ความขัดแย้ง รัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร กรณี พ.ร.บ. ภาษีมรดก

ความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร นอกจากกรณี เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจฯ” แล้ว กรณี “พระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช 2476” ก็เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงความไม่ลงรอยระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะเรื่องการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันสั่งสมปัญหามาสู่การสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ในภายหลัง

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอให้เก็บภาษีมรดก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร 2 เดือนต่อมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) จึงเสนอร่างกฎหมายนี้ให้แก่ที่สภาฯ

แต่กว่ากระบวนจะคืบหน้าก็ล่วงเข้าปลาย พ.ศ. 2476 เนื่องจากเกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ตามด้วยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาฯ และพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีกครั้ง

ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักกับรัฐบาลในกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่ประเด็นพระราชทรัพย์ โดยหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 เมื่อยื่นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 7 เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์ได้เสด็จฯ ออกจากประเทศตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 เพื่อรักษาพระวรกาย การรับรองกฎหมายจึงเป็นหน้าที่ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ราชสำนักได้สอบถามเกี่ยวกับเนื้อหาของพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับมายังรัฐบาล 2 ครั้ง ครั้งแรกถามว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หมายความรวมถึง “พระคลังข้างที่” ด้วยหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลตอบว่า ไม่มีข้อยกเว้นให้แก่พระคลังข้างที่ ครั้งที่ 2 ถามว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะครอบคลุมถึงพระราชทรัพย์อันเป็นพระราชมรดก ซึ่งจะต้องเสียภาษีมรดกด้วยหรือไม่ รัฐบาลตอบว่า พระราชทรัพย์ใด ๆ ที่เป็นพระราชมรดกตกทอดไปยังผู้อื่นจะต้องเสียภาษีมรดก เว้นแต่ผู้สืบราชสมบัติที่ได้รับพระราชมรดกนั้น ไม่เสียภาษีมรดก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (ภาพจาก AFP)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ปรากฏปีที่ถ่าย (ภาพจาก AFP)

ต่อมาในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีประชุมหารือว่า จะทำตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 7 หรือไม่ เนื่องจากพระองค์ทรงต้องการให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความลงในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ชัดเจนตามเนื้อหาที่รัฐบาลได้ชี้แจงแก่พระองค์ โดยให้เติมข้อความต่อไปนี้ลงไปว่า “พระราชทรัพย์สินใด ๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียอากรมฤดก”

แต่พระราชประสงค์ที่จะให้ทำเช่นนี้ขัดกับกฎหมายมาตรา 38 และ 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเพียงแต่จะทรงลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น ไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไขเนื้อหาของกฎหมาย

ในทัศนะของคณะรัฐมนตรี หากจะทำตามพระราชประสงค์แก้ไขเนื้อหาก็จะต้องเรียกประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ แต่การเรียกประชุมด้วยสาเหตุนี้จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อชี้แจง

ผลจากการเข้าเฝ้าฯ ปรากฏว่า ยังไม่เป็นที่พอพระทัย คณะรัฐมนตรีจึงแก้ปัญหาโดยให้นายอาร์ กียอง ที่ปรึกษาร่างกฎหมาย ทำบันทึกกราบทูลยืนยันในหลักกฎหมายว่า พระราชทรัพย์ที่ตกทอดจากพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งสู่อีกพระองค์หนึ่งนั้นไม่นับเป็นมรดก จึงไม่ต้องเสียภาษี ที่สุด ผู้สำเร็จราชการฯ แจ้งว่า พระองค์ไม่โปรดให้แก้ไขทางอื่น นอกจากการแก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น รัฐบาลจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งได้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาว่าจะทำตามพระราชประสงค์หรือไม่ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ผลปรากฎว่า สภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ

ต่อมา รัฐบาลได้ส่งร่างดังกล่าวให้ผู้สำเร็จราชการฯ ลงพระนามต่อไป และเตรียมการประกาศใช้กฎหมายในกรณีที่ไม่ทรงยินยอมลงพระนามไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2477 กราบทูลเรื่องการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างกฎหมายใหม่นี้ และถวายคำมั่นแด่พระองค์ว่า รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้แก่สภาฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477

(จากซ้ายไปขวา) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ. 2556)

อย่างไรก็ตาม การที่จะออกกฎหมายฉบับใหม่นี้น่าจะทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงยินยอมให้ผู้สำเร็จราชการฯ ทรงลงพระนามในพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2477 แต่ 1 เดือนต่อมา พระองค์ก็ได้เผยความในพระทัย โดยได้พระราชทานบันทึกส่วนพระองค์ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2477 ความว่า

“ภาษีมฤดกนี้ ฉันมีความคิดเห็นอยู่นานแล้วว่า เป็นภาษีที่ยังไม่ควรมีในประเทศสยาม เพราะอาจให้ผลร้ายมากกว่าผลดี แต่ก่อนนี้ฉันคิดว่าจะ veto พระราชบัญญัติเสียทีเดียว แต่ ม.จ. วรรณไวทยากรร้องขอกับฉันว่า อย่าให้ veto พระราชบัญญัติเลย เพราะจะเก็บแต่เล็กน้อย และมีไว้เพื่อ social justice…[หาก Veto] จะทำให้เกิดการแตกร้าวกันขึ้นในระหว่างตัวฉันกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตกลงว่าจะปล่อย ทั้งที่ไม่เห็นชอบด้วยเลย โดยหวังว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้…

ฉันจำจะต้องขอให้มีบทยกเว้นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ เฉพาะส่วนที่ได้มาจากการสืบสันตติวงศ์เสียจากภาษีนี้ เพราะถ้าไม่มีข้อยกเว้นเช่นนี้จะเป็นการลำบากอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยากที่จะแยกได้ว่าอะไรเป็นของส่วนพระองค์ อะไรเป็นของแผ่นดินด้วยปนเปเช่นนี้มานานแล้ว นอกจากนี้หากเก็บภาษีมฤดกจากพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นการทำลายฐานะของพระองค์ และต่อไปก็จะไม่สามารถดำรงพระเกียรติยศไว้ให้สมควรเป็นที่เชิดชูของชาติได้”

ปราการ กลิ่นฟุ้ง เสนอว่า รัชกาลที่ 7 เข้าพระทัยผิดเรื่องที่พระยาพหลฯ ถวายคำมั่นว่าจะเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ ในการประชุมสภาวิสามัญที่จะสิ้นสุดลง ความเข้าพระทัยผิดนี้อาจกลายเป็นเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเห็นว่า รัฐบาลทำให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยด้วยวิธีหลอกลวง ดังข้อความในโทรเลขที่ทรงส่งให้แก่ผู้สำเร็จราชการฯ ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่า

“เขาทำให้หม่อมฉันเซ็น พ.ร.บ. อากรมฤดก ด้วยวิธีหลอกลวง เขาทำให้หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเสนอพระราชบัญญัติใหม่แถลงความหมายแห่งพระราชสมบัติส่วนพระมหากษัตริย์ตามนัยที่หม่อมฉันได้วางไว้ออกใช้เป็นกฎหมายให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้…ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรร่างขึ้นได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แทนที่จะทำเช่นนั้น กลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างพระราชบัญญัติ [ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์] นี้ ซึ่งจะทำให้หม่อมฉันอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ

สภาพการเช่นนี้หม่อมฉันจะยอมรับไม่ได้ สภาพการณ์ของทรัพย์สมบัติของกรมพระคลังข้างที่ในประเทศสยามไม่เหมือนกับพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ หม่อมฉันเห็นว่า เป็นความพยายามที่จะดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากหม่อมฉัน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้อื่น แต่ไม่ใช่สำหรับหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็คงจะต้องทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับนี้อีก”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประทับรถลาก) ทอดพระเนตรร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2476 (ภาพจาก The Illustrated London News)

สุพจน์ แจ้งเร็ว ตีความว่า วิธีหลอกหลวงที่พระองค์กล่าวถึงนั้นหมายความว่า แทนที่รัฐบาลจะร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นแบบง่าย ๆ ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ด้วยข้อความสั้น ๆ ตามที่พระองค์ได้วางแนวไว้ดังข้างต้น ไม่ใช่การร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับที่จะเปิดทางให้รัฐบาล “เข้าไปยุ่มย่ามกับพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่” ซึ่งจะทำให้พระองค์มี “ฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” เพราะจะเป็นการแยกพระมหากษัตริย์ออกจากการครอบครองพระคลังข้างที่ ซึ่งพระองค์ “จะยอมรับไม่ได้” ข้อความเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พระราชทรัพย์ของพระคลังข้างที่เป็นปมประเด็นแห่งความขัดแย้งที่สำคัญมาก

ประเด็นสำคัญที่สุดที่รัชกาลที่ 7 ทรงส่งโทรเลขฉบับนี้ไปยังผู้สำเร็จราชการฯ คือ พระองค์คาดว่า รัฐบาลและรัฐสภาคงจะไม่ยอมประนีประนอมตามข้อเรียกร้องหลาย ๆ ข้อของพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะอยู่ต่อไป

ทรงยกตัวอย่าง 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระราชทรัพย์ที่ทำให้พระองค์คับข้องใจ คือ หนึ่ง การลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ ด้วยวิธีหลอกลวงข้างต้น และสอง เรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) ฟ้องกรมพระคลังข้างที่หลัง พ.ศ. 2475 ให้จ่ายเงินเลี้ยงชีพตามพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ซึ่งถูกยกเลิกโดยรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงยืนยันว่า หากคดีนี้พระคลังข้างที่แพ้แล้วก็จะทรงสละราชสมบัติ เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นพระราชอำนาจของพระองค์โดยแท้ ที่จะบริหารจัดการพระคลังข้างที่ไปตามพระองค์เห็นควร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งเรื่องพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเรื่องพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาฯ ไปแล้ว และกระบวนการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ออกจากทรัพย์สินของรัฐ เรื่องอำนาจการบริหารควบคุมพระคลังข้างที่ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ในที่สุดทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ภายหลังจากการเจรจาต่อรองที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อภิชาต สถิตนิรามัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ. (2564). ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา : สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทย กับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2564