ท่าทีของราชสำนักต่อ “สะใภ้แหม่ม” กับมุมมองของ “แหม่ม” ต่อครอบครัวแบบไทยๆ

สะใภ้แหม่ม หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กับ หม่อมคัทริน และพระโอรส พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (ภาพจากจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์-พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย)

หากกล่าวถึง “สะใภ้จ้าว” ที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวตะวันตก หรือ “สะใภ้แหม่ม”  แล้ว หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก ชายาชาวรัสเซียในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ คงเป็นบุคคลแรกๆ ที่หลายท่านจะนึกถึง หากในราชสำนักยังมีสตรีต่างชาติอีกหลายคนที่เข้ามาเป็น “สะใภ้จ้าว”

วีระยุทธ  ปีสาลี เรียบเรียงไว้ใน “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ซึ่งในที่นี้ขอคัดย่อเฉพาะ “สะใภ้” ชาวต่างชาติเท่านั้น

Advertisement

ก่อนอื่นขอเริ่มจากบรรดา “สะใภ้แหม่ม” ก่อน

เริ่มจาก หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเสกสมรสกับหม่อมคัทรินเป็นการลับ ก่อนที่จะพาหม่อมคัทรินเดินทางกลับสู่สยาม ทำให้รัชกาลที่ 5 พิโรธเป็นอย่างมาก ด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ของการสืบราชสันตติวงศ์

ตลอดรัชกาลหม่อมคัทรินจึงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีนั้น ภายหลังหม่อมคัทรินให้กำเนิดพระโอรส ซึ่งเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรก ไม่เพียงทำให้ทรงคลายความพิโรธลงไป กลับกลายเป็นทรงพระเมตตาต่อพระสุณิสาและพระราชนัดดา

หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา (ภาพจากแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงให้การรับรองฐานะการเป็นสะใภ้หลวง และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่ หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก

รวมทั้งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่และสถาปนาพระโอรสของหม่อมคัทรินขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หม่อมคัทรินใช้นามสกุลว่า “ณ พิษณุโลก” เป็นพิเศษ

หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา หรือเดิม นางสาวลุดมิลา เซียร์เกเยนา บาร์ซูโควา หม่อมชาวรัสเซียในหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ หรือท่านทองรอด ซึ่งเคยทรงทำหน้าที่เป็นนายทหารคนสนิทของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ระหว่างที่ทรงศึกษาด้านการทหารอยู่ที่รัสเซีย ทรงพบรักและเสกสมรสกับสุภาพสตรีชาวรัสเซียชื่อลุดมิลา ก่อนเดินทางกลับมาพำนักที่สยามด้วยกันใน พ.ศ. 2454 สมัยต้นรัชกาลที่ 6

หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา (ภาพจากไปเมืองนอกครั้งแรก ร.ศ. 118)

พ.ศ. 2455  พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ได้ทรงจดทะเบียนสมรสกับนางสาวเอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์ สตรีชาวเยอรมัน หรือ หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา ในเวลาต่อมา ณ ที่ทำการอำเภอเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสมรสจากรัชกาลที่ 6 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

การที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายสมรสกับสตรีต่างชาติได้ แสดงให้เห็นว่าทรงยอมผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของราชสำนักลงบ้างแล้ว แต่น่าสังเกตว่าพระองค์เหมือนจะไม่โปรดเท่าใด

ใน พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่างประกาศไม่ให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ต่างประเทศสมรสกับชาวต่างประเทศ ดังร่างประกาศความว่า

“ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้มาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดที่จะให้พระบรมวงษานุวงษ์ไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศ เพราะเหตุที่พระบรมวงษานุวงษ์เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณา โดยพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เปนพิเศษ จึงทรงถือเอาพระเกียรติยศ ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งราชกุลปัตถัมภ์แสดงพระราชนิยมห้ามไว้ว่า

อย่าให้พระบรมวงษานุวงษ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า อันเสด็จประทับอยู่ในเมืองต่างประเทศไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนขืนกระแสทำผิดต่อพระราชนิยมนี้จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ มีการขังไว้ที่กรมสนมพลเรือนเปนอย่างเบา๒๓

หม่อมซีริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (ภาพจากแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

หลังการออกประกาศนี้ จึงเป็นธรรมเนียมที่เจ้านายที่จะสมรสกับชาวต่างชาติต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน แม้สิ้นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วก็ตาม

เช่น พ.ศ. 2480 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสกับ นางสาวซีริล เฮย์คอค, พ.ศ. 2481 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสกสมรสกับ นางสาวเอลิซาเบธ ฮันเตอร์ และ พ.ศ. 2489 หม่อมเจ้าสนิธประยูรศักดิ์ รังสิต ขอพระราชทานเสกสมรสกับ นางสาวอเมเลีย มอนตาลตี

ส่วนมุมมอง, ความกังวล, เรื่องจริงที่พบ เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวแบบไทย ของ “สะใภ้แหม่ม” และครอบครัว เป็นอย่างไร

หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก เล่าถึงชีวิตสมรสของหม่อมเจ้าทองฑีฆายุกับหม่อมลุดมิลาไว้ว่า

“ท่านทองรอด ตอนนี้ยุ่งมากกับภารกิจหน้าที่ราชการ ทั้งนี้เพราะทรงเป็นทั้งกรรมการสอบของโรงเรียนนายทหารและของกรมอยู่ด้วย จึงทรงเคร่งเครียดทั้งวัน แต่ท่านก็ทรงรู้ว่า การแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งและพากันมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนสาหัสแค่ไหน เพราะฉะนั้น ท่านจึงทรงมุมานะอย่างยิ่ง เพื่อที่จะทำให้ชีวิตการแต่งงานเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด…

ครอบครัวที่มีสามีเป็นฝรั่งก็ลำบากอยู่แล้ว แต่ครอบครัวที่สามีเป็นไทย แต่ภรรยาเป็นฝรั่งนั้น ยิ่งลำบากกว่า ไม่เพียงเพราะลมฟ้าอากาศที่ร้อนอบอ้าวทารุณสำหรับคนต่างชาติเท่านั้น แต่ยังความรู้สึกที่คนไทยทั่วๆ ไปมีต่อฝรั่งแบบเรา รวมถึงวิธีปฏิบัติจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการประสงค์ร้ายจริงๆ ก็ได้”

ขณะที่ญาติพี่น้องบางคนหม่อมเอลิซาเบธ แสดงกังวลกับการแต่งงานของเธอกับเจ้าชายไทยว่า “ถึงกับส่งจดหมายหรือบัตรแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมาให้แทนจดหมายขอแสดงความยินดี บางคนโทรศัพท์มาแสดงความเห็นอกเห็นใจและบ้างก็ถามว่า เจ้าบ่าวเป็นคนดำจริงหรือ เพราะทุกคนแทบไม่รู้จักประเทศไทย หรือรู้จักเพียงน้อยมาก และต่างก็ฝังใจว่า ลิสบามีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อชีวิตในฮาเร็มของคนตะวัน ออกที่เต็มไปด้วยการใช้เสน่ห์เวทมนตร์หลอกล่อสาวบริสุทธิ์เพื่อนำไปสังเวยเจ้าของฮาเร็มเหมือน ภาพยนตร์ขาว-ดำที่ฉายกันอยู่หลายเรื่องในเวลานั้น”

หม่อมคัทริน ณ พิษณุโลก (ภาพจากแคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

นอกจากนี้ ครอบครัวชาวไทยช่วงเวลานั้นต่างจากชาวตะวันตก ดังที่หม่อมคัทรินแสดงความเห็นไว้ในจดหมายที่เขียนถึงพี่ชายว่า

“ประเพณีหลายเมีย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากนั้น เป็นที่ประพฤติปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ผู้ชายบางคนมีเมียถึงสิบคน บางคนก็มากกว่านี้ คนหนึ่งเป็นเมียหลวง ส่วนที่เหลือก็เป็นเสมือนข้ารับใช้ในบ้าน…ฉันคิดว่า พี่เองก็คงรู้…

แต่บรรดาเจ้านายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพระราชโอรสที่ประสูติจากเจ้าจอมนั้น มีหม่อมคนเดียว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงเป็นโสด เล็กก็มีฉันเพียงคนเดียว ส่วนพระราชอนุชาพระองค์อื่นๆ ยังทรงพระเยาว์อยู่

ฉันได้แต่หวังว่า เมื่อเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ทรงขึ้นครองราชย์ ประเพณีหลายเมียคงเลิกรากันไป เพราะราษฎรส่วนใหญ่ก็มักจะทำตามพระเจ้าอยู่หัวของตน เป็นที่รู้กันว่า เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะมีพระมเหสีองค์เดียว เพราะทรงเชื่อในเรื่องผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฉันเคารพศรัทธาในพระองค์มาก เสด็จเสนาบดียุติธรรม (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เองก็ทรงมีหม่อมเพียงคนเดียวเหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

วีระยุทธ  ปีสาลี. “สะใภ้เจ้า:จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2564