“ราษฎรคณะนี้กระทำมา..ถูกต้องตามนิยมของเราอยู่” พระราชกำหนดนิรโทษกรรม คณะราษฎร 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ, 10 ธันวาคม 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรม ประกาศวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 [จาก “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517)” บันทึกโดย นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, ธรรมศาสตร์บัณฑิต อดีตเลขาธิการรัฐสภา] ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

การที่คณะราษฎรคณะหนึ่ง ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้า ในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสยามและชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรมั่นคงเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีธรรมนูญปกครองแผ่นดินเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราคงดำรงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไป ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น ทั้งนี้แม้ว่าการจะเป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดกับสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฏเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การณ์ได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติมิได้รุนแรง

และแม้จะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้ดำเนินการลุล่วงไปเท่านั้น หาได้ทำการประทุษร้ายหรือหยาบหยามอย่างใด และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่ และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จนหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยมิได้

เหตุฉะนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้ให้เรียกว่า พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475

มาตรา 2 ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านี้ไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 2 กรกฎาคม 2560