คำมั่นสัญญาของหม่อมคัทริน ต่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ พระสวามี ขณะแยกกันอยู่จากปัญหาหัวใจ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หม่อมคัทริน และพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“…หม่อมฉันจะไม่หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ใส่ฝ่าบาทในเวลาที่ฝ่าบาททรงมีพระประสงค์ที่จะทรงงานหรืออ่านหนังสือพิมพ์ หม่อมฉันจะไม่เซ้าซี้ให้ฝ่าบาทต้องเสด็จกลับจากกระทรวงมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน หรือเสวยชาที่วังพร้อมกับหม่อมฉันอีกต่อไป หม่อมฉันเพียงกราบทูลขอให้ฝ่าบาทรักและซื่อสัตย์จริงใจต่อหม่อมฉันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาตลอด…”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่ หม่อมคัทริน เดสนิตสะกี้ หม่อมชาวรัสเซียของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่มีถึงพระสวามีขณะแยกกันอยู่ชั่วคราวอันเนื่องแต่เกิดปัญหาพระสวามีทรงปันพระทัยให้สตรีอื่น

เรื่องราวความรักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ กับหม่อมคัทรินเป็นเรื่องราวที่ทำให้ราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในสมัยนั้นแตกตื่น โจษขานกันไม่รู้จบ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ใดคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะเกิดกับพระราชโอรสที่ทรงมีสิทธิในราชบัลลังก์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทรงพบรักกับ คัทริน เดสนิตสะกี้ ระหว่างที่เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศรัสเซีย เมื่อแรกเริ่มรักกันนั้น คัทรินมิได้ตระหนักถึงอุปสรรคอันเกิดจาก เชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนกำแพงแห่งฐานันดรเท่าใดนัก

เธอไม่รู้จักแม้แต่เมืองสยามที่เธอจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ เธอรู้จักแต่เพียง “เล็ก” พระนามที่เธอใช้เรียกขานชายผู้ที่เธอรักและหวังจะฝากชีวิตไว้ ในส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้า แม้จะทรงล่วงรู้ถึงอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างดีว่าหนักหนามหึมาปานใด

แต่ด้วยความรักที่อัดแน่นอยู่เต็มพระทัยทำให้ทรงเห็นอุปสรรคหนักหนานั้นเป็นเรื่องน้อยนิด ทรงคาดว่าเวลาจะช่วยให้อุปสรรคนานาประการคลี่คลายไปในทางที่ดี และเหตุการณ์ก็เกือบจะเป็นไปตามที่ทรงคาดไว้ เพราะเมื่อทรงพาหม่อมชายากลับมาถึงสยามท่ามกลางความไม่พอพระทัยของทั้งพระบรมราชนกชนนี ทรงพยายามอย่างอดทนทุกวิถีทางที่จะทำให้ทั้งสองพระองค์โปรดปรานหม่อมและพระราชทานอภัยให้ หม่อมคัทรินเองก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ นับแต่การแต่งกายแบบนางใน รู้จักวิธีการหมอบกราบคลานเข่าเข้าเฝ้า พูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ เพ็ดทูลราชาศัพท์ได้อย่างคล่องแคล่ว

แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่เธอไม่สามารถที่จะปรับตัวยอมรับได้ นั่นคือประเพณีมีภรรยาหลายคนของชายไทย เธอขอร้องพระสวามีให้มีรักเดียวใจเดียวซึ่งพระสวามีก็ทรงยินยอมโอนอ่อนปฏิบัติตามคำร้องขอ น่าจะเนื่องมาจากความรักและความสงสารที่เธอต้องจากบ้านเมืองมาอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าแปลกทั้งภาษาและขนบประเพณี ทำให้หม่อมคัทรินมีความสุข ดังที่เธอพรรณาไว้ในจดหมายที่มีไปถึงพี่ชาย เล่าชีวิตความเป็นอยู่ของเธอในกรุงสยาม ความตอนหนึ่งว่า

“…ที่กรุงเทพฯ นี้เราสองคนอยู่กันอย่างมีความสุข…เราสามารถปรับตัวเข้าหากันและกันได้เร็วกว่าที่คิด ไม่มีอะไรในโลกที่สำคัญกว่านี้อีกแล้ว…”

ยิ่งเมื่อหม่อมให้กำเนิดพระโอรสคือพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งนับเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชนัดดาพระองค์แรกนี้เองที่ทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดี

สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงออกพระโอษฐ์ชมพระสุณิสาเมื่อเห็นภาพถ่ายว่า “ยิ้มน่ารักดี” และโปรดพระราชทานผ้าไหมสีสวยสดงดงามสำหรับตัดแต่งเป็นชุดไทย ในส่วนสมเด็จพระบรมราชชนกก็มีพระทัยอ่อนลง พระราชทานเมตตา เช่น มีรับสั่งให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ นำไก่เลกฮอร์นไปพระราชทานหม่อม “…ได้ข่าวว่าที่บ้านเล็กชอบเลี้ยงไก่เลกฮอร์นเหมือนกัน…” พระสุณิสาก็มักส่งดอกกุหลาบที่ปลูกเองในวังปารุสกวันไปถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสมอๆ

ยิ่งเมื่อได้ทอดพระเนตรพระราชนัดดาครั้งแรกก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้น เพราะมีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า

“…วันนี้ฉันได้พบกับหลานชายเธอ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเหมือนพ่อ ฉันรู้สึกรักและหลงใหลหลานคนนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะถึงอย่างไรนี่ก็เป็นสายเลือดเชื้อไขของฉันเอง…”

แต่โชคไม่เข้าข้างหม่อมคัทริน เพราะการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้หลายสิ่งหยุดชะงักและเปลี่ยนแปลง แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงยอมรับหม่อมคัทรินเป็นสะใภ้หลวง แต่เวลาเดียวกันนั้นเองความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเริ่มเกิดขึ้นในพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าชาย อันเนื่องมาจากเมื่อเวลาผ่านไปทรงเริ่มประจักษ์ถึงอุปนิสัยบางประการของหม่อมคัทริน ดังที่ทรงบรรยายไว้ว่า

“…คราใดที่เธอเกิดไม่พอใจเรื่องอะไรขึ้นมาก็จะมาลงเอาที่ฉันทุกครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะเอาใจเธอให้เธอมีความสุข…” และ “…เธอไม่เพียงต้องการให้ทุกคนทำอย่างที่เธอต้องการ แต่ยังให้ทุกคนต้องคิดอย่างที่เธอคิดด้วย…” ในขณะที่ความรู้สึกเช่นนี้ค่อยทวีขึ้น ก็พอดีกับที่หม่อมคัทรินมีประสงค์จะกลับไปเยี่ยมเยียนบ้านเกิดที่รัสเซีย

หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส (ภาพจากหนังสือ “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

ความรู้สึกของสมเด็จเจ้าฟ้าเมื่อหม่อมห่างไกลจึงกลายเป็นว่า “…มาในคราวนี้ที่แคทยาไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างดีขึ้น พักผ่อนได้อย่างแท้จริง…”

ครั้งนั้นทรงเปิดวังปารุสกวันที่เคยประทับเป็นส่วนพระองค์กับพระชายาออกต้อนรับพระญาติสนิทรุ่นราวคราวเดียวกัน มีการพบปะสังสรรค์เล่น กีฬา ลีลาศกันอย่างสนุกสนานไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ที่ไม่เคยทรงพบขณะทรงอยู่ร่วมกับหม่อมคัทริน

และความรู้สึกเป็นสุขแปลกใหม่ก็เพิ่มขึ้นเมื่อทรงได้พบกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ธิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ซึ่งมีพระชันษาเพียง 15 ปี ทรงพอพระทัยในทุกสิ่งที่เป็นองค์หม่อมเจ้าหญิง ไม่ว่าจะเป็นความร่าเริงแจ่มใสอากัปกิริยาที่ปราดเปรียวว่องไวน่ารักในยามที่ทรงพรสรวลจนตัวงอเวลาได้ยินเรื่องที่ถูกพระทัย เมื่อนานเข้าความพอพระทัยในพระอัธยาศัยค่อยๆ กลายเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง จนถึงกับมีพระดำริเปรียบเทียบระหว่างพระชายาคนไทยที่เข้าใจกันยิ่งกว่าชายต่างชาติ

เมื่อหม่อมคัทรินเดินทางกลับมายังสยามอีกครั้ง ก็พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งน้ำพระทัยและความรู้สึกของพระสวามีที่เคยมีต่อเธอนั้นเปลี่ยนแปลงไปจนหมดสิ้น ทรงแสดงให้หม่อมชายารู้สึกว่า “…ไม่ทรงสามารถที่จะละจากท่านหญิงชวลิตฯ ได้…”

แม้หม่อมชายาจะได้ต่อรองขอร้องวิงวอนประการใดก็ไม่อาจที่จะยื้อยุดทั้งพระทัยและพระวรกายของพระสวามีให้คืนกลับมาได้ดังเดิม แม้หม่อมคัทรินจะหยุดทบทวนวัตรปฏิบัติของตนพบข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้พระสวามีทรงเบื่อหน่ายถึงแก่มีจดหมายมาถวาย ข้อความในจดหมายเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ความว่า

“…หม่อมฉันจะไม่หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ใส่ฝ่าบาทในเวลาที่ฝ่าบาททรงมีพระประสงค์ที่จะทรงงานหรืออ่านหนังสือพิมพ์ หม่อมฉันจะไม่เซ้าซี้ให้ฝ่าบาทต้องเสด็จกลับจากกระทรวงมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน หรือเสวยชาที่วังพร้อมกับหม่อมฉันอีกต่อไป หม่อมฉันเพียงกราบทูลขอให้ฝ่าบาทรักและซื่อสัตย์จริงใจต่อหม่อมฉันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาตลอด…”

แต่เหตุการณ์และน้ำพระทัยของพระสวามีได้ทรงเตลิดโลดแล่นไปไกลเกินกว่าที่จะทรงหันกลับไปสู่เส้นทางเดิมได้เสียแล้ว จึงเป็นอันสุดสิ้นชีวิตรักที่ยาวนานมาถึง 13 ปี ของหม่อมแหม่มคนแรกในราชสำนักสยาม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2560