คณะราษฎรเข้าเฝ้าร.7 หลังปฏิวัติ เผยพระราชดำรัส “ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว”

ไม่กี่วันให้หลังหลังจากการปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 “คณะราษฎร” อย่าง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, พระยาศรีวิสาร, พระยาปรีชาชลยุทธ, พระยาพหลพลพยุหเสนา และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ณ วังสุโขทัย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการ “พูดคุย” เพื่อ “ปรับความเข้าใจ” ระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร โดยเฉพาะในกรณี “ประกาศ” ที่โจมตีรัชกาลที่ 7 อย่างดุเดือด

เหตุการณ์ในวันนั้น เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เป็นผู้จดบันทึกเหตุการณ์มีหัวข้อว่า “บันทึกลับ” (จากหนังสือ แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. โดยสถาบันพระปกเกล้า, 2545) ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลากหลายประด็นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศสยามพึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญ

การพูดคุยเริ่มขึ้นโดยรัชกาลที่ 7 มีพระราชดำรัสว่า “…อยากจะสอบถามความบางข้อ และบอกความจริงใจ ตั้งแต่ได้รับราชสมบัติ ทรงนึกว่าถูกเลือกทำไม บางทีเทวดาต้องการให้พระองค์ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง” 

นั่นเพราะ “คงต้องการให้ลบล้างกิจการที่รัชกาลที่ 6 ทำไว้” โดยรัชกาลที่ 7 ทรงพยายามชี้แจงประเด็นใหญ่ 2 ประการ อันเป็นเหตุที่ทำให้คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ “เศรษฐกิจ” และ “รัฐธรรมนูญ”

ในข้อเศรษฐกิจนั้น “…ได้ทรงพยายามใช้หนี้และแก้ไขฐานะการเงินเฟื่องฟูขึ้น…” ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหลังจากเสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2474 เพื่อรักษาพระเนตร ก็ปรากฏว่าเศรษฐกิจทรุดลงอีกนั้น รัชกาลที่ 7 “…ทรงรู้สึกว่าไม่ใช่โทษของพระองค์ เป็นเพราะเหตุการณ์ภายนอก แต่ทรงรู้สึกว่าได้แก้ไขช้าไปบ้างและอ่อนไปบ้าง…”

ในข้อรัฐธรรมนูญนั้น “…ทรงเห็นว่าควรจะต้องให้ Constitution มาแต่รัชกาลที่ 6 แล้ว และเมื่อได้ทรงรับราชสมบัติ ก็มั่นพระราชหฤทัยว่า เป็นหน้าที่ของพระองค์ที่จะให้ Constitution แก่สยามประเทศ…”

อย่างไรก็ตาม หลังจากปรึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญกับพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) กลับถูกขัดขวางโดยอภิรัฐมนตรี ทว่า โดยส่วนพระองค์แล้วทรงมีพระราชดำริจะวางรากฐานประชาธิปไตย 2 ทางทั้งล่างและบน คือ “ข้างล่าง” จะให้เทศบาลสอนราษฎรให้รู้จักเลือก “ผู้แทน” โปรดเกล้าฯ ให้กรมร่างกฎหมายร่างขึ้น ซึ่งมีพระราชดำรัสว่าหลวงประดิษฐ์ก็ทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว ส่วน “ข้างบน” นั้น โปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการองคมนตรีเพื่อฝึกสอนข้าราชการ

รัชกาลที่ 7 ทรงมั่นพระทัยว่า เรื่องรัฐธรรมนูญนี้ไม่อาจรั้งรอได้อีกต่อไป จึงทรงปรึกษากับพระยาศรีวิสารกับนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ จนนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายแล้วทั้งสองได้เสนอความเห็นตรงกันว่า ยังไม่เห็นสมควรที่จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง

กระนั้นก็ตาม รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีนายกรัฐมนตรี เสนาบดีสภา และผู้แทนจากหัวเมือง “…แต่ว่าแต่ละอย่าง ๆ จะเป็นการลำบากเหลือเกิน หวังว่าจะเห็นด้วยว่าพระองค์ยากที่จะขัดผู้ใหญ่ที่ได้ทำการมานานตั้ง 29 ปีก่อนพระองค์” นั่นหมายถึงว่า เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ก็ยังคงไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระราชดำริ “ให้เสนาบดีมุรธาธรเป็นประธานในที่ประชุมเสนาบดี พระองค์จะไม่ประทับในที่ประชุม และขยายจำนวนกรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่อย่างรัฐสภา…”

แนวพระราชดำริดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่หัวหิน แต่ปรากฏว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน

ความในพระทัย

เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ในตอนแรกรัชกาลที่ 7 ทรงยอมรับความรู้สึกของพระองค์ว่า “…ที่คณะราษฎรทำไปไม่ทรงโกรธกริ้ว และเห็นใจ เพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทรงทราบเรื่องก็คาดแล้วว่าคงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทำความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก”

โดยทรงเห็นว่าการกระทำของ “คณะราษฎร” นั้นเป็นเรื่องดี แต่ที่ทำไปนั้นเพราะคงไม่ทราบถึงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้เช่นกัน แต่เมื่อคณะราษฎรออก “ประกาศ” โจมตีพระองค์ ทำให้ทรงไม่พอพระทัยมาก ตามที่เจ้าพระยามหิธรบันทึกการพูดคุยในการเข้าเฝ้าวันนั้นว่า

“ในวันนั้นได้ทรงฟังประกาศของคณะราษฎรทางวิทยุ ทรงรู้สึกเสียใจและเจ็บใจที่กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย เมื่อได้ทรงฟังประกาศดังนี้รู้สึกว่า เห็นจะเป็นขบถกระมัง จึงปรึกษา มีทาง 3 ทาง ถ้าจะหนีก็มีเวลาตั้ง 24 ชั่วโมง พอหนีได้ จะสู้ก็ยังมีกำลังทหารทางหัวเมือง แต่ทรงพระราชดำริว่า ถ้าหนีจะร้ายใหญ่ อาจฆ่ากันตายและร้ายแก่พระราชวงศ์ การจะต่อสู้ก็ไม่อยากทำ จึ่งได้ทรงรับโดยไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ”

ประกาศของคณะราษฎรทำให้รัชกาลที่ 7 ไม่พอพระทัย เพราะมีข้อที่ว่า ทรงแต่งตั้งคนสอพลอและคนคดโกงมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งพระองค์ปฏิเสธเรื่องนี้ ทรงอธิบายต่อหน้าคณะราษฎรที่มาเข้าเฝ้าว่า พระองค์เพียงพระองค์เดียวจะจับคนคดโกงให้หมดได้อย่างไร และก็ทรงปลดคนโกงไปมากแล้ว และหากคณะราษฎรได้บริหารปกครองบ้านเมืองแล้วก็จะได้พบคนโกงเช่นเดียวกัน

ข้อที่ว่าเอา “ราษฎร” เป็นทาสหรือหลอกลวงนั้นก็ทรงปฏิเสธว่าไม่จริง ข้อที่ว่า “ราษฎร” ช่วยกันกู้ประเทศนั้น ทรงยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง “…แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำ และผู้นำนั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสียไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก”

เจ้าพระยามหิธรยังบันทึกต่อไปว่า เมื่อรัชกาลที่ 7 “…ได้เห็นประกาศ ไม่อยากรับเป็นกษัตริย์… เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกันทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้วทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว ไม่ทรงทราบใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้เขียน…”

รัชกาลที่ 7 ต่อว่าการกระทำของคณะราษฎรเปรียบเหมือนการนำผ้าที่จะเอาไปทำธงชาติ แต่กลับนำมาเหยียบย่ำให้เปรอะเปื้อนเสียก่อน แล้วค่อยชักธงชาติขึ้น

ทรงอธิบายถึงความในพระทัยต่อไปว่า เมื่อประกาศของคณะราษฎรตกไปอยู่ในมือของชาวบ้านเป็นอันมาก ก็ทำให้เสื่อมเสียมาถึงพระองค์ จึงทรงตั้งคำถามว่า “…เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทำไม เท่ากับจับลิงที่ดุมาใส่กรงไว้ จึ่งมีพระราชประสงค์จะออกเสีย เพราะรู้สึกว่าเสีย Credit ทุกชั้น ทำให้คนเกลียดหมด… เวลานี้จะดูหน้าใครไม่ได้ จะรับแขกไม่ได้ จะอยู่โดยเงียบ ๆ…”

และทรงตัดพ้อว่า จะทรงยอมอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไปจนกว่าเหตุการณ์สงบ หากทูลเชิญให้ไปที่สภาก็จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อช่วยความมั่นคงของประเทศชาติ และหากกิจการต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จะทรง “…ขออนุญาตไปพักผ่อนเงียบ ๆ ไม่ได้ต้องการเงินทอง ขอแต่ให้ได้ใช้สรอยทรัพย์สมบัติเดิมที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพอกินไป”

พระราชวงศ์

รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริถึงการสละราชสมบัติมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์นัก ทรงอ้างถึงเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 เคยมีพระราชดำริจะสละราชสมบัติมาก่อนเช่นกัน และเมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า หากเหตุการณ์สงบแล้วก็จะทรงสละราชสมบัติ ส่วน “ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งกรมขุนชัยนาทเป็น Regent ก็สมควร จะได้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่ เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ หรือคณะราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร”

รัชกาลที่ 7 ตรัสถามคณะราษฎรที่มาเข้าเฝ้าในวันนั้นถึงข่าวลือว่า คณะราษฎรจะยึดทรัพย์พระราชวงศ์จริงหรือไม่ ทรงมีพระราชดำรัสว่าหากทำจริง ขอให้ทรงสละราชสมบัติเสียก่อน เพราะจะไม่ยอมมีส่วนร่วมในการกระทำกับพระญาติวงศ์เช่นนั้นเป็นอันขาด

พระยามโนปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า คณะราษฎรไม่มีความคิดเช่นนั้นเลย โดยรัฐบาลใหม่จะหาเงินจากการเก็บภาษี และการกู้เงินภายในประเทศ เช่นนั้นแล้ว รัชกาลที่ 7 ก็ทรงเสนอความเห็นว่าจะทรงหาทางช่วยเหลือเรื่องเงินอีกแรงหนึ่งเท่าที่จะทรงช่วยได้

ส่วนข่าวลืออีกเรื่องคือการถอดถอนเจ้า รัชกาลที่ 7 ก็ทรงไม่เห็นด้วยเช่นกัน แต่หากจะทำก็ขอให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติเสียก่อน แต่การที่จะให้เจ้ามีน้อยลงก็ทรงเห็นด้วย “…เพราะเดี๋ยวนี้มีมากนัก แต่จะถอดถอนไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตายไปเอง แล้วตีวงจำกัดเสียสำหรับภายหน้า” พระยามโนปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า “เรื่องถอดเจ้ายังไม่ได้คิด”

กรมพระนครสวรรค์

รัชกาลที่ 7 ตรัสถามเกี่ยวกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ว่าคณะราษฎรจะกักพระองค์ไว้นั้นจะเป็นดาบสองคม เพราะคนรักก็มาก คนเกลียดก็มาก หากกักกรมพระนครสวรรค์ฯ ไว้นาน ก็อาจมีคนรักมากขึ้น

โดยทรงอธิบายว่า เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ในช่วงเวลาที่กรมพระนครสวรรค์ฯ ไม่มีพระอำนาจในราชการ จึงมีคนรักมาก แต่เมื่อมาในรัชกาลนี้ กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงมีพระอำนาจมาก ก็มีคนเกลียดมากขึ้น แต่ก็เป็นที่เคารพนับถือมาก โดยเฉพาะในหมู่ทหารบกและทหารเรือ

รัชกาลที่ 7 ทรงแนะนำว่า ควรปล่อยให้กรมพระนครสวรรค์ฯ ประทับอยู่ในวังหรือให้เสด็จพระดำเนินไปประทับยังต่างประเทศ พระยามโนปกรณ์ฯ กราบบังคมทูลว่า “เห็นดีที่จะให้เสด็จต่างประเทศ แต่อย่าให้เป็นการเนรเทศ” รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “รายละเอียดนั้นให้คิดเอง จะได้ไม่ได้ชื่อว่าทารุณ”

พระราชทานอภัยโทษ

ในตอนท้าย รัชกาลที่ 7 ตรัสถามถึงเรื่องจิปาถะต่าง ๆ เช่นว่า จะประชุมสภากันที่ใด, ทรงแจ้งพระราชประสงค์ว่าควรยกเลิกองคมนตรีและอภิรัฐมนตรี, รวมถึงทรงสอบถามเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าทรงศึกษาเรื่องนี้มามาก และทรงมีพระราชดำริเช่นเดียวกับคนหนุ่ม ๆ ที่ได้คิดกัน จึงทรงมีความยินดีช่วยเหลือเพื่อให้กิจการดำเนินต่อไป

พระยาศรีวิสารกราบบังคมทูลว่า เรื่องที่ทรงมีพระราชดำริจะลาออกจากพระมหากษัตริย์นั้น ขอให้ทรงงดไว้ก่อน รัชกาลที่ 7 ตรัสตอบว่า “…จะขอดูก่อน ไม่ทราบว่าอาการแห่งพระเนตร์จะทุพพลภาพเพียงไร เพราะการผ่าพระเนตร์ไม่ได้ผลสมคาด ถึงไม่มีเหตุเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้ทรงพระราชดำริที่จะลาออก…”

อย่างไรก็ตาม ทรงอธิบบายว่า “…ถ้าหากพระเนตร์ดีและแสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ทำให้พระองค์เป็นที่เสื่อมความนิยม ก็อาจจะอยู่ต่อไป ในชั้นนี้ขอแบ่งรับแบ่งสู้ไว้ก่อน”

พระยาพหลฯ กับหลวงประดิษฐ์ฯ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกินพระองค์โดยเฉพาะกับกรณี “ประกาศ” ที่โจมตีจนเสื่อมเสียพระเกียรติยศ รัชกาลที่ 7 ก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ และมีพระราชดำรัสว่า

“ในการที่ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนการปกครองนั้น ได้ทรงเคยตักเตือนแก่ผู้ที่ทัดทานหลายครั้งว่า อย่าดูถูกคนไทยว่าจะไม่คิด และทำการเช่นนี้ได้”

พระยาพหลฯ กราบบังคมทูลว่า “ได้ยินคนพูดดูถูกดั่งนี้เหมือนกัน จึ่งได้คิดการโดยพลีชีวิต” 

และสุดท้าย หลวงประดิษฐ์ฯ รับว่าจะหาทางร่างกระกาศเพื่อถอนความที่ได้ประกาศปรักปรำไปก่อนหน้านี้ และจะดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษให้เป็นที่สมพระเกียรติยศ

จบ “บันทึกลับ” ของเจ้าพระยามหิธรแต่เพียงเท่านี้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2563