กำเนิดและจุดจบของ “โรงเรียนรบ” ที่มั่นสุดท้าย “พระยาทรงสุรเดช” แห่งคณะราษฎร

4 ทหารเสือ (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ, พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.อ. พระยาฤทธิอาคเนย์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยกลุ่มคณะราษฎร หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เว้นแม้แต่กองทัพ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกถูกยุบตามโครงการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก แต่ฟื้นกลับมาอีกครั้งเมื่อพ.ศ. 2477 ท่ามกลางช่วงเวลาระหว่างนั้น ปรากฏ “โรงเรียนรบ” โดย นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช

เส้นทางการกำเนิดของ “โรงเรียนรบ” และเบื้องหลังเกี่ยวกับการก่อตัวของโรงเรียนนายทหารนี้ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ เรียบเรียงไว้ในบทความ “โรงเรียนรบ : ที่มั่นสุดท้ายพระยาทรงสุรเดช” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

Advertisement

“โรงเรียนรบ” : จุดเริ่มแห่งจุดจบ

ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2476 ได้เกิดกรณีการลาออกของ “สี่ทหารเสือ” นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ

กล่าวสำหรับ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช และ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ เมื่อออกจากราชการแล้วได้เดินทางไป “ดูงาน” ต่างประเทศและกลับสยามเมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2478 แล้วทั้ง 2 ท่านก็ตัดสินใจกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ฉบับประจำวันที่ 20 มีนาคม 2478 ได้นำเสนอข่าวความเป็นมาในการกลับเข้ารับราชการของท่านดังนี้

“คณะผู้ก่อการที่เป็นกำลังอยู่ในคณะรัฐบาลเวลานี้ได้ไปพบปะท่านนายพันเอก [พระยาทรงสุรเดช – ผู้เขียน] และชักชวนให้เข้ารับราชการถึง 2 ครั้ง ในชั่วระยะเวลาไม่กี่วันที่ท่านผู้นี้ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ คณะผู้ก่อการที่ได้เจรจาชักชวนนั้นมี 4 ท่านด้วยกันคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงพิบูลสงคราม หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงชำนาญยุทธศิลป์

ผลการเจรจาในระยะนี้ปรากฏว่าเจ้าคุณทรงฯ ยอมรับคำชักชวนที่จะเข้ารับราชการต่อไป แต่ขอไม่ให้เป็นตำแหน่งการเมือง และได้ขอให้เป็นตำแหน่งที่มีลักษณะดังนี้คือ

1. เป็นตำแหน่งที่ตัวท่านเองได้เคยทำชำนิชำนาญมาแล้ว เช่น ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นต้น
2. เป็นตำแหน่งที่อยู่ห่างไกลออกจากพระนคร ในระยะทางประมาณ 2 วัน อนึ่งในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ ท่านนายพันเอกจะไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ที่รัฐบาลจะได้เสนอแก่ท่าน

18 มีนาคม 2478 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณากรณีการกลับเข้ารับราชการของ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ที่ประชุมมีบุคคลสำคัญ 3 ท่านได้แก่ หลวงพิบูลสงคราม หลวงอดุลเดชจรัส และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ผลการประชุมมีมติให้ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช กลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง ‘อาจารย์ใหญ่ทหารบก’ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่โดยมีเหตุผลสำคัญเนื่องจากที่ผ่านมา การฝึกฝนนายทหารเป็นหน้าที่ของจังหวัดทหารบกหรือกรมกองหน่วยต่างๆ ดำเนินการอบรมกันเอง ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงจัดให้มีตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นให้มีหน้าที่ในการฝึกฝนนายทหารเป็นส่วนรวม โดยเฉพาะให้มีการฝึกในภูมิประเทศจริง สายการบังคับบัญชาของตำแหน่งใหม่นี้ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งขณะนั้นคือ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

นายทหารที่จะได้รับการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมจะคัดเลือกมาจากทุกหน่วยทั่วทั้งประเทศ โดยกระทรวงกลาโหมจะได้ออกคำสั่งต่อไป ทั้งนี้ในชั้นต้นนี้ให้มีการฝึกรุ่นละประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี สำหรับสถานที่ฝึกอบรมนั้นกำหนดให้ดำเนินการที่โรงทหารจังหวัดทหารบกเชียงใหม่ซึ่งมีความพร้อม”

หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” ได้สรุปท้ายสุดในรายงานข่าวนี้ว่า

“เจ้าคุณทรงฯ มีคติทหารยึดถืออยู่ว่า อันนายทหารนั้นนอกจากจะได้มีความรู้ในการสั่งสอนอบรมทหารภายในกรมกองแล้ว ยังควรจะต้องมีความรู้ทำการในสนามในภูมิประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การที่ทางรัฐบาลได้ชักชวนเจ้าคุณทรงฯ เข้าร่วมงานจนเป็นผลสำเร็จและมอบตำแหน่งงานอันเหมาะสมแก่สมรรถภาพให้แก่ท่าน ทั้งนี้จึงคงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการก้าวหน้าในทางการทหารของเราอีกด้านหนึ่งด้วย”

เมื่อตกลงกันได้ด้วยดีดังนี้แล้ว นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช จึงเสนอแผนงานการจัดตั้ง “โรงเรียนรบ” ขึ้นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ทันที และมีประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาในเดือนถัดมา

วันที่ 7 เมษายน 2479 มีประกาศพระราชกฤษฎีกา จัดหน่วยย่อยในกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในมาตรา 6 การแบ่งส่วนราชการกองทัพบก ลำดับที่ 26 ปรากฏส่วนราชการใหม่ “โรงเรียนรบ” อันเป็นหน่วยงานระนาบเดียวกับกรมเสนาธิการทหารบก มณฑลทหารบก กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน กรมแผนที่ และกรมแพทย์ทหารบก

วันที่ 8 เมษายน 2479 กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งติดตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีใจความสำคัญ “ให้บรรจุ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช นายทหารกองหนุนสังกัด บก.กองทัพบก เข้าประจำ บก.กรมเสนาธิการทหารบก ได้รับเงินเดือนอัตรานายทหารสัญญาบัตรชั้น 26 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

เงินเดือนของท่านตามอัตรานี้คือ 650 บาท

วันที่ 15 เมษายน 2479 กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งบรรจุนายทหารเข้ารับราชการมีจำนวนหลายนาย โดยมี นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ” รวมอยู่ด้วย

โรงเรียนรบจึงปรากฏขึ้นในกองทัพบกตั้งแต่บัดนั้นโดยมี นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เป็นผู้อำนวยการท่านแรกและท่านสุดท้าย

อนึ่งสมควรทราบไว้ด้วยว่า ในคำสั่งบรรจุนายทหารเข้ารับราชการฉบับนี้ ได้ปรากฏนาม นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงกลาโหม รวมอยู่ด้วย

อนึ่งสมควรทราบไว้ด้วยว่า ในคำสั่งบรรจุนายทหารเข้ารับราชการฉบับนี้ ได้ปรากฏนาม นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงกลาโหม รวมอยู่ด้วย

ด้วยเหตุนี้ ณ เวลานี้ สี่ทหารเสือผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและพร้อมใจกันลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2476 นั้น บัดนี้ได้กลับเข้ารับราชการตามลำดับครบถ้วนแล้ว ตั้งแต่ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ

แต่วิบากกรรมแห่งชีวิตของ 3 ใน 4 ทหารเสือจะยังไม่จบสิ้น กล่าวสำหรับ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดชนั้น โรงเรียนรบจะกลายเป็น “ที่มั่นสุดท้าย” ของท่านรวมทั้งนายทหารที่เคารพศรัทธาในตัวท่านอันจะปรากฏในเวลาต่อมากับกรณีที่เรียกกันว่า “กบฏพระยาทรงฯ”

โรงเรียนรบจึงเป็นจุดเริ่มแห่งจุดจบของ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช…

“บุคคลคณะหนึ่ง”

หลังจากมีการจัดตั้ง “โรงเรียนรบ” อย่างเป็นทางการที่กองพันทหารราบที่ 31 จังหวัดเชียงใหม่และมีคำสั่งบรรจุ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ” นี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2479 แล้ว กระทรวงกลาโหมก็มีประกาศแจ้งความไปยังหน่วยต่างๆ ในกองทัพบก เปิดรับสมัครนายทหารยศระหว่างนายร้อยตรีถึงนายร้อยเอกเข้ารับการศึกษา โดยให้ยื่นความจำนงที่มณฑลทหารบกที่ 1 ซึ่งมี นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ เป็นผู้บัญชาการ

นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ท่านนี้เป็นนายทหารที่ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงนับว่าเป็นนายทหารที่มีบทบาทและความสำคัญไม่น้อย แต่ต่อมาเมื่อ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2481 ท่านจะถูกจับกุมในข้อหากบฏและถูกศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 ตัดสินลงโทษถึงประหารชีวิต แต่ได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต

นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ จัดเป็น “ลูกศิษย์” คนสำคัญท่านหนึ่งที่มีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช

จากแจ้งความของกระทรวงกลาโหมฉบับนี้ ปรากฏว่ามีผู้แจ้งความจำนงถึงกว่า 100 นาย นายพันเอก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสอบคัดเลือกเหลือเพียง 30 นาย เนื่องจากเป็นความประสงค์ของ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ที่ต้องการ “นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ” จำนวนไม่มากเกินไปเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ดีเยี่ยมสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

นายทหารที่ผ่านการคัดเลือกนี้มีทั้งเหล่าทหารราบ ทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารช่าง และทหารสื่อสาร อันเป็นเหล่ารบหลักของกองทัพบก และที่สำคัญคือ ผู้ทำหน้าที่อาจารย์สอนนั้นมีเพียงท่านเดียวเท่านั้นคือตัว นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้ได้รับความเชื่อถือจากนายทหารทั้งในด้านสติปัญญาและความสามารถ

น่าสนใจว่า ในช่วงเวลานั้น ข่าวคราวความไม่ลงรอยระหว่าง นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช กับ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม กำลังเข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะหลังกรณี “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปย่อมเป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวาง แต่กลับมีนายทหารจำนวนไม่น้อยมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรบที่มี นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เป็นผู้อำนวยการ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2477 นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนรบ และคุณหญิง พร้อมด้วยนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ เดินทางออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีผู้มาส่งจำนวนมากทั้งพลเรือนและทหาร รวมทั้ง นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรี และ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บรรยากาศเป็นไปด้วยไมตรีจิต

ในการเดินทางครั้งนี้มีนายทหารคนสนิทของท่านคือ นายร้อยโท สำรวจ กาญจนสิทธิ์ เดินทางร่วมไปด้วย และจะอยู่เคียงข้างจนวาระสุดท้ายเมื่อ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เสียชีวิตที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2487

หลังจากนั้นไม่นานนัก ชื่อเสียงของ นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ก็ค่อยๆ จางหายไปจากความสนใจของสังคมในยุคนั้น แต่ข้อความอันเป็นเสมือนบทเกริ่นนำของ “คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ” ได้สะท้อนภาพเหตุการณ์โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไว้ดังนี้

“นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา ได้มีบุคคลคณะหนึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหาร พลเรือน ตำรวจ และราษฎรบางคน ได้สมคบกันเป็นกบฏส้องสุมผู้คนและศาสตราวุธโดยเจตนาล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างอื่น ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476

คณะบุคคลดังกล่าวแล้ว ได้บังอาจใช้กำลังยึดการปกครองจนถึงใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ในที่สุดรัฐบาลได้ใช้กำลังปราบปรามพวกกบฏพ่ายแพ้ไป และได้ทำการจับกุมพวกกบฏฟ้องร้องลงโทษไปแล้วก็มี ที่หลบหนีไปอยู่นอกประเทศไทยก็มี ที่ปรากฏหลักฐานมีมูลแต่ยังไม่ได้ฟ้องร้องก็มี ที่มีแต่เพียงพฤติการณ์แวดล้อมยังไม่ได้ทำการจับกุม โดยพนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนเพื่อการก้าวหน้าต่อไปก็มี ความทะนงองอาจของบุคคลคณะนั้นที่จะเปลี่ยนการปกครองดังกล่าวแล้วหาได้ยุตติลงไม่ ยังคงดำเนินการกบฏอยู่เสมอโดยมีแผนการหลายอย่าง เช่น เกลี้ยกล่อมทหารและพลเรือนเพื่อใช้กำลังบังคับ ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาล ส่อเสียดให้เกิดแตกร้าวขึ้นในหมู่คณะรัฐบาลด้วยกัน ยุยงส่งเสริมเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการทหาร พลเรือน และราษฎร ให้เกลียดชังเข้าใจผิดต่อคณะรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการที่จะยึดอำนาจและเปลี่ยนการปกครองของประเทศไทยนั่นเอง”

ผลการพิจารณาของศาลพิเศษจะชี้ให้เห็นว่า นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช เป็นหนึ่งใน “บุคคลคณะหนึ่ง” นี้ด้วย…

…บันทึก ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช ของ “เสทื้อน ศุภโสภณ” เท่านั้นที่ได้ค้นคว้าและสอบถามจากผู้รู้และบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ดังมีใจความสำคัญดังนี้

“การศึกษาในโรงเรียนรบนี้ เป็นการศึกษาในศิลปะของผู้นำทัพทั้งหมด เกี่ยวกับในทางยุทธวิธีแผนใหม่ เริ่มต้นเรียนและฝึกฝนกันตั้งแต่พื้นฐานต่ำสุด เริ่มแต่ชั้นพลทหารขึ้นไปเลยทีเดียว จนกระทั่งถึงเป็นผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับกองผสม ผู้บัญชาการกรม ผู้บัญชาการกองพล จนสามารถเป็นผู้นำทัพในการสงครามได้อย่างเชี่ยวชาญช่ำชองจริงๆ

การเรียนในปีแรกของโรงเรียนรบนี้ ให้นักศึกษาเรียนและฝึกฝนในหน้าที่ของพลทหารและผู้บังคับหมู่ อันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของกองทัพเสียก่อน โดยสอนให้รู้จักหน้าที่ของพลทหาร 6 เดือน และฝึกฝนในหน้าที่ของนายสิบ (ผู้บังคับหมู่) อีก 6 เดือน พอขึ้นปีที่ 2 จึงให้เรียนและฝึกฝนในหน้าที่ของผู้บังคับหมวดและผู้บังคับกองร้อย สำหรับปีที่ 3 อันเป็นปีสุดท้ายของการฝึกและศึกษานั้น ให้เรียนในหน้าที่ของผู้บังคับกองพันและยุทธศาสตร์ของประเทศไทย

…ตลอดเวลาใช้วิธีสอนนอกสถานที่ พานักศึกษาออกไปฝึกสอนกันนอกบริเวณที่ตั้งกองพันทหารราบที่ 31 ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ออกไปทั้งสิ้น และได้นำไปศึกษาฝึกฝนในท้องที่ภูมิประเทศต่างๆ กัน เปลี่ยนสถานที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น บางครั้งพาไปที่จอมทอง บางครั้งพาขึ้นไปถึงบนดอยสุเทพ บางครั้งพาไปที่ห้วยแก้ว บางครั้งพาไปยังบริเวณถนนที่จะไปสู่จังหวัดลำพูนในสมัยนั้น และบางทีก็ยกกองทัพขึ้นไปจนถึงเชียงดาวเลยก็มี

การสอนเริ่มลงมือกันตั้งแต่เช้าตรู่ พอเริ่มอรุณรุ่งประมาณ 5.30 น. กันเลยทีเดียว เมื่อได้เวลาฝึกสอน ร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท ก็จะขับรถกระบะบรรทุกพาสมัครพรรคพวกออกจากที่พักในกองพันทหารราบที่ 31 ยกขบวนกันออกไปศึกษาและฝึกฝนตามแถบบริเวณชายเมืองดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งทุกจุดจะอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองอย่างน้อย 5-6 กิโลเมตร สอนกันอย่างเต็มเหยียด สาธยายแต่เพียงผู้เดียว ตลอดรายการตั้งแต่ต้นจนปริโยสาน

ในการฝึกสอนนอกบริเวณที่ตั้งของกองพันทหารที่เชียงใหม่นี้ จะมียกเว้นอยู่บ้างก็แต่เฉพาะในการเรียนชั้นสุดท้าย ในตอนที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งกินเวลาประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น

…รัฐบาลไทยในสมัยนั้นไม่เคยได้เอาใจใส่หรือเหลียวแลแต่อย่างใดเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยมีบุคคลสำคัญในวงการรัฐบาล ไม่ว่าจะจากฝ่ายทหารหรือพลเรือนก็ตามที่ได้เคยย่างกรายขึ้นไปดูการสอนของพระยาทรงฯ เลย เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนหรือการฝึกฝนอบรมต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เคยมีให้สักชิ้นเดียว ปล่อยให้พระยาทรงฯ ว่าไปคนเดียว รับเหมาไปคนเดียวให้เสร็จสรรพ เท่ากับเป็นการตัดขาดลอยไปเลยอย่างเห็นได้ชัด…

นอกจากเครื่องพิมพ์ดีดบุโรทั่งเครื่องหนึ่งซึ่งนายทหารคนสนิทต้องทำหน้าที่เสมียนพิมพ์เองด้วยแล้ว ในโรงเรียนแห่งแรกของเมืองไทยเรานี้ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรให้เลย

…สิ่งเดียวที่ได้ช่วยเป็นอุปกรณ์สำคัญในการฝึกสอนของพระยาทรงฯ เป็นอย่างดีตลอดมาก็คือ ป่าเขาลำเนาไพรและท้องทุ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ให้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มานั่นเอง สิ่งที่ใช้แทนต่างเครื่องบิน นำขึ้นสำรวจตรวจตราสภาวะภูมิประเทศในการฝึกสอนของพระยาทรงฯ ที่ได้ใช้กันเป็นประจำตลอดมาก็คือดอยสุเทพ…”

เมื่อเกิดการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ในข้อหากบฏเมื่อ นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2480 นั้น โรงเรียนรบนับเป็นเป้าหมายสำคัญในการกวาดล้างจับกุม นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช และ ร.อ. สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ถูกบังคับให้เดินทางไปอินโดจีน โรงเรียนรบจึงต้องปิดไปโดยปริยายและไม่มีการเปิดการศึกษาขึ้นมาอีก…

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 เมษายน 2564