บันทึกเหตุการณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 โดยทูตญี่ปุ่น ทหารยิงปะทะตร.

ยาสุกิจิ ยาตาเบ ผู้เขียน (ฉากหลังเป็นภาพทหารกำลังแจกแถลงการณ์ของคณะราษฎรในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1932)

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เป็นอดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวญี่ปุ่นท่านนี้บันทึกบันทึกเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ไว้

ถือกันว่าเป็นข้อมูลที่นำเสนอจากมุมมองของคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “คนกลาง” จากที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งฝ่ายเจ้านาย ข้าราชการ และผู้นำคณะราษฎร

บันทึกนี้ให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อวิจารณ์ต่อเหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติ ความโกลาหลในการปฏิวัติ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ตามมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างต่อเนื่องและเป็นกลาง มากกว่าที่จะพยายามตัดสินเหตุการณ์เป็นลักษณะขาวหรือดำ

บันทึกนี้ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ ปฏิวัติ 2475″ (คลิกดูรายละเอียดหนังสือเพิ่มเติมที่นี่)

เนื้อหาต่อไปนี้ได้คัดส่วนหนึ่งของบันทึกดังกล่าวมาเผยแพร่ เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้


“ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ การเรียกร้องให้มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญก็ระเบิดขึ้นในที่สุด ผู้เขียนรับทราบเรื่องในภายหลังว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานบ่อยครั้งว่ามีสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจในกองทัพอยู่ แต่พระองค์ท่านทรงไม่สนใจเรื่องดังกล่าวนี้เลย เพราะพระองค์ท่านทรงคิดว่าคนที่พลาดการใช้โอกาสในเหตุการณ์ชุลมุนเมื่องานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี คงจะไม่มีความสามารถก่อการปฏิวัติได้

แต่ในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจภูธร [พระยาอธิกรณ์ประกาศ-ผู้แปล] ได้เสนอรายงานหลายครั้ง ก็เลยมีการเตรียมการที่จะจับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมกันในเวลา ๑๑ นาฬิกา ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ แต่พวกคณะปฏิวัติก็ได้ชิงลงมือกระทำการเสียก่อนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถูกจับกุม เรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลดูแคลนข่าวลือเรื่องการปฏิวัตินี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในระบอบเก่า

ฝ่ายปฏิวัติเป็นนายทหารของกองทัพบก ตั้งแต่ระดับนายพันเอกลงมา นายทหารของกองทัพเรือ และข้าราชการพลเรือนหนุ่มของกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น และพวกที่เคยเข้าร่วมการปฏิวัติแผนการปฏิวัติที่ล้มเหลวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ก็เข้ามาร่วมด้วย โดยเริ่มต้นขบวนการของฝ่ายก้าวหน้ามีลักษณะเป็นต่างกลุ่มต่างคิดในเรื่องแผนการการปฏิรูปการเมือง แต่ความคิดของหลายกลุ่มนั้นสามารถประสานกันได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้ทำให้การรวมตัวจัดตั้งเป็นคณะราษฎรสำเร็จขึ้น

จนถึง ๘ โมงเช้าของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๑๙๓๒ ข่าวการปฏิวัติได้แผ่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ เหมือนกับมีเสียงข่าววิทยุ แต่ว่ากลุ่มใดทำเรื่องอะไร และต่อไปสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ประชาชนยังคงมีความคลุมเครือ และยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ยกเว้นแต่สถานที่สำคัญที่ใกล้ๆ กับวังของเจ้านาย มีรถถังและกองกำลังทหารรักษาพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนในร้านค้าทั่วไปยังคงเปิดร้านเหมือนปกติ ไม่มีเสียงปืนดังขึ้นสักครั้งหนึ่งเลย แต่สีหน้าของประชาชนแสดงความตื่นเต้นอยู่บ้าง แต่ว่าสภาพการณ์ของเมืองโดยทั่วไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยกเว้นในบริเวณที่ใกล้วังของเจ้านาย หลังจากนั้นอีกสองสามชั่วโมงจึงรู้ได้ว่าพวกปฏิวัติกลุ่มหนึ่งซึ่งเคยมีข่าวลือออกมานั้นใช้ชื่อว่าคณะราษฎร ได้เริ่มลงมือในช่วงหลังเที่ยงคืน และบุกเข้าไปจับเจ้านายตั้งแต่เช้ามืดนำตัวมาคุมขัง

“การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม (บันทึกของทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475)” ผู้เขียน: ยาสุกิจิ ยาตาเบ / ผู้แปล: เออิจิ มูราชิมา, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์.

ฝ่ายปฏิวัติซึ่งประกอบกันขึ้นจากฝ่ายพลเรือนและทหารรวมกันเป็นคณะราษฎร ได้เรียกร้องให้กองทัพบก กองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาการกองกำลังต่างๆ เข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายปฏิวัติ แต่ในช่วงเวลานั้นกองทัพบกและกองทัพเรือเข้าร่วมโดยไม่มีความลังเลใจ ยกเว้นพระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่ไม่เข้าร่วม จึงถูกยิงในการปฏิวัติในช่วงนั้น มีข่าวลือว่าถูกยิงตายคาที่ แต่ที่จริงถูกยิงทะลุที่ขาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่มีการนองเลือดในการปฏิวัติ [ในงานเขียนของยาตาเบกล่าวว่า คณะราษฎรได้บังคับให้พระยาเสนาสงครามเรียกระดมทหารให้มาชุมนุมกัน ซึ่งไม่ถูกต้องกับข้อเท็จจริง ในที่นี้ผู้แปลได้แก้ไขข้อความไปเฉพาะในส่วนนี้-ผู้แปล]

ส่วนหนึ่งของทหารม้าและทหารปืนใหญ่ที่เข้าร่วมในการปฏิวัตินั้น ได้ร่วมกันปลดอาวุธของกองกำลังรักษาพระองค์ ในประมาณ ๕ นาฬิกา ได้ส่งกองกำลังส่วนหนึ่งถึงอธิบดีกรมตำรวจภูธรแจ้งเรื่องการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะเดียวกันได้ส่งกองกำลังเข้าล้อมวัง [วังบางขุนพรหม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้แปล] อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจภูธรได้รายงานเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงทราบ และได้จัดส่งกำลังตำรวจเพื่อรักษาพระองค์ แต่ก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ เพราะว่าวังของพระองค์ได้ถูกห้อมล้อมโดยทหารม้าและทหารราบ

ในที่นั้นได้เกิดมีการยิงกันระหว่างทหารกับตำรวจ แต่ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ วังของกรมพระนครสวรรค์ฯ นี้มีขนาดใหญ่มโหฬารตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ท่านทรงได้ยินเสียงปืนที่ดังขึ้นหน้าประตูวัง และทรงพยายามหลบหนีไปทางด้านหลังโดยอาศัยเรือ แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเรือปืนของกองทัพเรือ ๒ ลำ ซึ่งอยู่ฝ่ายคณะปฏิวัติทอดสมอจอดอยู่ ฝ่ายทหารเรือได้ติดตามการเคลื่อนไหวภายในวังในท่ามกลางของหมอกในตอนเช้า กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติซึ่งบุกเข้าไปทางประตูหน้าของวัง ได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โดยไม่ยากลำบาก และนำพระองค์ขึ้นรถบรรทุกทหารโดยทรงนั่งในแถวหน้าคนขับ ในช่วงนั้นพระองค์ท่านทรงชุดนอน และถูกฝ่ายปฏิวัตินำไปขังไว้ที่ห้องโถงชั้น ๒ ของพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นพระราชวังที่หรูหรามาก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยใช้เงินก่อสร้าง ๘ ล้านบาท โดยวัสดุหินอ่อนสีขาวที่สั่งมาจากประเทศอิตาลี และจ้างนายช่างอิตาลีออกแบบในสไตล์แบบเรอเนซองส์ คนไทยโดยทั่วไปมีความภูมิใจเป็นอย่างมากว่าเป็นพระราชวังที่มีความสวยงามที่สุด และไม่มีอาคารใดในเขตตะวันออกนับตั้งแต่คลองสุเอซเป็นต้นมาเปรียบเทียบได้

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญมักจะกระทำ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น การมอบสารตราตั้งของอัครราชทูตต่างประเทศ ก็ทำที่ห้องโถงของพระราชวังแห่งนี้ การประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา รวมทั้งของเสนาบดีสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นประธานที่ประชุม ก็จัดประชุมกันที่พระที่นั่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ จะมีธงประจำพระองค์ ซึ่งมีพื้นเหลืองและมีครุฑสีแดง ยกขึ้นเหนือโดมของพระที่นั่ง อย่างไรก็ดีในเช้าของวันนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคมได้กลายเป็นสถานที่คุมขังพวกเจ้านาย ซึ่งพวกคณะราษฎรได้จับกุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นอภิรัฐมนตรี นำมาคุมขัง และอธิบดีกรมตำรวจภูธร พระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ถูกจับกุมและนำมาคุมขังไว้ที่นี้ด้วย

ช่วงเวลาเช้า พระบรมมหาราชวังถูกล้อมโดยกำลังทหาร กองกำลังรักษาพระองค์ ซึ่งรักษาพระบรมมหาราชวังอยู่ได้ถูกปลดอาวุธประจำกาย ข้าราชการกระทรวงวังที่มีปฏิภาณไหวพริบบางคน ได้หลบหนีออกจากพระบรมมหาราชวังโดยไม่ใส่รองเท้า ไปหาเสนาบดีกระทรวงวัง [คือเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์-ผู้แปล] กับสมุหพระราชมณเฑียร [พระยาสุริวงศ์วิวัฒน์-ผู้แปล] ซึ่งท่านหลังนี้ได้รายงานให้สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ซึ่งประทับนอนชั่วคราวอยู่ใกล้ๆ ให้ทรงทราบ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงเป็นอภิรัฐมนตรี และเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชากรมรถไฟด้วย

เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวร้ายดังกล่าวแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงรีบเสด็จไปยังสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ พร้อมด้วยสมุหพระราชมณเฑียร ได้บัญชาการให้รวบรวมหัวรถจักรหลายคัน เดินรถไฟไปยังทิศใต้ ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง ถึงพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และถวายรายงานให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบเป็นครั้งแรก ซึ่งพระองค์ยังไม่ทราบเรื่องอะไรเลย ในขณะที่พระองค์ได้ทรงใช้เวลาในช่วงนั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานอยู่…”


ที่มา: เนื้อหานี้คัดตอนหนึ่งจากบทความ “การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน ๒๔๗๕” ยาสุกิจิ ยาตาเบ* เขียน, แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2548