้ฝรั่งนับถือ”

จึงเป็นที่มาของการจัดส่งคณะราชทูตครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์ ไปยังอังกฤษและฝรั่งเศสในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งดูจะได้ผลเกินความคาดหมาย เพราะทั้งสองมหาอำนาจ “หลงกล” กรุงสยาม หวาดระแวงกันเองจนต้องแอบ (ไทย) ไปทำความตกลงเรียก “ปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส” พ.ศ. ๒๔๓๙ (ค.ศ. ๑๘๙๖) เมื่อมหาอำนาจทั้งสองเห็นความจำเป็นและเหมาะสมที่จะสถาปนาให้ประเทศสยามเป็นรัฐกันชนในแหลมอินโดจีน เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจในอาณาบริเวณนี้[2]

ด้านหน้าพระราชวังฟองเตนโบล

หนังสือนำเที่ยวพระราชวังฟองเตนโบลเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส วางขายอยู่ทุกวันนี้ กล่าวถึงพระวิเทโศบายของคิงมงกุฎไว้อย่างเปิดเผยในหน้าที่ ๖๒ ว่า “เครื่องมงคลราชบรรณาการที่ทรงยินดีส่งมาพระราชทานพระจักรพรรดินี้ แสดงถึงนโยบายต่างประเทศที่หลักแหลมของพระองค์ แฝงไว้ซึ่งความปรองดอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศส (น่าแปลกที่พูดถึงอังกฤษด้วย-ผู้เขียน) และเมื่อต้องต่อกรกับนโยบายขยายอาณานิคมที่ทั้งสองประเทศนั้นใช้อยู่ในตะวันออกไกล”

แสดงว่าพระราโชบายอันลุ่มลึกนี้ไม่ใช่เรื่องลับเลยในสายตาคนฝรั่งเศส แม้ในหนังสือแนะนำพระราชวัง แนะนำความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิฝรั่งเศสที่พิมพ์ออกสู่สายตาคนทั้งโลก ยังระบุไว้แบบตรงไปตรงมา

หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟองเตนโบลอีกเล่มหนึ่ง บรรยายเรื่องห้องจีนของจักรพรรดินียูเจนี หยิบยกพระมหามงกุฎสยามขึ้นมาถก ว่าเป็นของขวัญชิ้นสำคัญจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกล่าวว่า “มงกุฎอันเลิศลอยของคิงมงกุฎนี้ ได้รับการประเมินค่าไว้ในราคา ๗๐,๐๐๐ ฟรังก์ (สมัย ร.๔) จัดอยู่ในกลุ่มสิ่งของชิ้นเดียวที่มีราคาสูงที่สุดในพระราชวัง จากการตรวจสอบอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. ๑๘๖๕ (พ.ศ. ๒๔๐๘) พบว่าเป็นทองคำทั้งองค์ ประดับอยู่ด้วยทับทิม ๒,๒๙๘ เม็ด เพชรเหลี่ยมกุหลาบ ๒๓๓ เม็ด มรกต ๔๖ เม็ด และไข่มุก ๙ เม็ด”

“พระมหามงกุฎสยาม” ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเป็นไทย และเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นั้น ที่ต้องพลัดพรากอยู่ในต่างประเทศ บัดนี้กลายเป็นภาพพจน์แห่งรัชกาลอันเรืองรองของพงศาวดารฝรั่งเศสสมัยนโปเลียนที่ ๓ และยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยชิ้นหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่

ยืนยันอยู่ในคำบอกเล่าของมัคคุเทศก์ประจำพระราชวังฟองเตนโบลทุกเมื่อเชื่อวัน


หนังสือประกอบการค้นคว้า

[1] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙

[2] ________. การต่างประเทศกับเอกราช และอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๒

[3] พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ. มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, ๒๕๒๑

[4] ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๕

[5] ประยุทธ สิทธิพันธ์. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เล่มปลาย. สำนักพิมพ์สยาม, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๖

[6] ส.พลายน้อย. เกร็ดโบราณคดีประเพณีไทย ชุดที่ ๒. สำนักพิมพ์รวมสาส์น, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๖

[7] น.ส.พ. L”Illustration. ฉบับวันที่ 20 july 1861, Paris

[8] จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เรื่องราชทูตไทยไปฝรั่งเศส ในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๔


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 27 เมษายน พ.ศ. 2560