เปิดบันทึก ‘หลวงศุภชลาศัย’ ตัวแทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าร.7 ถึงกับประหม่า ขาสั่น ชาไปทั้งตัว

หมายเลข 1 น.อ.ชลิต กุลกำม์ธร, หมายเลข 2 น.ต.หลวงสินธุ์สงครามชัย และ หมายเลข 3 น.ต.หลวงศุภชลาศัย ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มทหารเรือที่ร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉับตุลาคม 2543 หน้า 115)

เวลาเย็นของวันเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะผู้ก่อการฯ ได้มอบหมายให้ หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) เป็นผู้บังคับบัญชาการเรือหลวงสุโขทัย ไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน พร้อมด้วยหนังสือกราบบังคมทูลฯ 1 ซอง เพื่อเชิญเสด็จนิวัติพระนคร

ในเช้าวันถัดมา เวลาประมาณ 10.00 น. เรือหลวงสุโขทัยทอดสมอห่างจากฝั่งประมาณ 2,000 เมตร จากนั้นหลวงศุภชลาศัยจึงลงเรือเล็กไปเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 7 หลวงศุภชลาศัยได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในช่วงเข้าเฝ้าวันนั้นไว้ ดังนี้

“พอขึ้นไปถึงชั้นบน มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งกรมหลวงสิงหฯ, พลโทพระยาสุริวงศ์วิวัฒน์, พลโทพระยาพิชัยสงคราม แม่ทัพ 1 กับพลโทพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร นั่งอยู่พร้อม ณ ที่ประทับ ข้าฯ ถูกเชิญให้นั่งเก้าอี้ตรงพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว

ข้าฯ ไม่นั่งคงยืนอยู่อย่างนั้น ไม่กล้าจะนั่งร่วม และประหม่าจนพูดแทบไม่ออก พอเห็นพระพักตร์ในหลวงเข้าเลยนึกสงสาร และข้าฯ มีความเคารพอยู่ในใจแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เองคนเราเมื่ออยู่ห่างไม่ใคร่ได้เห็นหน้าเห็นตากันใกล้ชิดก็มักเกลียด โกรธ ไม่ชอบ พอถึงเวลาอับจนเห็นหน้าเข้าก็นึกสงสาร น้ำตาแทบออกรู้สึกตื้นตันอย่างไรชอบกล ขาของข้าฯ ที่ยืนอยู่เริ่มสั่นริก ๆ นิดหน่อย ในใจนึกขึ้นว่า เอ มาเฝ้าทูลละอองฯ ทั้งที่แทนที่จะเข้าเฝ้าโดยปกติ กลับมาเข้าเฝ้าครั้งนี้มาปลดอำนาจพระองค์ท่าน เลยนึกสงสารและสังเวชใจขึ้นมาทุกที

แทนที่จะเข้าเฝ้าโดยปกติ กลับมาเข้าเฝ้าครั้งนี้มาปลดอำนาจพระองค์ท่าน เลยนึกสงสารและสังเวชใจขึ้นมาทุกที

ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าฯ อ่านหนังสือที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายมานั้น ข้าฯ ก็รับมาอ่านหน้าที่นั่ง อ่านไม่ได้เรื่อง เสียงเครือ ๆ สั่น ๆ ขาก็เริ่มสั่นมากขึ้นทันที ใจคอปั่นป่วนนึกสังเวชตัวเองและในหลวงด้วย ขาสั่น ๆ จนรู้สึกกระเทือนไปทั้งตัว ระงับใจเท่าใด ๆ ก็ไม่วายสั่น ๆ แรงขึ้นทุกที

จนกระทั่งฉุนตัวเอง หยุดอ่านแล้วเปลี่ยนขายันพื้น คือหย่อนขาข้างที่สั่นอยู่นั้นให้ปลายเท้าแตะพื้นไว้เฉย ๆ พอเรียบร้อยแล้วเริ่มอ่านอีก พออ่านไปได้ไม่กี่คำขาที่ยันพื้นก็เริ่มสั่นอีก สั่นแรงขึ้น ๆ จนคล้าย ๆ ยืนกระดิกขาจนน่าเกลียด หยุดอ่านอีก ทำอยู่อย่างนี้จนข้าฯ เองกลุ้มใจ อายก็อาย ประหม่าสงสารปนกันยุ่งสาละวนมัวแต่เปลี่ยนขา ขวาขาซ้าย จนต้องเอาปลายกระบี่ยาวช่วยยันพื้นไว้ก็ไม่วายยุ่งไปหมด

จนในหลวงท่านจะทรงทุเรศหรือหมั่นไส้ขึ้นมาอย่างไรไม่ทราบ จึงได้มีพระบรมราชโองการรับสั่งว่า หยุดเถอะพูดกันดีกว่าฉันรู้แล้ว ข้าฯ ก็หยุด ใจค่อยโล่งไปหน่อย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ต่อจากนี้คอยเงี่ยหูฟัง หูเจ้ากรรมก็ชักจะอื้อ ๆ เสียอีก ตั้งใจฟังและตั้งใจจะตอบกราบบังคมทูลประโยคแรกอีก จึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งถามว่า เธอรู้ไหมฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม? โอยตาย ตายแล้ว โดนประโยคแรกเข้าเท่านั้นแทบชาไปทั้งตัว เกิดสงสัย เอ ทำไมถามอย่างนี้หนอ เราเองก็เป็นนายทหารถึงชั้นนายนาวาตรีและเคยเป็นต้นหนเรือพระที่นั่งจักรี จากเที่ยวที่เสด็จประพาสทะเล เช่น ไปประเทศชวา อินโดจีน เป็นต้น พระองค์ทรงรู้จักเราดีจนเคยรับสั่งว่า “ตาบุง” เสมอ ๆ งามเลย ประโยคแรกประโยคนี้ ข้าฯ มึนงงไปหมด ไม่รู้ที่จะกราบบังคมทูลตอบอย่างไรเลย ฮี ๆ แล้วก็เงียบกลืนน้ำลายลงไปในคอ แล้วเงียบ

ประโยคสอง นี่เธอมาจับฉันใช่ไหม โดยที่ให้กลับไปกับเรือรบสุโขทัย เอาเข้าอีกประโยคสอง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเคยเห็นอย่างนี้เลย แม้เมื่อยังเด็ก ๆ อยู่วัด ถูกชกถูกเตะจนคว่ำยังไม่ชื่นใจเท่าที่ถูกถามเช่นนี้เลย แหม เอาอยู่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ทางรัฐบาลหรือก็ต้องการให้เสด็จกลับโดยเรือรบจริง ๆ เสีย ด้วย ข้าฯ ก็นึกว่าถ้าจะเชิญเสด็จกลับโดยเรือรบ ก็คงอยู่ในฐานะที่พระเจ้าแผ่นดินถูกจับจริง ตามที่รับสั่งถาม เอาละซิ ตอนนี้ด้วยความสัตย์จริงของ ข้าฯ นึกสงสารและยังมีความเคารพในพระเจ้าแผ่นดินอย่างมั่นคงแท้ ๆ ไม่รู้จะกราบบังคมทูลตอบอย่างไร เลยดันกราบบังคมทูลตอบโพล่งออกไปว่า เปล่า เปล่า พ่ะย่ะค่ะ ด้วยเสียงเครือ

พวกที่นั่งอยู่นั่นต่างจ้องหน้า ข้าฯ เห็นจะเป็นด้วยคำตอบของข้าฯ ไม่ตรงกับคำถามและเรื่องที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนั้น ก็จริง ข้าฯ ตอบโพล่งไปอย่างกับเด็ก ๆ ตอบ เพราะว่าจิตใจของข้าฯ ในเวลานั้นคล้าย ๆ กับว่า ลูกหนี้ที่ไม่มีเงินจะใช้เจ้าหนี้แล้วดันมาพบกันจังหน้ากับเจ้าหนี้ เลยไม่รู้จะตอบอย่างไร ก็ดันเปล่าเข้าไปก่อน เพื่อขอให้รอดตัวไปที

ประโยคสาม เธอเห็นไหมหญิงของฉัน (หมายถึงสมเด็จพระราชินี) กับบริวารของฉันตั้ง 60 คนเศษ จะไป กันยังไง เรือลำนิดเดียว ฉันลำบากแย่ (แล้วส่ายพระพักตร์) จะไม่ให้เกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินบ้างเจียวหรือ ฉันก็ยอมทุกอย่างนี่นา เอาอีกแล้ว ประโยคที่สามนี้ดังเอาไฟมาลนตัวข้าฯ รู้สึกร้อนผ่าวไปหมดทั้งตัว จนรู้สึกตัวเองว่า ปลายหูทั้งสองข้างเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น ประโยคสามนี้ซิทำให้ข้าฯ ระเบิดออกอย่างจังโดยจริงใจ โดยความเคารพอย่างสูงสุดว่า ข้าฯ พระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าแล้วว่าไม่สมพระเกียรติจริง

ประโยคนี้ได้กราบบังคมทูลตอบโดยทันทีโดยมิทันคิดสิ่งไรเลย เพราะเปี่ยมไปด้วยความเห็นน้ำพระทัยที่รับสั่งออกมาอย่างน่าสงสารเหลือประมาณ ท่านเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังรับสั่งอ้อนวอนขอร้องเช่นนี้กับคนสามัญอย่างเรา มนุษย์ที่ใจเพชรโหดร้ายอย่างไรก็เห็นจะอดสงสารไม่ได้ คนอย่างข้าฯ ทนไม่ได้แน่ ทนไม่ได้ เพราะจิตใจของข้าฯ มีความเคารพรักพระเจ้าแผ่นดินอย่างเต็มเปี่ยมอยู่ในสันดาน จึงได้องอาจพอที่ได้กราบบังคมทูลตอบดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ โดยมิได้ยั้งคิด

ประโยคที่สี่ เธอจะทำอย่างไร ข้าฯ ก็กราบบังคมทูลตอบไปโดยทันทีว่า ข้าฯ พระพุทธเจ้าจะโทรเลขแจ้งไปยังรัฐบาลขอให้จัดขบวนรถไฟพิเศษมารับเสด็จ ที่ข้าฯ ตอบไปนี้ดูพอพระราชหฤทัย ทรงยิ้มออกมาได้นิด ๆ ตอนนี้ข้าฯ นึกในใจว่า เอ ดันกราบบังคมทูลโพล่งออกไปดังนี้แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่จัดถวายมาเราจะทำอย่างไรดี ขณะที่ข้าฯ นึกและคิดอยู่นี้ ประโยคที่ห้าก็มาจริง ๆ

ประโยคห้า ถ้ารัฐบาลไม่จัดรถไฟมารับ เธอจะทำอย่างไร ข้าฯ ก็กราบบังคมทูลไปทันทีว่า ถ้าหากรัฐบาลไม่จัดรถไฟมารับเสด็จ เรือสุโขทัยพร้อมด้วยตัวข้าพระพุทธเจ้าและทหารประจำเรือในบังคับบัญชาของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหมด ขอประทานทูลเกล้าฯ ถวายไว้ในใต้ฝ่าพระบาท เมื่อได้กราบบังคมทูลไปดังว่านี้แล้ว จิตใจของข้าก็รู้สึกคึกคักอย่างไรชอบกล คราวนี้ได้สนุกกันใหญ่ล่ะ ถ้ารัฐบาลไม่เชื่อคำเราบ้างก็เห็นจะเกิดสนุกจริง ๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ฟังคำตอบของ ข้าฯ นี้ รู้สึกคงจะเบาพระราชหฤทัย จึงได้ทรงยิ้มต้อนรับคำตอบของข้าฯ แล้วทรงพยักพระพักตร์อยู่เป็นครู่หนึ่ง พวกที่นั่งอยู่นั้นต่างก็มองหน้าข้าฯ อย่างตกตะลึง แล้วก็ยิ้มออกมาได้บ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าคุณสุริยวงศ์ไปนำกระดาษส่งมาให้ข้าฯ ร่างโทรเลข ข้าฯ ก็ร่างโทรเลขหน้าพระที่นั่ง ยื่นร่างโทรเลข เพราะตลอดเวลาที่เฝ้าอยู่นั้นมิได้นั่งเลย ยืนเฝ้าตลอดเวลา…

เมื่อร่างโทรเลขเสร็จแล้ว ก็อ่านทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพอพระราชหฤทัย แล้วจึงโปรดเกล้าให้ข้าฯ ไปกับเสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ไปโทรเลขที่สถานีรถไฟหัวหิน เสร็จแล้วข้าฯ ก็กราบถวายบังคมลากลับลงมาจากที่นั่นลงมาข้างล่าง พบกับเสด็จในกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ แล้ว เสด็จไปสถานีรถไฟหัวหินพร้อมกับข้าฯ เพื่อโทรเลข

กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

เมื่อโทรเลขเสร็จแล้วกลับมาที่ศาลาเริง ข้าฯ ได้ทูลเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ ไว้ว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลากลับลงเรือ ข้าพระพุทธเจ้าจะคอยรอรับข่าวจากรัฐบาลตอบโทรเลขอยู่ในเรือ ถ้ารัฐบาลตอบโทรเลขมาทางบก (คือใช้สายโทรเลข) ตกลงยอมจัดรถไฟมาทูลเกล้าฯ ถวายสมพระราชประสงค์ ขอให้ทรงจัดคนไปยืนโบกผ้าขาวที่ริมฝั่ง แล้วข้าพระพุทธเจ้าจะให้คนโบกตอบ เป็นอันตกลงแล้วข้าฯ ก็ลงเรือโบตกลับเรือ

เพื่อความแน่นอนข้าฯ ก็ให้จัดส่งวิทยุโทรเลขจากในเรือไปยังรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ประมาณเวลา 13.00 น. เศษ กลับกรุงเทพฯ ก็มีคนมาโบกผ้าขาวแล้ว ข้าฯ ก็ให้ทหารในเรือโบกตอบ เสร็จพิธีเป็นอันโล่งอก เรียบร้อยไปได้

เฮ้อ เสร็จไปเปลาะหนึ่งแล้ว ใจคอค่อยสบาย หายอึดอัดใจ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บันทึกของหลวงศุภชลาศัย ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ใน. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2563