ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปม “สมาชิกประเภทที่ 2” ที่รัชกาลที่ 7 ทรงเปรียบการปกครองคณะราษฎรเป็น “ลัทธิเผด็จการทางอ้อม”
ในระหว่างปี 2477 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังต่างประเทศ เพื่อรักษาพระเนตร ความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับรัฐบาลยังคงมีอยู่มาตลอด ใน “…ข้อราชการต่าง ๆ ซึ่งยังข้องพระราชหฤทัยอยู่…” พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี “…ใคร่จะเห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เสด็จกลับมาครองราชสมบัติสืบไปชั่วกาลนาน…” จึงได้ส่งคณะผู้แทนรัฐบาล ไปยังประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2477
ในการติดต่อระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะผู้แทนรัฐบาลนั้น ฝ่ายรัฐบาลมีความมุ่งหวังที่จะชี้แจงข้อขัดข้องพระทัยต่าง ๆ และถ้ารัชกาลที่ 7 จะพระราชทานข้อข้องพระทัยมาเป็นข้อ ๆ ทางคณะผู้แทนรัฐบาลก็จะได้พยายามหาลู่ทางแก้ไขต่อไป โดยภายหลังจากการเข้าเฝ้าครั้งแรกนั้น รัชกาลที่ 7 ทรงมี “พระราชบันทึก” ถึงคณะผู้แทนรัฐบาล เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล ความในพระราชบันทึกมีทั้งหมด 8 ข้อ ทรงชี้แจงข้อขัดข้องพระทัยประการต่าง ๆ ในหลายประเด็น ในที่นี้จะขอยกในกรณี สมาชิกประเภทที่ 2 และกรณีพระราชอำนาจในการ Veto
ทรงเริ่มกริ่นในพระราชบันทึกว่า เมื่อคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ก็ต้องตามพระราชประสงค์ ที่ทรงเคยดำริไว้ ดังความว่า “…ข้าพเจ้าเองได้เล็งเห็นอยู่นานแล้วว่า เมื่อประเทศสยามได้มีการศึกษาเจริญขึ้นมากแล้ว ประชาชนคนจะประสงค์ที่จะให้เปลี่ยนการปกครองของบ้านเมืองเป็นแบบนี้…” และเมื่อคณะราษฎรร้องขอให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป ก็ทรงรับทันทีโดยไม่มีเหตุข้องใจ
แต่เมื่อทอดพระเนตรรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ชั่วคราว) ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่างนั้น ทรง “…รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของข้าพเจ้านั้น ไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการฯ มิได้มีความประสงค์ที่จะให้มีเสรีภาพในการเมืองโดยบริบูรณ์ แต่หากต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่คณะเดียว…” แต่ทรงชี้แจงว่า ในเวลานั้นเป็นเวลาฉุกเฉิน ทรงเห็นควรให้รักษาความสงบไว้ แล้วค่อยหาทางผ่อนผันภายหลัง จึงทรงยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
ทรงอธิบายต่อว่า เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูณฉบับถาวร ก็ทรงเคยคัดค้านต่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในกรณีสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นเอง ทรงเห็นว่า ควรถือหลัก “ประชาธิปไตย” อันแท้จริง มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นแก่ประชาชน แต่คำตักเตือนของพระองค์ไม่เป็นผล และคณะราษฎรยังคงยึดถือเอาตามเดิม ดังนั้น ทรงรู้สึกว่า “…ถ้าจะโต้เถียงกันต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญก็ชักช้าไม่รู้จักแล้ว และเป็นการแตกหักร้ายแรง…จึงได้ยอมให้เป็นไปตามนั้น…”
ทรงอ้างต่อไปว่า เมื่อเกิดกบฏบวรเดชขึ้นนั้น ก็ได้อ้างเรื่องสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเหตุเพื่อก่อการ ดังนั้น จึงทรงมีความเห็นว่า ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เสีย ควรทำโดยทันที มิใช่รอให้สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ แล้วค่อยแก้ไขเปลี่ยนแปลง หากรั้งรอต่อไปนานวัน ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทรงเห็นว่าการมีสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเรื่องดี หากเลือกมาโดยผู้ที่มีคุณวุฒิ มีวิชาชีพสูง หรือคุ้นเคยกับการบริหารงานแผ่นดินมาแล้ว เพื่อเป็นการประคับประคองสมาชิกประเภทที่ 1 แต่ขณะนี้ สมาชิกประเภทที่ 2 “…กลับกลายตั้งแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และความจริงหาได้มีคุณวุฒิ หรือความเคยชินกับการงานดีไปกว่าสมาชิกประเภทที่ 1 เลย…”
ในกรณีการ Veto ซึ่งทรงมองว่าเป็น “พระราชอำนาจ” ที่ทรงสามารถคัดค้านพระราชบัญญัติใด ๆ ได้นั้น เป็นสิ่งจำเป็น แต่พระองค์จะ Veto ก็ต่อเมื่อ 1. เป็นการทำลายฐานะของพระมหากษัตริย์ และ 2. การใดที่ไม่ต้องด้วยความประสงค์ของราษฎรทั่วไป นอกเหนือจากสองข้อนี้จะไม่ทรงใช้การ Veto อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการคัดค้าน Veto ของพระมหากษัตริย์ได้ โดยการลงเสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในประเด็นนี้ทำให้รัชกาลที่ 7 ทรงไม่พอพระทัย
ทรงมีความเห็นว่า เสียงข้างมากในการคัดค้าน Veto ควรเป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ทรงเห็นว่า “…การนับเอาเสียงข้างมากเฉย ๆ (Simple Mayority) เช่นที่เป็นอยู่นี้เท่ากับไม่ได้ถวายพระราชอำนาจในทางคัดค้านเลย…” และประกอบกับการที่สภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกประเภทที่ 2 ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเองด้วยนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทรงไม่พอพระทัย
ทรงเห็นว่า ถ้าจะให้เอาเสียงของประชาชนเป็นใหญ่จริง ๆ จะต้องให้มีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 เพื่อคัดค้าน Veto ซึ่งแปลว่า อย่างน้อยต้องมีเสียงสมาชิกประเภทที่ 1 ที่ประชาชนเลือกเข้ามาจริง ๆ ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับการคัดค้านนั้น หรือหากจะให้เป็นเสียงข้างมากเช่นนี้ ก็ควรหาวิธีการอื่น เช่น เปลี่ยนวิธีการเลือกสมาชิกประเภทที่ 2 หรือกำหนดให้ประชาชนออกเสียงโดยตรง ทรงบันทึกไว้ว่า “…แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่า การปกครองตามที่เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อม ๆ ไม่ใช่ Democracy จริง ๆ เลย…”
ประเด็นทั้งสองดังที่กล่าวไปในข้างต้นนี้ ทรงอธิบายว่า “…ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ เพราะข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที ที่ร้องขอให้แก้ เพราะข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ต้องรับบาปรับความซัดทอด และรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯ มิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตือนว่า ‘ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม’ ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน…”
อ่านเพิ่มเติม :
- คณะราษฎรเข้าเฝ้าร.7 หลังปฏิวัติ เผยพระราชดำรัส “ทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว”
- ความขัดแย้ง รัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร กรณี พ.ร.บ. ภาษีมรดก
- เปิดบันทึก ‘หลวงศุภชลาศัย’ ตัวแทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าร.7 ถึงกับประหม่า ขาสั่น ชาไปทั้งตัว
อ้างอิง :
สุพจน์ ด่านตระกูล. พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร. พิมพ์ครั้งที่ 2. มหาจุฬาราชลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2563