คณะราษฎรเผยสาเหตุ ‘ปฏิวัติ 2475’ ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ ?

คณะราษฎร
(จากซ้าย) นายชม จารุรัตน์, นายแดง (วิเลียม) คุณะดิลก, นางสาวเล็ก คุณะดิลก หรือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยานายควง อภัยวงศ์, นายควง อภัยวงศ์, ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล, ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่, นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายประยูร ภมรมนตรี และนายแนบ พหลโยธิน ภาพถ่ายเมื่อวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ที่ Place du Trocadéro ถ่ายครึ่งปีก่อนการประชุมของ 7 ผู้ริเริ่มคณะราษฎรที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’

คณะราษฎร เผยสาเหตุ “ปฏิวัติ 2475” ปฐมบทจากความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์?

แม้ว่า “24 มิถุนายนจะหมดความสำคัญไปแล้วในปฏิทินวันสำคัญของชาติ ภายหลังที่เคยเป็นวันชาติต่อเนื่องมาเป็นเวลา 25 ปี, หากในบริบทของประวัติศาสตร์, วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ยังเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย.

วันนั้น ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”, ซึ่งเป็นระบอบการปกครองของประเทศไทยต่อเนื่องมาเป็นเวลา 90 ปี (2565) โดยปราศจากแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น.

กลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินดังกล่าวข้างต้นคือคณะราษฎรซึ่งทำหน้าที่ในบทบาทของผู้ก่อการให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสำเร็จ และสามารถดำเนินการต่อไปได้. “คณะราษฎรตระหนักดีว่าการสร้างระบอบใหม่ให้สมบูรณ์นั้นย่อมต้องใช้เวลายาวนานเกินกว่าอายุของคณะราษฎร”, จึงต้องเป็นภาระของบุคคลรุ่นต่อๆ ไป.

สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นวันที่คณะราษฎรประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐ ตามมาด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูประเบียบแบบแผนการบริหารประเทศในระบอบใหม่, ตลอดจนการก่อตั้งคณะราษฎร กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น, ได้รับการศึกษา ค้นคว้า และบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วนโดยนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก.

ความแตกต่าง, ซึ่งมีลักษณะเป็นความเห็นต่าง”, จะเป็นประเด็นว่าด้วยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีบุคคลบางกลุ่มไม่ยอมรับปรากฏการณ์ 24 มิถุนายน 2475” โดยมีความเห็นว่า เป็นปฏิบัติการแย่งอำนาจจากพระมหากษัตริย์ก่อนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยพระองค์เอง ทั้งๆ ที่ทราบเรื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อหวังความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน. แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่ปราศจากเหตุผลและข้อเท็จจริง, หากก็สามารถทำให้สาธารณชนบางส่วนที่ขาดวิจารณญาณหลงเชื่อได้, ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยมาทุกยุคสมัย.

ปฏิวัติ 2475 เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของวิวัฒนาการสังคม”, กล่าวคือเมื่อกาลเวลาผ่านไป, สังคมก็ย่อมจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป เมื่อสิ่งที่ปรากฏอยู่แต่เดิม, แม้ว่าจะทรงคุณค่าเพียงใด, ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา, ก็ไม่อาจคงอยู่ในรูปแบบเดิมได้. เมื่อใดที่มีการขัดขืนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, ก็ย่อมจะมีความขัดแย้งปรากฏในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง. เหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สะท้อนภาพดังกล่าว.

แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการกระทำของกลุ่มบุคคล, ดังนั้นคำอธิบายสาเหตุก็จะต้องมาจากผู้ที่เป็นหัวหน้าของกลุ่มบุคคลนั้นๆ, ซึ่งก็หมายถึงบรรดาสมาชิกคณะราษฎรชั้นหัวหน้า. ส่วนหนึ่งของท่านเหล่านี้ก็คือผู้ที่ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส, และอีกส่วนหนึ่งก็คือนายทหารอาวุโส ผู้ซึ่งวางแผนและดำเนินการยึดอำนาจ ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหาร.

ในกลุ่มผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ท่านนั้น, มีเพียง 2 ท่านที่ภายหลังได้มีโอกาสแสดงความในใจของตนอันเกี่ยวกับสาเหตุในการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง. ท่านหนึ่งก็คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นเอกฉันท์ให้เป็นประธานที่ประชุม และหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมในกาลต่อไป. ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เรียบเรียงเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตยขึ้นเมื่อ .. 2515, หลังเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ถึง 40 ปี.

อีกท่านหนึ่งของกลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งคณะราษฎรที่ได้อธิบายถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือ ท่านพลโท ประยูร ภมรมนตรี. เช่นเดียวกับ ท่านปรีดี พนมยงค์, พลโท ประยูร ภมรมนตรี มีโอกาสอรรถาธิบายเรื่องดังกล่าวในเวลาไล่ๆ กับท่านปรีดี พนมยงค์.

ทางผู้ก่อการฝ่ายทหาร, ท่านพลเอก พจน์ พหลโยธิน หรือพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้เป็นหัวหน้าคณะราษฎรยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกระหว่างปี 2476-81 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ท่านตัดสินใจกระทำการใหญ่ ภายหลังที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2.

สำหรับนายทหารผู้ก่อการอาวุโสอีกท่านหนึ่งคือ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้ซึ่งได้เขียนบันทึกเรื่องการยึดอำนาจรัฐในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไว้เมื่อปี 2482 ขณะที่ลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา. นอกจากนั้นก็มีการให้สัมภาษณ์ของนายทหารอาวุโสท่านอื่นๆ บ้าง หากไม่มีความชัดเจนเรื่องสาเหตุ”. สำหรับสมาชิกคณะราษฎรท่านอื่นๆ นั้น หากจะได้มีการกล่าวถึงเรื่องนี้บ้าง ก็เป็นการพูดถึงว่าได้รับการชักชวนจากผู้ที่เคารพและไว้วางใจ และตนเองก็มีความเห็นด้วย.

4 ทหารเสือ (จากซ้าย) พระยาทรงสุรเดช, พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ, พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.อ. พระยาฤทธิอาคเนย์

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของทัศนะทางสังคมที่ต้องการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยอ้างถึงการอภิวัฒน์ทางอุตสาหกรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบวิสาหกิจต้องการแรงงานสมัยใหม่ที่มีความสามารถในการทำงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่, จึงเห็นสมควรเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ลูกจ้างมีเสรีภาพมากขึ้นในการทำงาน.

เมื่อทัศนคติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเปลี่ยนไป, ก็เห็นกันว่า ความสัมพันธ์ภายในระบบการเมืองก็ควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่. เมื่อไทยเปิดประเทศมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5, ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญ, ทัศนะทางสังคมของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจึงเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย มีผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามแบบการปกครองในประเทศยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ ที่กำลังเจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี.

การเรียกร้องการปกครองระบอบใหม่นี้ ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ปี 2427 ที่เจ้านายและข้าราชการสถานทูตไทยในยุโรปตะวันตกได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงพิจารณาปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน. จากนั้นก็มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความคิดก้าวหน้าในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของราษฎรที่ปรากฏในราชการฝ่ายยุติธรรม และในหนังสือพิมพ์ และเอกสารต่างๆ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 6, ซึ่งในตอนต้นรัชกาลเมื่อ .. 2454 หรือ .. 130 ก็มีคณะบุคคลพยายามยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากไม่ประสบผลสำเร็จ.

ท่านปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าคนไทยหัวสมัยใหม่ที่ได้รับรู้ถึงระบอบการปกครองในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า, อีกทั้งได้ตระหนักในความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเมืองไทย, ได้บังเกิดจิตสำนึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ, ซึ่งทั้งนี้รวมถึงนักศึกษาระดับสูงจำนวนหนึ่งที่กรุงปารีส. ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนเล่าเอาไว้ดังนี้.

.. ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และเป็นมหาดเล็กเคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 นั้น เมื่อมาถึงปารีสใน .. 1925 (.. 2468) และได้พบข้าพเจ้า ก็ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบอบนั้น. ฉะนั้นใน .. 1925 นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ .. ประยูรฯ หลายครั้งแล้ว จึงชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ มามากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง. ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริง จากน้อยไปสู่มากแล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น. ต่อมาจึงชวน .. แปลก, .. ทัศนัย ซึ่งย้ายจากบ้านพักเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ Quartier-Latin จึงได้สนทนากันแทบทุกวันแล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่นๆ ให้ร่วมด้วย.

เราได้วางแผนปลุกจิตสำนึกเพื่อนนักศึกษาทั่วไปให้เกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ

การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ .. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ‘Rue Du Sommerard’ ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น…”

ผู้ร่วมประชุมก่อตั้งคณะราษฎรมี 7 คน คือ 1. .. ประยูร ภมรมนตรี, 2. .. แปลก ขีตตะสังคะ, 3. .. ทัศนัย มิตรภักดี, 4. นายตั้ว ลพานุกรม, 5. หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี), 6. นายแนบ พหลโยธิน, และ 7. นายปรีดี พนมยงค์.

ท่านปรีดี พนมยงค์ กล่าวต่อไปว่าวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และดำเนินการเพื่อให้สยามบรรลุหลัก 6 ประการ คือ (1) รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง, ในทางศาล, ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง (2) รักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก (3) บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก (4) ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (5) ให้ราษฎรมีเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว (6) ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”.

สำหรับยุทธวิธีที่จะใช้ในการเปลี่ยนการปกครองนั้น, “คณะราษฎรก็ได้กำหนดไว้ว่า จะต้องใช้วิธีการยึดอำนาจรัฐแบบฉับพลันทันที หรือ “coup d’ etat” เพื่อป้องกันการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ และหลีกเลี่ยงการสู้รบในประเทศ. ในการเลือกเฟ้นบุคคลที่จะชักชวนเข้าร่วมคณะ จะเน้นผู้ที่ไว้วางใจได้จริงๆ และเป็นบุคคลที่เสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง, มีความกล้าหาญ และมีความสามารถในการรักษาความลับ. ในกรณีที่การกระทำของคณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จ ให้มีสมาชิกคนหนึ่งที่ปกปิดบทบาทของตนมิให้แพร่งพรายว่าเป็นผู้ร่วมก่อการ มีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ประสบเคราะห์กรรม, ซึ่งที่ประชุมได้มอบหน้าที่ดังกล่าวนี้ให้แก่ นายแนบ พหลโยธิน.

ภายหลังการประชุมเพื่อก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ผู้ร่วมก่อตั้งต่างก็ทยอยเดินทางกลับเมืองไทย ซึ่งได้มีการชักชวนเพื่อนนักศึกษา ทั้งในภาคพื้นยุโรปและในประเทศอังกฤษหลายคนเข้าร่วมคณะ, และเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ก็ได้เพื่อนทหารบก, ทหารเรือ, และพลเรือนอีกจำนวนหนึ่งเข้าเป็นสมาชิกของคณะราษฎร”. ในปลายปี 2474, .. พระยาพหลพลพยุหเสนา, .. พระยาทรงสุรเดช, และ .. พระยาฤทธิอัคเนย์, สามนายทหารบกอาวุโสได้รับการชักชวนเข้าร่วมคระ โดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะราษฎร”.

ท่านปรีดี พนมยงค์ กล่าวยืนยันว่า ในเมืองไทยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นปรากฏว่าชนรุ่นหนุ่มสมัยนั้น ชนิดที่ไม่เคยไปเห็นระบอบประชาธิปไตยในต่างประเทศ แต่ก็มีความตื่นตัวที่ต้องการเปลี่ยนระบอบสมบูรณาฯ, ทั้งนี้ก็แสดงถึงว่าผู้ที่มิได้มีความเป็นอยู่อย่างระบอบศักดินา เกิดจิตสำนึกที่เขาประสบแก่ตนเองถึงความไม่เหมาะสมของระบอบนั้น และอิทธิพลที่เขาได้รับจากสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบอบศักดินามาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ.

เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจำนวนน้อยที่กลับมาจากยุโรป จึงไม่มีความลำบากมากนักในการชวนผู้ตื่นตัวในเมืองไทยให้เข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎร เพราะเขามีพื้นฐานแห่งความต้องการนั้นอยู่แล้ว, การที่ชวนเป็นสมาชิกประเภท ดี 1 (คือผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ชักชวนให้ร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรก่อนวันลงมือยึดอำนาจรัฐ) เพียง 100 คนเศษ ก็เพราะจำนวนนั้นเป็นการเพียงพอที่จะลงมือทำการเป็นกองหน้าของราษฎร และเพื่อรักษาความลับในวงจำกัด…”

ท่านพลโท ประยูร ภมรมนตรี ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้จุดประกายความคิดของ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในอันที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ, อีกทั้งเป็น 1 ใน 7 ของผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส, ได้บันทึกความทรงจำของท่านในเรื่องสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เอาไว้ดังนี้.

กำเนิดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง .. 2475 นั้น ได้ก่อหวอดขึ้นในดินแดนต่างด้าว. ว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่อยู่ในประเทศของเราก็เคยชินต่อสภาพความเป็นอยู่ในระบบพึ่งบุญบารมี, ระบบพินอบพิเทา, ถือโชคชะตากุศลบุญราศี เป็นเรื่องของชีวิต. ครั้นเมื่อได้ออกไปอยู่ในดินแดนต่างประเทศ, ในประการแรก เราจะได้เห็นความรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ ทำให้หวนมาคิดเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเรา, ทำไมจึงต้องจมดินจมโคลนพะรุงพะรังอยู่อย่างนี้, กับทั้งความเป็นอยู่ประชาชนของเขาที่อยู่ในระดับชีวิตส่วนรวมที่ใกล้เคียงกัน ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ, ระบบหมอบกราบ พินอบพิเทา พูดจา ไอ้ เอ็ง มึง กู, เป็นเรื่องที่ขมขื่น ดังที่ได้ประสบอยู่ในบ้านเมืองของเรา.

นอกจากนี้ยังเกิดมีความรู้สึกแสลงใจที่ถูกเหยียดหยาม เสมือนข้าทาสที่อยู่ในอาณานิคม, เพราะในยุคนั้น พลเมืองกว่าครึ่งโลกยังเป็นประเทศราชในความปกครองของคนผิวขาว ทำให้รู้สึกว่าประเทศเรานั้นอ่อนแอ มิได้ปรับปรุงให้เข้มแข็งและเป็นระเบียบอันดีงามเสมือนอารยะประเทศทั้งหลาย. เมื่อได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่ออิสระและเสรีภาพที่ประชาชนชาวยุโรปต่อสู้ เอาชีวิตเลือดเนื้อเข้าแลกรักษาสิทธิเสรีภาพ, เขาจึงสามารถสร้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมั่นคง ที่เป็นกุญแจทองนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและความมั่นคงสืบเนื่องกันมาหลายศตวรรษ. ด้วยเหตุผลนานาประการดังได้กล่าวมาแล้วนี้, ประกอบกับเมื่อหวนคำนึงถึงสภาพความเสื่อมโทรมของบ้านเมืองในยุคนั้น จึงทำให้นักเรียนไทยผู้รักชาติที่อยู่ในยุโรป เฉพาะในประเทศฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์ ได้ร่วมใจร่วมคิดด้วยเจตนาอันแรงกล้า ยอมเสี่ยงชีวิตคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น เพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติ

การที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ได้เป็นการกบฏ หรือล้มราชบัลลังก์, เพราะการมีรัฐธรรมนูญปกครองบ้านเมืองนั้นนับเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของพระเจ้าอยู่หัว. ความดีทั้งหลายก็เทิดทูนถวายส่งเสริมพระบารมี. ฉะนั้นพระมหากษัตริย์ย่อมรุ่งโรจน์ตลอดไป…”

ข้อเขียนของ ท่านปรีดี พนมยงค์ กับบันทึกของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ดังที่ได้นำมาข้างต้น, เมื่อประกอบกัน ก็ย่อมจะให้ความกระจ่างถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย.

แต่เพื่อจะให้มีความชัดเจนขึ้นอีก, คำให้สัมภาษณ์ของ ท่านพลเอก พจน์ พหลโยธิน หรือพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรผู้ซึ่งนำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นผลสำเร็จ จะเสริมความเข้าใจถึงสาเหตุอย่างถ่องแท้.

ท่านเจ้าคุณพหลฯ บอกว่าผมเป็นทหาร เหตุทางฝ่ายผมจึงได้เริ่มมาจากหน้าที่ทางการทหารของผมในเบื้องต้นทีเดียว เกิดความรู้สึกว่า ราชการบ้านเมืองในเวลานั้น ดูพวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพวกเจ้านายทำกันตามอำเภอใจ ไม่ใคร่จะเอาใจใส่ในความคิดเห็นของผู้น้อย ซึ่งแม้นว่าจะมีเหตุผลควรเชื่อถือก็ตาม. พวกผู้ใหญ่มักจะถือเสียว่า ความเห็นของผู้น้อยนั้นจะดีหรือไม่ดีไม่สำคัญ, หากสำคัญอยู่ที่ว่า จะถูกใจท่านหรือไม่. เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกผู้น้อยซึ่งอาจมีสติปัญญาดีๆ ก็เกิดความท้อถอย ไม่อยากแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่เชื่อแน่ว่าจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมือง, และเมื่อการบริหารราชการบ้านเมืองดำเนินไปตามความเห็นของพวกผู้ใหญ่ไม่กี่คน, ซึ่งถ้าท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอย่างเก่าๆ และแคบๆ ด้วยแล้ว, ก็อาจชักนำให้บ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมและความล่มจมได้ง่าย”.

พระยาพหลพลพยุหเสนา

พระยาพหลพลพยุหเสนาขณะนั้นเป็นนายทหารหนุ่มใหญ่วัย 44 ปี, สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน และศึกษาวิชาสรรพาวุธเพิ่มเติมที่เดนมาร์ก เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1, มีตำแหน่งเป็นรองจเรทหารบก.

ประสบการณ์อันขมขื่นดังกล่าวข้างต้นได้ทำให้ .. พระยาพหลพลพยุหเสนาครุ่นคิดว่าทำอย่างไรหนอ การบริหารแผ่นดินจึงจะไม่ถูกผูกขาดไว้ในกำมือของเจ้านายและพวกเสนาบดีผู้ใหญ่เพียงไม่กี่คน”.

.. พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก ในวัย 41 ปี ซึ่งสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเยอรมัน เช่นเดียวกับเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา ท่านก็มีความคิดเห็นทำนองเดียวกับสหายของท่าน. เจ้าคุณทรงสุรเดชได้บันทึกว่า “…จะเห็นได้ถนัดว่ามีการแต่งตั้งเจ้ากันหนักมือ จนในที่สุด ตำแหน่งใหญ่ๆ และสำคัญทั้งหมดต้องอยู่ในกำมือของเจ้าความจริงไม่เป็นการเสียหายอะไร ถ้าตั้งเจ้าที่เฉียบแหลมสามารถขึ้นทำหน้าที่สำคัญ, แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น, ดูสักแต่ว่าเป็นเจ้าละก็ตั้งได้โดยไม่จำกัดเสียเลย.

ตามที่มีคนเข้าใจว่า ที่เกิดปฏิวัติ เนื่องมาจากการเพิ่มภาษีอากรและความยากจนข้นแค้นของราษฎรนั้น ไม่มีมูลแห่งความจริงเลย. ราษฎรไทยกลัวเจ้าและกลัวนายของเขาทั้งหมดยังกับหนูและแมว. ลำพังราษฎรจะไม่มีปัญญาคิดปลดแอกได้เลย และจะไม่มีใครกล้าชักชวนกันควบคุมเป็นพวกขึ้นมาได้ แม้จะอดตายเพราะความยากจน ก็ทนอดตาย. ส่วนข้าราชการไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากเข้าใจว่าถูกแต่งตั้งให้มาเป็นนายของราษฎรแล้ว และคอยหาโอกาสฝากเนื้อฝากตัวเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จะได้กรุณาเขาให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นและเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น. ส่วนงานของชาติรอไว้ก่อนได้, ผลเสียแห่งงานของชาติดูไม่ทำให้เกิดความรู้สึกละอาย

เป็นอันว่าการปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะนายทหารบกผู้เป็นหัวหน้าตกลงใจเด็ดขาดให้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นเหตุผลผู้เป็นหัวหน้าจึงน่าจะต้องถือเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้นโดยแท้

เหตุผลข้อที่ 1 ก็คือ เป็นที่ประจักษ์แน่แล้วว่า พระเจ้าแผ่นดินแสดงความไม่สามารถในการที่จะบงการโดยอำนาจแอบโซลู้ด ให้งานของชาติเจริญรุ่งเรืองได้

เหตุผลข้อที่ 2 พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แทบทั้งหมดมุ่งแต่เพียงทำตัวให้เป็นที่โปรดปราน ไว้เนื้อเชื่อใจจากพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าด้วยวิธีใด ตลอดทั้งวิธีที่ต้องสละเกียรติยศด้วย.

ทั้งสองข้อนี้ประกอบกันย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ชาติไทยทรงกับทรุดเท่านั้น ควรเปลี่ยนวิธีให้ราษฎรได้มีโอกาสรู้จักวิธีปกครองตนเอง และรับผิดชอบกันเอง ในความเจริญหรือความเสื่อมของชาติ แทนที่ให้พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว รับผิดชอบ ซึ่งไม่มีทางจะดีขึ้นได้.”

สำหรับความคิดเห็นของบุคคลบางกลุ่มที่ว่าคณะราษฎรได้ทราบอยู่แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ, แต่ได้ชิงยึดอำนาจเสียก่อน, ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ชี้แจงแทนคณะราษฎรว่า

คณะราษฎรเพิ่งทราบเมื่อ 6 วันภายหลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนมีพระราชกระแสรับสั่งว่า จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงปรึกษาข้าราชการมีตำแหน่งสูงในขณะนั้น ก็ไม่เห็นพ้องกับพระองค์

คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อน. การเปลี่ยนแปลงได้กระทำโดยบริสุทธิ์ ไม่ได้ช่วงชิงดั่งที่มีผู้ปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นและโดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชประสงค์มาก่อนแล้ว หากมีผู้ทัดทานไว้, ฉะนั้นเมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ พระองค์จึงพระราชทานด้วยดี.

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทย. ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ ที่นี้ (ในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2489) และบรรดาชาวไทยทั้งหลาย จงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทอดพระเกียรติของพระองค์ไว้ชั่วกัลปาวสาน”.

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. 2490.

นรนิติ เศรษฐบุตร และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. บันทึกพระยาทรงสุรเดช. 2514.

ประยูร ภมรมนตรี, พลโท. บันทึกเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าด้วยกำเนิด, ความมุ่งหมาย, การปฏิวัติ, ความสำเร็จ และความผิดพลาดอย่างถึงแก่นแท้. 2517.

ปรีดี พนมยงค์. บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย. 2515.

หนังสืออ่านประกอบ :

วิชิตวงศ์ ป้อมเพชร. “นักเรียนนายร้อยเยอรมัน,” ใน กาลครั้งหนึ่งในเมืองไทย. 2556.

______. “นักเรียนฝรั่งเศส,” ใน นักเรียนนอก. 2550.

______. บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. 2549.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เขียนโดย ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2563