หลอกทหารมาปฏิวัติ 2475 แผนการลวงของพระยาทรงสุรเดช

สี่ทหารเสือคณะราษฎร: (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พระประศาสน์พิทยายุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระยาฤทธิอัคเนย์

“นี่! เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว ผู้บังคับกองรักษาการณ์ยังไม่รู้อีกหรือ? มัวเอาแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ ทหารออกช่วยเดี๋ยวนี้!” วาทะของพระยาทรงสุรเดชแสร้งพูดดุดันกับผู้บังคับกองรักษาการณ์ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อเวลาราว 05.00 น. ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

การปฏิวัติของคณะราษฎรมีข้อจำกัดอยู่ที่กำลังทหาร เนื่องจากนายทหารผู้ก่อการส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจสั่งการหรือเรียกรวมพลทหารได้ เมื่อไม่มีอำนาจนั้น ก็ไม่มีกำลังทหาร ไม่มีอาวุธ และไม่อาจจะปฏิวัติให้สำเร็จได้ ดังนั้น พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎรจึงวางแผนการลวง หลอกทหารมาเข้าร่วมปฏิวัติอย่างงุนงง

วางแผนก่อการ

นายทหาร 4 คนสำคัญของคณะราษฎร หรือ “สี่ทหารเสือ” อันประกอบไปด้วย พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา พระประศาสน์พิทยายุทธ และพระยาฤทธิอัคเนย์ ไม่มีใครกุมทหารไว้ในกำมือเลย เว้นเพียงแต่พระยาฤทธิฯ คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งการทหารในบังคับบัญชา แต่ก็มีเพียง 2 กองพัน (รวม 4 กองร้อย) เฉพาะในสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์เท่านั้น

ขณะที่ พระยาทรงฯ เป็นแต่เพียงอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการทหารในโรงเรียนนายร้อย แม้นักเรียนนายร้อยจะร่วมกับคณะราษฎร แต่ก็ไม่มีอาวุธใช้ก่อการใดได้ พระยาพหลฯ เป็นแต่เพียงรองจเรทหารปืนใหญ่ แม้มีตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่มีอำนาจสั่งการทหารโดยตรง ส่วนพระประศาสน์เป็นแต่เพียงผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ในการประชุมของคณะราษฎรคราวหนึ่ง เพื่อปรึกษาหารือถึงแผนการปฏิวัติ ที่ประชุมมีมติให้ พระยาทรงฯ เป็นผู้วางแผนการปฏิวัติ ต่อมา พระยาทรงฯ เสนอแผนการที่มีแนวคิดที่จะใช้การปฏิวัติแบบจู่โจมฉับพลัน โดยทันทีที่การปฏิวัติเริ่มต้นขึ้น จะบุกพระราชวัง เชิญรัชกาลที่ 7 มาอยู่ในการควบคุมของฝ่ายปฏิวัติ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นองค์ประกันความปลอดภัยของฝ่ายผู้ก่อการ โดยใช้หน่วยทหารกล้าตายบุกประชิดถึงห้องพระบรรทม แล้วจะให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

แต่พระยาฤทธิฯ คัดค้านแผนการนี้หัวชนฝา เพราะคิดว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด พระยาฤทธิฯ มีความเห็นว่า แผนการนี้มีจุดอ่อน โดยในช่วงเวลาที่บุกพระราชวังนั้น จะต้องปะทะกับทหารรักษาพระองค์ ทำให้ต้องเสียเวลาไปมาก เปิดช่องให้ทหารหัวเมืองมีเวลาบุกเข้ามายังกรุงเทพฯ และเมื่อถึงเวลานั้น คณะราษฎรต้องเผชิญกับศึกใหญ่ ประกอบกับมีกำลังทหารน้อยกว่าอยู่ด้วยแล้ว อาจทำให้เกิดการสู้รบนองเลือดขึ้น

พระยาฤทธิฯ เสนอว่า การปฏิวัติต้องลงมือในช่วงที่รัชกาลที่ 7 มิได้ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นคือช่วงเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวลในช่วงฤดูร้อน ข้อเสนอของพระยาฤทธิฯ ไม่มีผู้ใดเห็นด้วยเลย ถึงกับปะทะคารมกับพระยาทรงฯ อย่างหนัก

“ถ้าไม่ตกลงตามนี้ก็เลิกกัน!” พระยาฤทธิฯ กล่าวตัดบท แต่ก็ให้คำมั่นว่า จะไม่นำเรื่องที่ประชุมปรึกษาเรื่องปฏิวัตินี้ไปบอกให้ผู้อื่นรับรู้ แต่ได้พูดเชิงข่มขู่ว่า “ถ้าขืนลงมือกันในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวอยู่ (ในกรุงเทพฯ – ผู้เขียน) ก็อาจต้องมีการต่อสู้กันในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นนายทหารรักษาพระองค์ ซึ่งต้องปฏิบัติตามหน้าที่!”

แต่เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้เข้ามาถึงที่ประชุมภายหลังคนอื่น ๆ นั้น กลับเห็นด้วยกับแนวคิดของพระยาฤทธิฯ และสนับสนุนอย่างแข็งขัน แผนการของพระยาทรงฯ จึงถูกระงับไปชั่วคราว ที่ประชุมจึงได้ให้พระยาทรงฯ กลับไปวางแผนการใหม่

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเคลือบแคลงใจต่อตัวพระยาฤทธิฯ ว่า อาจแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายเจ้า พระยาพหลฯ และพระยาทรงฯ จึงมิใคร่เชิญพระยาฤทธิฯ มาร่วมประชุมวางแผนการอีก และได้ตกลงกันว่า หากถึงใกล้กำหนดเวลาการปฏิวัติจึงค่อยแจ้งให้ทราบ

ต่อมา คณะราษฎรจัดประชุมกันอีกครั้ง ทว่ายังไม่เห็นชอบกับแผนการของพระยาทรงฯ แต่ได้วางหลักการไว้คือ จะต้องไม่เสียเลือดเสียเนื้อ และจะต้องไม่กระทบกระเทือนพระเกียรติยศของรัชกาลที่ 7

การประชุมครั้งถัดมา พระยาทรงฯ จึงเสนอแผนการปฏิวัติถึง 3 แผนการ ที่ประชุมได้เลือกแผนการที่ 3 สรุปได้ว่า จะนำกำลังทหารออกมาด้วยแผนการลวงว่า เกิดกบฏในกรุงเทพฯ แล้วให้ไปรวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะได้อ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และดำเนินการขั้นอื่นต่อไป โดยตกลงเลือกเอาวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นวันปฏิวัติ แต่ด้วยสถานการณ์ไม่อำนวย ต้องคอยสืบข่าวจากฝ่ายเจ้า จนขยับเลื่อนไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน

อย่างไรก็ตาม แผนการลวงว่าจะมีกบฏไม่ใช่แผนการเดียวที่พระยาทรงฯ คิดไว้

หมายเลข 1 น.อ.ชลิต กุลกำม์ธร, หมายเลข 2 น.ต.หลวงสินธุ์สงครามชัย และ หมายเลข 3 น.ต.หลวงศุภชลาศัย ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มทหารเรือที่ร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉับตุลาคม 2543 หน้า 115)

ทหารและอาวุธ

รายละเอียดการปฏิบัติการในการปฏิวัตินั้น มีเพียงพระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ เท่านั้นที่ทราบรายละเอียดทั้งหมด โดยพระยาทรงฯ เกรงว่า หากชี้แจงรายละเอียดแก่นายทหารฝ่ายผู้ก่อการทุกคนอาจทำให้ “แผนแตก” การปฏิวัติจะไม่สำเร็จ

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า คณะราษฎรไม่มีกำลังทหารและอาวุธอยู่ในกำมือ พระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ จึงมุ่งจะใช้อาวุธจาก กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นสำคัญ เพราะอาวุธของทหารกรมนี้มีอานุภาพกว่าเหล่าทหารบกด้วยกัน เช่น รถยนต์หุ้มเกราะ และรถถังการ์เดนลอยส์ ซึ่งเป็นอาวุธของกองทัพที่ทันสมัยที่สุดในยุคสมัยนั้น โดยมีเกราะหุ้มตลอดคัน มีตีนตะขาบหมุนรอบตัว สามารถบุกเข้าไปได้ทุกที่ มีปืนกลติดประจำการ เวลาวิ่งส่งเสียงข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม เหมาะกับการใช้ปราบจลาจลต่อสู้ประจัญบาน ในกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ยังมีคลังกระสุน หรือคลังแสง ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายสำคัญ โดยผู้ที่จะปฏิบัติการยึดคลังแสงคือ พระยาพหลฯ ซึ่งต้องกวาดเอาอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้หมดสิ้น ไม่เหลือหลอ

เมื่อวางแผนหาอาวุธมาได้แล้ว ต่อไปก็ต้องหาทหารมาอยู่ในกำมือ ซึ่งไม่ใช่ทหารของใครที่ไหน คือทหารของพระยาฤทธิฯ นั่นเอง โดยไม่กี่วันก่อนการปฏิวัติ พระยาทรงฯ และพระยาประศาสน์ฯ เดินทางไปยังบ้านของพระยาฤทธิฯ แจ้งแผนการปฏิวัติให้ทราบ พระยาฤทธิฯ ในฐานะผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ จึงตอบตกลงเข้าร่วมการปฏิวัติ ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับคณะราษฎรแล้วว่า จะมีทหารปืนใหญ่ทั้งกรมมาเป็นกำลังสำคัญ

ทหารหัวเมือง

คณะราษฎรทราบดีว่า กำลังทหารฝ่ายตนมีน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลมาก มีความกังวลเกี่ยวกับกำลังทหารจากหัวเมือง แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การปฏิวัติจะกระทำอย่างฉับพลัน กว่าข่าวการปฏิวัติจะไปถึงรัฐบาลหรือทหารหัวเมือง คณะราษฎรก็จะมีเวลาเตรียมตัวป้องกันได้ทันท้วงที ซ้ำทหารหัวเมืองต้องรอคำสั่งถึงจะเคลื่อนกำลังออกมาได้ จึงอาจไม่สามารถดำเนินการใดสะดวกมากนัก ประกอบกับเป็นช่วงต้นปี (ปีใหม่เดือนเมษายน) ทหารเกณฑ์มาใหม่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญการทหารมาก ทหารเก่าก็กำลังปล่อยให้ลาพักผ่อน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาวุธที่ทันสมัยล้วนแต่อยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น พระยาทรงฯ จึงนอนใจ วางใจ ไม่เอาใจใส่ หรือวิตกกังวลเรื่องทหารหัวเมืองเลย

การประชุมครั้งสุดท้าย

การที่พระยาทรงฯ ไม่บอกแผนการปฏิวัติโดยละเอียด เพียงแต่มอบหมายหน้าที่ รวมถึงกำหนดสถานที่นัดหมายและเวลาให้แต่คนละคนปฏิบัติการในส่วนต่าง ๆ นั้น ทำให้ผู้ก่อการบางคนเกิดความกังวลว่า การปฏิวัติจะไม่สำเร็จ และมีคำถามด้วยความกังวลใจถึงพระยาทรงฯ เช่น ขณะนี้มีกำลังทหารอยู่เท่าใด? เป็นทหารกรมใดบ้าง? กำลังทหารพร้อมแล้วหรือยัง?

พระยาทรงฯ ได้ตอบตามความจริงว่า “เวลานี้ยังไม่มีอะไรเลย นอกจากพวกเราที่มาประชุมและเห็น ๆ กันอยู่ไม่เกิน 20 คน กับกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 แต่ในวันที่ 24 เราจะได้เห็นทหารกรุงเทพฯ ทั้งหมด เสลา 5.00 น. เราจะมีกำลังพร้อมและลงมือได้”

ผู้ก่อการคนหนึ่งในที่ประชุมถึงกับจะถอนตัว กล่าวว่าไม่มีทางที่ผู้ก่อการจะกระทำสำเร็จได้เลย เพราะไม่เห็นมีอะไรเป็นกำลังที่ทำให้อุ่นใจได้ว่า จะกระทำการปฏิวัติสำเร็จ

แผนการลวง

นอกจากแผนการลวงว่าเกิดกบฏขึ้นในกรุงเทพฯ แล้ว (ซึ่งจะทำในวันที่ 24 มิถุนายน) ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาทรงฯ เริ่มแผนการลวงอีกหนึ่งแผน โดยทำหนังสือถึงพระยาพหลฯ รองจเรทหารบกและพระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย ใจความว่า จะทำการฝึกครั้งสำคัญ คือฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 มิถุนายน โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบ และขอกำลังจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ มาใช้ในการฝึกด้วย

พระยาพหลฯ ซึ่งรู้กันอยู่แล้ว ก็อนุมัติและจัดการส่งหนังสือ ซึ่งได้อ้างคำสั่งของ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสนาธิการกองทัพที่ 1 และรักษาราชการแม่ทัพภาคที่ 1 โดยแจ้งไปยังกองพันทหารต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ให้แต่ละกองพันส่งนายทหารมาเป็นตัวแทนชมการฝึกครั้งนี้โดยทั่วกัน และเนื่องด้วยเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะมีการฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง อันเป็นอาวุธสมัยใหม่ ประกอบกับชื่อเสียงและเกียรติคุณของพระยาทรงฯ ที่นายทหารต่างรู้จักกันดี ทำให้แต่ละกองพันสนใจการฝึกครั้งนี้ ผู้บังคับกองพันบางคนถึงกับตั้งใจจะไปชมการฝึกด้วยตนเองทีเดียว

นี่คือความสำเร็จขั้นแรกของแผนการลวงของพระยาทรงฯ เพื่อรวมกำลังทหารมาปฏิวัติ

บ่ายของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาทรงฯ มอบหมายให้ หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) นายทหารคนสนิท ไปโรงเรียนนายร้อย เขียนกระดานดำประกาศว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 มิถุนายน) เวลา 06.00 น. ให้ครูอาจารย์ไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อทำการฝึกซ้อมรบ แม้อาจารย์บางคนได้กลับบ้านไปแล้ว หลวงรณฯ ถึงกับต้องเที่ยวตระเวนไปแจ้งถึงบ้านด้วยตนเอง และยังสั่งให้หลวงรณฯ ไปแจ้งต่อพระเหี้ยมใจหาญว่า ให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมด พร้อมอาวุธปืนบรรจุกระสุน ไปฝึกซ้อมรบ ณ วันและเวลาดังกล่าว

ตลอดวันที่ 23 มิถุนายน พระยาทรงฯ กับพระประศาสน์ฯ ตระเวนไปตามกองพันต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือให้ส่งทหารมาฝึกซ้อมรบที่ลานพระบรมรูป ผู้บังคับกองพันซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับพระยาทรงฯ ก็ตบปากรับคำโดยไม่ถามหรือสงสัยอะไร ทั้งนี้ พระยาทรงฯ เลือกติดต่อกับนายทหารบางคนที่สนิทสนมเท่านั้น เพราะเกรงว่า ฝ่ายรัฐบาลจะระแคะระคายการเคลื่อนไหวของพระยาทรงฯ

“ภาพเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475” ศรีกรุง ฉบับที่ 3453 วันที่ 24 มิถุนายน 2480

สรุปปฏิบัติการ

1. พระยาฤทธิฯ นำทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ พร้อมด้วยอาวุธและสิ่งสำคัญคือรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่ออกเตรียมพร้อมไว้ในสนามฝึก ในเวลา 05.00 น.

2. ประยูร ภมรมนตรี เป็นหัวหน้าคณะเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข ตัดสายโทรเลขโทรศัพท์ทั้งหมด ในเวลา 04.00 น. ผู้ร่วมมือปฏิบัติการมี หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ด.ร.ประจวบ บุนนาค และหลวงนิเทศกลกิจ ฯลฯ

3. หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) นำกำลังทหารเรือทั้งหมดเท่าที่มี พร้อมอาวุธปืนและกระสุนไปยังลานพระบรมรูปทรงมา ในเวลา 06.00 น. และให้ทหารเรือจัดเรือรบเตรียมพร้อมคุมเชิงที่วังบางขุนพรหม คอยสกัดสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และคอยช่วยเหลือผู้ก่อการหากมีการปะทะกันขึ้นในวัง

4. พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยนำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาวุธปืนเล็กยาว ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลา 9.00 น.

5. ฝ่ายพลเรือนและสมทบด้วยหน่วยทหารบางหน่วย แยกย้ายกันไปตามวังเจ้านายที่สำคัญและตามบ้านบุคคลสำคัญ ตั้งแต่ 04.40 น. เป็นต้นไป

6. หลวงประดิษฐฯ เตรียมงานด้านออกแถลงการณ์ประกาศและร่างรัฐธรรมนูญ

7. ผู้บังคับกองพันทหารเหล่าต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จัดส่งผู้แทนหรือบางกองพันให้นำทหารไปด้วยเพื่อศึกษาการฝึกยุทธวิธีครั้งพิเศษของพระยาทรงฯ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เวลา 6.00 น.

8. ผู้ก่อการสายทหารบกหน่วยต่าง ๆ นำพรรคพวกในสายของตนไปพร้อมกันที่ตรงทางรถไฟตัดถนนประดิพันธ์ใกล้ ๆ บ้านพระยาทรงฯ ในเวลา 05.00 น. โดยพระยาทรงฯ จะสั่งการมอบหมายหน้าที่ของแต่ละคนให้เสร็จภายใน 15 นาที 

เริ่มปฏิวัติ

พระยาทรงฯ หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) กับเพื่อนนายทหารม้าชั้นร้อยโทและร้อยตรีอีกสามนายได้ไปถึงบ้านพระยาทรงฯ เป็นพวกแรกเมื่อราว 04.00 น. พระยาทรงฯ ให้นายทหารม้าทั้งสี่คนนี้ทำหน้าที่ควบคุมยานยนต์รบ คือให้เอารถเกราะและรถถังออกจากโรงรถให้หมด

นายทหารคนอื่นก็ตามมายังจุดนัดพบที่อยู่ห่างจากบ้านพระยาทรงฯ ราว 200 เมตร ทั้ง พระประศาสน์ฯ พระยาพหลฯ หลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ (เพียร พิริยะโยธิน) หลวงรณฯ ฯลฯ เมื่อใกล้จะถึงเวลา 05.00 น. พระยาทรงฯ ก็ไปถึงจุดนัดหมาย ซึ่งขณะนั้นผู้ก่อการฝ่ายทหารบก ประมาณ 20 คน รวมตัวกันอยู่ที่นั่นแล้ว เช่น

พระยาพหลฯ, พระประศาสน์ฯ, หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ชีตตะสังคะ), หลวงทัศนัยฯ, หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน), ร้อยโทขุนปลดปรปักษ์ (ปลด ภาณุสวะ), ร้อยโทขุนเรืองวีระยุทธ (บุญเรือง หงษ์วงศ์), ร้อยโทชัย ประทีปเสน, ร้อยตรีจำรูญ จิตรลักษณ์, หลวงสฤษดิ์ยุทธศิลป์ (เพียร พิริยะโยธิน), หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์), หลวงสวัสดิ์รณรงค์ (สวัสดิ์ ดาระสวัสดิ์), หลวงรณฯ ฯลฯ

จากนั้น พระยาทรงฯ สั่งการมอบหมายหน้าที่ของแต่ละคนทันที ซึ่งก่อนอื่นทั้งหมดจะต้องเดินทางไปกรมทหารม้ารักษาพระองค์ เข้ายึดรถเกราะและรถถัง แล้วนำกำลังสมทบกับทหารกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ของพระยาฤทธิฯ ซึ่งอยู่ใกล้กัน จากนั้นจะเคลื่อนขบวนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า

โดยแต่ละคนมีหน้าที่ คือ พระยาพหลฯ มีหน้าที่งัดคลังกระสุนร่วมกับหลวงสฤษดิ์ฯ, พระประศาสน์ฯ มีหน้าที่ควบคุมการเข้ายึดรถเกราะและรถถัง, หลวงชํานาญฯ หลวงสวัสดิ์ฯ และหลวงรณฯ มีหน้าที่ขึ้นไปบนโรงนอนทหารของกรมทหารม้า, หลวงพิบูลฯ กับพรรคพวกมีหน้าที่คุมเชิงตามบ้านผู้บังคับการกรมทหารม้า ไม่ให้ออกมาขัดขวาง, นายทหารคนอื่นคอยเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ส่วนพระยาทรงฯ นั้นเป็นผู้อำนวยการโดยทั่วไป

บุกกรมทหารม้า

เมื่อผู้ก่อการเดินทางมาถึงกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อประมาณเวลา 05.00 น. พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ หาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วพระยาทรงฯ ก็เริ่มแสดงบทบาทตามแผนที่วางไว้ แสร้งทำดุผู้บังคับการกองรักษาการณ์ว่า

“นี่! เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว ผู้บังคับกองรักษาการณ์ยังไม่รู้อีกหรือ? มัวเอาแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบทหารออกช่วยเดี๋ยวนี้!”

ผู้บังคับการกองรักษาการณ์ผู้นั้นเป็นแต่นายทหารชั้นผู้น้อย จำต้องเชื่อฟังคำสั่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตามวินัยทหาร ประกอบกับนายทหารผู้นี้เป็นลูกศิษย์ของพระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ ด้วยแล้ว ดังนั้น เมื่อได้ฟังคำสั่งของอาจารย์จึงเชื่อโดยสนิท จากนั้นพระยาทรงฯ ออกคำสั่งให้ “จัดการเป่าแตรสัญญาณเกิดเหตุเดี๋ยวนี้… แล้วไปปลุกนายทหาร และสั่งให้มาประชุมที่หน้ากองบังคับการโดยเร็ว!” 

ขณะที่พระยาพหลฯ กับพรรคพวกมุ่งตรงไปยังคลังแสง จัดแจงขนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างง่ายดาย ส่วนพระประศาสน์ฯ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อมด้วยหลวงทัศนัยฯ และนายทหารม้าอีก 2-3 คน จัดการเอารถออกจากโรงอย่างเร่งรีบ

เสียงปลุกเสียงสั่งการดังไปทั่วกรม “ทหารไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที!”

หลวงรณฯ พร้อมพรรคพวก เมื่อเห็นทหารแตรลุกขึ้นเตรียมตัวจะเป่าแตรก็รีบชิงเข้าไปขึ้นไปบนโรงนอนทหาร ก็พอดีกับเสียงแตรเป่าปลุกได้ดังขึ้น หลวงรณฯ จึงสั่งให้นายทหารอีกสามนายนั้นแยกย้ายกันสั่งการเร่งรัดให้ทหารรีบแต่งตัว

การที่หลวงรณฯ สามารถเข้าไปสั่งการแก่ทหารในกรมและทหารในกรมก็เชื่อฟังปฏิบัติตามนั้น เป็นเพราะหลวงรณฯ เป็นนายทหารเสนาธิการ มีสายที่อกเป็นที่สังเกต พวกทหารจึงเข้าใจว่าเป็นนายทหารเสนาธิการประจำกรมมาสั่งการ ซึ่งมีอำนาจรับคำสั่งจากแม่ทัพ หรือผู้บัญชาการมาสั่งการตามกรมกองต่าง ๆ ได้

“นี่ผู้บังคับบัญชาสั่งแล้วไม่ใช่หรือว่า ให้ไปดูนักเรียนนายร้อยฝึกที่ลานพระรูป” หลวงรณฯ ถามนายสิบเวรเป็นเชิง “ทราบแล้วครับ” นายสิบเวรตอบ “งั้นเร็ว ๆ เข้า” หลวงรณฯ สั่งอีกครั้ง “รถเขามาคอยอยู่หน้ากรม”

การที่หลวงรณฯ ถามนายสิบเวรดังนี้ก็เพื่อต้องการทราบว่า คำสั่งเรื่องพระยาทรงฯ จะทำการฝึกซ้อมรบนั้นทราบทั่วกันหรือไม่ ถ้าไม่ทราบก็จะได้แจ้งให้ทราบ เพื่อจะสวมรอยคำสั่งนั้นได้ถนัดขึ้น ทันใดนั้นหลวงรณฯ ก็นึกถึงเรื่องปัญหากระสุนปืนขึ้นมาได้ ซึ่งหลวงรณฯ ไม่มีสิทธิสั่งการและไม่ได้มีคำสั่งให้เอากระสุนไปด้วย แต่หลวงรณฯ เห็นสบโอกาส อาศัยช่วงชุลมุนจึงได้ถามนายสิบเวรว่า “กระสุนปืนจ่ายให้ทหารแล้วหรือยัง?” “ยังครับ” คำตอบจากนายสิบเวร

“เอ๊ะ! เมื่อวานเขาไม่ได้บอกไว้รึ?” หลวงรณฯ แกล้งถามต่อ นายสิบเวรได้ตอบว่า ไม่ได้สั่ง ดังนั้น หลวงรณฯ จึงแสร้งพูดว่า “อ้าว! คนที่มาสั่ง สั่งบกพร่องเสียแล้ว ถ้างั้นเอากันเดี๋ยวนี้แหละ เอากระสุนจ่ายให้หมด”

“จ่ายได้รึครับ?” นายสิบเวรถามได้ซี!… กระสุนนี่เอาไปเตรียมไว้อย่างนั้นเอง วันนี้เขาซ้อมเหมือนจริง เราก็เอาไปอย่างนั้นแหละ” “เมื่อเสธฯ สั่งอย่างนั้นผมก็ทำตาม” แผนการของหลวงรณฯ ที่พึ่งคิดได้เดี๋ยวนั้นจึงประสบผลสำเร็จ

นายทหารคณะราษฎร

ยึดกรมทหารม้า

พระยาพหลฯ และหลวงสฤษดิ์ฯ ได้พิชิตคลังแสงสําเร็จ และรถยนต์ รถเกราะ รถถัง ที่พระประศาสน์ฯ กับพรรคพวกไปจัดการนำออกมา ก็แล่นออกจากโรงมาเป็นแถว แล้วพระยาพหลฯ ก็สั่งให้ทหารขนหีบกระสุน และปืนกลเบาขึ้นบรรทุกในรถจดหมดสิ้น เรียกได้ว่า กวาดอาวุธจนหมดเกลี้ยงทั้งกรม

เพียงครึ่งชั่วโมง กำลังทหารม้าทั้งกรม รวมทั้งคลังแสง ตลอดจนยานยนต์รบต่าง ๆ ได้ตกอยู่ในการยึดครองของฝ่ายผู้ก่อการโดยสิ้นเชิง ความสำเร็จในขั้นตอนการเข้ายึดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์นี้ พระยาทรงฯ บันทึกไว้ว่า

“การปฏิวัติขั้นแรกสําเร็จไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็ว เพราะเหตุไรกองรักษาการณ์ของทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย? เพราะเหตุไรยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลฯ งัดคลังกระสุน และขนกระสุนไปได้? ทำไมนายสิบพลทหารของกรมทหารม้าจึงยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายทหาร ซึ่งมิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของตัวด้วยความราบรื่น? ทำไมนายทหารที่มาเรียงแถวอยู่ข้างหน้าผู้อำนวยการฝ่ายทหาร (หมายถึงพระยาทรงฯ – ผู้เขียน) จึงรักษาความสงบเงียบปล่อยให้นายทหารนำทหารของตัวผ่านหน้าออกไปได้ และในเวลาต่อ ๆ ไปก็คงนิ่งเฉยเช่นนั้น ไม่แสดงกิริยาหรือวาจาอันเป็นเครื่องหมายที่จะขัดแย้งแต่อย่างใดเลย?

เป็นเพราะนายสิบนายทหารเหล่านั้น เห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ? เปล่าเลย! ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไร ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญแห่งความสําเร็จ!

สําหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะมีความยุ่งยากอะไร เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน! ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตการเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนครั้งแรก?

นายสิบแม้ว่าจะรับราชการมานาน แต่ก็ไม่เคยโดนอย่างนี้เช่นเดียวกัน ไม่สามารถทราบว่า จะมีบางคนคิดสงสัยและรู้สึกถูกลวงหรือไม่ เพราะมิได้มีใครเอาใจใส่สอบสวนเรื่องเหล่านี้เพื่อเป็นบทเรียน แต่นายสิบทุกคนทำราชการเพื่อเลี้ยงท้องและครอบครัวของตน สิ่งใดที่อาจจะเป็นความผิดกระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของตนได้แล้ว เป็นต้องไม่กระทำทีเดียว เมื่อต่างคนต่างไม่กล้าทำอะไรโดยกลัวผิดเช่นนี้ ก็ไม่มีใครกล้า ตกลงต้องทำตามที่คนอื่นเขาทำกันทุก ๆ คน เพราะคิดเสียว่า เขาทำกันทั้งหมดคงจะเป็นการถูกต้องแล้ว หรือหากจะผิดก็ผิดไปด้วยกันทั้งหมด

ข้อสำคัญก็คือ เรื่องชนิดนี้ไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย จึงไม่มีใครคิดตกว่าตัวควรทำอย่างไร ถึงแม้จะสงสัยอยู่สำหรับนายทหาร ก็มีส่วนคล้ายกับนายสิบพลทหารอยู่ด้วย แต่เนื่องจากมีการศึกษาสูงกว่าและมีความรับผิดชอบบังคับบัญชาทหารของตน จึงมีเหตุผลที่จะคิดไปได้ว่า พวกนี้อาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้ แต่นายทหารทั้งหมดรู้จักผู้อำนวยการฝ่ายทหาร ส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อย ในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานะผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกนี้สงบนิ่ง!”

มุ่งสู่ลานพระบรมรูป

ราว 05.30 น. แถวทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ได้เคลื่อนออกมาจากกรม มาสมทบกับกำลังทหารจากกรมทหารม้า ขบวนที่ออกจากกรมทหารปืนใหญ่เป็นขบวนยาวเหยียด ประกอบด้วยรถยนต์ รถยนต์หุ้มเกราะ และรถถังการ์เดนลอยส์ อีกราว 15 คัน กําลังพลราว 300 คนเศษ ขบวนทั้งหมดเคลื่อนไปตามถนนทหาร เลี้ยวขวาตรงสะพานแดง มุ่งหน้าไปตามถนนพระรามที่ 5 ตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า

ในขณะนั้นเอง ขบวนทหารได้ผ่านหน้ากองพันทหารช่าง เห็นทหารกำลังฝึกอยู่ที่หน้ากรม พระยาทรงฯ ได้ปรารภขึ้นว่า เอ! พวกนี้มันทําไมยังไม่ไปกันล่ะ…เจือ ลื้อ ไปจัดแจงหน่อย” (เจือหมายถึงหลวงรณฯ)

หลวงรณฯ กระโดดลงจากรถคนเดียว วิ่งเข้าไปในกรมทหารช่าง เหลือบไปเห็น หลวงวรณสฤช (อั้น สิงคะวิภาต) กำลังคุมทหารฝึกอยู่ จึงยกมือโบกและตะโกนบอกหลวงวรณฯ ว่าเฮ้ย! หลวงวรณฯ เอาทหารมาขึ้นรถเลย”

หลวงวรณฯ กำลังงง ไม่ได้สั่งการอันใด หลวงรณฯ จึงบอกย้ำไปอีกว่า “บอกทหารขวาหันเลย!” ทำให้หลวงวรณฯ ซึ่งคาดการณ์ออกแล้วว่า ผู้ก่อการลงมือกันแล้ว จากนั้นจึงสั่งทหารช่างมาสมทบกับผู้ก่อการ แล้วขบวนก็เคลื่อนต่อไป เมื่อขบวนเลี้ยวขวาที่หน้าวัดเบญจฯ แล่นต่อไปตามถนนศรีอยุธยา หยุดลงที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ทหารทั้งหมดลงจากรถแล้วตั้งแถวเข้าประจำที่ มีผู้บังคับบัญชาเรียงรายประจำอยู่ครบ

ขณะที่ลานพระบรมรูปทรงม้านั้น นอกจากมีแถวทหารเรือของหลวงสินธุฯ และหลวงศุภชลาศัยแล้ว ยังมีแถวนักเรียนนายร้อยของพระเหี้ยมใจหาญ พร้อมด้วยครูอาจารย์ และหน่วยทหารราบจากกองพันต่าง ๆ ที่พระยาทรงฯ ได้นัดหมายไว้ก่อนแล้ว ภายหลังที่กำลังทหารส่วนใหญ่ของคณะราษฎรได้ไปถึงแล้วก็ได้มีทหารอีก 1-2 กองพันตามมาสมทบอีก ในจำนวนนี้มีกองพันของหลวงวีระโยธา (ถวิล ศิริศัพท์) รวมอยู่ด้วย เป็นอันว่า กองทหารหน่วยต่าง ๆ ได้พากันไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าตามนัดหมายโดยพร้อมเพรียง

เหล่าทหารที่มารวมตัวกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อชมการฝึกยุทธวิธีทางการทหารแผนใหม่ตามแผนของฝ่ายคณะราษฎรที่ไม่มีกำลังทหารที่แท้จริงอย่างเพียงพอ

ประกาศคณะราษฎร

ทหารที่ประชุมอยู่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ส่วนหนึ่งประกอบไปด้วย นักเรียนนายร้อยจำนวน 4 กองร้อย กับนักเรียนนายดาบอีก 1 กองร้อย รวม 5 กองร้อย, ทหารม้า จากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์, ทหารสื่อสาร, ทหารช่าง จากกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์, ทหารปืนใหญ่ จากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์, ทหารราบ ราว 3 กองพัน คือจากกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์หนึ่งกองพัน จากกรมทหารราบที่ 2 หนึ่งกองพัน (ซึ่งทั้งสองกองพันนี้ พระยาทรงฯ ได้นัดหมายไว้กับผู้บังคับกองพันไว้แล้ว) กับทหารราบจากกรมทหารราบที่ 3 ซึ่งอยู่ติดกับกองพันทหารช่าง ซึ่งพระยาทรงฯ ไปเรียกเอามาในเช้าวันนั้นเองอีก 1 กองพัน และทหารเรือ จากกองพันพาหนะ (นาวิกโยธิน) อีกราว 400 คน

สำหรับทหารเรือนั้นได้มาถึงก่อนเป็นกลุ่มแรก และขณะที่กำลังทหารบกส่วนใหญ่ ซึ่งนำโดยพระยาทรงฯ เข้าไปถึงนั้น หน่วยทหารเรือก็ขยายแถวยึดพื้นที่ ปิดถนนราชดำเนิน อันเป็นเส้นทางเข้าสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า หันหน้าไปทางสะพานมัฆวานฯ พร้อมประจัญบานกับฝ่ายตรงกันข้าม

ทหารเหล่านี้ตั้งแถวหน้ากระดานทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมรูปทรงม้า หันหน้าเข้าสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบอยู่แถวหน้าสุด นอกจากนั้นได้ตั้งแถวอยู่เรียงรายถัดออกมาตามลำดับ และตามแถวทหารทุกเหล่ามีผู้ก่อการไปควบคุมประจำอยู่ครบ

รถเกราะรถถังทั้งหมดในการควบคุมของนายทหารผู้ก่อการเรียงรายปิดล้อมลานพระบรมรูปอยู่ด้านนอก ปิดเส้นทางที่มาจากถนนศรีอยุธยา ทั้งทางด้านวัดเบญจฯ และทางด้านวังปารุสกวัน

เมื่อพร้อมแล้ว พระยาพหลฯ จึงประกาศเชิญนายทหารที่ไปชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้นว่า “นายทหารสัญญาบัตรเชิญมาที่นี่”

พระยาพหลฯ ไปยืนอยู่ที่กลางลานพระบรมรูปทรงม้าซีกด้านตะวันออกระหว่างพระราชานุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้ากับสนามเสือป่า โดยมีพระยาทรงฯ ยืนกำกับบทอยู่เบื้องหลังอย่างใกล้ชิด ในมือพระยาพหลฯ ถือกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งพระยาทรงฯ เป็นผู้ยื่นส่งให้

ทุกคนนอกจากผู้ก่อการบางคนเข้าใจว่า พระยาพหลฯ กำลังจะได้ชี้แจงการฝึกซ้อมรบในวันนี้ นายทหารพากันไปรวมกลุ่มยืนเรียงรายเป็นรูปครึ่งวงกลมอยู่เบื้องหน้าพระยาพหลฯ ถัดออกมา เป็นแถวของผู้ก่อการทั้งทหารบก และทหารเรือ ยืนเรียงรายคุมเชิงอยู่ เตรียมพร้อมอาวุธขึ้นมาต่อสู้ทุกเมื่อหากมีการขัดขวาง

“แล้วกระดาษในมือของพระยาพหลฯ แผ่นนั้น ก็ได้ถูกนำออกมาอ่าน ด้วยน้ำเสียงอันสั่นแตกพร่าจนสังเกตเห็นได้ชัด และในวินาทีนั้นเอง บรรดานายทหารทั้งหลายที่ไปชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ก็ถึงแก่อาการตะลึงงันงุนงงไปตาม ๆ กันหมด เพราะถ้อยคำที่พระยาพหลฯได้อ่านออกมานั้น มันหาใช่คำสมมติเหตุการณ์ในการฝึกฝนอย่างที่คาดคิดกันไม่ กลับกลายเป็นคำชักชวนให้ร่วมกันปฏิวัติ.กบฏ!

ซึ่งมีใจความสําคัญว่า บัดนี้คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ได้พร้อมใจกันเข้ายึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศทั้งหลาย…ฯลฯ”

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง : 

เสทื้อน ศุภโสภณ. (2535). ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช. กรุงเทพฯ : ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2563